มหาวิทยาลัยผูกพันสังคม ๑๐. อุดมศึกษายุคใหม่


มหาวิทยาลัยผูกพันสังคม  ๑๐. อุดมศึกษายุคใหม่ สถาบันอาศรมศิลป์ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปรับโครงสร้างของสถาบัน   เพื่อบูรณาการงานหลักทั้ง ๔ ด้าน (การเรียนการสอน, วิจัย, บริการ, ทำนุบำรุงวัฒนธรรมและศิลปะ) เข้าด้วยกัน    โดยใช้งานบริการวิชาการแบบ ผูกพันสังคม (social engagement) เป็นตัวนำ  

สถาบันอุดมศึกษาแบบนี้น่าจะเรียกว่า Engagement-Based Higher Education Institution    ... สถาบันอุดมศึกษาร่วมพัฒนาสังคม  

งาน social engagement มาจาก engagement partner ที่มีทรัพยากรสนับสนุน    มีเป้าหมายทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม    แต่ตนเองทำไม่ได้ ต้องการภาคีที่มีความสามารถเข้าไปดำเนินการ    สถาบันอาศรมศิลป์จึงอาสาเข้าไปดำเนินการ หรือร่วมดำเนินการ    มองจากมุมมองเดิม ก็เป็นงานบริการวิชาการ    แต่ในมุมมองสมัยใหม่ เป็นงาน social engagement  

มองและปฏิบัติให้สมัยใหม่ยิ่งขึ้นไปอีก     สถาบันอาศรมศิลป์มองงาน social engagement เป็นแหล่งสำหรับให้นักศึกษาและอาจารย์เข้าไปเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม    และหากมีโจทย์วิจัยติดกระเป๋าไปด้วย การทำงานนั้นก็เป็นงานวิจัยไปด้วยในตัว    รวมทั้งเนื่องจากงาน social engagement ที่เข้าไปร่วมมักเป็นงานที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ    กิจกรรมที่ทำจะเป็นการพัฒนาจิตสาธารณะของนักศึกษา อาจารย์ และผู้เกี่ยวข้องไปในตัว    หากการดำเนินการกิจกรรมนั้นมีการสะท้อนคิด (reflection) ร่วมกันเป็นระยะๆ    และโจทย์สะท้อนคิดมีประเด็นด้านคุณค่าต่อสังคม (social values) รวมอยู่ด้วย

จะเห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาสมัยใหม่ต้องทำงานอยู่บน ๔ เสาหลัก (4 pillars) คือ

  • มีงานให้ทำและเรียนรู้
  • มีการปฏิบัติงาน และเรียนรู้ผ่านการใคร่ครวญสะท้อนคิด   โดยทำเป็นทีม  และมีโค้ช
  • มีชุดคำถามที่เตรียมไว้สำหรับการใคร่ครวญสะท้อนคิดเพื่อ (๑) การเรียนรู้อย่างเป็นระบบ และครบด้าน (ตามหลักสูตร)    (๒) การสร้างความรู้ใหม่  ซึ่งก็คือคำถามสำหรับพัฒนาไปเป็นโจทย์วิจัย    (๓) การเรียนรู้ด้านใน หรือด้านจิตวิญญาณ  หรือเชิงคุณค่า   สู่ transformative learning   
  • มีชุมชนเรียนรู้สู่การเป็นอาจารย์ยุคใหม่   ที่ร่วมกันพัฒนาชุดคำถาม (ที่เตรียมไว้อย่างเป็นระบบตามหลักสูตร) เพื่อ (๑) การจัดการหลักสูตร   (๒) การวิจัย   และ (๓) การพัฒนาคุณค่า หรือคุณงามความดี    และมีการพัฒนาต่อเนื่อง     โดยมีผู้บริหารเป็นโค้ชของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้    โดยโค้ชก็มีชุดคำถามเพื่อการทำหน้าที่ของตน  

กิจกรรมที่ต้องเรียนรู้และดำเนินการเป็นการใหญ่สำหรับสถาบันอาศรมศิลป์ คือ “การถอดหลักสูตรเป็นคำถาม” เพื่อ “การเรียนรู้จากการปฏิบัติตามด้วยการสะท้อนคิด”    ที่ผู้เรียนเกิดสมรรถนะครบถ้วน ลุ่มลึก และเชื่อมโยง ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร 

ผู้บริหารต้องมีชุดคำถามสำหรับบูรณาการระหว่างวิชา     และบูรณาการวิชาเข้ากับการปฏิบัติ  

ผมคิดว่า ในเบื้องต้น ต้องมี “ชุดคำถามประจำวิชา” ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร    ให้อาจารย์นำไปใช้    แล้วนำประสบการณ์การใช้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่าได้ผลเป็นอย่างไร    ควรปรับปรุงตรงไหนบ้าง

ชุดคำถาม จึงน่าจะเป็น “เสาหลัก” ที่สถาบันอาศรมศิลป์ต้องเอาจริงเอาจังในการสร้างและสั่งสม ในช่วงเวลาสองสามปีข้างหน้า   


หมายเลขบันทึก: 687967เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2020 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2020 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท