มหาวิทยาลัยผูกพันสังคม ๘. ใช้วิกฤติเป็นโอกาส



บันทึกชุด มหาวิทยาลัยผูกพันสังคม(University Social Engagement) นี้    เขียนจากการตีความหนังสือ Universities and Colleges as Economic Drivers : Measuring Higher Education’s Role in Economic Development(2012)  

บันทึกที่ ๘ นี้ เขียนจากการตีความบทที่ ๑๐ ซึ่งเป็นบทสุดท้าย ของหนังสือ  เรื่อง The Impact of the 2008 Great Recession on College and University Contribution to State and Regional Economic Growth  เขียนโดย D. Bruce Johnston

สรุปได้ว่า สาระในบันทึกนี้มาจากการคาดการณ์ของผู้เขียน (D. Bruce Johnston)    ว่าการจำกัดงบประมาณภาครัฐในยุควิกฤติเศรษฐกิจ ก่อผลกระทบต่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐอย่างไร    และมีผลต่อบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐอย่างไร    ที่ย้ำว่าเป็นการคาดการณ์ก็เพราะหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2012 ซึ่งยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกัน    เมื่อมีความเข้าใจเช่นนั้นแล้ว สถาบันอุดมศึกษาต้องมุ่งใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการทำหน้าที่ของตน

วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ในปี 2008 – 2012 เริ่มจากฟองสบู่ธุรกิจให้กู้เงินซื้อบ้านจัดสรรแตก ที่เรียกว่า subprime mortgage economic crisis    แล้วลามไปสู่ทุกธุรกิจ และลามไปยังโลกตะวันตก และทั่วโลก    โดยผมขอเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยถูกกระทบน้อยมาก    เพราะเราเจ็บแล้วจำจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐   ระบบการเงินไทยได้รับการออกแบบใหม่ให้มีความระมัดระวังสูงมาก  

สหรัฐอเมริกาใช้อุดมศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ    ดังเห็นได้จากกฎหมายกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ARRA (American Recovery and Reinvestment Act 2009) ระบุให้จัดสรรงบประมาณ (ของประเทศ – Federal Government) มากกว่า สามหมื่นล้านเหรียญ สนับสนุนโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัย     และอีก ๗.๖ พันล้านเหรียญสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์  

อย่างไรก็ตาม เงินกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเหลือมหาวิทยาลัยดังกล่าวไม่เพียงพอ    และมหาวิทยาลัยต้องเผชิญความยากลำบากทางการเงิน       

มหาวิทยาลัยประหยัดยุควิกฤติเศรษฐกิจ

ผู้เขียน (D. Bruce Johnston) เคยทำหน้าที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นเวลา ๑๕ ปี    คือเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยหนึ่งในระบบ SUNY ในช่วงปี 1979 - 1988   และทำหน้าที่อธิการบดีของ SUNY ทั้งระบบในปี 1988 – 1994    บอกว่า มหาวิทยาลัยต้องมีมาตรการประหยัดมาตลอด    ไม่ใช่มาประหยัดในยุควิกฤติเศรษฐกิจเท่านั้น    เพราะค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยสูงขึ้นทุกปี   

จะเห็นว่าเรื่องการบริหารการเงินของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา มีความเห็นแตกต่างกันเป็นสองขั้ว    ขั้วหนึ่งเป็นไปตามที่ D. Bruce Johnston เขียน    อีกขั้วหนึ่งมาจากหนังสือที่บอกว่าหมดยุคของมหาวิทยาลัยในรูปแบบปัจจุบันแล้ว เพราะแพงเกิน และมีวิธีเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า (๑)

 หากไม่มีเงินกระตุ้น เงินที่รัฐต่างๆ สนับสนุนมหาวิทยาลัยของรัฐจะลดลงร้อยละ ๖.๘ (จากปี 2008 สู่ปี 2010)    แต่กระนั้นก็ตาม แม้จะมีเงินกระตุ้น ก็ยังมีบางรัฐที่มหาวิทยาลัยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐลดลงร้อยละ ๖.๘ - ๑๖.๔  

มีผลงานวิจัยบอกว่า  ระหว่างปี 2008 – 2009 มหาวิทยาลัยวิจัยของรัฐ ได้รับงบประมาณต่อหัวนักศึกษาลดลง ๗๕๑ เหรียญ    โดยมหาวิทยาลัยมีรายได้จากค่าลงทะเบียนเรียนต่อหัวเพิ่มขึ้นเพียง ๓๖๑ เหรียญ   

สำหรับรัฐนิวยอร์ก ค่าใช้จ่ายด้านอุดมศึกษาทั้งหมด ทั้งจ่ายโดยภาครัฐ และโดยผู้เรียน    ทั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชน    ในปี 2011 เปรียบเทียบกับปี 2009 ลดลงร้อยละ ๓.๖ 

เนื่องจากรัฐนิวยอร์กมีอัตราภาษีสูง    โอกาสที่จะขึ้นภาษีเพื่อนำมาอุดหนุนมหาวิทยาลัยจึงมีน้อยมาก      

การปรับตัวรับอนาคตทางการเงินที่ไม่แน่นอน

การปรับตัวของมหาวิทยาลัยมี ๒ แนว    คือปรับตัวชั่วคราว    รอให้เศรษฐกิจฟื้น ก็กลับไปดำเนินการมหาวิทยาลัยแบบเดิม   กับปรับตัวไปสู่สภาพใหม่ที่เหมาะสมกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระยะยาวของมหาวิทยาลัย    ข้อเขียนในหนังสือไม่ได้ระบุชัดว่ามหาวิทยาลัยอเมริกันเดินแนวทางใด    ซึ่งในความเห็นของผม ต้องดำเนินการแนวหลัง (อาจผสมกับแนวแรกในบางเรื่อง) มหาวิทยาลัยจึงจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน

ในหนังสือระบุการปรับตัว ๒ แบบ เพื่อลดค่าใช้จ่าย   คือปรับที่การจ้างงาน  กับปรับที่กระบวนการจัดการเรียนการสอน 

ปรับการจ้างงานทำโดยลดจำนวนอาจารย์ประจำลง    จ้างอาจารย์ที่ค่าจ้างต่ำ  อาจารย์ที่ทำงานบางเวลา    แนวทางนี้รวมทั้งการชลอการก่อสร้างหรือซ่อมแซม    และต้องทำร่วมกับการรณรงค์หารายได้เพิ่มจากองค์การการกุศล    รวมทั้งขึ้นค่าเล่าเรียน   แนวทางนี้สอดคล้องกับแนวทางปรับตัวชั่วคราว

ปรับกระบวนการเรียนการสอน   ทำได้มากมายหลากหลายวิธี เช่น

  • ในมหาวิทยาลัยวิจัย เพิ่มภาระการสอนแก่อาจารย์ที่มีภาระงานวิจัยน้อย
  • จัดเวลาเรียนให้เต็มวัน เต็มสัปดาห์ เต็มทั้งปี มากยิ่งขึ้น 
  • จัดการเรียนแบบ ให้นักศึกษาเรียนตามกำหนดของตนเอง    ได้เครดิตจากการสอบ (อาจไม่ต้องเรียน)    ได้เครดิตจาก eLearning  เป็นต้น
  • ลดรายวิชาและหลักสูตรซ้ำซ้อน
  • ลดเวลาเรียนระดับปริญญาตรีเหลือ ๓ ปี    โดยเอาบางวิชาไปไว้ระดับมัธยมปลาย
  • ใช้มาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อลดอัตราสอบตกลงไป      

การปรับตัวของมหาวิทยาลัย ย่อมมีผลกระทบต่อบทบาทของมหาวิทยาลัยในการทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่    ซึ่งเป็นประเด็นในตอนต่อไป  

ผลกระทบของมหาวิทยาลัยปรับตัวยุควิกฤติเศรษฐกิจ 2008 – 2012 ต่อเศรษฐกิจของรัฐและพื้นที่

ย้ำว่าเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกานะครับ    ผมสรุปมาเป็นข้อเรียนรู้ต่อมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งต่างก็กำลังเผชิญวิกฤติที่มากกว่าวิกฤติที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เผชิญตามในหนังสือ    คือเรากำลังเผชิญวิกฤติหลายด้านจากการระบาดของ โควิด ๑๙    โดยขอย้ำว่า ข้อความในหนังสือเป็นการคาดเดาไปข้างหน้า    เพราะเมื่อเขียนหนังสือเล่มนี้การปรับตัวยังไม่สิ้นสุด     แต่ข้อเรียนรู้นี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้เราปรับใช้ได้บ้างในสถานการณ์ปัจจุบัน    

เขาเน้นบทบาทของมหาวิทยาลัยต่อเศรษฐกิจของพื้นที่ ๓ ด้านคือ

  1. 1. พัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการผลิต ที่เป็นนวัตกรรม สำหรับส่งออก
  2. 2. ฝึกกำลังคนสำหรับระบบการผลิต และระบบบริการชั้นแนวหน้า ที่เป็นที่ต้องการในระบบเศรษฐกิจใหม่ของประเทศนำหน้าโลก
  3. 3. ดึงดูดนักศึกษาจากต่างรัฐ หรือต่างประเทศ    เพื่อเป็นรัฐที่ส่งออกบริการการอุดมศึกษา     หรือกล่าวง่ายๆ ว่า เป็นรัฐที่หารายได้จากบริการอุดมศึกษา

พัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการผลิต ที่เป็นนวัตกรรม สำหรับส่งออก

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เน้นที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ    ซึ่งก็มีมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งที่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก   และได้ร่วมมือกับทางการของรัฐ (และมหาวิทยาลัยอื่นในพื้นที่) ดำเนินการกิจกรรมอุทยานวิจัย (research park  หรือ industrial cluster)    ที่มีชื่อเสียงได้แก่ Silicon Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย,  Research Triangle  ในรัฐ North Carolina,  และ Route 128 ในนคร บอสตัน    อุทยานวิจัยเหล่านี้เป็นแหล่งรวมของอาจารย์ นักศึกษา และภาคธุรกิจเอกชน ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์    ดำเนินการขับเคลื่อนความรู้ที่ได้จากผลงานวิจัยระดับล้ำยุค   ผ่านการสนับสนุนโดย incubation center ไปสู่การจัดตั้ง start-up และพัฒนาไปสู่บริษัทยักษ์ใหญ่ในที่สุด    โดยมีกลไกทางการเงินเข้าไปสนับสนุน  

เขายกตัวอย่างการร่วมกันสนับสนุนโดยหลายฝ่าย ให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีนาโน สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการลงทุนใหญ่และซับซ้อนมาก    เพื่อวางฐานความสามารถในการแข่งขันระดับโลก  

เขาบอกว่า การลงทุนขนาดใหญ่และระยะยาวเช่นนี้ มักไม่ค่อยถูกตัดงบประมาณมากนัก    อยู่ในฐานะดีกว่างบประมาณผลิตบัณฑิต    แต่วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลให้มีเงินลงทุนเข้ามาในกิจกรรม start-up ได้น้อย  รวมทั้งเงินร่วมลงทุนที่จะได้มาจากงบประมาณของภาครัฐ และจากมหาวิทยาลัยก็จะลดลงด้วย  

นอกจากนั้น วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้น ยังเผยสภาพที่แปลกและยังไม่มีคำอธิบายคือ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย แหล่งพื้นที่นวัตกรรมใหญ่ที่สุดของโลก  และเต็มไปด้วยมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก    กลับพบว่าในช่วงเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2011 งานที่เรียกว่า STEM-related jobs (นักคอมพิวเตอร์  วิศวกร  นักวิทยาศาสตร์ชีวภาพ  นักวิทยาศาสตร์กายภาพ  เทคนิเชี่ยน) หดตัวลงไปถึง ๑๙,๐๐๐ ตำแหน่ง    โดยที่งานเหล่านี้ไปเพิ่มในรัฐที่ไม่ใช่รัฐไฮเทค เช่น นอร์ธ ดาโกต้า, อลาสก้า, ยูท่าห์, โร้ดไอแลนด์, อาคันซอส์,  เวสต์เวอร์จิเนียร์

แม้ไม่มีคำอธิบายปรากฏการณ์ข้างบน    แต่ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า สภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับพื้นที่มีความซับซ้อนสูงมาก    ไม่ใช่ว่า มีมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นเยี่ยม และมีพื้นที่นวัตกรรมคืออุทยานวิจัย แล้วจะช่วยให้เศรษฐกิจของพื้นที่ดีเสมอไป    ยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การมีสถาบันวิจัยของรัฐหรือฐานทัพตั้งอยู่  การมีทรัพยากรธรรมชาติ (น้ำมัน หรือแก๊ส)   นโยบายของรัฐที่เอื้อ เช่นอัตราภาษีรายได้บุคคล  กฎหมายที่เป็นมิตรกับธุรกิจ  เป็นต้น   

ฝึกกำลังคนสำหรับระบบการผลิต และระบบบริการชั้นแนวหน้า ที่เป็นที่ต้องการในระบบเศรษฐกิจใหม่ของประเทศนำหน้าโลก  

เขาบอกว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2011 มีข่าวหนังสือพิมพ์บ่อยๆ ว่า บริษัทบ่นว่าต้องการจ้างคนเพิ่ม แต่หาคนที่มีสมรรถนะตามที่ต้องการไม่ได้    แต่ในขณะเดียวกันก็มีข่าวคนตกงานเพิ่มขึ้นด้วย    สะท้อนภาพการที่สถาบันอุดมศึกษาผลิตคนไม่ตรงตามความต้องการของตลาด    นั่นเป็นเรื่องของอเมริกา    สภาพนี้เราคุ้นมากนะครับ        

ประเด็นผลิตคนให้ตรงความต้องการต่อเศรษฐกิจใหม่นี้    เป็นเรื่องของสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาตรี  และระดับอนุปริญญา มากกว่ามหาวิทยาลัยวิจัย    ทั้งในสาขาการผลิต  การท่องเที่ยว  สุขภาพ  และด้านอื่น ที่สนองเศรษฐกิจใหม่    เป็นเรื่องที่ต้องการมากกว่างบประมาณที่เพียงพอ    คือต้องการหลักสูตรที่ยืดหยุ่น และตอบสนองต่อความค้องการของพื้นที่    รวมทั้งสามารถช่วยเหลือนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจด้วย   

ที่สำคัญคือ การผลิตคนในยุคนี้ ต้องมีช่วงเวลาฝึกงานในสถานประกอบการ (เราเรียกว่า สหกิจศึกษา) และความร่วมมืออื่นๆ กับสถานประกอบการในพื้นที่  ซึ่งอาจอยู่ในภาวะยากลำบากจากวิกฤติเศรษฐกิจ เช่นเดียวกัน  

เขาบอกว่า ในปี 2011 เห็นผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต่อวิทยาลัยชุมชนชัดเจน    คือได้รับงบประมาณจากรัฐลดลง    แต่มีคนสมัครเข้าเรียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ทำงานแล้วแต่ต้องการการฝึกทักษะใหม่ที่เป็นที่ต้องการ (upskill / reskill)    จนเกินกำลังที่จะรับได้    ทำให้วิทยาลัยชุมชนต้องปฏิบัติไม่ตรงกติกาที่วางไว้ว่า จะต้องไม่ปฏิเสธผู้สมัครเข้าเรียน    สภาพข้อจำกัดงบประมาณของวิทยาลัยชุมชนที่เกิดขึ้นนี้    หากไม่ได้รับการแก้ไข จะก่อผลกระทบด้านลบต่อสังคมและเศรษฐกิจสูงมาก  

ดึงดูดนักศึกษาจากต่างรัฐ หรือต่างประเทศ    เพื่อเป็นรัฐที่ส่งออกบริการการอุดมศึกษา

การมีนักศึกษาจากต่างรัฐหรือต่างประเทศเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐนั้น    นอกจากจะได้ค่าเล่าเรียนเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย (ซึ่งก็เท่ากับเป็นรายได้ของรัฐ) แล้ว    นักศึกษาเหล่านั้นยังมาจ่ายค่ากินอยู่ และบริการอื่นๆ    เป็นรายได้เข้ารัฐ    รัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ จึงพยายามหาทางให้เป็นรัฐที่มีนักศึกษาจากที่อื่นเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในรัฐ มากกว่าจำนวนนักศึกษาของตนที่ออกไปเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในรัฐอื่น    ในภาษาธุรกิจเรียกว่า เป็น net exporter of higher education  

ผลการวิจัยบอกว่า วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ มีผลกระทบน้อยทั้งต่อรัฐที่เป็น net exporter  และรัฐที่เป็น net importer 

สรุปได้ว่า สถาบันอุดมศึกษามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัฐหรือของพื้นที่ใน ๒ ประการแรกเป็นหลัก    ผลประการที่ ๓ มีน้ำหนักน้อยกว่า    และการที่ปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้รัฐลดงบประมาณสนับสนุนต่ออุดมศึกษา     ก็จะส่งผลให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท้องถิ่น และของประเทศ ได้น้อยลง   

ต้องไม่ลืมว่า นอกเหนือจากบทบาทหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่แล้ว    มหาวิทยาลัยยังมีบทบาทด้านอื่นๆ ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าด้านเศรษฐกิจ    ได้แก่ การขยายโอกาสศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชากร  การส่งเสริมให้นักศึกษาตั้งใจเรียน และเรียนสำเร็จ    รวมทั้งการส่งเสริมวิชาชีพด้านวิชาการ  

ตัวอย่างเช่น การกำหนดตำแหน่งอาจารย์ อาจใช้เกณฑ์เป้าหมายของการสร้างผลกระทบต่อการฟื้นเศรษฐกิจ    ไม่ใช่บนฐานของการตัดงบประมาณ    โดยมีแหล่งเงินสนับสนุนพิเศษ    โดยที่คิดดีแล้วว่า การลงทุนพิเศษดังกล่าวจะดึงดูดนักศึกษาเข้าเรียนเพิ่ม และได้รายได้จากค่าเล่าเรียน   และรัฐก็มีรายได้จากค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของนักศึกษา  

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังสามารถดำเนินการกิจกรรมอีกหลายอย่าง ที่จะมีส่วนเพิ่มผลกระทบทางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยต่อพื้นที่ เช่น

  • พัฒนาหลักสูตรเชิงประยุกต์ ให้บัณฑิตมีสมรรถนะพร้อมทำงาน
  • ให้ความสำคัญแก่ตำแหน่งอาจารย์ใหม่ในสาขาที่จะมีกิจกรรมสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้สูง
  • ลงทุนในกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่จะถอนทุนได้
  • จัดให้มีสภาที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์กับภาครัฐ   ภาคธุรกิจ  และภาคอุตสาหกรรม    เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องความต้องการบัณฑิตสาขาต่างๆ   และการจัดหลักสูตรระยะสั้นที่มีความต้องการสูง

เขาสรุปว่า สถาบันอุดมศึกษาของรัฐต้องทำทุกวิถีทางในการได้รับทุนสนับสนุนภารกิจที่มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของพื้นที่ และของประเทศ    รวมทั้งอธิการบดีและผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาต้องทำอย่างเต็มที่ ที่จะให้สถาบันสร้างผลกระทบดังกล่าวได้อย่างแท้จริง        

ขอขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้จากประเทศเยอรมนี

วิจารณ์ พานิช

๒๓ พ.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 687398เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2020 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2020 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท