การเผาถ่านแบบถังครึ่ง_๐๙ ทดสอบเตาแบบถังครึ่ง ครั้งที่ ๗ (กรวยทรงแหลมกับปล่องควัน ๓.๕ เมตร)


วันที่ ๒๓-๒๔ กันยายน ๒๕๖๓ ผมทดลองเผาถ่านครั้งที่ ๗ คราวนี้วัตถุดิบเป็นไม้ไผ่กิมซุงสดจากสวน อ.เก่งกล้า (บรบือ) ๗ ส่วนละไม้ไผ่สร้างไพรหมาด ๓ ส่วน ทั้งหมดผ่าครึ่งไม่ให้มีรูในข้อปล้องใด ๆ จัดเรียงแบบนอน โดยเอาไผ่สดไว้ด้านล่างใกล้ปล่องควัน หวังใจว่าจะได้ถ่านรูปพรรรณสวยงามไม่โค้งแตกงอปลายเหมือนที่ได้ในทุกครั้งที่ผ่านมา ... แม้ว่ายังไม่สำเร็จ แต่เห็นความแตกต่างระหว่างไม้แห้งและไม้สด ดูรูป) และทดลองชุดเก็บน้ำส้มควันไม้ด้วยไม้ไผ่ตงยาว ๒.๕ เมตร ติดกับกรวยทรงแหลมทำเอง ดังรูป 

สังเกตว่า ไม้สดจะรักษารูปพรรณได้ดีกว่าไม้แห้ง  ความต้านทานไฟฟ้าต่ำกว่า ๑๐๐ โอห์ม ถ้ากดปลายหัววัดความต้านทานให้แน่นลงไปในเนื้อไม้ จะได้ต่ำกว่า ๑๐ โอห์ม (การนำไฟฟ้าจะมากน้อย ความหนาแน่นของเนื้อถ่านมีผลมาก)

ข้อสังเกตและการอธิบายกราฟ 

  • ช่วง ๓ ชั่วโมงแรกหลังจากเริ่มบันทึกข้อมูล อุณหภูมิเปลี่ยนขึ้น ๆ ลง ๆ มาก เพราะผมพยายามจะลดไฟในเตาเผาเพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มเร็วเกินไป ด้วยความเข้าใจว่า จะไล่ความชื้นของไม้เปียกให้นานถึง ๔ ชั่วโมง ... ผมเพิ่งจะเข้าใจว่า การอบไม้ต้องไม่เปิดปล่องควัน จาก อ.ปัน (ไร่รู้รักษ์) "อบคืออบ เผาคือเผา"  ในการอบไม้เราต้องปิดปากปล่อง เมื่ออบจนพอใจแล้วจึงเปิดปากปล่องเพื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการเผาต่อไปครับ 
  • เมื่อเริ่มชั่วโมงที่ ๓ อุณหภูมิทั้งจุดเพิ่มขึ้น แสดงว่าในเตากำลังปล่อยแก๊สออกมาเผาไหม้ได้เอง แต่เมื่อผมทดลองถอยฟืนออก ปรากฏว่าอุณหภูมิลดลง จึงต้องใส่ฟืนหน้าเตาเข้าไปใหม่ อุณหภูมิช่วงชั่วโมงที่ ๔ จึงค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ... ในการทดลองเผาเตาที่ ๘ อ.กิตติ เฉลยคำอธิบายของเหตุการณ์นี้ว่า นี่คือผลของการเรียงฟืนแบบแนวนอนในเตาแบบถังครึ่ง "จะติดก็ไม่ติด จะไปข้างหน้าก็ไม่ไป" เหตุเพราะน้ำที่คายออกมาจากฟืนชั้นล่างคายออกมา สังเกตว่า ก่อนชั่วโมงที่ ๓ อุณหภูมิของไม้ชั้นล่างยังไม่ถึงจุดที่ฟืนจะคายน้ำ เนื่องจากความร้อนถูกกั้นไว้ด้วยฟืนชั้นบน  การเรียงไม้แบบตั้งในการทดลองเผาครั้งที่ ๙ ได้พิสูจน์เรื่องนี้ (โปรดติดตามครับ)
  • การบอกค่าผิดพลาดของอุณหภูมิจุดที่ ๔ (ปากปล่อง) ทำให้ผมได้น้ำส้มควันไม้เพียงขวดสปอนเซอร์เดียว เพราะไปยึดติดกับทฤษฎี ๘๕ - ๑๕๐ องศา ...  หลังจากเตาติดเต็มที่ อุณหภูมิจุดที่ ๑ และ ๒ ควรนำมาเป็นเครื่องบ่งบอกว่าจะเก็บน้ำส้มฯ ได้ ประกอบกับการสังเกตสีและกลิ่นของควัน  (แนวโน้มของอุณหภูมิจุดที่ ๔ ยังสามารถนำมาพิจารณาได้ แม้ว่าจะให้ค่าไม่ถูกต้อง, เพราะคุณภาพของหัววัด)
  • ประมาณชั่วโมงที่ ๙ ครึ่ง อุณหภูมิทั้ง ๓ จุดเพิ่มขึ้น เนื่องจากผมเปลี่ยนเป็นปล่อง ๑.๕๐ เมตร และเปลี่ยนเป็นปล่อง ๓.๕๐ เมตร ช่วงต้นชั่วโมงที่ ๑๐ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นไปที่ ๙๒๕ องศา ระยะสั้น ๆ ก่อนจะลดลงมาเฉลี่ยคงที่ประมาณ ๘๘๐ องศา เป็นเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง 

กรวยรับควันที่ผมทำขึ้นเอง มีเส้นผ่านศูนย์กลางด้านล่าง ๔๖ เซนติเมตร ความสูงจากขอบล่างถึงขอบกรวยด้านบนเป็น ๖๔ เซนติเมตร เรียกว่า "กรวยทรงแหลม"  ดูดควันได้ดีมาก  ผมจะศึกษาเรื่องนี้ให้ดีอีกครั้งด้วยการวัดปริมาณควันเข้าและออก จะมาแลกเปลี่ยนวันหน้านะครับ 

วันนี้ขอจบบันทึกว่า "ไม้สด ได้ถ่านดีกว่า ไม้แห้ง" ครับ  ถูกต้องหรือไม่ครับอาจารย์ 

หมายเลขบันทึก: 683096เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2020 02:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2020 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท