ชีวิตที่พอเพียง 3831. …เศรษฐกิจพิเศษ สู่โจทย์วิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์



หนังสือ คนจนเมือง มนุษย์แปลกหน้าในนครเหลื่อมล้ำ พิมพ์ปี ๒๕๖๒ โดย สกว. ในยุคกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ สกสว.    โดยที่ข้อความในหนังสือมาจากผลงานวิจัยยุค สกว.  

อ่านจบผมสรุปว่า กลไกกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย “...เศรษฐกิจพิเศษ”   เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นตัวอย่างของกลไกการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน (unsustainable development)    โดยที่ SDG ของสหประชาชาติก็ไปไม่ถึง    

...เศรษฐกิจพิเศษ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเน้นเรื่องเดียว คือเศรษฐกิจ    เรื่องอื่นต้องยอมให้เศรษฐกิจ   ที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ    จึงเป็นการพัฒนาที่ไม่สมดุลตั้งแต่เริ่มคิด   

หนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ และสาระในเล่มสื่อว่า ความเหลื่อมล้ำส่วนใหญ่ในสังคม มีสาเหตุเชิงโครงสร้าง    ทำให้ผมคิดว่า PMU ด้านสังคม (เวลานี้คือ สวช.) น่าจะจัดให้มีชุดโครงการวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ    จับโจทย์ หรือสาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่มีลำดับความสำคัญสูง มีผลกระทบสูง     เช่นในกฎหมาย  ในมาตรการพัฒนาประเทศ  ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศใน ๒๐ ปี    ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ระยะที่ ๑๒    เพื่อให้มีขอบเขตชัดเจนขึ้น อาจจำกัดช่วงเวลาย้อนหลังไป ๑๐ หรือ ๒๐ ปี    เพื่อดูว่า ในเชิงโครงสร้าง และมาตรการ สังคมไทยเราถูกขับเคลื่อนสู่ความเท่าเทียม  หรือสู่ความเหลื่อมล้ำ มากกว่ากัน   

นี่คือโจทย์วิจัย   และข้อเสนอแพล็ตฟอร์มวิจัย ที่เน้นด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์    ที่หน่วยจัดการงานวิจัยจะต้องจัดทีมวิจัยสหวิทยาการ    ที่ทำวิจัยทั้งภาพ macro  และ micro    วิจัยทั้งเอกสาร และลงภาคสนาม    งานวิจัยโจทย์ที่ซับซ้อนเช่นนี้ ต้องการการจัดการให้เกิดทีมวิจัยจากหลายสาขาวิชามาทำงานด้วยกัน    ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์  การเงิน  กฎหมาย  การตลาด  สังคมวิทยา  จิตวิทยา   ผังเมืองและสถาปัตยกรรม  การศึกษา  และอื่นๆ    รวมทั้งต้องการทีมคณะกรรมการกำกับทิศทางที่มีมุมมองกว้างและลึก    

นี่คือโปรแกรมการวิจัยเพื่อขุดหารากเหง้าของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย    และเพื่อเสนอแนะการพัฒนาประเทศให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น    ให้การพัฒนาประเทศเป็น inclusive growth มากขึ้น   

ผมมองว่า แผนพัฒนาอะไรก็ตามต้องมองให้เห็นคน    ต้องมีแผนเกี่ยวกับคน    มองคนในทุกระดับงาน    มองเขาในฐานะเพื่อมนุษย์  ไม่มองเขาแค่เป็นปัจจัยการผลิตเท่านั้นอย่างในปัจจุบัน   ที่เป็นบ่อเกิดของคนจนเมือง    ที่ไม่ได้รับการดูแลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจใดๆ เลย    ซึ่งจะนำไปสู่โจทย์วิจัยที่เสนอ    ว่าในแผน EEC มีแผนย่อยเรื่องคนระดับรากหญ้า ที่เข้าไปทำหน้าที่หนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ในฐานะแรงงานระดับล่าง และแรงงานนอกระบบ จะเป็นใครบ้าง     จะจัดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีพอสมควรแก่เขาและครอบครัวอย่างไร    รวมอยู่ในการลงทุนของ อีอีซี อย่างไร      

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ต.ค. ๖๓

    

      

หมายเลขบันทึก: 687230เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2020 19:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2020 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์ครับ จากข่าวที่ อว. เห็นชอบในหลักการจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ทัชช่า -TASSHA (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts) ตามข่าว —>https://www.isranews.org/article/isranews-pr-news/93297-isra-58.html

คำถาม คือ 1) การจัดตั้งในรูปแบบนี้มีทิศทางจะเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐหรือกึ่งเอกชนในรูปแบบมูลนิธิสถาบัน มีแนวโน้มอย่างไรครับ 2) ความแตกต่างของมหาวิทยาลัยกับวิทยสถานแบบนี้ จะมีหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร เพราะในปัจจุบันจำนวนนักศึกษาและงบประมาณของมหาวิทยาลัยก็ลดน้อยลง พลังในการขับเคลื่อนด้านสังคมและมนุษยศาสตร์ก็ย่อมลดพลังลงไปหรือไม่ครับ 3) ถ้าเทียบกับทางวิทยาศาสตร์ วิทยาสถานคงจะออกมาในรูปแบบคล้ายกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือจะแนวของสถาบันพระปกเกล้า หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท