Developmental Evaluation : 7. แปดหลักการชี้นำ


สาระในตอนที่ ๗ นี้    ผมตีความจากหนังสือ Developmental Evaluation Exemplars : Principles and Use(2018)  Edited by Michael Quinn Patton, Kate McKegg, and Nan Wehipeihana    บทที่ 15  The Developmental Evaluation Mindset : Eight Guiding Principles    เขียนโดย Michael Quinn Patton   

นี่คือบทสังเคราะห์ทำความเข้าใจ DE ในมุมมองทั้งเชิงทฤษฎี และเชิงปฏิบัติ

ชุดความคิด แนวยึดหลักการ (principles-based mindset)

เมื่อสังเคราะห์หลักการชี้นำทั้ง ๘ ของ DE เข้าด้วยกัน จะได้ว่า เป็นการประเมินแนวยึดหลักการ (principles-based approach)  ไม่ยึดมั่นในวิธีการ เครื่องมือ หรือเทคนิค ใดๆ   ไม่มีสูตรสำเร็จ  หรือวิธีการมาตรฐานใดๆ ทั้งสิ้น   

หลักการเป็นสิ่งชี้นำอย่างกว้างๆ เมื่อนำไปใช้ต้องตีความ และปรับใช้ให้เหมาะต่อบริบทและสถานการณ์  

การประเมินแนว DE จึงตรงกันข้ามกับการประเมินแนวทำตามมาตรฐาน    ที่ต้องมีสูตรสำเร็จ และดำเนินการตามนั้นอย่างเข้มงวด  

หลักการแปดประการที่ใช้สำหรับ DE ที่ M. Q. Patton ตกผลึกออกมาได้แก่

  1. 1. Developmental purpose
  2. 2. Evaluation rigor
  3. 3. Utilization focus
  4. 4. Innovation niche
  5. 5. Complexity perspective
  6. 6. Systems thinking
  7. 7. Co-creation
  8. 8. Timely feedback

นัก DE ต้องรู้จักหลักการทั้ง ๘ ประการนี้ อย่างเชื่อมโยงผสมผสานกัน ให้เกิดการเสริมพลังกัน    กล่าวคือ แต่ละหลักการไม่ได้อยู่อย่างแยกตัว แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน  

หลักการที่ ๑  เป้าหมายอยู่ที่การพัฒนา

ทำหน้าที่ช่วยทีมพัฒนานวัตกรรม โดยชี้ให้เห็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้น   ว่าเป็นนวัตกรรม  หรือการปรับปรุง  หรือการเปลี่ยนเชิงระบบ    และความหมาย หรือสิ่งที่จะเกิดตามมา คืออะไร

หลักการที่ ๑ เน้นที่เป้าหมายอันทรงคุณค่า (purpose)     โดยเป้าหมายอันทรงคุณค่าของทีม DE คือ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม   ผ่านการสร้างความกระจ่าง   แจ้งข้อมูล  และสนับสนุน ทีมพัฒนานวัตกรรม     ด้วยการทำความเข้าใจธรรมชาติ (nature)  และ รูปแบบ (pattern) ของพัฒนาการ    รวมทั้งความหมายต่อการดำเนินการ และผลที่เกิดตามมา ของรูปแบบ นั้นๆ 

เขาสรุปว่า สามารถแบ่ง DE ออกได้เป็น ๕ ชนิด คือ  (๑) ประเมินการพัฒนาวิธีใหม่ในการแก้ปัญหา   (๒) ให้ข้อมูลแก่กระบวนการปรับปรุงโปรแกรมการพัฒนาให้เหมาะต่อบริบทใหม่   (๓) ปรับปรุงหลักการที่ใช้ได้ดีเพื่อนำไปใช้ในบริบทใหม่   (๔) สนับสนุนการเปลี่ยนระบบใหญ่  รวมทั้งการเปลี่ยนข้ามระบบ  ยกระดับผลกระทบ   (๕) พัฒนาการตอบสนองอย่างเร็วในสถานการณ์วิกฤติ

รายละเอียดของ DE ห้าชนิดแสดงในตาราง

ประเด็นของการพัฒนาตามแต่ละชนิดของ DE ธรรมชาติของนวัตกรรม บทบาท/คุณค่า ของ DE หลักการสำคัญ
๑ พัฒนาวิธีการใหม่ ใช้กับปัญหาสำคัญ สร้างวิธีการใหม่ ที่มีนวภาพ (originality) ทำความชัดเจนเรื่ององค์ประกอบของนวัตกรรม    ตรวจสอบสัมฤทธิผล, ผลที่ไม่คาดคิด,   และสิ่งที่ผุดบังเกิด ในกระบวนการนวัตกรรม
  • การประดิษฐ์
  • นวภาพ
  • ใหม่
  • แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ และเห็นเด่นชัด
ปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง ปรับปรุงวิธีการ แนวทาง หรือโปรแกรม ที่มีอยู่แล้ว ให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป  หรือต่อความรู้ใหม่ หรือต่อลูกค้าใหม่    ทำความชัดเจนต่อธรรมชาติของนวัตกรรมเชิงปรับปรุง  ส่วนใดทำต่อ  ส่วนใดต้องเปลี่ยน  ปฏิสัมพันธ์ของส่วนคงที่กับส่วนเปลี่ยนเป็นอย่างไร   ช่วยขับเคลื่อน double-loop learning
  • ปรับปรุงโปรแกรมเดิม
  • การเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าเปลี่ยนเล็กน้อย
นวัตกรรมต่อเนื่อง
๓ ยกระดับผลกระทบ โดยปรับหลักการและวิธีดำเนินการนวัตกรรม ในบริบทใหม่ นำนวัตกรรมที่ใช้การได้ดีแล้ว ไปปรับใช้ในบริบทใหม่ หรือขยายบริบท   เท่ากับเป็นการสร้างนวัตกรรมในบริบทใหม่   ทำความชัดเจนว่าบริบทที่แตกต่างกันมีผลต่อการสร้างนวัตกรรมเชิงปรับปรุงอย่างไร    มีการแชร์ธรรมชาติ, ความรุนแรง, และผลที่ตามมาจากการปรับปรุง จากบริบทหนึ่งไปยังบริบทหนึ่ง อย่างกว้างขวาง
  • การยกระดับ
  • ขยายทางเลือก ต่อแต่ละบริบท
ปรับหลักการไปตามบริบท (ไม่ลอกเลียน)
สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบ หรือข้ามระบบ สร้างนวัตกรรมผ่านการเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ โลกทัศน์ และขอบเขต ภายในระบบ หรือข้ามระบบ ติดตาม, mapping, และตีความการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ทั้งภายในระบบและข้ามระบบ    สนับสนุนการปรับตัวเพื่อให้เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรม  เมื่อพบว่าเริ่มมีการปรับตัวเชิงระบบ 
  • พุ่งเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงที่ระบบ
พลังของพลวัตที่ซับซ้อน 
พัฒนาการตอบ สนองอย่างเร็ว  ในสถานการณ์วิกฤติ “สร้างไปใช้ไป”   ปรับปรุงนวัตกรรมเพื่อใช้งานในวิกฤติทางการเมือง, สังคม,  และเศรษฐกิจ ติดตาม, ทำเอกสาร, และให้ real-time feedback เกี่ยวกับความท้าทายที่ผุดบังเกิด, ความต้องการเร่งด่วน, การเคลื่อนตัวของทรัพยากร, และ alignment ของการดำเนินการในสถานการณ์ที่สับสนผันผวน     
  • เร่งด่วน
  • Real-time feedback
วางแผน,  ดำเนินการ, และประเมิน ไปพร้อมๆ กัน

หลักการที่ ๒  ดำเนินกิจกรรมการประเมินอย่างเข้มงวดจริงจัง

ตั้งคำถามซอกแซก (probing questions)    ร่วมกิจกรรมด้วยบทบาทและความคิดเชิงประเมิน    ตั้งคำถามต่อสมมติฐาน   ใช้ตรรกะเชิงประเมิน   ใช้วิธีการที่เหมาะสม    และยึดมั่นอยู่กับข้อเท็จจริง โดยเก็บข้อมูลจริงจัง นำมาตีความ และรายงาน

DE ดำเนินการบนฐานข้อมูลหลักฐาน (empirically driven)    ดังนั้นจึงต้องมีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการที่น่าเชื่อถือ    หากไม่มีการเก็บข้อมูล, ตีความ, และรายงาน ไม่ถือว่าเป็น DE    และไม่ถือว่าเป็นการประเมินแบบอื่นๆ ด้วย     คือในการประเมินต้องมีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการที่ให้ความแม่นยำ และตรงประเด็น

DE เป็นการประเมินแบบจริงจังเข้มงวด    ไม่ใช่เป็นการประเมินแบบผิวเผิน    แต่ความเข้มงวดจริงจังนั้นไม่ได้ขึ้นกับวิธีการแบบใดแบบหนึ่งอย่างเคร่งครัด    สามารถเลือกวิธีการให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ได้    และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ความเข้มงวดจริงจังไม่ได้ขึ้นกับวิธีการเพียงอย่างเดียว    แต่ขึ้นกับกระบวนการประเมินตลอดเส้นทาง คือตั้งแต่การคิดกรอบสมมติฐาน, การค้นหา, ตรวจสอบ, และวิเคราะห์ข้อมูล    การร่วมกันตีความหาความหมายของข้อค้นพบ    การตั้งคำถาม, ทดสอบ, ตรวจสอบซ้ำ ต่อผลที่ได้ และต่อข้อสรุป    ความเข้มงวดจริงจังอยู่ที่การทำงานร่วมกับทีมปฏิบัติงานนวัตกรรมในขั้นตอนข้างต้น    โดยใช้วิธีคิดเชิงประเมินหลากหลายแบบ ได้แก่ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ, คิดสร้างสรรค์,   คิดเชิงออกแบบ, คิดเชิงอนุมาน (inferential), คิดเชิงยุทธศาสตร์, และคิดเชิงปฏิบัติ 

คิดเชิงประเมินอย่างเข้มงวดจริงจัง  หมายความว่า มีเป้าหมายเชิงคุณค่าชัดเจน  มีความชัดเจนว่ากำลังทำเพื่อใคร  เพื่อใช้งานอะไร  ซึ่งจะนำไปสู่การจัดลำดับความสำคัญของคำถาม, การออกแบบ, การเลือกวิธีการที่เหมาะสม   รวมทั้งการเลือกวิธีประมวลข้อมูล    และยังรวมไปถึงความตระหนักต่อเรื่องคุณค่า, จริยธรรม, ความเข้าใจบริบท, และความเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของการประเมิน  

ความเข้มงวดจริงจังของการประเมินแบบ DE จึงมีหลายมิติ    มิติสำคัญที่สุดคือความเข้มงวดจริงจังทางปัญญา     โดยต้องระมัดระวังไม่ตกหลุมความเข้มงวดตายตัวของการวิจัย    ที่เขาเรียกว่า research rigor mortis  ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ความแข็งทื่อดั่งศพของการวิจัย 

สรุปได้ว่า ความน่าเชื่อถือ และคุณประโยชน์ของ DE ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดจริงจังของการคิดเชิงประเมิน   ผสมกับการมีวิธีการประเมินที่เหมาะสมและดำเนินการอย่างเข้มงวดจริงจัง 

โปรดสังเกตว่า หลักการที่ ๑ เน้น การพัฒนา (development)    และหลักการที่ ๒ เน้นการประเมิน (evaluation)    สองหลักการแรกจึงเป็นแกนของชื่อ DE     

หลักการที่ ๓  มุ่งการนำไปใช้ประโยชน์

พุ่งเป้าตลอดการประเมินไปที่การใช้ประโยชน์โดยกลุ่มผู้ใช้   อำนวยกระบวนการประเมินเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

DE เป็นการประเมินชนิดหนึ่งในกลุ่ม “การประเมินที่เน้นการใช้ประโยชน์” (utilization-focused evaluation)    ดังนั้นจึงต้องกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นว่า เป้าหมายหลักของการใช้ประโชน์ (intended use) คืออะไร    และใครบ้างเป็นกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์หลัก (primary intended users)   

เพื่อให้นักประเมินแบบ DE สามารถส่งมอบผลได้อย่างมีคุณภาพ    นักประเมินต้องทำความรู้จักกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์หลักของโครงการเป็นอย่างดี  ในลักษณะ “รู้เขา” อย่างลึก    เพราะจะต้องทำงานร่วมกันภายใต้สภาพที่อาจจะลุ่มๆ ดอนๆ    ต้องรับฟังกัน ต้องอดทนกัน ต้องรู้ใจกัน   เพื่อฟันฝ่าสภาพความซับซ้อน และการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดฝันร่วมกันได้  

หลักการที่ ๔  เน้นที่นวัตกรรม

ดำเนินการชี้แจงว่ากระบวนการและผลการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และการปรับตัวอย่างไร   

ทีม DE ทำหน้าที่เก็บข้อมูล, จัดทำเอกสาร, ตีความ, และให้ข้อมูลป้อนกลับ เกี่ยวกับกระบวนการและผลลัพธ์ของนวัตกรรม   

นวัตกรรม (innovation)  และการปรับตัว (adaptation) เป็นคำหลวมๆ ที่ต่างคนต่างก็ตีความไม่เหมือนกัน    นักประเมินแนว DE จึงควรหาโอกาสทำความเข้าใจในกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ว่าแต่ละคนตีความคำว่านวัตกรรมอย่างไร    เพื่อให้เมื่อทำงานร่วมกันไปเรื่อยๆ และต้องทำงานตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกัน จะได้เข้าใจความหมายของแต่ละคน    

นวัตกรรมอาจอยู่ในรูปของกิจกรรมริเริ่มใหม่, โปรแกรม, โครงการ, นโยบาย, ความร่วมมือ, และการดำเนินการ    สิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมสังคมไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ หรือโครงสร้าง    แต่อยู่ที่ความแตกต่างจากสภาพปัจจุบัน ว่ามากน้อยเพียงใด และธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร    เช่นหากนโยบายเปลี่ยนจาก top-down เป็น bottom-up ถือว่าเกิดนวัตกรรมด้านนโยบาย

ปัญหายากยิ่ง (wicked problems) เป็นโอกาสสร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหา    เพราะเป็นปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก    จึงต้องการการดำเนินการแก้ไขผ่าน learning loops เป็นเปลาะๆ    และเป็นโอกาสของ DE   หัวใจคือต้องเอาใจใส่บริบท  และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  

สรุปได้ว่า พื้นที่ที่นวัตกรรมกำลังจะเกิดขึ้น  หรืออย่างน้อยมีความพยายามทำให้เกิด เป็นพื้นที่แห่งโอกาสของ DE

หลักการที่ ๕  ใช้โลกทัศน์ของความซับซ้อน 

ทำความเข้าใจ และตีความ DE ผ่านมุมมองของความซับซ้อน (complexity)  และดำเนินการประเมินตามนั้น    ซึ่งหมายความว่าเป็นการทำงานบนยอดคลื่นของความซับซ้อน    ใช้ความเป็นจริงและพลวัตของความซับซ้อนชี้นำยุทธศาสตร์พัฒนานวัตกรรม, การปรับตัว, และการเปลี่ยนระบบ    ใช้ตีความสิ่งที่พัฒนาขึ้น  ใช้ปรับปรุงการออกแบบการประเมิน    และใช้วิเคราะห์ข้อค้นพบสิ่งที่ผุดบังเกิด

ตามหลักการของความซับซ้อน  ทุกขั้นตอนของ DE จะต้องปรับไปตามสถานการณ์ของโครงการพัฒนานวัตกรรม เมื่อนวัตกรรมค่อยๆ เผยตัวขึ้น    ขั้นตอนดังกล่าวของ DE ได้แก่ แผน  จุดมุ่งหมาย และเป้าหมาย   

ในระบบที่ซับซ้อนและเป็นพลวัต ตัวแปรจำนวนมากและหลากหลายมีปฏิสัมพันธ์กันในสภาพที่ไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้    นำไปสู่ผลที่ไม่ดำเนินเป็นเส้นตรง  มีความปั่นป่วนผันผวน  และการผุดบังเกิด    ทำให้มีความไม่แน่นอนว่าจะเกิดผลอะไร    การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายมิติและหลายทิศทาง    ความเห็นที่ต่างกัน หรืออาจถึงขนาดขัดแย้งกัน ของผู้เกี่ยวข้อง ว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อ อาจเพิ่มความยุ่งยากปั่นป่วน และความไม่แน่นอน ยิ่งขึ้น 

แต่ในท่ามกลางสภาพดังกล่าว  อาจมีเค้ารางของ “สิ่งผุดบังเกิด” (emergence) ให้เห็น    โดยทีม DE ต้องหมั่นสังเกต และมีทักษะในการสังเกตเห็น

หลักการที่ ๖  คิดกระบวนระบบ (systems thinking)

ใช้การคิดกระบวนระบบตลอดการทำงาน   เอาใจใส่ปฏิสัมพันธ์, มุมมอง, ขอบเขต, และประเด็นอื่นๆ ของระบบสังคม   รวมทั้งบริบท ที่กำลังมีการพัฒนานวัตกรรม  และกำลังดำเนินการ DE      

หลักความซับซ้อน กับหลักการคิดกระบวนระบบ เป็นหลักการพื้นฐานของ DE    ที่ช่วยให้นักประเมินแนว DE ใช้ทำความเข้าใจพลวัตของการพัฒนานวัตกรรม     

การคิดกระบวนระบบช่วยให้แนวทางทำความเข้าใจปัจจัยเกี่ยวข้องในหลากหลายมิติ  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเหล่านั้น  รวมทั้งเข้าใจปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นบนเส้นทางของกระบวนการพัฒนานวัตกรรม     ช่วยให้นักพัฒนานวัตกรรมและนักประเมินแนว DE ร่วมกันคิด  เพื่อร่วมกันทำความเข้าใจในมิติที่ลึก ว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบกำลังเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร มากเพียงใด และไปในทิศทางใด 

การคิดกระบวนระบบช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้คนให้กว้างขึ้น    ไม่ตกเป็นเหยื่อของ “ความจริงที่ถูกจำกัดขอบเขต” (nested reality)      

สรุปได้ว่า การคิดกระบวนระบบมีความจำเป็นอย่างขาดเสียมิได้ เพื่อใช้วางกรอบ ออกแบบ และหาข้อสรุป ในกิจกรรม DE

หลักการที่ ๗  ร่วมสร้าง (co-creation)

ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมและการประเมิน  ในลักษณะที่ถักทอเข้าด้วยกัน, พึ่งพาต่อกันและกัน, ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก,  และร่วมสร้าง    ซึ่งหมายความว่า การประเมินกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลง   

ทีม DE ทำงานสร้างความตระหนัก บันทึก รายงาน และสะท้อนคิดในเส้นทางการทำงานพัฒนานวัตกรรม    จนในที่สุดทีมประเมินกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมปฏิบัติงานสร้างนวัตกรรม    คือทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงานของทีมปฏิบัติงานพัฒนานวัตกรรม กับทีมประเมินประดุจเป็นเนื้อเดียวกัน    ในสภาพนั้น ทีมประเมินเชิง DE ทำหน้าที่เอื้อให้เกิดการคิดเชิงประเมิน, มีการให้ feedback โดยมีข้อมูลประกอบ และ ณ เวลาที่เหมาะสม, และมีกระบวนการตีความหาความหมาย เพื่อนำไปใช้ในการสร้างนวัตกรรม และการปรับตัว    

ทีมประเมินและทีมปฏิบัติงานยังร่วมกันคิดหลักการ, ออกแบบ, และทดสอบวิธีดำเนินการใหม่ สำหรับหนุนกระบวนการปรับตัว การเปลี่ยนแปลง และนวัตกรรม  

ความร่วมมือไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสร้างนวัตกรรม และทีมประเมินเท่านั้น    ยังมีผู้เกี่ยวข้องจากหลากหลายบทบาททำหน้าที่ผู้ “ร่วมสร้าง” ด้วย    ได้แก่ ผู้สนับสนุนทุน  ผู้สนับสนุนในชุมชน  และอื่นๆ   

เพื่อให้เกิดการ “ร่วมสร้าง” อย่างมีพลัง หลักการที่ใช้ชี้ทิศทางการทำงานของทีมดำเนินการ กับหลักการของทีมประเมินแนว DE ต้องสอดคล้องกัน ไปในทิศทางเดียวกัน หรือสอดรับกัน   

สรุปว่า เมื่อมีการใช้ DE อย่างเต็มที่    DE จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรม

หลักการที่ ๘  ให้ข้อมูลป้อนกลับเหมาะแก่กาล

ให้ feedback ณ เวลาเหมาะสมต่อการปรับตัว    เมื่อความต้องการ ข้อค้นพบ และความเข้าใจชัดแจ้ง โผล่ออกมา    ไม่ใช่ให้ตามเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

นี้คือเรื่องของการกระทำที่ “เหมาะต่อกาละ” (timeliness)    ซึ่งหมายความว่าเหมาะต่อธรรมชาติของนวัตกรรมที่กำลังพัฒนา  และตรงความต้องการของกลุ่มผู้ใช้หลัก (primary intended users)    ความเหมาะต่อกาละมาจากผลการวิเคราะห์สถานการณ์ และการต่อรอง    ไม่ได้มาจากกำหนดการตายตัว     เพราะในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้  ร่องรอยของนวัตกรรมอาจโผล่ออกมาอย่างรวดเร็วก็ได้ อย่างช้าๆ ก็ได้  คือโผล่ออกมาในจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอ  และอาจเกิดซ้ำได้

หลักการสำคัญคือ ในสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนและปรับตัวอยู่ตลอดเวลานั้น  ผลการประเมินดำรงอยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น    การให้ข้อมูลป้อนกลับจึงต้องทันกาล เพื่อให้ผู้ใช้นำไปใช้ประโยชน์  

บูรณาการหลักการชี้นำ

การประเมินแนว DE ต้องใช้หลักการทั้ง ๘ นี้ ทุกหลักการ    โดยต้องใช้อย่างมีไหวพริบ รู้จริตของผู้เกี่ยวข้อง    เช่น ผู้ร่วมงานบางคนอาจเกลียดคำว่า complexity    ก็ไม่ต้องเอ่ยคำนั้น แต่เอ่ยคำว่า การผุดบังเกิด (emergence),  การปรับตัว (adaptation), หรือ สภาพที่ไม่เป็นเส้นตรง (nonlinearity) แทน    คือต้องใช้หลักการแบบไม่ติดคำศัพท์    ใช้ความหมายของหลักการเป็นหลัก 

วิจารณ์ พานิช

๑๓  ส.ค. ๖๓

หมายเลขบันทึก: 682786เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2020 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 08:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท