ไม่ว่าใครก็สามารถใช้ MOHO ได้


ตึง ตึ่ง ตึ๊ง (เสียงประกอบ)

สวัสดีอีกครั้งค่ะ :D นี่เป็นบทความที่สองแล้ว ที่เราจะมาพูดถึงกรอบแนวคิด MOHO หรือ Model of Human Occupation ในบทความแรกเราได้พูดถึงประโยชน์และหลักการของกรอบแนวคิดนี้เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาตนเอง สามารถกลับไปอ่านบทความแรกได้ตรงนี้เลยค่า บทความที่ 1: MOHO กรอบแนวคิดที่จะไม่ทำให้คุณโมโหกับการพัฒนาตัวเองอีกต่อไป


เอาล่ะค่ะ! ก่อนที่เราจะเริ่มกัน เราจะขอทบทวนก่อน

MOHO หรือ Model of Human Occupation เป็นแบบจำลองหรือกรอบแนวคิดที่นักกิจกรรมบำบัดใช้ในการประเมิน แยกแยะปัญหา เพื่อนั้งเป้าหมายรายบุคคล โดยดูจากตัวบุคคล ทั้งความคิด ความเข้าใจ ลักษณะนิสัย ในรูปของนามธรรม (assets) สินทรัพย์หรือหนี้สินที่เรามีเป็นรูปธรรม เช่น รถ บ้าน (liabilities) ความสามารถที่เราแสดงออกมา (performance) และสุดท้ายคือสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ส่งผลกับเรา เช่น ครอบครัว สังคม (influence)

โดยเป้าหมายของกรอบแนวคิดนี้ คือการเพิ่มความสามารถของบุคคลนั้น ๆ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมตามบทบาท หน้าที่ ตามช่วงวัย หรือตามสภาพแวดล้อมใหม่ที่พบเจอ


บทความนี้ เราได้ใช้ชื่อว่า ‘ไม่ว่าใครก็สามารถใช้ MOHO ได้’ อ่านแล้วบางคนอาจจะรู้สึกว่า ‘โห โม้รึเปล่าเนี่ย’ (หัวเราะ) บอกเลยว่าทุกคนสามารถใช้ได้ค่ะ หรือแม้แต่ในคนกลุ่มเปราะบางเองก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น คนพิการ ผู้บกพร่องทางด้านร่างกายหรือจิตใจ ผู้สูงอายุ คนยากจน หรือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม

เพราะกรอบแนวคิดนี้ไม่ได้แบ่งแยกว่าใครใช้ได้-ไม่ได้ แต่จะเป็นตัวช่วยให้บุคคลนั้น ๆ ได้ทบทวนถึงเป้าหมายของกิจกรรม ได้ทบทวนตัวเอง และมองถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมของเรา การที่เราทำไม่ได้ การที่เราค้นหาตัวเองไม่เจอ มันไม่ผิดเลย เพียงแต่เราอาจจะยังไม่เจอหนทางที่นำไปสู่เป้าหมายได้ ดังนั้น MOHO จะเป็นตัวช่วยของคุณเอง :)


   ดังตัวอย่าง กลุ่มผู้สูงอายุ ที่บางท่านอาจมีโรคประจำตัวรุมเร้า สมรรถภาพร่างกายเสื่อมถอยลง ทำให้ทำกิจกรรมไม่ได้ดีเหมือนเมื่อก่อน สิ่งที่เคยชอบทำหรืองานที่ทำเป็นประจำบ้างก็ไม่สามารถทำต่อได้ จนอาจเกิดความว่างเปล่าในจิตใจจากความรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ดีเท่าเมื่อก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้เสมอไป แค่อาจเปลี่ยนรูปแบบหรือแนวทางของกิจกรรม ไม่ต้องกังวลค่ะ ไม่ว่าเราจะมีข้อจำกัดแค่ไหน มีข้อบกพร่องอะไร ทุกอย่างมีทางเลือกให้เราค่ะ เราแค่อาจจะยังตามหาไม่เจอ ให้ MOHO ได้ช่วยคุณนะคะ :)

               ตัวอย่างเช่น นางสาวตัวประกอบ อายุ 70 ปี อาศัยอยู่กับลูกและหลาน มีฐานะปานกลาง แต่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวที่ต้องอยู่ที่บ้านช่วงกลางวันคนเดียว เพราะลูกและหลานต้องไปทำงานและเรียนหนังสือ จึงอยากมีเพื่อนพูดคุยหรือเข้าหาสังคม แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่นางสาวตัวประกอบไม่สามารถทำกิจกรรมหนัก ๆ หรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงได้ เช่น การเล่นกีฬา ต้องใช้ไม้เท้าพยุงในการเดินหรือลุก-นั่ง และไม่ชอบใช้โทรศัพท์เพราะมือสั่นตลอดเวลาจึงกดแป้นพิมพ์ไม่สะดวก


จากตัวอย่างที่กล่าวมา กิจกรรมที่นางสาวตัวประกอบอยากที่จะทำคือ การหาเพื่อนพูดคุยในช่วงกลางวัน ซึ่งการจะทำได้จำเป็นต้องรู้ก่อนว่าต้องใช้ความสามารถอะไรบ้าง เช่น อาจจะเป็นการพูดคุยสื่อสาร การแบ่งเวลา ต่อมาคือการดูว่าเราได้เข้าไปมีส่วนร่วมอะไรบ้างในกิจกรรมนั้น เช่น อาจจะเคยคุยกับคนข้างบ้านมาบ้าง หรือหากิจกรรมที่ในชุมชนทำร่วมกัน แล้วจึงดูถึงความสามารถ ข้อจำกัด ทักษะ ของเราว่าเราสามารถทำอะไรได้-ไม่ได้บ้าง เช่น ไม่สามารถทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะได้ การรู้ถึงข้อจำกัดนี้จะช่วยให้เราสามารถเลือกรูปแบบของกิจกรรมที่เหมาะสมได้ ถัดจากนั้นจึงดูถึงความตั้งใจจริงของเราที่จะทำ ลักษณะนิสัยของเรา และความสามารถสูงสุด และสุดท้ายคือการดูถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อหรือส่งผลต่อการทำกิจกรรม เช่น ลักษณะของชุมชนมีที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกันหรือไม่ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการใช้กรอบแนวคิดนี้จะเป็นตัวช่วยในการวางกรอบการคิดของเราให้เราสามารถรู้จักตนเองมากขึ้น และสามารถเลือกทำกิจกรรมได้เหมาะสมตามความต้องการของตนเองหรือบทบาทได้ ดังนั้นไม่ว่าใครก็สามารถใช้ MOHO ได้แน่นอนค่ะ

ขอบคุณค่ะ :)


นางสาวสิริการย์ แสงภู่นิธิไพศาล นักศึกษาชั้นปีที่ 1/63 คณะกายภาพบำบัด สาขากิจกรรมบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 684845เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2020 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2020 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท