หรือเราเองก็อยู่ในบ่อจระเข้


“ฉันไม่เคยลืม คนเราย่อมมีเหตุผลของตัวเอง แต่อย่างที่เคยบอก นายคือเพื่อนที่ดีที่สุดเสมอ”

     บทวิจารณ์เรื่องสั้น

จระเข้ : บ่อจระเข้ที่ไม่มีทางออก

       “ในโลกเล่า” หนังสือรวมเรื่องสั้นที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือก short list รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2563 ผลงานเขียนของ วัฒน์ ยวงแก้ว เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่เต็มไปด้วยคำถามที่ผู้เขียนซ่อนปมชีวิตให้ผู้อ่านแก้และหาคำตอบด้วยตัวเอง ผ่านสายตาของผู้อ่านในแง่มุมต่าง ๆ

  “จระเข้” เป็นหนึ่งในหนังสือรวมเรื่องสั้น “ในโลกเล่า” เป็นเรื่องราวชีวิตของชิดและผมเมื่อคราวยังเด็กที่พูดถึงความสนุกสนาน ความสนิทสนม ไปมาหาสู่กัน เป็นเพื่อนรักกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป พอโตขึ้นความคิดความอ่านก็มากขึ้น  ชิดเริ่มเกิดการเปรียบเทียบกับตัวผม ผมได้เรียนหนังสือ มีอนาคตยาวไกล ส่วนชิดยังคงปลูกผักหาปลา ทำให้เกิดระยะห่างในความสัมพันธ์ จนความสนิทสนมเริ่มจางหายไป วันหนึ่งชิดติดต่อมาหาผม ชีวิตชิดดีขึ้นมีบ้านหลังใหญ่โต ฐานะร่ำรวย ชิดพูดถึงเรื่องราวเก่า ๆ ท่าทางและแววตาชิดยังเป็นคนเดิม เป็นเพื่อนรักของผมคนเดิม ชีวิตชิดมีความสุขมาก ชิดและผมแลกช่องทางติดต่อกันและแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ แต่เรื่องราวไม่จบเพียงเท่านั้น ผ่านมาไม่ถึงเดือนหลังจากชิดแต่งงาน ชิดถูกตำรวจวิสามัญเนื่องจากเป็นพ่อค้ายารายใหญ่

  เรื่องสั้นจระเข้ มี โครงเรื่อง ที่ไม่สลับซับซ้อน เปิดเรื่อง ด้วยการที่ผมนั่งคิดถึงวันเก่า ๆ สมัยยังเป็นเด็กพรรณนาให้เห็นภาพสายน้ำที่ลุกล้ำกัดเซาะดินข้างคลอง ทำให้ท่าน้ำเดิมที่เคยเห็นสูญเสียความงดงามไป  ซึ่งคล้ายฉากตอนจบของเรื่อง ที่ตัวละคร”ผม” ในเรื่องได้นั่งทบทวนชีวิตเรื่องราวที่ผ่านมาของชิดและผม  ผู้เขียนบรรยายถึงฉากในเรื่องสั้นให้เห็นภาพบรรยากาศชีวิตเด็กในชนบท และความสัมพันธ์ของชิดกับผมอย่างชัดเจน ลำคลองที่เป็นเส้นทางสัญจรที่มีความสัมพันธ์กับปากท้องชาวบ้าน แต่สำหรับเด็ก ๆ ลำคลองเป็นแหล่งสร้างความสนุกสนานร่าเริงของเด็ก ๆ

          การ สร้างปม ความขัดแย้ง ผู้เขียนสร้างปมขัดแย้งให้ตัวละครชิดที่เคยสนิทกับผม แต่กลับตีตัวออกห่างเพราะความรู้สึกว่าไม่คู่ควรกับตัวละครผม ที่แม่อธิบายว่า “ช่วงวัยที่มีความคิดความอ่านมากขึ้น ชิดอาจเริ่มนึกเปรียบเทียบ” (หน้า 16 ) ด้วยที่ผมฐานะดีได้รับการศึกษา แต่ตัวชิดเป็นพียงชาวบ้านหากินประทังชีวิตไปวัน ๆ “ชิดเริ่มไม่เป็นกันเองกับผมเท่าที่เคย เขาเกรงเกร็งเงียบขรึมขึ้น และดูไม่ค่อยยินดีที่ได้พบกัน” (หน้า 16) จนผมเองก็รู้สึกว่าความสัมพันธ์ของชิดกับผมเริ่มมีกำแพงขึ้น  

                จากการสร้างปมขัดแย้งของผู้เขียนที่กล่าวมา ความห่างเหินไม่ได้เกิดจากตัวชิดเพียงคนเดียว แต่เกิดในตัวผมด้วย จุดสุดยอด ของเรื่องพูดถึงความสัมพันธ์ในวัยเยาว์ก็ค่อย ๆ ถูกลืมเลือนไป  “จดหมายจากกรุงเทพไม่เคยถูกตอบ ผ่านไปปีกว่าผมจึงเลิกเขียน” (หน้า 18) ผมเลิกพยายามติดต่อ เลิกเขียนจดหมายไป ผมมีเพื่อน และสังคมใหม่ ๆ เรียนจบ แต่งงาน และมีครอบครัว ทำให้เกิดความผูกพันกับปัจจุบันมากกว่าอดีต

          วันหนึ่งผมได้รับการติดต่อกลับมาของชิด ถือได้ว่าเป็น จุดคลายปม ของเรื่อง ชิดขอโทษขอโพยผมที่ไม่ได้ตอบจดหมาย ชิดกำลังจะแต่งงานและอยากให้ผมเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว ชิดและผมได้พูดคุยกัน ชิดยังจำเรื่องราวเก่า ๆ ได้เป็นอย่างดี แววตาท่าทางของชิดยังเป็นคนเดิม คนที่เป็นเพื่อนรักของผม “ฉันไม่เคยลืม คนเราย่อมมีเหตุผลของตัวเอง แต่อย่างที่เคยบอก นายคือเพื่อนที่ดีที่สุดเสมอ” ชิดพูด (หน้า  19) สุดท้ายเป็นผมเองที่รู้สึกผิดที่ไปตัดสินชิด ว่าลืมความสัมพันธ์ของผมกับเขาไปแล้ว เป็นตัวผมเองที่รู้สึกผิดกับชิด

          ผู้เขียน ปิดเรื่อง ด้วยการหักมุมเพราะหากอ่านมาถึงจุดที่ทั้งสองเข้าใจกัน คงคิดว่าจบเพียงเท่านี้ แต่ผู้เขียนได้สร้างตอนจบไว้ให้จบแบบโศกนาฏกรรม หลังจากที่ผมกลับมาจากงานแต่งของชิดไม่ถึงเดือน แม่ก็โทรแจ้งข่าวว่าชิดถูกตำรวจวิสามัญ ผู้เขียนต่อท้ายให้คิดไว้อีกว่า ชิดเด็กน้อยที่ไม่กล้าแม้กระทั่งจะเอาเท้าลงไปในน้ำ บัดนี้ได้จบชีวิตลงด้วยการเป็นพ่อค้ายารายใหญ่

          จากเรื่องผู้เขียนได้แทรก แก่นเรื่อง หรือ แนวคิด ที่สื่อให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม การที่ชิดพยายามห่างจากผมเพราะรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม ไม่คู่ควรที่จะคบหรือสนิทสนมกับผม ต่อให้แม่ของผมจะรักและเอ็นดูชิด แต่ก็ไม่สามารถลบปมที่อยู่ภายในใจของชิดได้ และด้วยที่ความคิดความอ่านมีมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ชิดคิดเปรียบเทียบ ฐานะทางครอบครัวของชิดยากจน ทำให้ชิดไม่ได้เรียนต่อ ต่างจากผมที่มีพร้อมทั้งฐานะ การศึกษา ทำให้ชิดยิ่งคิดว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นเพื่อนกับผม ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ และด้วยความอยากได้ อยากมี อยากทัดเทียมกับเพื่อนรักบวกกับไม่ได้เรียนต่อ ทำให้ชิดเลือกเส้นทางชีวิตที่ผิด และจบชีวิตอย่างน่าเศร้าใจ

          นอกจากนี้ใน ชื่อเรื่อง ผู้เขียนก็ได้สร้างเงื่อนไว้ให้ได้คิดที่มาของชื่อเรื่อง “จระเข้” ที่เปรียบเสมือนอำนาจ ความดุร้าย อันตราย จระเข้ถือเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากเป็นสัตว์ผู้ล่าเนื้อขนาดใหญ่ จึงอาจเทียบได้กับไอ้ขอน จระเข้ที่ชิดกลัวเมื่อวัยเด็กจนไม่กล้าแม้กระทั่งจะเอาเท้าลงน้ำ แต่บัดนี้ชิดไม่กลัวมันอีกแล้ว อาจเพราะหากมัวแต่กลัวคงอดตาย เช่นเดียวกับความอยากได้อยากมีของชิดที่หวังจะทัดเทียมเพื่อนรัก ทำให้ชิดตกไปอยู่ในบ่อจระเข้ หรือหลงในบ่ออำนาจของความร่ำรวยที่มาจากการค้ายา

          ในส่วนของความสมจริงของเรื่อง ซึ่งเรื่องราวที่ผู้แต่งเขียนขึ้นมานี้ เป็นเรื่องราวที่มีความสมจริงและปัจจุบันก็ยังมีเหตุการณ์และปัญหานี้อยู่จริง ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม่ของผม รักและเอาใจใส่ชิดเหมือนลูก แต่ก็ไม่สามารถลบปมในใจของชิดได้ และอีกเหตุการณ์ชิดเป็นคนที่กลัวจระเข้มากจนไม่กล้าที่จะลงน้ำ แต่ด้วยฐานะความเป็นอยู่ชิดก็ต้องลงหาปลา เพราะความยากจนหากไม่ดิ้นรนก็อดตาย และด้วยความยากจนของชิดและการที่ชิดไม่ได้เรียนจึงทำให้ชิดหลงผิด ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และหลงใหลในอำนาจเงินทอง จนถลำลึกลงไปเป็นพ่อค้ารายใหญ่ หากมาย้อนมองที่ตัวเอง หากตกลงไปในบ่อจระเข้ เราจะขึ้นมาอย่างไร หรือตอนนี้เราเองก็อยู่ในบ่อจระเข้

                จะเห็นได้ว่าเรื่องสั้น “จระเข้” จากหนังสือ “ในโลกเล่า” ของ วัฒน์ ยวงแก้ว มีความโดดเด่นทั้งการตั้งชื่อเรื่องที่แฝงแนวคิด อีกทั้งยังดำเนินเรื่องไปอย่างเรียบง่าย แต่ยังคงแฝงแนวคิดไว้ให้ผู้อ่านได้คิด ผู้เขียนใช้ภาษาที่อ่านง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวและเห็นภาพตามไปด้วยอย่างชัดเจน สร้างความสนใจอยากรู้เรื่องราวความเป็นไปของเรื่องให้แก่ผู้อ่าน มีการแทรกแนวคิด สร้างปมความขัดแย้ง คลายปม และจบด้วยการหักมุม ให้ผู้อ่านได้แก้หรือหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยมีเนื้อหาที่สัมพันธ์เป็นเอกภาพกัน ในด้านกลวิธีการเล่าเรื่องนั้นผู้เขียนได้ถ่ายทอดเรื่องราวโดยให้ตัวละคร “ผม” เป็นผู้เล่า ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในมุมมองของเด็กชนบทที่มีฐานะต่างกัน ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้เป็นอย่างดี  อีกทั้งยังสะท้อนภาพสังคมในอดีตและปัจจุบัน เสมือนว่าผู้อ่านได้เห็นชีวิตของตัวละครผ่านตัวหนังสือ กล่าวได้ว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้มีคุณค่าทั้งด้านเนื้อหา ด้านสังคม เป็นเรื่องสั้นที่ควรได้อ่านสักครั้งหนึ่งในชีวิต

หมายเลขบันทึก: 687679เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2020 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2020 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท