ชีวิตที่พอเพียง ๓๘๖๒. คุณค่าของความมีน้ำใจ



ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เพื่อนรักของผม ได้รับทุนวิจัยจาก สกว. ตั้งแต่ยังไม่เปลี่ยนเป็น สกสว.   ในโครงการ สังคมและวัฒนธรรมไทโบราณ จากการอ่านคัมภีร์ปู่รู้ทั่ว และการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทเปรียบเทียบ (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๓) จึงจัดสัมมนาวิชาการเรื่อง สังคมและวัฒนธรรมไทโบราณ ร่วมกับศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง  คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๓    และขอให้ผมใช้เวลา ๓๐ นาทีกล่าวเปิดการประชุม   

ศ. ฉัตรทิพย์ เตรียมงานอย่างประณีตตามแบบของท่าน   ปลายเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ ผมก็ได้รับกำหนดการและเอกสารผลงานวิจัย ๒ ชุดคือ  (๑) ความเชื่อโบราณของชนชาติไท จากการศึกษาคัมภีร์ปู่รู้ทั่ว และประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทเปรียบเทียบโดยฉัตรทิพย์ นาถสุภา และอุษา โลหะจรูญ   (๒) วัฒนธรรมเกษตรกรรมของชนชาติจ้วง  แปลแบบเก็บความเป็นภาษาไทย โดยสุพจน์ มานะลาภนเจริญ  จากหนังสือภาษาจีน Li Fuqiang : Agricultural Culture of the Zhuang Nationality 1998  

ต่อมากลางเดือนพฤศจิกายน ได้รับเอกสารอีก ๒ ชุดคือ (๓) ความเป็นมาของชนชาติไทและชนชาติข้างเคียง ศึกษาเบื้องต้นจากพันธุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ โดบ กอปร กฤตยากีรณ   และ (๔) ภาษาและฉันทลักษณ์จ้วงโบราณ : กรณีศึกษาบทคำร้อง ปู่รู้ทั่ว  โดย สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์

คำกล่าวเปิดประชุมของผมมีดังต่อไปนี้

 ผมขอกราบขอบพระคุณ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ ที่ให้เกียรติขอให้ผมใช้เวลา ๓๐ นาทีกล่าวเปิดการประชุมนี้     ถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มีโอกาสแสดงความเห็นในท่ามกลางท่านผู้ทรงคุณความรู้เช่นนี้    

การประชุมวันนี้ เป็นเรื่องสังคมและวัฒนธรรมไทโบราณ    เป็นงานวิจัยเพื่อเข้าใจรากเหง้าของคนไทยในยุคปัจจุบัน    ผมโชคดี ได้อ่านต้นฉบับบทความที่จะนำเสนอในวันนี้ก่อนเป็นเวลาหลายวัน    พอจะจับความได้ว่า คนไทยในยุคปัจจุบันอยู่ดินแดนในแหลมทองหรือสุวรรณภูมินี้มาเป็นเวลานาน ๑ - ๓ พันปี โดยอพยพมาจากทางใต้ของจีน    ในลักษณะของการอพยพหลายระลอกและซับซ้อน   

ดินแดนนี้มีมนุษย์อยู่อาศัยมาก่อนนานมาก    มีหลักฐานที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง บอกว่ามีมนุษย์อยู่ที่นั่นเมื่อ ๕ แสนปีมาแล้ว    แต่เป็นมนุษย์สมัยเก่า ที่เรียกว่า Homo erectus    ไม่ใช่มนุษย์สมัยใหม่ (Homo sapiens) อย่างพวกเรา       

เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ มีการประชุมวิชาการกลุ่มเล็กๆ ที่บ้าน ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ เรื่อง ปัญหาเรื่องบรรพบุรุษของคนไทยมาจากไหน กับพลวัตของชาตินิยมไทย  โดยมีวิทยากรหลักคือ ศ. ดร. เสมอชัย พูลสุวรรณ กับ ศ. ดร. พญ. พัชรีย์ เลิศฤทธิ์    ผมมีบุญได้เข้าร่วมฟังด้วย     จึงได้ความรู้ว่า คนที่เข้ามาอยู่ในบริเวณแหลมทองนี้มีหลายระลอก    แล้วสูญหายไป    คนโบราณในหลุมศพที่ขุดค้น ไม่ใช่บรรพบุรุษของคนไทยในปัจจุบัน     โดยที่บรรพบุรุษของคนไทยในปัจจุบันเพิ่งอพยพโยกย้ายมาเมื่อคริสตศตวรรษที่ ๑๓ นี่เอง   

มนุษย์นอกจากมีธรรมชาติตั้งถิ่นฐาน พัฒนาเป็นชุมชนและสังคมแล้ว     ยังมีธรรมชาติย้ายถิ่นอีกด้วย     มนุษย์ทั้งยุคเก่า (H. erectus) ที่วิวัฒนาการขึ้นเมื่อ ๑.๙ ล้านปีที่แล้ว ก็อพยพโยกย้ายถิ่นออกจากอัฟริกา     และเมื่อครึ่งล้านปีที่แล้วก็มาอยู่แถวบ้านเรา     และมนุษย์ยุคปัจจุบัน (H. sapiens) ซึ่งวิวัฒนาการขึ้นเมื่อราวๆ สองแสนปีที่แล้ว    ก็เริ่มออกเดินทางออกจากแอฟริกาเมื่อราวๆ ๖.๕ หมื่นปีที่แล้ว    และมาถึงเอเชียตะวันออกเมื่อราวๆ ๔.๔ หมื่นปีมาแล้ว    เรื่องนี้ได้รับการขยายความโดยบทความเรื่อง ความเป็นมาของชนชาติไทยและชนชาติข้างเคียง ศึกษาเบื้องต้นจากพันธุศาสตร์และภาษาศาสตร์ โดย ดร. กอปร กฤตยากีรณ    ที่มีการทบทวนผลการวิจัยชิ้นสำคัญๆ อย่างกระชับ    อิงวิทยาศาสตร์ทางพันธุกรรม และวิทยาศาสตร์ทางภาษา   

เมื่อราวๆ หนึ่งหมื่นปีมาแล้วชนเผ่าไทก็เริ่มอารยธรรมเกษตรกรรม ที่ดินแดนทางตอนใต้ของจีนในปัจจุบัน    เกิดเป็นชุมชนทำนา ปลูกข้าว    มีการพัฒนาวัฒนธรรมประเพณีไทขึ้น ดังเราจะได้เรียนรู้จากคัมภีร์ปู่รู้ทั่วต่อไป    ข้อเรียนรู้สำคัญคือ สังคมไทไม่มีชนชั้น  ไม่มีทาส  ชื่อว่า “คนไท”  จึงเหมาะสมอย่างยิ่ง    คนไทเน้นความเป็นครอบครัวและชุมชน    จึงพัฒนาความเชื่อรวมหมู่ขึ้นมาเป็นกลไกส่งเสริมความเป็นครอบครัวและชุมชน    

ตามเอกสาร วัฒนธรรมเกษตรกรรมของชนชาติจ้วงผู้แปลคือคุณสุพจน์ มานะลาภนเจริญ ตั้งข้อสังเกตไว้ในคำนำสองข้อที่น่าสนใจมากว่า  (๑) จ้วงเป็นชนชาติแรกที่ริเริ่มการปลูกข้าว เมื่อราวๆ หนึ่งหมื่นปีมาแล้ว  และ (๒) ชนชาติจ้วงขาดกลไกขับเคลื่อนทางสังคมของตนเอง    ทำให้ไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้    ท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในยุคปัจจุบัน หลายประเทศในเอเชีย (รวมทั้งไทย) ตกอยู่ในกรอบความคิดของผู้บริโภคและผู้เสพ    จึงไม่มีพลังขับเคลื่อนทางสังคมของตนเอง ต้องพึ่งพาอิทธิพลจากภายนอก    แบบเดียวกับที่จ้วงพึ่งพาจีน  

เอกสารที่ให้สุนทรียะที่สุดคือ ภาษาและฉันทลักษณ์จ้วงโบราณ กรณีศึกษาคำร้องคัมภีร์ปู่รู้ทั่ว  เขียนโดย ศ. ดร. สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์   เป็นหลักฐานแน่นแฟ้นที่แสดงความสัมพันธ์ของคนจ้วงกับคนไทยในปัจจุบัน    ผ่านถ้อยคำที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน    และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาและความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน  

ต่อไปนี้ จะเข้าเรื่อง ความมีน้ำใจ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ผมใช้เวลาสั้นๆ     กล่าวนำในมิติของความเป็นมนุษย์       

คิดดูก็แปลก ที่การประชุมนี้เน้นเรื่องความเชื่อโบราณ  และวัฒนธรรมโบราณของชนชาติไท ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน    ศ. ฉัตรทิพย์ท่านสนใจเรื่องวัฒนธรรมชนชาติไท มานานมาก และยังคงความสนใจต่อเนื่องเรื่อยมา     เอกสารที่ท่านเขียนและนำมาเสนอในวันนี้ จึงมีความลุ่มลึกเป็นอย่างยิ่ง    เรื่องความเชื่อนี้ ผมได้รับการเลี้ยงดูมาให้เป็นคนไม่เชื่อความเชื่อตามวัฒนธรรมประเพณีมาตั้งแต่เด็ก    และยังคงดำรงนิสัยนี้เรื่อยมาจนแก่    แต่วันนี้ผมต้องรับหน้าที่กล่าวนำการประชุมวิชาการ      ในเรื่องที่เน้นเรื่องความเชื่อ   

ที่จริงจะว่าพ่อแม่ของผม ซึ่งเป็นคนบ้านนอก มีการศึกษาน้อย    สั่งสอนลูกให้เป็นคนไม่เชื่ออะไรเลยก็ไม่ถูกนัก    ผมและน้องๆ ๖ คน ได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนที่เชื่อมั่นในคุณงามความดี    ให้เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เอาเปรียบคนอื่น  ไม่สร้างความเดือดร้อน หรือเบียดเบียนผู้อื่น    และให้มุ่งช่วยเหลือผู้อื่น   นั่นคือสิ่งที่พ่อแม่ปลูกฝัง ส่วนลูกแต่ละคนจะปฏิบัติได้แค่ไหน เป็นเรื่องของแต่ละคน    

ผมได้เรียนรู้จาก ศ. ฉัตรทิพย์เมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้วว่า คุณลักษณะร่วมที่เด่นมากของคนเชื้อชาติไทคือ ความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน    ผมเข้าใจว่าความมีน้ำใจนี้ช่วยสร้างความเข้มแข็งของสังคมไทและไทยมาจนทุกวันนี้    ความมีน้ำใจนี้ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยมาก   

วันนี้จึงขอนำความรู้สมัยใหม่เรื่องคุณค่าของความมีน้ำใจ มาแลกเปลี่ยนในที่ประชุม    โดยนำสาระมาจากหนังสือสองเล่ม ที่เขียนจากหลักฐานสองมุม    เล่มแรกคือ Survival of the Friendliest : Understanding Our Origins and Rediscovering Our Common Humanity (2020)  เขียนโดย ศาสตราจารย์ Brian Hare, Professor of Evolutionary Anthropology, Center for Cognitive Neuroscience, Duke University และ Vanessa Woods  นักวิจัยสังกัดสถาบันเดียวกัน    ที่บอกว่าคุณสมบัติความมีน้ำใจ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์วิวัฒนาการมาอยู่ในสภาพปัจจุบัน    ตามภาษาอังกฤษว่า survival of the friendliest   ไม่ใช่ survival of the fittest ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม    ความมีน้ำใจ ซึ่งช่วยสร้างความเข้มแข็งของการรวมหมู่     เพื่อสู้ศัตรูหรือสู้วิกฤติ    จึงเป็นคุณสมบัติที่พัฒนามาในกระบวนการวิวัฒนาการสู่ความเป็นมนุษย์  Homo sapiens   

หลักฐานประกอบข้อสรุปนี้มาจากความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสมอง  และการทดลองด้านจิตวิทยา    ซึ่งสรุปว่า มนุษย์ได้มีวิวัฒนาการทางชีววิทยา ให้มีทักษะการรับรู้พิเศษ (special cognition skills) ที่ช่วยให้เราร่วมมือกันได้    และการที่จะร่วมมือกันได้นั้น ต้องรู้ใจกัน ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่ามี empathy    ในทางวิชาการเรียกว่า theory of mind    ซึ่งบอกว่า มนุษย์มีความสามารถพิเศษในการรู้ใจคนอื่น    ไม่ใช่แค่รู้ใจตนเอง    คุณสมบัตินี้นำไปสู่ความสามารถในการร่วมมือกันทำสิ่งต่างๆ    ความร่วมมือกันทำสิ่งที่ยากเกินกำลังหรือความสามารถของคนคนเดียวนี่แหละที่ทำให้มนุษย์ผงาดขึ้นมาเป็นจ้าวโลกในปัจจุบัน   

หนังสืออ้างถึงการทดลองของนักพันธุศาสตร์รัสเซีย ชื่อ Dmitry Belyayev    ที่ในปี ค.ศ. 1959 ย้ายจากมอสโคว์ไปอยู่ไซบีเรีย และทำการทดลองฝึกสุนัขจิ้งจอกให้เชื่อง  และผสมพันธุ์ตัวที่เชื่องต่อๆ มา จนได้สุนัขจิ้งจอกที่กลายเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งหมายความว่า มีพฤติกรรมต่างจากสุนัขป่า    ที่สำคัญคือสื่อสารกับคนได้     งานวิจัยนี้ทำอยู่ห้าสิบปี และมีนักพันธุศาสตร์รุ่นหลังทำงานต่อเนื่อง    และได้ข้อสรุปเชิงทฤษฎีว่า ความเป็นมิตรเชื่อมโยงกับความสามารถในการสื่อสาร ซึ่งเป็นลักษณะทางพันธุกรรม      

การที่สัตว์ป่าเชื่องก็เพราะสื่อสารกับคนได้ และไว้ใจคน    เขายกตัวอย่างลิง bonobo (คล้ายชิมแปนซี แต่ตัวเล็กกว่า)  ที่ฝึกการสื่อสารและความร่วมมือให้แก่ตนเองและแก่กันและกันได้  โดยเขาเรียกระบวนการนี้ว่า self-domestication    ส่วนลิงชิมแปนซี ไม่มีความสามารถนี้    ในหนังสือเล่าการทดลองฝึกให้ลิง bonobo สองตัวทำงานร่วมมือกันได้     ส่วนลิงชิมแปนซีฝึกไม่ได้    และเล่าว่าลิง โบโนโบ ในป่ามีพฤติกรรมแบ่งปันอาหารกัน  

ร่างกายมนุษย์มีกลไกส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคม ผ่านฮอร์โมน ซีโรโทนิน (serotonin) และ อ็อกซี่โทซิน (oxytocin)   ที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อคนใกล้ชิด    โดยเขาแนะนำว่าวิธีกระตุ้นให้ฮอร์โมนนี้หลั่งทำได้ง่ายนิดเดียว  โดยมองเข้าไปในดวงตาของคนที่เราพูดด้วยหรือติดต่อสื่อสารด้วย    การมองตากันจึงทำให้เกิดความไว้วางใจและเกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน

ดวงตาของมนุษย์มีลักษณะพิเศษที่ช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมีมิติด้านอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน    คือเรามีตาขาวที่เรียกว่า sclera เป็นพื้นที่กว้าง   ในขณะที่ลิงไม่มี    ทำให้คนเรามีความสัมพันธ์กันแบบ “มองตาก็รู้ใจ”    หรือกรณีหนุ่มสาว “ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ”   กลไกของการสื่อสารอารมณ์ได้อย่างละเอียดอ่อนนี่แหละที่ช่วยความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์    

ที่จริงกลไกทางชีววิทยาที่ทำให้คนมีน้ำใจต่อกันและรู้สึกผูกพันเป็นพวกเดียวกันนี้ นอกจากเป็นคุณในลักษณะที่ทำให้เกิดความเป็นมิตรและร่วมมือกันดังกล่าวแล้ว    ยังอาจมีผลทำให้เกิดความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์กลุ่มอื่นว่าเป็นอื่น หรือเป็นศัตรูและมีการทำลายล้างกันอย่างรุนแรงได้ด้วย    เป็นมิติด้านลบของ empathy     เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ    

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากผลการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คือด้านวิทยาศาสตร์ของสมอง (neuroscience)    สำหรับนำมาอธิบายคุณลักษณะด้านสังคมของมนุษย์      และสรุปได้ว่า ความมีน้ำใจ เป็นปัจจัยสำคัญต่อความอยู่รอดและอยู่ดีของมนุษยชาติ    ไม่ใช่ความโหดร้าย หรือความเห็นแก่ตัว      

หนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์อายุ ๓๒ ปี ผู้กำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง คือ Rutger Bregman ชาวเนเธอร์แลนด์    ที่เขียนหนังสือ Bestseller เรื่อง Utopias for Realists เมื่ออายุเพียง ๒๙ ปี    หนังสือที่ผมอ่านเอามาเล่านี้ ชื่อ Humankind : A Hopeful History (2020) ให้ข้อสรุปเดียวกันกับหนังสือ Survival of the Friendliest    โดยสรุปจากมุมของการวิเคราะห์โดยนักประวัติศาสตร์ จิตวิทยา และปรัชญา   ว่าเรื่องราวของมนุษยชาติเป็นความสำเร็จของ survival of the friendliest    และแย้งข้อสรุปที่เราเชื่อกันมานานว่ามนุษย์เรามีธรรมชาติของความป่าเถื่อนโหดร้ายเห็นแก่ตัว        

เป็นหนังสือที่แย้งความเชื่อทั่วไปว่ามนุษย์มีธรรมชาติเห็นแก่ตัว    ที่มีผลทำให้คนเราระแวง ไม่ไว้วางใจต่อกันและกัน    โดยบอกว่า มองจากมุมด้านวิวัฒนาการ มนุษย์ไม่ใช่ผู้อวดดี (egoist) หรืออาชญากร    แต่เป็นผู้มีน้ำใจ และร่วมมือกัน   

แต่ที่เราคิดว่ามนุษย์มีธรรมชาติเลวร้าย ป่าเถื่อน โหดร้ายทารุณ สู้รบ โกง เป็นฆาตกร ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ก็เพราะเรามองจากมุมของข่าว นวนิยาย และการตีความเหตุการณ์แบบตื้นๆ ผิดๆ มาแต่โบราณกาล 

เรื่องอิทธิพลด้านลบของข่าว คงไม่ต้องพูดถึง    เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้ว    ว่าสื่อเน้นขายข่าวร้าย    ยิ่งในยุคสื่อโซเชี่ยล ข่าวร้ายยิ่งไปเร็ว    

นวนิยาย Lord of the Flies (1964) เขียนโดย William Golding และทำให้ผู้เขียนได้รับรางวัลโนเบล    เพราะเป็นนวนิยายสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์    ผ่านเรื่องราวของเด็กกลุ่มใหญ่ที่ไปติดอยู่ที่เกาะร้าง    เขียนจากจินตนาการ และจากความเชื่อในธรรมชาติด้านลบของมนุษย์    ที่เด็กเหล่านี้แตกแยกกันเป็นคนละพวกและทะเลาะหรือต่อสู้กัน    เรื่องราวในหนังสือมีการนำไปสร้างภาพยนตร์ ๓ ครั้ง  และสร้างเป็นละคร    หนังสือก็ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสือดีที่ควรอ่าน รวมทั้งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนด้วย 

เมื่อเข้าไปอ่านเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้    ก็พบเรื่องราวของผลงานที่มีนวัตกรรมสุดๆ     คือไม่มีสำนักพิมพ์ยอมรับพิมพ์จำหน่าย     และเมื่อพิมพ์ก็ขายไม่ออก แม้พิมพ์เพียง ๓,๐๐๐ เล่ม    แต่ต่อมาก็ค่อยๆ เป็นที่นิยมจนกลายเป็น best seller    และผู้เขียนได้รับรางวัลโนเบลในที่สุด  

 แต่มีข้อพิสูจน์จากเรื่องจริงที่เด็กกลุ่มหนึ่งติดเกาะเช่นเดียวกัน    ว่าเรื่องจริงตรงกันข้ามกับในนวนิยาย     ในเรื่องจริง มีเด็ก ๖ คน ไปติดเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ อยู่ด้วยกัน ๑๕ เดือน ในปี 1966    โดยในเรื่องจริง เด็กๆ ร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอด    ซึ่งอาจมีคนเถียงว่า ในเรื่องจริงจำนวนคนน้อยไป ที่จะเอื้อให้เกิดการแบ่งกลุ่มแบ่งข้าง แก่งแย่งชิงดี    เรื่องของทีมฟุตบอลล์ที่เข้าไปติดถ้ำนางนอนที่เชียงราย เมื่อกลางปี ๒๕๖๑    เราก็รับทราบพฤติกรรมร่วมมือช่วยเหลือกันของเด็กในทำนองเดียวกัน            

มองจากมุมของหลักฐานทางมานุษยวิทยา     มีผลงานวิจัยในคนอินเดียนแดงเผ่า Yannomami ในบราซิล โดยนักมานุษยวิทยาใหญ่ Napolean Chagnon  และเขียนเล่าในหนังสือ The Fierce People บอกว่าคนเผ่านี้รบกันตลอดเวลา       

นักจิตวิทยาใหญ่ Steven Pinker เขียนหนังสือ The Better Angels of Our Nature    บอกว่า จากการสำรวจหลุมฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์    อนุมานได้จากโครงกระดูก ว่า ร้อยละ ๑๔ ของคนที่ตาย ตายจากสงคราม หรือจากการที่มนุษย์ฆ่ากันเอง    ในขณะที่ในปัจจุบัน มนุษย์ตายจากการถูกฆ่าโดยมนุษย์กันเองน้อยกว่าร้อยละ ๑    Pinker สรุปว่ามนุษย์มีธรรมชาติป่าเถื่อนโหดร้าย    แต่เชื่องขึ้นจากกระบวนการพัฒนาด้านอารยธรรม   

Rutger Bregman ให้หลักฐานโต้แย้งว่า    ในความเป็นจริงแล้ว เป็นไปในทางตรงกันข้าม    คือมนุษย์วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ได้ และแพร่พันธุ์จนกลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่ครองโลกได้ ก็เพราะมนุษย์มีคุณสมบัติของความเป็นมิตรและความร่วมมือ    ไม่ใช่เพราะความสามารถในการเอาตัวรอดคนเดียว --- survival of the fittest    แต่มาจากความร่วมมือกันทำให้หมู่คณะอยู่รอด --- survival of the friendliest     หน่วยของความอยู่รอดคือกลุ่มหรือหมู่คณะ ไม่ใช่ตัวตนคนเดียว    

เขาอธิบายหลักฐานทางโบราณคดีโดยตีความใหม่    โยงเข้าหาสภาพชีวิตมนุษย์ยุคเร่ร่อน    ว่ามนุษย์ต่างกลุ่มในยุคนั้นเมื่อมาพบกันก็จะร่วมมือและเป็นมิตรต่อกัน    สภาพนี้เปลี่ยนไปโดยอารยธรรม เมื่อสังคมมนุษย์เข้าสู่ยุคเกษตรกรรมเมื่อ ๑ หมื่นปีที่แล้ว    ทำให้มนุษย์มีสมบัติ และหวงสมบัติ หรือแย่งชิงสมบัติ    Rutger Bregman จึงบอกว่า ด้านลบของมนุษย์มากับสิ่งที่เราเรียกว่าอารยธรรม (civilization)     อารยธรรมก่อความรุนแรงแก่สังคมมนุษย์        

 Rutger Bregman  อ้างหลักฐานจากการเรียนรู้ของมนุษย์    ที่เหนือขีดความสามารถของชิมแปนซีและอุรังอุตัง    เพราะเราเรียนจากความร่วมมือกัน    เขาบอกว่า cognitive ability  กับ cooperative ability  เป็นสองหน้าของเหรียญเดียวกัน    และการที่มนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้และการร่วมมือ ทำให้มนุษย์ “เชื่อง” เป็น Homo domesticus  

หลักฐานที่ Rutger Bregman นำมาอ้าง ยังมีส่วนที่ได้จากเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทหารสัมพันธมิตรกับทหารเยอรมันหยุดรบในวันคริสตมาส   เลี้ยงฉลองร่วมกัน และแลกเปลี่ยนของขวัญกัน     แต่ผมจะหยุดอยู่แค่นี้    เพราะเรื่องธาตุแท้ของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องซับซ้อน มองได้หลายมุม หลายชั้น    นำเรื่องราวมาตีความถกเถียงกันได้ยืดยาว    ในเวลาอันจำกัดผมขอตีความว่า มนุษย์มีสองหน้าหรือสองด้าน    คือด้านดีกับด้านชั่ว หรือด้านบวกกับด้านลบ    หากมองจากมุมการศึกษา    การศึกษาต้องมุ่งหาวิธีกระตุ้นให้ด้านดีของมนุษย์งอกงาม และยับยั้งด้านชั่ว   

วกกลับมาที่คุณสมบัติความเป็นมิตรและมีน้ำใจของคนเผ่าไท    ที่เกิดขึ้นในยุคที่คนไทอยู่ในวิถีชีวิตเกษตรกรรม  หรืออารยธรรมเกษตรกรรม    คำอธิบายที่มาของคุณสมบัตินี้คือ หลักการพื้นฐานด้านพันธุศาสตร์ว่า

Phenotype   =  Genotype + Environment

ลักษณะที่แสดงออก    มาจากปัจจัยด้านพันธุกรรม มีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม    หรือกล่าวใหม่ว่า ลักษณะความมีน้ำใจของคนไท เกิดจากพันธุกรรมของมนุษย์ที่วิวัฒนาการมาด้วยพลังของความเป็นมิตร (friendliness)    ผสานกับสภาพแวดล้อมของสังคมเกษตรกรรม    ที่มนุษย์มีสมบัติไม่มาก    และต้องร่วมมือกันเอาชนะความยากลำบาก   

การตีความหลายชั้นเหล่านี้ ย่อมมีข้อถกเถียงได้มาก    เช่นเดียวกันกับเรื่องสังคมและวัฒนธรรมไทโบราณ  

ผมขออนุญาตเปิดการ สัมมนาวิชาการเรื่อง สังคมและวัฒนธรรมไทโบราณเพื่อให้ท่านได้มีเวลาประเทืองปัญญาจากการนำเสนอของวิทยากร ที่เปี่ยมคุณภาพ   ณ บัดนี้

กราบขอบพระคุณครับ  

วิจารณ์ พานิช

๓ ธ.ค. ๖๓

       

หมายเลขบันทึก: 688091เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2021 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2021 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท