ประเทศชาติจะก้าวไกล ถ้าคนไทยรู้รักสามัคคี


ประเทศชาติจะก้าวไกล ถ้าคนไทยรู้รักสามัคคี คือการแสดงออกถึง ความพร้องเพรียงและสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ มีอะไรก็ร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ  ทางกาย คือการตั้งใจทำหน้าที่ของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใครมีบทบาทหน้าที่อะไร ก็ตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ทำอะไรเกินขอบเขตด้านสิทธิเสรีภาพ ใช้สิทธิเสรีภาพบนพื้นฐานที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของคนอื่นด้วย  ทางวาจา ไม่พูดจาให้ร้ายกันและกันจนทำให้เกิดความบาดหมางกันและกันพูดจาด้วยถ้อยคำที่สุภาพอ่อนน้อมต่อกันและกัน ให้เกียรติกันและกัน  ทางใจ คือมีใจยึดมั่นในประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ตน  หลักธรรมที่จะทำให้เกิดความรักสามัคคี ความปรองดองสมานฉันท์ เช่น สังคหวัตถุ ๔ รู้จักให้ รู้จักพูดด้วยถ้อยคำสุภาพ บำเพ็ญประโยชน์ต่อกันและกัน และวางตนเสมอต้นเสมอปลาย สารานียธรรม ๖ และอปริหานิยธรรม ๗ ประการ เช่น หมั่นประชุมกันอยู่เสมอ พร้อมเพรียงกันเวลาประชุม และเลิกประชุมตามเวลา ไม่บัญญัติหรือล้มเลิกข้อบัญญัติที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ ให้ความเคารพและรับฟัง ความคิดเห็นของผู้ใหญ่ ไม่กดขี่ข่มเหงสตรี เคารพบูชาสักการะเจดีย์ คือการให้ความเคารพศาสนสถาน ปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติ ให้การอารักขาพระภิกษุสงฆ์หรือผู้ทรงศีลซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชน เต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก

ประเทศชาติจะก้าวไกล
ถ้าคนไทยรู้รักสามัคคี

ดร. ถวิล อรัญเวศ

           สถานการณ์ในปัจจุบันของไทยเรา เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ประเทศชาติอยู่ในภาวะที่ต้องอาศัยความรัก ความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ เพื่อที่จะให้อยู่รอด ปลอดภัย ประเทศไทยจะเป็นปึกแผ่นมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้ ก็ด้วยอาศัยคนไทยทุกคน ร่วมด้วยช่วยกัน โดยคนไทยทุกคนทุกฝ่าย ต้องสามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังพระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงตรัสไว้ว่า

  “...ในปัจจุบันนี้ เป็นที่ทราบว่า ประเทศชาติอยู่ในภาวะที่ต้องอาศัยความเข้มแข็ง เพื่อที่จะให้อยู่รอด ประเทศไทย จะอยู่ได้ ก็ด้วยทุกคน ทุกฝ่าย สามัคคีกัน
ความสามัคคีนั้น ได้พูดอยู่เสมอว่า ต้องมี แต่อาจจะเข้าใจยากว่า ทำไมสามัคคีจะทำให้บ้านเมืองอยู่ได้ สามัคคีก็คือการเห็นแก่บ้านเมืองและช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองอยู่ได้ สามัคคีนี้ก็คือการเห็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และไม่ทำลายงานของกันและกัน และทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ต้องส่งเสริมงานของกันและกัน และไม่ทำลายงานของกันและกัน มีเรื่องอะไรให้พูดปรองดองกัน อย่าเรื่องใครเรื่องมัน และงานก็ทำงานอย่างตรงไปตรงมา นึกถึง
ประโยชน์ส่วนรวม...”

    (พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานในพิธีประดับยศ
นายตำรวจชั้นนายพล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๙)


      สามัคคีที่สำคัญที่สุดคืออะไร ก็คือสามัคคีในชาติ ไม่ใช่ว่าความสามัคคีใน
คณะไม่ดี แต่ต้องระวัง ถ้าสามัคคีกัน แต่ว่าไป ก้าวก่ายหรือไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ในสถาบันก็เป็นความผิด ถ้าสามัคคีในสถาบันไปทำให้คนอื่นเสียหายหรือเดือดร้อนก็ไม่ดี เพราะทำให้เสียหายต่อสามัคคีของชาติ ………

     (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: ๓ เมษายน ๒๕๐๓)

     สามัคคีกัน ปรองดองกัน นี่ความหมายของความสามัคคี ใคร ๆ ก็บอกว่า ให้สามัคคีปรองดองกัน ช่วยเหลือเพื่อประเทศชาติ แต่แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ ถ้าคนหนึ่งคนใดในที่ประชุมนี้ เรียกร้องพื้นที่สำหรับยืนเกินจำเป็น โดยอ้างความสุขส่วนตัว คนอื่นก็ต้องประท้วง เราทั้งหลายอยู่ได้ก็เพราะว่ามีความสามัคคีปรองดองกัน

     (พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)         จากพระราชดำรัสดังกล่าว พอสรุปได้ว่า ความสามัคคี คือ ความสามารถจะทำงานเพื่อส่วนรวม หรือความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกันและกัน เพื่อเอื้อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งความสามัคคี นั้น แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ความสามัคคีทางกาย

๒. ความสามัคคีทางจิตใจ

     ความสามัคคีทางกาย
    คือการที่จะทำอะไรก็พร้อมเพียงกัน ร่วมด้วยช่วยกัน ประเทศชาติขอความร่วมมือจากประชาชนคนในชาติอย่างไร ก็ต้องร่วมใจกันทำในสิ่งนั้นให้บังเกิดขึ้นจนได้ มีการประสานกันในแรงกาย แรความคิด ประสานกันความรู้ และทักษะของผู้ที่มี
ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มากมาย เพื่อส่งผลสำเร็จในด้านต่าง ๆ
มาสู่ประเทศ

    ส่วนความสามัคคีทางจิตใจ คือแต่ละคนอาจจะมีความเห็นต่าง ๆ กันแต่เราไม่แตกความสามัคคี เป็นลักษณะของการปรองดองกัน โดยเกิดจากความเมตตากรุณาต่อกันและกัน มีจิตใจผูกพันที่จะช่วยเหลือกันและกัน เพื่อให้งานนั้น ๆ
บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

     ความ “สามัคคี” คือ ความพร้อมเพรียง ได้แก่ ความพร้อมเพรียงกันทางกายวาจา และใจ พร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่บังเกิดผลเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม พร้อมเพรียงกันทำงานในหน้าที่ของตน ใครมีหน้าที่อย่างไร ก็ทำอย่างนั้น ตั้งใจทำให้เต็มกำลัง เต็มความสามารถของตน อย่างนี้เรียกว่า “สามัคคี”

     ปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดความสามัคคี คือ ความรัก ความปรารถนาดีต่อกันและกัน มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน หรือความร่วมมือและร่วมใจกัน เป็นสิ่งที่สำคัญที่
คนไทยทุกคน พึงมีอยู่ในจิตสำนึก และช่วยกันสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น

    พื้นฐานที่สุดของการจรรโลงความสามัคคีกลมเกลียวกันให้บังเกิดขึ้น และดำรงอยู่ต่อไปอย่างแน่นแฟ้น คือ การรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง ในหมู่สมาชิกของสังคม และประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ ผู้ใดมีบทบาทหน้าที่อันใดอยู่ ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปให้ทันการณ์ทันเวลา โดยเต็มกำลัง ความรู้ ความสามารถ และโดยบริสุทธิ์จริงใจ ผลงานของแต่ละคนจักได้ประกอบส่งเสริมกันขึ้นเป็นความสำเร็จและ
ความมั่นคงของชาติ

     การที่จะเกิดความสามัคคีได้ในการกระทำต้องเริ่มจากใจภายในเสียก่อน ถ้าทุกคนมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแล้ว ประเทศชาติย่อมคลาดแคล้วจากภัยของศัตรู และตั้งมั่นมีความสุขสมบูรณ์อยู่ได้ หากขาดความสามัคคี ไม่รักใคร่ไว้
วางใจกัน ปราศจากความปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การดำเนินงานย่อมจะไม่สำเร็จ

ธรรมที่เสริมสร้างความสามัคคีของหมู่คณะคือ

ก. สังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ

๑. ทาน
   คือ การให้แบ่งปันสิ่งของแก่กันและกัน ตลอดจนให้ความรู้ ความเข้าใจ และศิลปวิทยา

๒. ปิยวาจา
   คือ การพูดจาปรารัยด้วยถ้อยคำอันไพเราะอ่อนหวาน เป็นที่เจริญใจ มีวาจา
ที่นิ่มนวล อ่อนหวาน เป็นคุณประโยชน์ ทำให้เกิดความพอใจแก่ผู้ได้ยินได้ฟัง

๓. อัตถจริยา
   คือ การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กันและกัน ช่วยเหลือกันทั้งกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังทรัพย์ เป็นต้น

๔. สมานัตตตา
    คือ การวางตนเหมาะสม เสมอต้นเสมอปลาย ประพฤติปฏิบัติตามที่ควรจะเป็นวางกิริยาอัธยาศัยให้เหมาะกับฐานะหรือตำแหน่งหน้าที่
    การเสริมสร้างความสามัคคี มีแต่ได้ไม่มีเสียหาย ขอให้ปรารถนาดีต่อกันอย่างจริงจัง และปฏิบัติตามธรรม ๔ ประการ ข้างต้น เมื่อได้ประพฤติปฏิบัติแล้ว
ความสามัคคีย่อมจะเกิดขึ้น เมื่อเกิดความสามัคคีขึ้นแล้ว การงานทุกอย่างแม้จะยากสักเพียงใด ก็กลายเป็นง่าย ชีวิตมีแต่ความราบรื่น แม้จะเกิดอุปสรรคก็สามารถขจัดให้หมดสิ้นไปได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “สามัคคีคือพลัง”
   เพียงแต่ทุกคนดำรงชีวิตบนพื้นฐานแห่งคุณธรรม ให้ทุกคนมีความรัก และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีและเสียสละเพื่อส่วนรวม ดังพุทธภาษิตว่า
“สุขา สงฆสส สามคี “แปลว่า “ความสามัคคีของหมู่ทำให้เกิดสุข”

ข. สาราณียธรรม 6 ประการ คือ

     สาราณียธรรม หมายถึง หลักธรรมที่เป็นเหตุก่อให้เกิดความระลึกถึงกัน ก่อให้เกิดความรักและความเคารพระหว่างกัน มี ๖ ประการ ได้แก่

๑. เมตตากายกรรม
   คือการปฏิบัติ การกระทำต่อกันทางกาย ด้วยการช่วยเหลือกิจธุระต่าง ๆ โดยเต็มใจ เช่น การช่วยถือสิ่งของ ช่วยทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย หาอาหารให้รับประทาน ซักเสื้อผ้าให้ แสดงอาการกิริยาสุภาพต่อกัน เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เป็นต้น

๒. เมตตาวจีกรรม
   คือการกล่าววาจาที่สุภาพต่อกัน ไม่ด่าทอ นินทา กล่าวร้าย หรือพูดคำหยาบ มีแต่บอกสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำ ตักเตือนกันด้วยความหวังดี พูดถึงกันด้วยความเคารพนับถือทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๓. เมตตามโนกรรม
   คือการมีจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดีมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน

๔. สาธารณโภคี
   คือได้สิ่งของใดมาก็แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ แบ่งปันลาภผลที่ได้มาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเพียงเล็กน้อยก็แจกจ่ายให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน

๕..สีลสามัญญุตา
   คือการประพฤติที่สุจริตดีงาม รักษาระเบียบวินัยของส่วนรวม ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจ หรือเสื่อมเสียแก่หมู่คณะ

๖. ทิฏฐิสามัญญุตา
   คือการเคารพรับฟังความคิดเห็นกันและกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน ตกลงกันได้ในหลักการสำคัญ ไม่สร้างข้อขัดแย้งโดยไม่มีเหตุผล จนทำให้ไม่มีเมตตากายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ต่อกัน ยึดถืออุดมคติ หลักแห่งความดีงาม หรือ จุดหมายสูงสุดอันเดียวกัน

ค. อปริหาณิยธรรม ๗ ประการ

๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
    เป็นการประชุมพบปะปรึกษาหารือกิจการงานต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันโดยสม่ำเสมอ

๒. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และทำกิจกรรมร่วมกัน
   เป็นการประชุมและการทำกิจกรรมทั้งหลายที่พึงกระทำร่วมกัน หรือพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันบ้านเมือง

๓. ไม่บัญญัติ หรือล้มเลิกข้อบัญญัติต่าง ๆ
    เป็นการไม่เพิกถอน ไม่เพิ่มเติม ไม่ละเมิดหรือวางข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันมิได้ตกลงบัญญัติไว้ และไม่เหยียบย่ำล้มล้างสิ่งที่ตกลงวางบัญญัติไว้แล้ว
ถือปฏิบัติมั่นอยู่ในบทบัญญัติใหญ่ที่วางไว้เป็นธรรมนูญ

๔. ให้ความเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้ใหญ่
   ผู้ใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ยาวนาน ดังนั้นเราต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพนับถือ และรับฟังความคิดเห็นของท่านในฐานะที่เป็นผู้รู้และมีประสบการณ์มามาก

๕. ไม่ข่มเหงสตรี
   เป็นการให้เกียรติและคุ้มครองสตรี มิให้มีการกดขี่ข่มเหงรังแกสตรี

๖. เคารพบูชาสักการะเจดีย์
   คือการให้ความเคารพศาสนสถาน ปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติ อันเป็นเครื่องเตือนความจำ ปลุกเร้าให้เราทำความดี และเป็นที่รวมใจของหมู่ชน ไม่ละเลย พิธีเคารพบูชาอันพึงทำต่ออนุสรณ์สถานที่สำคัญเหล่านั้นตามประเพณีที่ดีงาม

๗. ให้การอารักขาพระภิกษุสงฆ์หรือผู้ทรงศีล
    เป็นการจัดการให้ความอารักขา บำรุง คุ้มครอง อันชอบธรรม แก่บรรพชิต ผู้ทรงศีลทรงธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชน เต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก

สรุป

      ประเทศชาติจะก้าวไกล ถ้าคนไทยรู้รักสามัคคี คือการแสดงออกถึง
ความพร้องเพรียงและสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ มีอะไรก็ร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
      ทางกาย คือการตั้งใจทำหน้าที่ของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใครมีบทบาทหน้าที่อะไร ก็ตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ทำอะไรเกินขอบเขตด้านสิทธิเสรีภาพ ใช้สิทธิเสรีภาพบนพื้นฐานที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของคนอื่นด้วย
     ทางวาจา ไม่พูดจาให้ร้ายกันและกันจนทำให้เกิดความบาดหมางกันและกันพูดจาด้วยถ้อยคำที่สุภาพอ่อนน้อมต่อกันและกัน ให้เกียรติกันและกัน
     ทางใจ คือมีใจยึดมั่นในประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ตน
     หลักธรรมที่จะทำให้เกิดความรักสามัคคี ความปรองดองสมานฉันท์ เช่น สังคหวัตถุ ๔ รู้จักให้ รู้จักพูดด้วยถ้อยคำสุภาพ บำเพ็ญประโยชน์ต่อกันและกัน และวางตนเสมอต้นเสมอปลาย สารานียธรรม ๖ และอปริหานิยธรรม ๗ ประการ เช่น หมั่นประชุมกันอยู่เสมอ พร้อมเพรียงกันเวลาประชุม และเลิกประชุมตามเวลา ไม่บัญญัติหรือล้มเลิกข้อบัญญัติที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ ให้ความเคารพและรับฟัง
ความคิดเห็นของผู้ใหญ่ ไม่กดขี่ข่มเหงสตรี เคารพบูชาสักการะเจดีย์ คือการให้ความเคารพศาสนสถาน ปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติ ให้การอารักขาพระภิกษุสงฆ์หรือผู้ทรงศีลซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชน เต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก

---------------

เพลง "ไทยรวมกำลัง"

คำร้อง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน

******************************

(พร้อม) ไทย รวมกำลัง ตั้งมั่น

จะสามารถ ป้องกัน ขันแข็ง

ถึงแม้ว่า ศัตรู ผู้มีแรง

มายุทธแย่ง ก็จะ ปลาศไป

(หญิง) ขอแต่เพียง ไทยเรา อย่าผลาญญาติ

ร่วมชาติ ร่วมจิต เป็นข้อใหญ่

(ชาย) ไทยอย่ามุ่งร้าย ทำลายไทย

(พร้อม) จงพร้อมใจ พร้อมกำลัง ระวังเมือง

(หญิง) ให้นานา ภาษา เขานิยม ชมเกียรติยศ ฟูเฟื่อง

(ชาย) ช่วยกัน บำรุง ความรุ่งเรือง

(พร้อม) ให้ชื่อไทยกระเดื่อง ทั่วโลกา

ช่วยกัน เต็มใจ ใฝ่ผดุง
บำรุง ทั้งชาติ ศาสนา

ให้อยู่ จนสิ้น ดินฟ้า
วัฒนา เถิดไทย ไชโย




เอกสารอ้างอิง

กนก จันทร์ขจร (มปป). คู่มือครู : การอบรมความรู้และจริยธรรมเพื่อชีวิตตอนที่ ๒.
                มปท. หนังสือวัฒนธรรมกับสันติภาพ  สำนักงานคณะกรรมการ
                  วัฒนธรรมแห่งชาติ

เว็บไซต์

https://bit.ly/3j5vilE



https://bit.ly/3dvVKUrhttps://bit.ly/346BzcG

lay=boardshow&ac=webboard_show&No=133577

หมายเลขบันทึก: 684088เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2020 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2020 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท