๑,๑๗๐ เดินหน้าและพัฒนาการอ่านออก..เขียนได้


".ผมจะสอนสะกดตัวผสมคำ สอนทั้งพยัญชนะและสระ จะทบทวนให้ทุกครั้ง การแจกลูกต้องเน้นย้ำ และอ่านเป็นคำ...เมื่อเด็กอ่านคล่องมากขึ้น ผมจะแสวงหาข้อความมาให้เด็กอ่านอยู่เสมอ...ยากบ้างง่ายบ้างสลับไปมา..หากมีประโยคคล้องจอง ก็ขับร้องเป็นเพลงให้เด็กฟัง"

          คือหัวข้อ..นโยบายหลักของการจัดการเรียนการสอนของ สพฐ.ในปัจจุบัน วันนี้..สพฐ.เป็นห่วงและกังวลมาก เพราะผลจากการคัดกรองนักเรียนในเรื่องนี้ โดยเขตฯมอบให้ครูประจำชั้น ป.๑ – ป.๖ ดำเนินการในเดือนกันยายน ๒๕๖๓ แล้วส่งผลให้ สพฐ.แล้วนั้น

      พบว่า...ภาพรวมในระดับประเทศ ของการอ่านและการเขียน อยู่ในระดับ “ปรับปรุง”เป็นจำนวนมาก..สพฐ.จึงร่อนหนังสือถึงเขตและโรงเรียน..ให้เร่งรัด..นิเทศ..ติดตามเรื่องนี้ให้มากขึ้น

          ผมคิดว่า..สพฐ.ไม่ได้ตกใจ แค่ห่วงใยเท่านั้น เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าเวลาเรียนน้อยลง อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด๑๙ ตลอดจนเรื่องนี้..ก็เป็นปัญหาเรื้อรังมานานเท่านาน..

          ผลการคัดกรองบอกอะไรได้ก็จริง..แต่ถ้าโรงเรียนไม่เอาจริง ไม่ทำให้การอ่าน..เป็นกิจกรรมประดุจวัฒนธรรมที่ต่อเนื่อง...ก็จงอย่าหวังลมๆแล้งๆ

          และอย่าได้หวังในการนิเทศติดตามของเขตฯ เพราะเขาไมได้สอนหนังสือ และอย่าหวังเลยว่าจะทำสำเร็จในระดับชาติ ถ้าหากเขตพื้นที่ยังไม่ได้บรรจุเรื่องนี้อยู่ในวาระการประชุม ผอ.ร.ร.

          หน้าที่โดยตรงคือครูในห้องเรียน..ถึงแม้จะเบื่อหน่ายที่เด็กเลื่อนชั้นขึ้นมาได้อย่างไร?แบบที่ไม่รู้อะไรเลย..การอ่านออกเขียนได้..จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “หัวใจ”ของครูล้วนๆ

          เพราะ...ปัจจุบัน..ครูเริ่มน้อยลง จากการเกลี่ยอัตราครูออกไปจากโรงเรียน..ครูที่มีอยู่รับภาระมากขึ้น...ลึกไปกว่านั้น...บางโรงเรียนไม่มีครูเอกภาษาไทยเลยด้วยซ้ำ..

          หรือมี..ก็ไม่ได้สอนทุกชั้น...หลายชั้นจบเอกอะไรมาก็ไม่รู้แต่ต้องสอนภาษาไทย...ถ้ามีใจรักก็ดีไป..แต่ถ้าไม่ถนัด..แน่นอนที่สุด ภายใน ๑ ปี นักเรียนจะไม่ได้อะไรเลย..

          ที่พูดเช่นนี้ เพราะเชื่อว่าหลายคนเข้าใจ อย่างน้อยก็รู้ว่า..ภาษาไทยพูดง่ายแต่สอนยากเหลือเกิน และที่ยิ่งยากที่สุดในโลกก็คือ..ข้อสอบการอ่านการเขียนของ สพฐ.นี้แหละ

          ถ้าครูมี “หัวใจ”โปรดจงอย่าใช้ DLTV เพียงอย่างเดียว..ยิ่งทุกวันนี้ DLTV ไม่เหมือนเดิม ไม่มีการถ่ายทอดสดเลย โรงเรียนปลายทางดูแต่เทปเก่าๆ ไม่มีความทันสมัย..ประสิทธิภาพแย่ลงทุกวัน

          ถ้าครูมี “หัวใจ”โปรดอย่าใช้แต่ “ใบงาน”อย่างเดียว เพราะการวัดและประเมินผล เขาก้าวล่วงไปถึงการอ่าน คิดและวิเคราะห์กันแล้ว....

          ผมทดลอง (แต่ลึกๆก็เอาจริง) เมื่อเห็นครูชั้น ป.๑ ไม่ถนัดในการสอนภาษาไทย..แต่เด็ก(เก่ง)สนใจที่จะเรียนรู้ ผมจึงแยกนักเรียนเป็น ๒ กลุ่มเท่าๆกัน..ผมอาสาที่จะสอนเด็กเก่งจำนวน ๙ คน...แยกห้องชัดเจน...แต่ผมไม่ได้ทิ้งเด็กที่เรียนรู้ช้า..หาโอกาสไปสอนซ่อมเสริมอยู่เสมอ....

          ผมสนุกและมีความสุขกับการสอนมาก..เพราะเด็กให้ความร่วมมือ เราสร้างกฎกติกา สร้างข้อตกลงร่วมกันว่าเราจะเรียนรู้กันอย่างไร? เมื่อครูเอาจริง...นักเรียนก็อย่าทำเป็นเล่น...

          ผมใช้สื่อ...แบบเรียน..และหนังสืออ่านประกอบมากมาย..ที่นอกเหนือจากหนังสือเรียนของกระทรวงฯ ข้อค้นพบก็คือ..มีความหลากหลาย เด็กชอบและสอนง่ายขึ้น

          ทุกวัน..ผมจะสอนสะกดตัวผสมคำ สอนทั้งพยัญชนะและสระ  จะทบทวนให้ทุกครั้ง การแจกลูกต้องเน้นย้ำ และอ่านเป็นคำ...เมื่อเด็กอ่านคล่องมากขึ้น ผมจะแสวงหาข้อความมาให้เด็กอ่านอยู่เสมอ...ยากบ้างง่ายบ้างสลับไปมา..หากมีประโยคคล้องจอง ก็ขับร้องเป็นเพลงให้เด็กฟัง

          หนังสือเรียน..มีเรื่องราวให้อ่าน..ผมอยากให้เด็กอ่านคิดวิเคราะห์ จึงต้องตั้งคำถามบ่อยๆ..ฝึกให้เด็กค้นหาคำตอบ...ให้เขาคุ้นชินกับข้อคำถามและเข้าใจว่า..จะค้นหาคำตอบได้อย่างไร?

          สิ่งที่ผมระวังมากก็คือ..ไม่อยากให้เด็กอ่านเรื่อยเปื่อย โดยไม่มีจุดหมาย อ่านแล้วไม่รู้ความหมาย อ่านแล้วไม่รู้ว่าอ่านอะไร?...ตอบคำถามไม่ได้..คิดไม่เป็น..ตรงนี้สำคัญที่สุด

          วันนี้...ผมเล่าให้ฟังคร่าวๆ มิได้มีเจตนาว่าเก่งหรือขยัน..แต่ประการใด..สิ่งที่ผมแน่ใจก็คือ..การเดินหน้าเพื่อไขว่คว้า”คุณภาพ”...การอ่านการเขียน..มันไม่ง่ายเลย...ต้องลงทุนหนักมาก..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๐  ตุลาคม  ๒๕๖๓

         

หมายเลขบันทึก: 684511เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2020 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2020 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท