บทวิจารณ์วรรณกรรม นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) : ในลึกลึกคนนึกอยากควบคุมครอบครอง




“คนเรามีธรรมชาติส่วนลึก ที่อยากควบคุม ครอบครองสิ่งอื่นหรือคนอื่นเสมอ” (หน้า ๕๙)



      นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) เรื่องสั้นสะท้อนในอารมณ์ส่วนลึก หรือภายในกระแสสำนึกหนึ่งของมนุษย์ ในรวมเรื่องสั้น “ในโลกเล่า” หนึ่งในหนังสือที่เข้ารอบคัดเลือก Short List รางวัลวรรณกรรม สร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี ๒๕๖๓ ของนักเขียน วัฒน์ ยวงแก้ว ชาวสุราษฎร์ธานี เจ้าของผลงานเรื่องสั้นและบทกวีที่ได้รับรางวัลจากหลายองค์กร

  หน้าปกหนังสือรวมเรื่องสั้น ในโลกเล่า

     นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) เป็นเรื่องราวของ “นักเขียน” อันเป็นตัวละครหลักในเรื่อง ที่ต้องการหาวัตถุดิบสร้างงานเขียนจึงกลับไปที่บ้านแม่ และได้ไปพบกับลูกจ้างสวนยาง คือ “กร” และ “น้ำ” ซึ่งได้ดูแลนักเขียนอย่างดี ขณะนักเขียนตกปลาเพื่อหาวัตถุดิบสร้างงานเขียน เมื่ออยู่ที่นั่นนานเข้า จึงค่อยสนิทสนมกันมากขึ้น จนเกือบมีอะไรเกินเลยกับน้ำ แต่มีบางสิ่งที่ทำให้สิ่งนั้นหายไป อันอาจเกิดจากกระแสสำนึกบางอย่างในตัวของมนุษย์พึงมี

       หากพิจารณาในชื่อเรื่องสั้น จะมีวงเล็บกำกับที่เป็นสัญญะบางสิ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องกันกับตัวบท เมื่อพิจารณาในแต่ละบทร่วมด้วยแล้ว เห็นว่าจะมีวงเล็บกำกับขยายคำหลักให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันคือ มีความลุ่มลึกแต่ละตัวบท ซึ่งคำหลักในแต่ละบทจะเป็นตัวละคร ที่จะมีธรรมชาติส่วนลึกที่แตกต่างกันไป อีกทั้งการเรียงบทจะเรียงจากบทที่ศูนย์ บทที่สาม บทที่สอง บทที่หนึ่ง บทที่สูญ คำว่า ศูนย์ นี้ อาจหมายถึง ศูนย์กลาง ก่อนจะไปสู่กระแสความคิดอื่น เป็นการเริ่มต้นของเรื่อง จะไปล้อกันกับบทสุดท้ายที่ใช้คำว่า สูญ ที่แปลว่า สูญหาย จะเห็นได้ว่าผู้เขียนได้สร้างสัญญะที่สอดคล้องกับเรื่อง ดังเช่น การนับบท ถอยหลัง จึงคล้ายการค่อยหมุนรอกเบ็ดขึ้นมาจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เป็นต้น

  “รอกกรีดเสียง สายเอ็นถูกลากออกไป” ผู้เล่าเรื่องเปิดเรื่องมาด้วยอารมณ์ลุ้นระทึก เสียงกรีดของรอกที่ชวนคำนึงว่าปลาตัวใหญ่กำลังกินเหยื่อ การต่อสู้ระหว่างนักเขียนและการดึงเบ็ดขึ้นฝั่งจึงเริ่ม “ปลายคันไฟเบอร์ขนาดเล็กโค้งวูบ” บทเล่าเรื่องแสดงให้เห็นภาพของปลายเบ็ดที่กำลังงอเพราะกำลังดึงสิ่งหนัก ในขณะดึงเบ็ดอยู่ก็เหลือบเห็นลูกจ้างกรีดยางที่บ้านพัก ในสีหน้าแววตาที่ก่อความรู้สึกเย็นยะเยือก แล้วก็ย้อนไปที่การดึงเบ็ด กล่าวถึงความยุติธรรมแห่งการต่อสู้ เกี่ยวกับการใช้คันเบ็ดว่า หากใหญ่ไปก็ไม่ยุติธรรมกับปลาเล็ก แต่ขณะนั้นปลาใหญ่เกินคันเบ็ด จะหมายความว่าอย่างไร ผู้เล่าเรื่องทิ้งประโยคนี้ไว้ เป็นข้อสงสัยแก่ผู้อ่านในบทแรก ทำให้สนใจอยากรู้เหตุการณ์ในบทหน้าว่าเรื่องเกิดจากอะไร แล้วกล่าวถึงปลาที่ดึงเบ็ดออกไปอีกครั้ง เกิดความคิดภายในใจคิดถึง “เธอ” ในบทนี้ เปิดด้วยการตกปลาของนักเขียน แล้วทิ้งปมหนึ่งให้คลางแคลงใจในผู้อ่านว่า “เธอ” นั้นคือใคร เกี่ยวเนื่องกันกับลูกจ้างที่กล่าวมาแต่ต้นหรือไม่

      ในบทที่สาม น้ำ (ใต้กระแสน้ำ) จะเล่าย้อนหลังครั้งนักเขียนไปที่บ้านพักคนงาน “น้ำ” ตกอยู่ในสภาพหมองเศร้า ฟกช้ำตามแขน เพราะทะเลาะกันกับ “กร” จนเรื่องบานปลายถึงขนาดไม่มั่นใจว่าจะได้แต่งงานกันหรือไม่ ต้นเหตุเรื่องนี้ อาจเกิดจาก “นักเขียน” ในบทนี้ผู้เล่าเรื่องค่อยๆ เปิดเผยปมจากเหตุการณ์ในเรื่องดังกล่าวเป็นความขัดแย้งหว่างมนุษย์กับมนุษย์คือ ระหว่างน้ำกับกร ต้นเหตุอันเกิดจากนักเขียนที่ทำให้ เหตุการณ์บานปลายกระทั่งนักเขียนกับน้ำสนองความใคร่ทางอารมณ์ เล้าโลม ลูบไล้จนถึงขั้นจะเลยเถิด เมื่อนักเขียนเหลือบไปเห็นหนังตะลุงที่แขวนอยู่ซึ่งเป็นของรักของกร ขยับปากเหมือนพูดอะไร นักเขียนจึงเปลี่ยนจากจะถอดเสื้อในไปเป็นลูบไล้ สิ่งนี้เกิดจากความขัดแย้งภายในจิตใจของนักเขียน อาจเกิดจากความรู้สึกผิดชอบที่เกิดขึ้นจากจิตสำนึกภายในใจ ในวงเล็บที่ใต้กระแสน้ำ ในที่นี้ อาจหมายถึงกระแสอารมณ์ของน้ำหรือผู้หญิง ที่เมื่อโศกเศร้า ช้ำตรม ก็แสดงออกให้เห็นเป็นประจักษ์ดังกระแสน้ำที่ไหลเอื่อย จากนั้นนักเขียนก็หวนไปคิดถึงกร หากสังเกตแต่ละบทจะเห็นจุดเชื่อมโยงที่ลุ่มลึกลงไปในส่วนของเรื่อง อย่างเช่น บทที่สามจะไปบทที่สองนี้ ท้ายบทจะทิ้งไว้ว่า “ในกระแสแห่งความคิด เขาหวนกลับไปคิดถึงกรอีกครั้ง” นั้นคือกลับคิดทบทวนบางสิ่งที่ลึกลงไป ดังบทสามที่เพียงผิวเผิน แต่เมื่อมาถึงบทที่สอง กร (ลึกลงไป) ผู้เล่าเรื่องได้เล่าย้อนไปถึงเหตุที่ทำให้ทุกคนมาพบกัน ด้วยนักเขียนลาออกจากครูเอกชนมาเป็นนักเขียนอิสระ หลังจากได้รับรางวัลวรรณกรรมถึงสองเวที ขณะภรรยาเขาได้สอบเลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อนักเขียนออกจากหน้าที่เดิมแล้วความคิดที่จะเขียนก็ไม่ลื่นไหลดั่งเก่า จึงจำเป็นจะต้องหางานอดิเรกทำคือการตกปลา จะเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างความถนัดและความสนใจของนักเขียนกับภรรยา จึงต้องแยกห่างกันเมื่อปฏิบัติในสิ่งที่ตัวเองพึงใจกระทำ ด้วยเหตุที่นักเขียนต้องการหาพื้นที่ที่เหมาะสม จึงได้กลับไปที่บ้านเกิดและได้พบกับ “กร” และ “น้ำ” ทั้งสามคนจึงรู้จักกันในฐานะนายจ้างลูกจ้าง ซึ่งก็ได้รู้จักมักคุ้นทราบที่ไปที่มา และความสู้ชีวิตของกร เพื่อพิสูจน์ความรักให้พ่อแม่ของน้ำเห็น นานวันเข้าก็สนิทกันมากขึ้น “น้ำ” ได้ไปอ่านหนังสือกับนักเขียน    ด้วยความฝันอยากเป็นนักเขียน จึงได้ฝึกเขียนฝึกอ่านทำให้สนิทสนมกับนักเขียนมากกว่าเก่า “กร” จะชอบคุยกับตัวหนังตะลุง หากมองในแง่ของจิตวิทยา อาจเป็นการปลดปล่อยตัวตน ทำให้ตัวรู้สึกว่ามีเพื่อนคู่ใจ เพราะหากสังเกตพฤติกรรมของ “กร” แล้ว ตัวละครตัวนี้เป็นผู้ที่เก็บความรู้สึกไว้กับตัวเสียมาก ไม่ค่อยได้แสดงออก หรือเรียกว่า เก็บกด ก็ได้ หากพิจารณาจากข้อความที่กล่าวมาแต่แรกว่า “คนเรามีธรรมชาติส่วนลึก ที่อยากควบคุมครอบครองสิ่งอื่นหรือคนอื่นเสมอ” ซึ่ง “กร” อาจเป็นคนที่อยู่ภายใต้การควบคุมนั้น จึงไม่อาจ แสดงออกได้อย่างแจ่มชัด จากนั้นเมื่อ “กร” พบ “นักเขียน” กับ “น้ำ” อยู่ด้วยกันสองต่อสอง ทำให้กรและน้ำต้องทะเลาะกัน แล้วนักเขียนจึงคิดถึงภรรยา

     บทที่หนึ่ง ภรรยา (นักตกปลา) ในบทนี้ก็เผยถึงปมภูมิหลังของนักเขียนที่แสดงถึงความเก็บกดของตนอยู่เช่นกัน บ่อยครั้งที่ภรรยาแสดงตนประหนึ่งผู้อำนวยการโรงเรียน ใช้น้ำเสียงแกมอำนาจเสมือนเขาอยู่ใต้ครอบครองของเธอ ถึงขนาดที่เขาจะร้างราแยกทาง แต่ด้วยกระแสแห่งอารมณ์ความเป็นหญิง จึงใช้อารมณ์เศร้า เสียใจ ขอวอนร้องร่ำชะงักใจของนักเขียน ทำให้เขาใจอ่อนลง หวนไปคิดถึงนักตกปลา และบทที่สูญ (สูญหาย) จุดสุดยอดของเรื่องคือ ฉากที่ดึงเบ็ดแล้วเบ็ดขาด เอ็นที่ขาดนี้อาจหมายถึงสายใยระหว่างนักเขียนกับน้ำที่ขาดสะบั้นลง และคลายปมโดยนักเขียนจะจากไปจากที่แห่งนั้น ปิดเรื่องด้วยการทิ้งไว้เป็นปริศนาว่าฉากเหตุการณ์ในมุ่งในคราวเก่า หายไปจากทรงจำ…

     โครงเรื่องที่กล่าวมาทั้งสิ้น ล้วนแต่มีความสัมพันธ์กัน แต่มีความโดดเด่นในรูปแบบการนำเสนอที่เล่าย้อนหลังในลักษณะลึกซึ้งมากขึ้นตามลำดับ สัมพันธ์กับเรื่องที่พูดถึงการตกปลา การเล่าเรื่องจึงคล้ายกับการโยนเบ็ดลงน้ำ ค่อย ๆ จ่อมจมลงสู่ก้นแม่น้ำ เป็นโครงเรื่องที่ชวนให้ติดตาม


ในลึกลึกคนนึกอยากควบคุมครอบครอง

       คนเรามีธรรมชาติส่วนลึกที่อยากควบคุม ครอบครองสิ่งอื่นหรือคนอื่นเสมอ ถ้อยความดังกล่าวเป็นสิ่งที่ตัวละครนักเขียนกล่าวอยู่เสมอ หากจะกล่าวถึงแก่นเรื่องในเรื่องสั้น นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) คือ กระแสความคิดส่วนลึก คนนึกอยากควบคุมครอบครอง เมื่อสังเกตตัวละครทุกตัวในเรื่อง จะเห็นว่าแต่ละตัวย่อมมีสัญชาตญาณความอยากครอบครองนี้ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติ เด่นชัดมากที่สุดคือ ตัวละครเอก “นักเขียน” ที่เมื่อกระแสอารมณ์ครอบงำจิตของตนก็ทำให้มืดมนหมองมัวสลัวในหนทาง แต่สิ่งที่ทำคือหวนคิดที่สิ่งที่เคยผ่าน หากสังเกตในแต่ละตอน สิ่งที่ทำให้นักเขียนตัดจากโลกีย์ที่เสมือนเบ็ดขาดจากปลา คือหวนคิดถึงสิ่งเก่านั่นคือ ค่อยคิดถึง ความดีของกร คิดไปถึงภรรยา แม้ภรรยาจะแสดงอำนาจดั่งสัญชาตญาณที่ว่ามานี้ก็ตาม แต่ยังมี ความโอนอ่อนทำให้นักเขียนสามารถอ่อนใจตัดจากสิ่งรบกวนใจลงได้ หากนำหลักจิตวิทยามาจับประเด็นดังกล่าว ความอยากครอบครองที่ว่ามานี้ จะเห็นได้ว่าตัวละครแต่ละตัวมีความอยากครอบครองในสิ่งที่แตกต่างกันไป ในที่นี้ เนื่องมาจากความเก็บกด เช่น นักเขียนอาจเก็บกดจากภรรยาที่วางอำนาจควบคุมตนเกินไป ตนจึงไปแสดงสิ่งนั้นแก่กรและน้ำ หรือแม้แต่กรที่ต้องการจะพิสูจน์ว่าตนรักน้ำจริง นั่นคือ อยากครอบครอง จึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองจะไปสู่ขอ เมื่อรู้ว่าน้ำกับนักเขียนอยู่สองต่อสอง หรืออาจแอบเห็นว่าทำอะไรกันก็เกิดหึงหวง แต่ด้วยตนเป็นเพียงลูกจ้าง จึงไม่อาจแสดงอาการออกเป็นที่ประเจิดประเจ้อได้

      แก่นเรื่องและโครงเรื่องมีความสัมพันธ์กัน อันช่วยเสริมให้โครงเรื่องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เกิดจากพฤติกรรมของตัวละครทำให้เกิดเหตุการณ์หลายสิ่ง ผนวกกับความสามารถของผู้เขียนที่สร้างรูปแบบที่น่าสนใจเป็นเรื่องที่สมบูรณ์และมีสัญญะที่สื่อความหมายได้ลึกซึ้ง สร้างสรรค์

      หากกล่าวถึงส่วนสำคัญอีกอย่างที่ประกอบ ให้เรื่องมีความสมบูรณ์และดำเนินไปได้คือ ตัวละคร ตัวละครในเรื่องนี้ประกอบด้วยตัวละครหลักและตัวละครรอง ตัวละครหลักคือ “นักเขียน” หนุ่มผู้ใฝ่ฝันและใฝ่หาเส้นทางในการเขียน ต้องลาออกจากตำแหน่งครูโรงเรียนเอกชนไปเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัว เป็นตัวละครสำคัญที่ช่วยดำเนินเรื่อง มีลักษณะเป็นตัวละครแบบกลม คือมีความรู้สึกนึกคิดดั่งปุถุชนทั่วไป ดั่งเช่นเมื่อจะ ล่วงเกินน้ำ ครั้นมองเห็นหนังตะลุงขยับปากก็รีบเปลี่ยนใจทันที อีกทั้งยังเป็นคนที่มีความคิด มีการครุ่นคำนึงในใจ ดั่งคนธรรมดา ความสมจริงของตัว ละครหลักคือมีความใกล้เคียงกับคนจริง ๆ อีกทั้ง ยังเป็นผู้ทำให้โครงเรื่องและแก่นเรื่องสามารถส่งต่อสู่ผู้อ่านผ่านตัวละครได้อย่างดี

    ตัวละครรองคือ “น้ำ” สาวน้อยลูกจ้างสวนยาง ออกจากมหาวิทยาลัยเพราะเชื่อมั่นในรัก แต่หากยังรักในโลกแห่งการอ่านและการเขียน มีลักษณะเป็นตัวละครแบบกลมคือมีความรู้สึกนึกคิดเช่นคนธรรมดา บางครั้งเราเห็นตัวละครหัวเราะ ร่าเริง หรือบางครั้งโศกเศร้าเสียใจ มีความสัมพันธ์ และสำคัญกับตัวละครเอกเป็นอย่างมาก เพราะเป็นส่วนที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมของตัวละคร สะท้อนให้เห็นความชัดเจนของโครงเรื่อง หากไม่มีตัวละครตัวนี้ โครงเรื่องก็จะเปลี่ยนทันที รวมถึงมีบทบาทต่อแก่นเรื่องให้สามารถเป็นเรื่องสมบูรณ์ได้

      “กร” ตัวละครหนุ่มน้อยผู้ศรัทธาในรัก ขยันหมั่นเพียร เพื่อหาเงินแต่งงาน แต่เป็นหนุ่มต่างด้าว และไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์ เป็นตัวละครแบบกลมคือ มีทั้งช่วงที่ดีและช่วงที่อารมณ์ไม่ดี ทำให้ต้องทะเลาะกันกับน้ำ เป็นตัวละครที่มีความสำคัญกับตัวละครเอกเช่นกัน เพราะช่วยส่งเสริมให้ตัวละครได้แสดงพฤติกรรมมากขึ้น

        “ภรรยาของนักเขียน” ดีกรีผู้อำนวยการหญิงตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นตัวละครแบบแบน คือ มีน้อยลักษณะ มีเพียงด้านเดียว มิได้แสดงด้านไม่ดีออกมา เป็นอีกตัวละครรองที่ช่วยส่งเสริมให้ตัวละครหลักได้แสดงพฤติกรรม และเห็นถึงภูมิหลังของตัวละครหลัก

       ส่วนของตัวละครที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งตัวละครหลักและตัวละครรอง ล้วนมีความสำคัญกับเรื่องทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่แล้วตัวละครหลักจะใช้บทสนทนาสื่อความบางสิ่งกับตัวละครรอง ส่วนความคิดเห็นของผู้เขียนนั้นจะอยู่ในช่วงของครุ่นคำนึงของตัวละครเสียมาก ตัวละครรองต่างมีความสำคัญไม่แพ้ตัวละครหลัก เนื่องจากบทบาทที่โดดเด่น ช่วยเสริมให้ตัวละครหลักมีสมบูรณ์ อีกทั้งยังทำให้โครงเรื่องคงไว้แบบเดิม อีกทั้งยังแฝงแก่นเรื่องผ่านพฤติกรรมหรือการกระทำของตัวละครได้

        เมื่อพิจารณาทุกถ้อยดังกล่าวมา เรื่องสั้น นักตกปลา (ลึกลงไปใต้กระแสน้ำ) มีโครงเรื่อง แก่นเรื่อง และตัวละคร ที่ต่างมีส่วนสำคัญทำให้เรื่องดำเนินไปด้วยสมบูรณ์และสมจริง หากประเด็นบกพร่องหรือพลาดไปอาจทำให้โครงเรื่องเปลี่ยนไปได้ เรื่องสั้นเรื่องนี้ เป็นเรื่องสั้นที่มีคุณค่า มีแก่นที่สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ เพื่อเฝ้ามองตัวเอง พัฒนาตัวเอง เพื่อหลุดพ้นจากสิ่งรังควานใจ อันเป็นเรื่องสั้นที่ดี ควรค่าแก่การอ่านและ   การวิจารณ์วรรณกรรมต่อไป

บรรณานุกรม

วัฒน์ ยวงแก้ว. (๒๕๖๒). ในโลกเล่า. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์ผจญภัย

หมายเลขบันทึก: 688748เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2021 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2021 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท