Transformative Learning : ธรรมศาสตร์โมเดล



วันเสาร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ผมไปร่วมการสัมมนา ครูปล่อยแสง : บัวหลวงก่อการครู ร่วมพัฒนาที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต   จึงได้ไปพบวิธีการพัฒนาครูให้เป็นกระบวนกรของ Transformative Learning    โดยที่ครูเองก็เกิด transformation ในขั้นตอนของการพัฒนา ให้ครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (เพื่อเป็นกุญแจสู่การแก้ไขระบบการศึกษา)    ที่มี ๓ โมดูล

  • ครูคือมนุษย์ สำรวจภูมิทัศน์ภายในความเป็นครู    นี่คือจิตตปัญญาศึกษา  
  • เสริมสร้างองค์ความรู้ด้วย วิชาก่อการครูแกนนำ
  • จัดขบวนทัพ จัดกระบวนท่า เพราะ ครูคือกระบวนกร

ไฮไลท์ของการประชุมคือช่วง EdTalk โดยครู ๕ คน ผลัดกันขึ้นมาเล่าเรื่องราวการทำหน้าที่ครูของตนเอง เริ่มจากครูแป๋ว โรงเรียนบ้านบางหมาก จังหวัดตรัง   เล่าวิธีแก้ปัญหาเด็กเบื่อเรียน    โดยเริ่มจากให้เด็กบอกว่าอยากเรียนอะไร    แล้วครูไปคิดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้    เช่นบทเรียนว่าวแห่งการเรียนรู้   ส้มตำหรรษา    ผมสรุปกับตนเองว่า นี่คือครูที่มุ่งสอนศิษย์  ไม่ใช่สอนวิชา 

ครูต้า อภิวัฒน์ จากโรงเรียนวัดโพธาราม  จังหวัดชลบุรี เป็นครูผู้ชายที่สอนเด็กอนุบาล    ที่ตอนเรียนในหลักสูตรครูปฐมวัย ได้เรียนรู้ว่าเด็กเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ซึ่งก็คือการเล่น     แต่พอมาทำหน้าที่ครูจริงๆ    ความคาดหวังของพ่อแม่ต้องการให้สอนวิชา    ทำให้ตนอัดอั้นตันใจ ไม่มีทางออก     เมื่อมาเข้าโครงการก่อการครู    ก็ได้ปลดปล่อยตัวเอง สู่การสอนแบบ active learning 

ผู้อำนวยการศรีสมร สนทา แห่งโรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน  จังหวัดอุดรธานี    เคยเป็นครูและศึกษานิเทศก์มาก่อน   ถาพ่อก็เป็นครูใหญ่    จึงรู้มายาคติของการศึกษาไทยทะลุปรุโปร่ง    ว่าครูคิดไม่เป็นและไม่กล้าคิด รอรับคำสั่งลูกเดียว     เมื่อมาเข้าโครงการก่อการครู ก็กลับไปใคร่ครวญ และดำเนินการสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนโดยลดการสั่งการ    สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ครูและนักเรียน    ให้กล้าคิดกล้าทดลองทำ    ได้มีโอกาสสร้างสรรค์

ครูพิมพร โรงเรียนระยองปัญญานุกูล เป็นครูการศึกษาพิเศษ คือสอนเด็กหูหนวก     ต้องอยู่กับเด็ก ๒๔ชั่วโมง    มาเข้าโครงการก่อการครู ช่วยให้ได้วิธีสอนด้วยเกม  ได้ความกล้า  วิธีให้ความรักความปลอดภัยแก่เด็ก    รู้วิธีสร้างความมั่นใจตนเองให้แก่เด็กพิการ ให้กล้ามีเป้าหมายชีวิต

ครูเจี๊ยบ ธนาพร ก้อนทอง แห่งโรงเรียนวัดบ้านกล้วย  จังหวัดสระบุรี  อายุมากที่สุดใน ๕ คน และเกิด transformation รุนแรงที่สุด    เล่าว่าตนเองเผชิญความยากลำบากในชีวิตมามาก    แต่ไม่มีครั้งใดสะเทือนใจเท่ากับที่ได้รับกระทงดอกไม้ในวันไหว้ครู พร้อมการ์ดที่มีคำว่า “หนูเกลียดครู”    เพราะความดุและตั้งใจดีในการเคี่ยวเข็ญให้เด็กเรียนวิชา     ทำให้ได้กลับมาใคร่ครวญและเปลี่ยนแปลงตนเอง     และได้มาติดอาวุธที่หลากหลายในโครงการก่อการครู   

เป็นเรื่องราวของ Teacher Transformation ที่งดงามและน่าปลื้มใจ    แต่ก็สะท้อนด้านลบของระบบการศึกษาไทยภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ    ว่าไม่สามารถเอื้อให้ครูได้เรียนรู้และพัฒนาจากการทำงานของตนได้    เพราะกระทรวงฯ ได้ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยสำหรับครู     จึงไม่เอื้อให้ครูได้รู้จัก transformative learning      

นพ. อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล อดีต ผอ. สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ผู้สร้างระบบคุณภาพสถานพยาบาล ก่อผลดีต่อระบบสุขภาพไทย  และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก    ให้ความเห็นว่า สภาพการทำงานในกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน เป็นเสมือนกรงขังที่ปิดกั้นไม่ให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนเกิด transformative learning จากการทำงานได้    เป็นข้อสังเกตที่ล้ำลึกมาก  

คุณหมออนุวัฒน์ ให้ข้อสังเกตว่า ในเรื่องเล่าของครูทั้ง ๕ ท่าน    เราได้เห็นว่า ตัวตนเดิมของท่านหายไป    เกิดตัวตนใหม่ขึ้นมาแทน    สร้างปฏิสัมพันธ์ใหม่กับนักเรียน    เกิดการค้นหาศักยภาพของนักเรียนเป็นรายคน    ครูมีความสนุก มีความสุขอยู่กับการค้นหาศักยภาพของมนุษย์  และสร้างการเรียนรู้ขึ้นมาขยายจุดแข็งของนักเรียนแต่ละคน  

เมื่อครูรู้จัก Transformative Learning  จากความรู้มือหนึ่ง คือประสบการณ์ตรงของตนเอง    ก็จะสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ศิษย์เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงได้

Transformation ที่สำคัญที่ต้องการคือ เปลี่ยนจากผู้รอรับคำสั่ง    เป็นผู้กล้าลงมือริเริ่มสร้างสรรค์ (ที่เรียกว่าเป็น agent  หรือ change agent)   โดยทำงานร่วมกันกับครูและผู้บริหารในการดำเนินการเพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน  

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ธ.ค. ๖๓


            

หมายเลขบันทึก: 687664เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2020 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2020 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท