ที่พื้นที่ของบ้านผม ส่วนที่อยู่ติดบ้านลูกสาวมีต้นกล้วยน้ำว้าอยู่ต้นหนึ่ง งอกงามดี (ดูรูปที่ ๑) วันหนึ่ง ผมสังเกตว่า ใบแก่ที่ส่วนล่างของต้นมีสีเหลือง ทำให้นึกถึงสาระในหนังสือ ชีวิตเร้นลับของต้นไม้ ที่ผมอ่านหนังสือฉบับภาษาอังกฤษและเขียน บล็อก ชุด ความหมายของไม้ยืนต้น ที่บอกว่า ต้นไม้มีวิธีประหยัดพลังงาน และประหยัดทรัพยากร
ในหนังสือแปล ชีวิตเร้นลับของต้นไม้บทที่ ๒๒ หน้า ๑๔๐ ระบุว่าต้นไม้ในเขตหนาวเมื่อจะผลัดใบ เขาจะดึงทรัพยากรจากใบเอามาเก็บไว้ในลำต้น และทรัพยากรสำคัญคือ chlorophyll ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปรากฏการณ์ใบไม้เปลี่ยนสี
ผมจึงพบว่า ต้นกล้วยก็มีกลไกประหยัด คลอโรฟิล เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นหลักฐานจากภาพที่ ๒ หลังจากถ่ายภาพนี้ไม่กี่วัน ใบสีเหลืองกลายเป็นใบแห้ง ซึ่งเป็นที่มาของ วลี “หมาเห่าใบตองแห้ง”
สมัยผมเป็นเด็กบ้านนอก ใบตองแห้งและทางกล้วยแห้งมีประโยชน์ ใบตองแห้งเอามาห่อขนมได้ ส่วนทางกล้วยแห้งเอามาจักเป็นเส้นเล็กๆ ทำเป็นเชือกผูกมัดหรือหิ้วสิ่งของได้ เช่นใช้หิ้วกระป๋องนม
แต่เชือกกล้วยมักทำจากต้นกล้วย คนกรุงอาจไม่รู้ว่าต้นกล้วยออกเครือแล้วก็ตาย โดยมีหน่อใหม่งอกขึ้นมาแทน ดังนั้น เมื่อกล้วยในเครือเริ่มแก่จัดหรือเริ่มสุก เราตัดเครือกล้วย แล้วก็จะตัดต้นกล้วยเอาไปทำประโยชน์ โดยใช้ประโยชน์ใหญ่ๆ สองอย่าง คือ ใช้เลี้ยงหมู กับใช้ทำเชือกกล้วย เรื่องเลี้ยงหมูผมเคยเล่าหลายครั้งแล้ว
ทำเชือกกล้วยโดยลอกกาบกล้วยออกทีละชั้น ใช้มีดซอยตามยาวเป็นเส้นเล็กหรือใหญ่ตามต้องการแล้วเอาไปตากแดด มักต้องตากหลายแดด (หลายวัน) จนแห้งสนิท จะเป็นเชือกที่เหนียวมาก รับน้ำหนักได้มาก หากจะไปสานเสื่อก็น่าจะได้ แต่เขาไม่ใช้กัน เพราะมีวัสดุอื่นที่ดีกว่า คือ กระจูด ที่นิยมเอามาสานเสื่อกระจูด และกระสอบจูด
เชือกกล้วยอาจเอามาฟั่นเป็นเชือกเส้นใหญ่ หรือสานเป็นรองเท้าก็ได้ ตอนผมเป็นเด็กเห็นมีคนทำบ้าง แต่ไม่บ่อย
เชือกกล้วยหิ้วกระป๋องนม น่าจะเป็นสิ่งที่เด็กกรุงสมัยใหม่ไม่รู้จัก ที่ร้านกาแฟเขาใช้นมกระป๋อง (นมข้น) ใส่กาแฟ เครื่องเปิดกระป๋องจะเปิดโดยเจาะรูตรงกลางฝา แล้วคว้านฝาส่วนติดกับตัวกระป๋องออกไปประมาณสี่ในห้า หรือสามในสี่ ของเส้นรอบวง แล้วหักฝาให้เผยอขึ้น กระป๋องนมใช้แล้วนี้มีค่า เอาไว้ใช้ใส่กาแฟหรือโอวเลี้ยง ที่มีคนมาซื้อกลับบ้าน โดยร้อยเชือกกล้วยเข้าที่รูกลางฝา และปิดงับฝาลงไป ฝาจะรับน้ำหนักได้ไม่แผยอ ก็จะหิ้วได้สบาย
วิจารณ์ พานิช
๑๔ ก.ย. ๖๓
ไม่มีความเห็น