วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กับการทำงานวิชาการแนว social engagement



ผมได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล    และในวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๓ ก็มีนัดประชุมเพื่อขอคำแนะนำเรื่องแผนยุทธศาสตร์ ๓ ปี (๒๕๖๔ - ๒๕๖๖)    แต่ผมติดนัดอื่นเสียก่อน ไปร่วมประชุมไม่ได้    ท่านคณบดี (พญ. วัชรา ริ้วไพบูลย์) ส่งเอกสารมาให้ และขอให้ช่วยส่งคำแนะนำไปให้    หลังการประชุมยัง อีเมล์ มาบอกว่าที่ประชุมแนะนำอะไรบ้าง

วิทยาลัยราชสุดา จัดการศึกษาเพื่อคนพิการ  และเพื่อคนที่จะไปทำงานพัฒนาคนพิการ   ประเทศไทยเรามีระบบที่เอื้อเฟื้อคนพิการมากขึ้นเรื่อยๆ    มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ (๑)  และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๕๖ (๒)    ที่สะท้อนว่าสังคมไทยเราก้าวหน้าในเรื่องการดูแลคนพิการขึ้นเรื่อยๆ    โดยเฉพาะมาตรา ๒๐/๓ ที่ให้อำนาจราชการส่วนท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการได้โดยใช้งบประมาณของคนเอง    นี่คือโอกาสของวิทยาลัยราชสุดาในการทำงานวิชาการแนว engagement กับฝ่ายปฏิบัติ  

ใน พรบ. (๑) มาตรา ๒๔, ๓๓, ๓๔ เรื่องกำหนดให้นายจ้างหรือสถานประกอบการต้องจ้างผู้พิการทำงาน หรือจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ    ก็เป็นกิจกรรมที่วิทยาลัยราชสุดาสามารถเข้าไปร่วมทำงานวิชาการแนว engagement ได้  

กรมพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้รวบรวม พรบ. จนถึงการปรับปรุงครั้งที่ ๖ ไว้ที่ (๓)     ซึ่งผมเชื่อว่าหากเข้าไปอ่านค้นหาให้ดีจะพบจุดที่เข้าไปทำงานวิชาการแนว engagement ได้อีกมาก

งานวิชาการแนว engagement  หรือแนวหุ้นส่วน ทำโดยหน่วยงานวิชาการเข้าไปเป็นหุ้นส่วนร่วมงานกับสถานประกอบการ    เริ่มตั้งแต่ร่วมคิด หากิจกรรมที่จะร่วมกันทำเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน    ร่วมกันตั้งเป้าหมาย  วางแผนดำเนินการ ที่จะต้องร่วมมือกัน ทั้งในเรื่องการออกหรือหาทรัพยากรมาใช้ในการดำเนินการ    การร่วมกันลงแรงหรือลงสมอง ฟันฝ่าความยากลำบากสู่ความสำเร็จร่วมกัน    โดยที่ฝ่ายประกอบการก็ได้ผลงานตามแบบของตน    ฝ่ายมหาวิทยาลัยก็ได้ผลงานวิชาการและได้ทรัพยากรมาทำงาน

ที่จริงฝ่ายมหาวิทยาลัยได้มากกว่าผลงานวิชาการ    เพราะกิจกรรมที่ทำร่วมกันนั้น ใช้ฝึกนักศึกษาได้    โดยในกรณีของวิทยาลัยราชสุดา ใช้กิจกรรมเป็นแหล่งทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอกได้    เป็นงานวิชาการแนวประยุกต์ หรือ translational    ที่ข้อมูลที่เก็บได้สามารถนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ตกผลึกเชิงทฤษฎี    สู่การเสนอทฤษฎีใหม่หรือปรับปรุงทฤษฎีเดิมได้    นำไปตีพิมพ์ในวารสารที่มี impact factor ได้

นอกจาก Engage กับสถานประกอบการ    ยังอาจ engage กับกรมพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ    ร่วมกันหาทางให้กรมได้มีผลงานเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ ประสิทธิภาพ และในแง่การสร้างนวัตกรรมในการทำหน้าที่    โดยใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาสนับสนุนกิจกรรมวิชาการแนวประยุกต์เพื่อค้นหาและส่งเสริมนวัตกรรมในการส่งเสริมคนพิการโดยสถานประกอบการต่างๆ    โดยอาจกำหนดเกณฑ์ของนวัตกรรม และมีการให้รางวัลยกย่องประจำปี    การกำหนดและพัฒนาเกณฑ์ต่อเนื่องควรทำเป็นงานวิชาการ  

วิทยาลัยราชสุดา สามารถริเริ่มสร้างสรรค์การทำงานวิชาการบนฐานชีวิตจริงของคนพิการได้อย่างไม่มีขีดจำกัด    โดยหลักการที่ช่วยให้คิดอกคือหลักการทำงานเป็นหุ้นส่วนกับสังคมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ และองค์กรของคนพิการเอง

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ก.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 683839เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2020 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2020 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรื่องผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามสะดวกนั้น หลักจากที่ได้อ่านผมขอขอบคุณที่อาจารย์ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อน key competency ของเหล่าผู้มีความสามารถให้เกิดผลจริง นำไปสู่การพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และที่สำคัญสร้างคุณค่าให้ทรัพยากรมนุษย์ทุกคนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท