การเผาถ่านแบบถังครึ่ง_๐๖ ทดสอบเตาแบบถังครึ่ง ครั้งที่ ๔


ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นมาบ้านสวนขวัญข้าว เป็นเหมือนแล็บวิจัยเรื่องการเผาถ่านเพื่อบริการวิชาการแบบใหม่ (ที่ผู้วิจัยเองก็เรียนรู้จากครูอาจารย์ในภาคสนามไปด้วย) ให้กับเพื่อนพี่น้องเกษตรกรผู้กำลังเผาถ่านด้วยถัง ๒๐๐ ลิตรแบบถังครึ่ง ซึ่งคิดค้นและพัฒนาต่อยอดเตาชนิดอิวาซากิโดย อ.กิตติ เลิศล้ำ ซึ่งนำมาใช้กันทั่วไปทั่วไทยในขณะนี้ 

วันที่ ๗ ก.ย. ๒๕๖๓ ผมทดลองเผาถ่านไม้ไผ่ด้วยเตาที่ถอดแบบมาจากเตาถังครึ่งที่เผยแพร่กันที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก แตกต่างไปเพียงขนาดของปล่องควันที่ผมใช้ท่อเหล็กเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง ๓.๕ นิ้ว ไม่ใช่ ๔ นิ้วหรือ ๖ นิ้วที่ทำกันทั่วไป  และความสูงปล่องประมาณ ๖๐ เซนติเมตรจากหลังเตาอบ

การฝังเตาลงในดินที่กองทิ้งไว้กว่า ๑ ปีที่จับกันเป็นก้อน ทำให้ "เตาครู" ลูกนี้ กั้นความร้อนได้ดีมาก ... บันทึกต่อ ๆ ไป จะนำเอาผลวิจัยเกี่ยวกับการเก็บความร้อนของเตานี้มาเล่าครับ 

อ.ไพรัตน์ ธรรมแสง เพื่อนร่วมวิจัย ได้ทำอุปกรณ์บันทึกข้อมูลอุณหภูมิ (ดาต้าลอคเกอร์) แบบที่สามารถวัดอุณหภูมิได้ ๔ จุดพร้อมกัน ในการทดลองเตาครั้งที่ ๔ นี้ ผมเก็บข้อมูลมา ๒ จุด ด้านบนของเตาอบ จุดหนึ่งใกล้ห้องเผา อีกจุดหนึ่งใกล้ปล่องควัน (ดูคลิปจะเห็นท่องเหล็กสวมไว้) ใช้หัววัดเทอร์โมคัปเปิลชนิดเค (K-type thermocouple) ยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร อุณหภูมิที่ได้จึงเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยของเพดานเตาต่ำลงมา ๑๕ เซนติเมตร

ในการทดลองเผาครั้งที่ ๔ ของเตาแบบถังครึ่งนี้ ต้องบอกว่าแทบจะไม่มีประสบการณ์และยังไม่ได้อ่านงานวิจัยทบทวนมากนัก วิธีการเผานำเอาคำแนะนำและวิธีการจากคำแนะนำของ อ.นฤปนาท (ศูนย์ภูมิรักษ์ฯ) ที่เผยแพร่ทางยูทูป คือ เมื่อเตาติดก็หรี่ช่องอากาศไว้เล็กน้อย (ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์) ตลอดการเผา ยังไม่ได้เรียนรู้รายละเอียดในวิธีการตาม "เฒ่าเผาถ่าน พิทักษ์โลก" (อ.กิตติ เลิศล้ำ) ได้บอกสอนตอนทดลองครั้งที่ ๕ (บันทึกต่อไป) ... ตอนนั้นยังเก็บน้ำส้มไมเป็นเลยครับ 

ผลการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในเตาอบทั้ง ๒ จุด แสดงดังกราฟด้านล่าง ผมเฝ้าอยู่หน้าเตาประมาณ ๑๓ ชั่วโมง ไม้ที่ใช้เป็นโคนของต้นไผ่สร้างไพรที่ได้จากร้านทำเถียง (ทำซุ้ม ทำเถียงนา) ส่วนใหญ่เป็นไม้ดิบจึงไม่แปลกที่ต้องใช้เวลานานมาก เริ่มจุดตอนบ่ายโมง ปิดเตาตอนตีหนึ่งครึ่ง

อุณหภูมิสูงสุดของการเผาครั้งที่ ๔ นี้ อยู่ที่ ๖๘๕ องศาเซลเซียส (แม้จะมีพีคไปถึง ๗๐๐ องศาเซลเซียส แต่ก็เพียงแว๊บเดียว) 

ผมปล่อยให้ดาต้าลอคเกอร์เก็บข้อมูลการเย็นตัวของเตา ได้กราฟของการเย็นตัวหลังในช่วงจากปิดเตา ๑ ชั่วโมง ยาวไปถึง ๘ ชั่วโมงหลังปิดเตา แสดงดังกราฟด้านล่าง  

หลังจากเลิกงาน (ประจำ) กลับไปเปิดเตา โดยเอาถ่านที่ได้แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นล่างของเตา แล้วเอาโอห์มมิเตอร์วัดดู พบผลความต้านทานของถ่าน แตกต่างกันระหว่างชั้น ดังคลิปครับ 

ถ่านชั้นบนที่มีขี้เถ้าสีขาวคลุม มีความต้านทานต่ำกว่า ๑๐๐ โอห์ม แต่ก็เป็นบางชั้นเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นหลัก ๑๐ กิโลโอห์ม ถ่านชั้นกลางจะเป็นหลัก ๑๐๐ กิโลโอห์มขึ้นไป ส่วนถ่านชั้นล่างเกือบทั้งหมดยังเป็น "ส้นฟืน" มีความต้านทางมากกว่า ๒ เมกะโอห์มแน่นอน (เครื่องวัดผมวัดได้สูงสุด ๒ เมกะโอห์ม

แม้ว่ามองย้อนไป ถ่านส่วนใหญ่ยังมีความบริสุทธิ์น้อยนัก แต่อารมณ์นั้น ผมตื่นเต้นและภูมิใจมาก สิ่งที่ไม่รู้ท่วมหัวไปหมด รู้สึกถึงความกว้างขวางและลึกลับของศาสตร์ด้านการเผาถ่าน  และเห็นตนเองในความมีมานะอัตตาที่พัฒนามาจากการเล่นสื่อสารออนไลน์ชัดมาก ๆ  ผมเอาแท่งถ่านที่ผมพยายามกดหัววัดเข้าไปในเนื้อถ่านที่หนาแน่นเพื่อให้ได้ความต้านทานต่ำที่สุด ไปให้ อ.ไพรัตน์ ดูด้วยความดีใจ ... ไม้ว่าต่อมาจะรู้จาก อ.กิตติว่า ปลายดุ้นฟืนทุกท่านที่ดับลงหลังหุงต้มนั้น จะมีความต้านทานอยู่ในระดับนี้เหมือนกัน ....

โจทย์ของการเผาถ่าน ไม่ใช่ทำให้ถ่านได้ความต้านทางต่ำที่สุด แต่เป็น การทำให้แท่งถ่านมีความบริสุทธิ์ที่สุดและสม่ำเสมอทั่วแท่งถ่าน และคงรูปไว้สวยงามไม่แตกหลายเหมือนที่ผมทำ...ฮา

ลาไปเท่านี้นะครับ บันทึกหน้ามาดูผลการทดลองเผาครั้งที่ ๕ ครับ 

หมายเลขบันทึก: 682742เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2020 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2020 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท