ศิลปะในการสอนออนไลน์ เรียนรู้จากการสอนวิชามานุษยวิทยากับการศึกษาชุมชน :


เสร็จไปหมาดๆกับการสอนออนไลน์ 3 ชั่วโมงรวดให้กับนักศึกษาที่เพิ่งเคยเจอกัน

วันนี้ (11 ม.ค.64)เป็นวันที่สองที่ได้สอนนักศึกษา ป.ตรี คณะสังคมศาสตร์ ม.บูรพา จากที่สอนล่าสุดครั้งที่แล้ว (4 ม.ค.64) ห่างกันมา 7 วัน

คราวก่อน นักศึกษาส่วนใหญ่ปิดหน้าจอ โชว์แต่รูปโปร์ไฟล์ เราก็อธิบายไปถึงความจำเป็นของการสื่อสารที่จำต้องเห็นสีหน้า แววตา อวัจจภาษา และองค์ประกอบอื่นๆที่เป็นสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการสื่อสารกันในวงออนไลน์ เพราะมันช่วยให้เราตีความสิ่งที่สมาชิกในวงสื่อสารถึงกันได้ และยังแสดงถึงความไว้วางใจกัน ที่จะเปิดให้เห็นด้านที่เป็นธรรมชาติ ด้านที่ธรรมดาๆ และที่ธรรมดาๆนี่ก็มีคุณค่า อยากให้นักศึกษามั่นใจตัวเอง และเตรียมพร้อมออกไปจัดการประชุมออนไลน์ร่วมกับผู้คนอีกมากมายในวันข้างหน้าได้ด้วย

นักศึกษาเริ่มลังเล แต่ก็ได้อาจารย์ประจำวิชา คือ อาจารย์แก๊ปมาช่วยเติม ความห่วงใยในศิษย์ส่งพลังไปหนุ่มๆสาวๆคนรุ่นใหม่ก็เริ่มกล้าออกจาก Comfort Zone สู่ปริมณฑลการเรียนรู้วันนี้ที่เปิดกว้าง

ผมเริ่ม Stage แรกจากการเปิดมุมองหลักคิด (Core Value)ของมานุษยวิทยา โดยใช้ภาษาง่ายๆ เลือกตัวอย่างที่อยู่ใกล้ตัวของพวกเค้า เช่น กรณี ความเป็น Sex Worker, Sexual Commodity กับความเป็นแม่ของ “ลัลลาเบล” , ภาพที่ขัดกันระหว่างชาวเขาในมุมเด็กดอยที่มอมแมม กับสาวที่งามสะพรั่ง เพื่อกระตุกให้พวกเขาตั้งคำถามกับส่วนลึกของภาพที่เคยรับรู้ แล้วดึงไปสู่หลักการของมานุษยวิทยา ที่เน้นว่า คำตอบอยู่ที่ตัวผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้นๆเอง โดยมีเราเข้าไปช่วยหนุนเสริม จัดระบบข้อมูล (โดยไม่เอาทรรศนคติ ความคิดความเชื่อ อุดมการณ์ต่างๆของตัวเราเข้าไปแทรกแซงหรือตัดสิน)เพื่อทำให้เขาสามารถพบทางเลือกในการพัฒนาด้วยตัวเขาเอง ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในกาละเทศะ (Space & Time) นั้นๆได้อย่างประสิทธิภาพที่สุด

มานุษยวิทยาเป็นสาขาที่ไม่มุ่งตัดสินใคร ไม่ฟันธงว่าอะไรดีชั่วถูกผิด แต่เป็นสาขาที่


1 มองให้กว้าง : มองให้เห็นความหลากหลายของผู้คนในชุมชน โดยไม่ด่วนตัดสิน (ไม่เอาระบบศีลธรรม , ความรู้ , ความเชื่อที่เรายึดมั่นไปตัดสิน แต่ให้พยายามทำความเข้าใจเขาจากมุมมองของเขา ไม่ใช่จากมุมมองของเรา) พูดง่ายๆคือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ซึ่งไม่ได้พูดลอยๆ แต่ต้องมีเทคนิคและกระบวนการ

2.มองให้ลึก : มี Investigate mind ใจที่ชอบคิดตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบต่างๆ และมองเชิงซ้อนให้เห็นชีวิตผู้คนอย่างน้อยสี่มิติที่ส่งผลถึงกัน คือ ชีวิตสาธารณะ (การงาน การศึกษา ฯลฯ) , ชีวิตสังคม (ครอบครัว เครือญาติ เพื่อนฝูง ฯลฯ) , ชีวิตส่วนตัว (ลักษณะนิสัย อัตลักษณ์ตัวตน บุคลิกลักษณะเฉพาะตัว เพศสภาพ อายุ ฐานะ ฯลฯ) , ชีวิตทางจิตวิญญาณ (ความเชื่อ , ความศรัทธา ในศาสนา)

3.มองให้เชื่อมโยง ไม่แยกส่วนระหว่างองค์ประกอบหรือเงื่อนไขต่างๆ และจะให้เกิดเมตตาและปัญญา ต้องเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่เราศึกษากับตัวเราด้วย

วันนี้ คุยกับนักศึกษาอย่างเป็นกันเองมากขึ้น ผมเริ่ม Stage แรกจากการเปิดมุมองหลักคิด (Core Value)ของมานุษยวิทยา โดยใช้ภาษาง่ายๆ บางทีก็แทรกภาษาใน Gen ของพวกเค้าเข้าไปให้มีกลิ่นไอของความเป็นหนุ่มสาว

พอจุดนี้ผ่าน ก็เข้าสู่ Stage ที่ 2 คือแนะนำเครื่องมือ จริงๆมานุษยวิทยามีเครื่องมือในการทำงานหลายอย่างมาก เวลาจำกัดผมเลยยกเรื่องที่สำคัญมาสองเรื่อง คือ 1. การสื่อสารกับคนชายขอบ 2. การทำบันทึกภาคสนาม (field note)

ในประเด็นการสื่อสารกับคนชายขอบ โชคดีที่ผมทำ podcast เรืองนี้ไว้ในสองเดือนก่อนมีเรื่องนี้พอดี เลยส่งลิงค์ให้นักศึกษาฟัง ตามด้วยวิดีโอสั้นจาก Youtube ที่คุณหมอสาวสื่อสารด้วยความกรุณากับผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ชายข้ามเพศ แล้วสุ่มให้นักศึกษานำเสนอความเห็นจากการได้ดูได้ฟังทั้งสองสื่อในการเรียนออนไลน์

ปิดท้ายใกล้เที่ยงด้วยการสอนเทคนิคการทำบันทึกภาคสนาม (Field Note) เรื่องสำคัญที่ดูเหมือนง่ายๆแต่ส่วนใหญ่มองข้าม โดยแบ่งพื้นที่การจดออกเป็นสี่ส่วน ข้อมูล / ความรู้สึก / บริบท / หมายเหตุ หรือข้อสังเกต ซึ่งมันมีผลช่วยให้เราวิเคราะห์ปรากฏการณ์เรื่องราวได้ลึกซึ้งกว่าการจดแต่ข้อมูลล้วนๆ แล้วยังทำให้ Field Note ของเรามีชีวิตชีวา มีความใส่ใจในความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ตลอดจนเชื่อมพลังกับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นบริบทในขณะนั้นได้อีกด้วย

จากที่ได้เห็นบรรดานักศึกษาบอกเล่า อภิปราย ในห้องเรียนออนไลน์สามชั่วโมงนี้ นอกจากนักศึกษาจะได้เล่าความเห็นที่ไม่เพียงมีความรู้ แต่มีความเมตตาอาทรต่อคนชายขอบแล้ว ผมยังได้สีหน้าแววตาของพวกเขาที่ฉายแววของความกระตือรือล้น ได้ยินน้ำเสียงที่จริงใจ

ผมเริ่มเห็น “ความเป็นนักมานุษยวิทยา” ที่มีอยู่ข้างในตัวของผู้เรียนอยู่แล้วได้งอกงามขึ้น จากการที่เราได้มีส่วนช่วยรดน้ำพรวนดิน แล้วพวกเขาก็ส่งพลังกับมา

และพลังเหล่านี้ แผ่มาถึงผมและไหลเวียนไปยังอาจารย์ประจำวิชา ตลอดจนนักศึกษาทุกคนในห้องเรียนออนไลน์วันนี้

และผมเชื่อว่าจะยังประโยชน์ต่อไปยังครอบครัว หน้าที่การงานตลอดจนชุมชนที่พวกเขาจะเข้าไปเกี่ยวข้องอีกมากมายในวันหน้า

ทุกสองปี ผมได้เวียนมาสอนที นับว่าเกินคำว่า “คุ้ม”

#ศิลปะในการสอนออนไลน์

#มานุษยวิทยาวัฒนธรรม

#มานุษยวิทยากับการพัฒนาสังคม

#การสื่อสารกับคนชายขอบ

#เทคนิคการศึกษาและพัฒนาชุมชน

หมายเลขบันทึก: 688285เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2021 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2021 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท