การเตรียมการรับสมัคร : บทบาทนักจัดการเลือกตั้งและผู้กำกับดูแลเทศบาล


การเตรียมการรับสมัคร : บทบาทนักจัดการเลือกตั้งและผู้กำกับดูแลเทศบาล

29 มกราคม 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

อำนาจกำกับดูแล หรือ อำนาจควบคุมดูแล มิใช่อำนาจ “บังคับบัญชา”

(1) ความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในประเทศไทยตามกฎหมายเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะการกำกับดูแลเหนือการกระทำและเหนือตัวบุคคล “อำนาจกำกับดูแล” (Tutelle Administrative) จะเป็นการใช้อำนาจในลักษณะ “การควบคุมกำกับ” ซึ่งโดยนัยยะแล้วมิใช่ “อำนาจบังคับบัญชา” (Hierarchical control) [2] แต่อย่างใด โดยตัวแทนของรัฐในการดูแลกิจกรรมขององค์กรมหาชนอื่น กรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจ “กำกับดูแลการปฏิบัติราชการ” (มาตรา 77) [3] กรณีเทศบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ “ควบคุมดูแล” ให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย (มาตรา 71) [4] หรือ กรณี องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นายอำเภอมีอำนาจ “กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่” (มาตรา 90) [5] เป็นต้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.) เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.กฎหมายจัดตั้ง อปท. ทั้งหมด มีข้อสังเกตว่า ในกรณีเทศบาลใช้คำว่า “ควบคุมดูแล” เพราะ เป็นภาษากฎหมายสมัยเก่าตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ทำให้อาจมีความหลงผิดว่า เป็นอำนาจที่เหนือกว่าอำนาจกำกับดูแล เพราะแท้จริงตามหลักการปกครองท้องถิ่นแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่

(2) ทั้งนี้เพื่อให้ อปท.เหล่านั้นปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงเป็นอำนาจที่มีเงื่อนไขและต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้  [6] อำนาจกำกับดูแล อปท.ของกระทรวงมหาดไทยที่กฎหมายให้อำนาจไว้ มีลักษณะเป็นการกำกับดูแลกระทำโดยฝ่ายปกครองที่มีฐานะสูงกว่า โดยกระทำผ่านเจ้าหน้าที่ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเป็นการกำกับดูแลเหนือองค์กร เช่น การแต่งตั้งถอดถอน การยุบสภาท้องถิ่น เป็นต้น และอำนาจกำกับดูแลการกระทำ เช่น การสั่งยกเลิกการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การให้ความเห็นชอบ และการกระทำการแทน เป็นต้น ภายใต้เจตนารมณ์เพื่อดูแลผลประโยชน์ของรัฐ และปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

(3) อำนาจกำกับดูแล อปท.ดังกล่าวนั้นกระทรวงมหาดไทย (มท.) จะกระทำผ่านตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจกำกับดูแลเหนือองค์กรทั้งก่อนและหลังการกระทำ เช่น การแต่งตั้งถอดถอน การยุบสภาท้องถิ่น เป็นต้น และอำนาจกำกับดูแลการกระทำ เช่น การยกเลิกการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การให้ความเห็นชอบ และการกระทำการแทน เป็นต้น แต่การใช้อำนาจกำกับดูแลมิได้มีเพียงการใช้อำนาจผ่านตัวเจ้าหน้าที่เท่านั้น ยังปรากฏอำนาจกำกับดูแลผ่านการตราเทศบัญญัติใช้บังคับอีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากประเทศฝรั่งเศส ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลก่อนกระทำการ เนื่องจากถูกยกเลิกไปโดยรัฐบัญญัติฉบับวันที่ 2 มีนาคม 1982 และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่มีอำนาจยกเลิกเพิกถอนการกระทำของ อปท.ด้วยตนเอง และไม่สามารถตรวจสอบความเหมาะสมของการกระทำได้หากตรวจสอบแล้วพบว่า  อปท.ปฏิบัติการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องส่งเรื่องไปยังศาลปกครองเพื่อให้มีคำพิพากษาในเรื่องดังกล่าว [7]

(4) อำนาจกำกับดูแลที่กระทำผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายจัดตั้ง อปท. ที่แก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2562 ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ “อำนาจกำกับดูแล” เหนือองค์กรที่ให้ผู้มีอำนาจกำกับดูแล อปท. มีอำนาจสั่งเพิกถอนการกระทำ ระงับการปฏิบัติหน้าที่ และหยุดปฏิบัติการของผู้บริหาร อปท. หากเห็นว่า เป็นไปในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ รวมถึงในกรณีที่เมื่อความปรากฏโดยมีหลักฐานตามสมควรต่อผู้กำกับดูแลว่าผู้บริหาร อปท. จงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้กำกับดูแล และในระหว่างสอบสวนหากผู้กำกับดูแล เห็นว่าการคงอยู่ในหน้าที่ของผู้นั้นต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือมีพฤติการณ์ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏขึ้นโดยชัดแจ้งจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอฟังผลการสอบสวนก็ได้ [8] ซึ่งมีบทบัญญัติไว้ในกฎหมายจัดตั้ง อปท. ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเมืองพัทยา  

การชำระสะสางสำนวนการสอบสวนนักการเมืองท้องถิ่นที่ค้างก่อนการเลือกตั้งเทศบาล

(1) ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0804.3 / ว 51 ลงวันที่ 5 มกราคม 2564 [9] กรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฝ่ายการเมืองท้องถิ่น ได้แก่ ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น และรองประธานสภาท้องถิ่น ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม (ความผิด 3 ฐาน) หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน ไม่ต้องให้ผู้กำกับดูแลสอบสวน

(2) สิ่งที่สำคัญและเป็นประเด็นที่ผู้กำกับดูแลอย่างเช่นผู้ว่าราชการจังหวัดต้องตระหนักก็คือ การสะสางเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่ยังคงค้างของสมาชิกสภาเทศบาล นายกเทศมนตรีต่างๆ ให้แล้วเสร็จก่อนการสมัครรับเลือกตั้งจะมีขึ้น โดยประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติในช่วงแรกก็ได้มีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น เพราะกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งจังหวัดต่างๆ ว่าสามารถใช้สำนวน ป.ป.ช. ลงโทษถอดถอนนายก อปท.ได้โดยไม่จำต้องสอบสวนหรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก ตามแนวทางของ ป.ป.ช. ตามมาตรา 98 [10] แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพราะนายก อปท.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามมาตรา 98 วรรคสี่ มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 98 วรรคหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถขอทบทวนมติของ ป.ป.ช.ได้ตามมาตรา 99

(3) แม้จะพบความแตกต่างด้านความเห็นทางกฎหมายว่า แท้จริงแล้วผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 98 วรรคใดกันแน่ คือ มาตรา 98 วรรคหนึ่ง (ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาได้รับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 91) หรือ มาตรา 98 วรรคสี่ (ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัย) แม้ผลในทางกฎหมายของบทบัญญัติทั้งสองวรรคมิได้แตกต่างกัน คือ “ถูกถอดถอน” เช่นเดียวกัน เนื่องจากประเด็นสำคัญที่ผู้กำกับดูแลต้องวินิจฉัยก็คือพฤติการณ์และคุณสมบัติของผู้บริหารท้องถิ่น หาใช่เรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีวินัยหรือไม่แต่อย่างใด และอย่างน้อยผู้กำกับดูแลก็หมดข้ออ้างในการประวิงเวลาวินิจฉัยเรื่องคงค้างต่างๆ ได้

ความล่าช้าในการสอบสวนวินิจฉัยอาจไม่ทันกาล 

(1) ปัญหาการพิจารณาที่ล่าช้า ไม่ทันกาล หรืออาจเรียกว่า ไม่ทันเหตุการณ์ เพราะกำลังจะมีการเลือกตั้งเทศบาลในเร็วๆ นี้ การสอบสวนในคุณสมบัติและพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมายของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งเชื่อว่า การพิจารณาเรื่องร้องเรียนคงค้างต่างๆ โดยเฉพาะของสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) หรือ นายกเทศมนตรี รวมทั้งของสมาชิกสภา อบต. (ส.อบต.) หรือ นายก อบต.ในหลายจังหวัดอาจเสร็จสิ้นไม่ทันก่อนวันเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น ซึ่งอาจเกิดปัญหาทางปฏิบัติตามมาหากมีการเลือกตั้งใหม่ เพราะต้องใช้งบประมาณใหม่เสียเวลาใหม่ 

(2) ความล่าช้าในการสอบสวนพิจารณาของหน่วยงานต่างๆ ถูกอ้างถึงระยะเวลาตามกฎหมายเป็นระยะเวลาเร่งรัด ทั้งที่เจตนารมณ์ของกฎหมายได้ให้อำนาจกำกับดูแลไว้เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก เพราะปัจจุบันในหลายกรณีส่อไปในทาง “ไม่เพิกเฉยต่อเรื่องร้องเรียนต่างๆ แต่ยังมิได้กระทำการใด” ผู้กำกับดูแลจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของอำนาจที่ตนมีและใช้อำนาจให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ให้สมกับตำแหน่งและบทบาทที่ได้รับมอบหมายตามกฎหมาย

(3) มีประเด็นข้อสังเกตตามความเห็นของ ป.ป.ช. ที่ให้ใช้สำนวน ป.ป.ช. ในการวินิจฉัยสั่งให้พ้นจากตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น ในฐานะ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่ในการถอดถอนจากตำแหน่ง การควบคุมเทศบาล ตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 71 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ “ควบคุมดูแล”เทศบาลในจังหวัดนั้น ให้นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมดูแลเทศบาลตำบลในอำเภอนั้น

(4) ตามข้อเท็จจริงนั้น สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น (นักการเมืองท้องถิ่น) ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยวินัย (Discipline) หากจะมีก็เป็นเพียง “บทว่าด้วยประมวลจริยธรรม” (Code of Conduct) [11] ที่เป็นเพียงมาตรฐานทางจริยธรรมที่พึงมีตามระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น การสั่งให้พ้นจากตำแหน่งจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายจัดตั้ง อปท. นั้นๆ เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นอำนาจของผู้กำกับดูแล อย่างเช่น ของ อบต.กรณี  เป็นการวินิจฉัย ตามมาตรา 92 กรณีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ให้นายอำเภอดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว ซึ่งมิใช่การวินิจฉัยในคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งฯ เช่น ตาม มาตรา 58/1 [12] หรือในกรณีของเทศบาลนั้น การสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เช่น ตามมาตรา 73/1 [13] ในกรณีที่จงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอที่สั่งการตามมาตรา 72

(5) ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทวง การสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง พ.ศ. 2563 หรือที่เรียกว่า “กฎกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนฯ” ที่ถือเป็นรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ฯ เป็นแนวทางการสอบสวน ซึ่งมีผลยกเลิกระเบียบ มท. ว่าด้วยการสอบสวน ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554

(6) ในทางปฏิบัติตามหลักการมอบอำนาจตามหลักธรรมาภิบาล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจ้งเวียนหนังสือให้จังหวัดพิจารณามอบอำนาจการสอบสวนนายกเทศมนตรีนคร นายกเทศมนตรีเมือง นายกเทศมนตรีตำบล เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบในการสอบสวนฯ เช่น นายอำเภอ ซึ่งบางจังหวัดเมื่อยกเลิกคำสั่งสอบสวนเดิม (ก่อนประกาศใช้กฎกระทรวงฯ) แล้ว ในการวินิจฉัยการพ้นจากตำแหน่งเช่นกรณีนายกเทศมนตรี ส่งไปให้ รมว.มหาดไทยวินิจฉัยออกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งเช่นในกรณีการสอบสวนของผู้วาราชการจังหวัด ตามมาตรา 73/1 ที่แก้ไขใหม่ เป็นต้น

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

(1) ในกรณีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) ในครั้งนี้ เนื่องจากท้องถิ่นได้ว่างเว้นการเลือกตั้งไปนานแสนนานถึง 6-9 ปี ทำให้ผู้กำกับดูแลห่างเหินจากเรื่องเหล่านี้ไปนาน มีคุณสมบัติที่ต้องวินิจฉัยมากมาย [14] เพราะ หาก สถ.ผถ. ยังอยู่ในตำแหน่งก็เป็นอำนาจวินิจฉัยของผู้กำกับดูแล คือ นายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ หากพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และอยู่ในห้วงของการรับสมัครเลือกตั้งไปจนถึงวันที่ กกต. ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ก็เป็นหน้าที่ของ กกต. ซึ่งในที่นี้ก็คือ ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเทศบาล (ผอ.กกต.เทศบาล) [15] ซึ่งหมายถึงปลัดเทศบาลนั่นเอง ทำให้มองเห็นหลากหลายปัญหาที่พึงเกิดขึ้นได้อยู่ไรๆ

(2) คุณสมบัติอ้างกรณีล้างมลทิน กรณีบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 50 [16] แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สถ.ผถ. พ.ศ. 2562 รวม 26 กรณี ในหลายกรณี กกต. ไม่สามารถตรวจสอบคุณสมบัติได้ เพราะมีห้วงเวลาที่สั้น เจ้าตัวผู้สมัครได้รับรองคุณสมบัติตนเองต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่รับสมัครแล้ว โดยเฉพาะประเด็นคดีที่ ป.ป.ช.ไต่สวนชี้มูล ทั้งที่ชี้มูลแล้ว และ กำลังจะรอชี้มูล เนื่องจากกำลังไต่สวน หรือ กำลังตรวจสอบสอบสวน เป็นต้น หรือ อาจมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่ต้องวินิจฉัยตามพฤติการณ์ เช่น ในกรณีที่มีส่วนได้เสียในสัญญาทางอ้อม การบวชแก้บน [17] การเป็นสมาชิกหรือกรรมการหน่วยงานอื่น ฯ [18] อีกทั้ง คุณสมบัติอื่นใดที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (COI - Conflict of Interest) [19]ตามรัฐธรรมนูญฯ เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีประเด็นการหาเสียงล่วงหน้า ตาม มาตรา 54 วรรคสอง [20] หรือ อนุมัติงบประมาณโครงการล่วงหน้าการจัดซื้อวัคซีน โครงการสาธารณูปการ โครงสร้างพื้นฐานฯ ตามข้อห้ามแห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 [21] และ พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 [22] เป็นต้น ซึ่งผลจากการขาดคุณสมบัติดังกล่าว ผู้สมัครอาจต้องรับโทษหนักตามมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่บัญญัติว่า “ผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี”

ประเด็นข้อห่วงใยเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ “นักจัดการเลือกตั้ง” ทุกคน รวมทั้งผู้กำกับดูแล และ กกต. ต้องเข้มงวด เพราะงานการเลือกตั้งนั้นละเอียดอ่อน พลาดไม่ได้เด็ดขาด

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharapron Maneenuch & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 29 มกราคม 2564, https://siamrath.co.th/n/215817  

[2]ตามระบบการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น (Hierarchical control) ที่สูงต่ำลดหลั่นลงไปตามลำดับชั้นการบังคับบัญชา เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจบังคับบัญชาปลัดจังหวัด ปลัดจังหวัดมีอำนาจบังคับบัญชา นายอำเภอ เป็นต้น   

[3]มาตรา 77ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ เพื่อการนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่านายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติการในทางที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ หรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจยับยั้งการปฏิบัติการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวได้แล้วให้รายงานรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ออกคำสั่ง

เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการปฏิบัติการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นไปในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเสียหายแก่ราชการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการชี้แจง แนะนำ หรือตักเตือนผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการดังกล่าว หรือในกรณีเห็นสมควรจะสั่งเพิกถอนการกระทำหรือให้ระงับการปฏิบัติของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไว้ก็ได้ และในกรณีที่สั่งเพิกถอนหรือระงับ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด และเมื่อรัฐมนตรีวินิจฉัยเป็นประการใดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยนั้น คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

เมื่อความปรากฏโดยมีหลักฐานตามสมควรต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดผู้ใด จงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่สั่งการตามวรรคสอง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยพลัน และให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนไม่สามารถดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จได้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสาม ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจขยายเวลาการสอบสวนออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวัน

ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดผู้ใดถูกตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดจะสั่งให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอฟังผลการสอบสวนก็ได้ หากเห็นว่า การคงอยู่ในหน้าที่ของผู้นั้นต่อไปอาจเกิดการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือมีพฤติการณ์ที่แสดงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน หรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏขึ้นโดยชัดแจ้ง ทั้งนี้ หากผลการสอบสวนปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีความผิด และผู้นั้นยังมิได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ และให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นใดในช่วงที่หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยถือเสมือนว่าผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ตลอดระยะเวลาที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ในกรณีที่ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปก่อนปรากฏผลการสอบสวนดังกล่าว การจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทน รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นใด ให้จ่ายจนถึงวันก่อนวันที่พ้นจากตำแหน่ง

การอุทธรณ์คำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคห้า ให้ผู้ที่ได้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว ซึ่งรัฐมนตรีต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และเมื่อรัฐมนตรีวินิจฉัยเป็นประการใดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ดำเนินการตามคำวินิจฉัยนั้น คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

*** มาตรา 77 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ยกเลิกแก้ไขใหม่ตาม มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 50 ก วันที่ 16 เมษายน 2562 หน้า 130-141,

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0130.PDF    

[4]มาตรา 71ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลเทศบาลในจังหวัดนั้นให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย กฎ และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจง แนะนำ หรือตักเตือนเทศบาล และตรวจสอบกิจการ เรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใด ๆ จากเทศบาลมาตรวจ ตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้

อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคหนึ่ง และตามมาตรา 19 วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา 48 ปัญจทศ วรรคสองและวรรคสาม สำหรับเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมอบหมายให้นายอำเภอปฏิบัติการแทนสำหรับเทศบาลที่อยู่ในอำเภอนั้น โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้อำนาจหน้าที่ไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้ 

*** มาตรา 71 ยกเลิกแก้ไขใหม่ตาม มาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562. ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 50 ก วันที่ 16 เมษายน 2562 หน้า 164-176, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0164.PDF

[5]มาตรา 90 ให้นายอำเภอมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ

ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามวรรคหนึ่ง ให้นายอำเภอมีอำนาจเรียกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล พนักงานส่วนตำบล และลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลมาชี้แจงหรือสอบสวน ตลอดจนเรียกรายงานและเอกสารใด ๆ จากองค์การบริหารส่วนตำบลมาตรวจสอบก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่นายอำเภอเห็นว่าการปฏิบัติการขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นไปในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเสียหายแก่ราชการ ให้นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ในการชี้แจง แนะนำ หรือตักเตือนผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการดังกล่าว หรือในกรณีเห็นสมควรจะสั่งเพิกถอนการกระทำหรือให้ระงับการปฏิบัติของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไว้ก็ได้ และในกรณีที่สั่งเพิกถอนหรือระงับ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งของนายอำเภอซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยเป็นประการใดให้นายอำเภอและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยนั้น คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุด

*** มาตรา 90 วรรคหนึ่ง วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 และ มาตรา 90 วรรคสาม ยกเลิกแก้ไขใหม่ตาม มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 50 ก วันที่ 16 เมษายน 2562 หน้า 151-163,

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0151.PDF

http://wiki.kpi.ac.th/images/7/79/T160462-7.pdf

[6]นันทวัฒน์ บรมานันท์, กฎหมายปกครอง, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2555, หน้า 472 - 475.

[7]มาโนช นามเดช, การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, รายงานการวิจัย, กรุงเทพ:สถาบันพระปกเกล้า,หน้า 49

[8]พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 73, พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 90/1, พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 77, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 96, พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 77

[9]หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0804.3/ว 51 ลงวันที่ 5 มกราคม 2564 เรื่อง การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจกับผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2021/1/24772_1_1609924285062.pdf?

& กรณี ป.ป.ช. ชี้มูลทุจริต 3 ฐานจะส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาแล้ว ยังต้องส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้บังคับบัญชานายนิพนธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา พิจารณาโทษทางวินัยด้วย เข้าเงื่อนไขที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดได้ และผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่อาจตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนซ้ำได้อีก มีกรณีศึกษาสำคัญที่น่าจับตามองคือ (1) คดีนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริต ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ไม่เบิกจ่ายเงินให้เอกชนในโครงการจัดซื้อรถเอนกประสงค์ วงเงิน 50 ล้านบาทเศษ (2) คดีนายพิบูลย์ รัชกิจประการ ส.ส.สตูล พรรคภูมิใจไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสตูล ป.ป.ช. ชี้มูลทุจริต อนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงแรมสินเกียรติธานี (สินเกียรติบุรี) จ.สตูล โดยมิชอบ

ดู หลังฉาก!คำสั่ง มท.‘บิ๊กท้องถิ่น’โดน ป.ป.ช. ฟันไม่ต้องสอบซ้ำ-จับตากรณี‘นิพนธ์-พิบูลย์’?, สำนักข่าวอิศรา, 28 มกราคม 2564, https://www.isranews.org/article/isranews/95466-isranfews-163.html?   

[10]มาตรา 98เมื่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาได้รับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 91 แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณี

กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือประธานกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ โดยเร็ว โดยให้ถือรายงานและเอกสารหลักฐานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นเพื่อพิจารณาทางวินัยในสำนวนการสอบสวนด้วย และเมื่อดำเนินการได้ผลประการใดแล้ว ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบผลการพิจารณา

การดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนได้รับแจ้งมติที่ได้ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาทบทวนตามมาตรา 99 วรรคสอง ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนหรือหลังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติวินิจฉัยมูลความผิด เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีมติเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 48 แล้ว แต่ไม่เป็นการตัดอำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัยเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ในการส่งสำนวนการไต่สวนเพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือประธานกรรมการ อาจมอบหมายให้เลขาธิการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้ 

[11]"ประมวลจริยธรรม" (Code of Conduct) เป็นการประมวล "ความประพฤติ" ซึ่งเป็นการรวม "ข้อปฏิบัติ" และ "ข้อห้าม" ไว้ด้วยกัน ใช้คำว่า "Do & Don't" โดยมีบทลงโทษทางสังคมและทางปกครอง แต่มีคำที่ใกล้เคียงยิ่งอีกคำคือคำว่า "ประมวลจรรยาบรรณ" (Code of Ethics) ที่จะกล่าวถึง ความประพฤติ หรือกริยาที่ควรประพฤติเพื่อให้เกิดความเชื่อถือศรัทธาและไว้วางใจในคนกลุ่มนั้น เช่น จรรยาบรรณแพทย์ หรือมารยาททนายความ เป็นต้น

โดยสรุปหมายถึง สิ่งที่ต้องปฏิบัติหรือต้องละเว้นปฏิบัติ หากฝ่าฝืน จะเป็นการผิดวินัย ต้องถูกลงโทษ จรรยาบรรณ (​Ethics) หมายถึง สิ่งที่พึงปฏิบัติหรือละเว้น หากฝ่าฝืน จะถูกตักเตือน หรือให้แก้ไขให้ถูกต้อง หรือให้ได้รับการพัฒนาตามที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร

ดู วีรวิท คงศักดิ์, ประมวลความประพฤติเจ้าหน้าที่ของรัฐ, https://ethics.parliament.go.th/download/article/article_20160614142356.pdf

[12]หมายเหตุ ข้อสังเกตการดูมาตรา 58/1 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ต้องสังเกตให้ดี เพราะ มาตรานี้มีการแก้ไขใหม่หลายครั้ง แก้ไขซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายตลบ โดยเฉพาะ มาตรา 58/1 (3) มาตรา 64 และมาตรา 64/2 (3) เดิม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 ได้แก้ไขเพิ่มเติมถูกยกเลิกบทบัญญัติเดิมไป แต่ ไปบัญญัติใหม่ไว้ในกฎหมาย 2 ฉบับ คือ
(1) ตามมาตรา 64/2 (3) ที่แก้ไขใหม่ล่าสุด (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วย "ความมีส่วนได้เสียฯ" และ
(2) ตามมาตรา 50 (23) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วย "ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากยังไม่พ้นเหตุมีส่วนได้เสียฯ ที่มีความหมายกว้างกว่าเดิม ในระยะ 5 ปีนับจนถึงวันเลือกตั้ง" (เดิมนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง)


NB :

[1] พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 58/1 "บุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ด้วย
(1) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง
(2) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาตำบล สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา"
[2] พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 64/2 (3) "เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้น หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
[3] พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 มาตรา 58/1 (3) (ฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไป) "ไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริตหรือพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาตำบล สมาชิกสภาท้องถิ่นคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่นหรือเลขานุการหรือที่ปรึกษาของผู้บริหารท้องถิ่น เพราะเหตุที่มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันรับสมัครเลือกตั้ง"
[4] พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 50 (23) บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง "เคยพ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับหรือ จะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง"

[13]มาตรา 73/1เมื่อผลการสอบสวนตามมาตรา 73 ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกสอบสวน ถ้าเป็นการดำเนินการสอบสวนของนายอำเภอ ให้นายอำเภอรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาและสั่งให้ผู้ถูกสอบสวนพ้นจากตำแหน่ง ถ้าเป็นการดำเนินการสอบสวนของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและสั่งให้ผู้ถูกสอบสวนพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เพราะเหตุตาย หรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเกินสองปี โดยในคำสั่งดังกล่าวให้ระบุเหตุที่ทำให้พ้นจากตำแหน่งไว้ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่ง แต่ไม่กระทบต่อการดำเนินงานและการรับค่าตอบแทนที่ได้กระทำไปก่อนวันที่มีคำสั่งนั้น ถ้าในขณะที่มีคำสั่งดังกล่าวผู้นั้นกำลังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นอันเป็นผลจากการเลือกตั้งต่างวาระหรือต่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกัน ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งที่กำลังดำรงอยู่ด้วยและให้ถือว่าวันที่สั่งให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาต้องห้ามการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน

ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมจากรายงานตามวรรคหนึ่ง จะสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมก่อนสั่งการก็ได้ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนต้องดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม และผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องสั่งการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานการสอบสวนเพิ่มเติมนั้น

คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด

*** มาตรา 73/1 เพิ่มเติมตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562, อ้างแล้ว 

[14]มีแนวทางในการวินิจฉัยอำนาจในคุณสมบัติของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สมาชิกสภา หรือนายกอปท.) ที่ต้องศึกษาและนำมาเทียบเคียงเพื่อการวินิจฉัยโดยผู้มีอำนาจกำกับดูแล หรือผู้ที่มีอำนาจถอดถอน

ดู ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง บรรยายในหัวข้อ “สารพันคำถาม : การเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเตรียมความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”, สถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนาวิชาการ “Next Station ประชาธิปไตยไทย : ปักหมุดเลือกตั้งท้องถิ่น” ในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร, เผยแพร่ 1 ตุลาคม 2562, https://www.youtube.com/watch?v=67iLhsTgwMc

& http://www.kpi.ac.th/media/pdf/seminar/nextstation3_d89b31952e696ae42a8669849f38580f.pdf

[15]มาตรา 25เมื่อมีกรณีที่ต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) รับสมัครเลือกตั้ง

(2) กำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง

(3) แต่งตั้งและจัดอบรมเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง

(4) ตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และดำเนินการเพิ่มชื่อหรือถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

(5) ดำเนินการเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนนเลือกตั้ง และการประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง

(6) ดำเนินการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

การดำเนินการตาม (2) (3) และ (4) ให้เป็นไปโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในกรณีที่ปรากฏว่าหัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง หรือมีเหตุจำเป็นอื่นใด คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจแต่งตั้งปลัดจังหวัด นายอำเภอหรือปลัดอำเภอ เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นแทนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลเป็นผู้ช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ได้

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการเลือกตั้งมีหน้าที่จัดหาวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งและสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้   

[16]มาตรา 50บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

(1) ติดยาเสพติดให้โทษ

(2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

(4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 39 (1) (2) หรือ (4)

(5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

(6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(7) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(8) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

(9) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนักกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

(11) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

(12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

(13) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

(14) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

(15) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

(16) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(17) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

(18) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่โดยได้พ้นโทษหรือต้องคำพิพากษามายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี

(19) เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี มายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง

(20) อยู่ในระหว่างถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามมาตรา 42 หรือตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(21) เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง

(22) เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น

(23) เคยพ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง

(24) เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ หรือมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง

(25) เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยหน้าที่และอำนาจ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแก่ราชการ และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง

(26) ลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด   

[17]กรณีผู้สมัครนายก อปท. ได้บวชแก้บน ได้หรือไม่ดู หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตอบหารือจังหวัดนครราชสีมา ที่ มท 0804.3/ 5714 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2556 เรื่อง หารือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

[18]นายก อปท. เป็น คณะกรรมการสถานศึกษาได้หรือไม่  หรือ กรณี อสม. ลงสมัครนายก อปท.ต้องลาออกก่อนหรือไม่ ดู หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0804.3/ว 2171 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง ขอหารือเกี่ยวกับกรณีนายกเทศมนตรีตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน, http://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2554/3/551_2930.pdf

& ถามมา-ตอบไป4. อสม.ต้องลาออกก่อนลงสมัครหรือไม่ 7ประเด็นเลือกตั้ง อบต./เทศบาล, 19 มกราคม 2564, https://youtu.be/_YOEi97x97k

[19]การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานว่า ผลประโยชน์ขัดกัน(conflict of interest) คือ สถานการณ์ที่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอันเป็นที่ไว้วางใจ เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กร ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข เป็นต้น ต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ในวิชาชีพ ซึ่งทำให้ตัดสินใจยากในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติได้ การขัดกันแห่งผลประโยชน์นี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่ส่งผลทางจริยธรรมหรือความไม่เหมาะสมต่าง ๆ และสามารถทำให้ทุเลาเบาบางลงได้ด้วยการตรวจสอบโดยบุคคลภายนอก, วิกิพีเดีย

ดู รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 184-187 หมวด 9 ว่าด้วย "การขัดกันแห่งผลประโยชน์ 

[20]มาตรา 54ห้ามมิให้ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อให้ตนสมัครรับเลือกตั้ง

ห้ามมิให้ผู้ใดให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อให้ผู้นั้นหรือผู้อื่นสมัครรับเลือกตั้ง 

[21]ดูมาตรา 3 มาตรา 25 มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 27 ก วันที่ 19 เมษายน 2561 หน้า 1-23, http://audit.obec.go.th/images/docs/Finance/1.PDF    

[22]ดูมาตรา 4 มาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 หน้า 1-12, http://nscr.nesdb.go.th/wp-content/uploads/2019/05/2560.07.31-พรบ-ยุทธศาสตร์ชาติ.pdf      



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท