ติดบัญญัติ



เช้าตรู่วันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๓   ระหว่างออกไปเดินอกกำลัง และฟังวิทยุไปด้วย    ได้ฟังรายการ มองโลกมองธรรมทางสถานี 96.5   วิทยากรคือ ศาสตราจารย์พิเศษ ร้อยโทบรรจบ บรรณรุจิ    ผู้ดำเนินรายการคือชาญเดช บัวบาน    มีผู้ถามปัญหาของตนเอง เรื่อง ติดบัญญัติ    วิทยากรให้คำตอบสะกิดใจผมให้ลองตีความโยงเข้าหาเรื่องการเรียนรู้ หรือการศึกษา  

ผมตีความว่า นี่คืออาการของการติดทฤษฎี  หรือยึดมั่นถือมั่นอยู่กับทฤษฎี หรือหลักการที่มีคนกำหนดไว้    ไม่มีจริตหรือสมรรถนะในการเรียนรู้จากการปฏิบัติหรือประสบการณ์ตรงของตน    เป็นอาการของคนที่มีศรัทธาจริต หรือเชื่อง่าย    จึงเป็นคนที่ไม่มีทฤษฎีของตนเอง    หรือไม่มีข้อสงสัยของตนเองให้เอามา “ครุ่นคิดพินิจนึก” (critical reflection)    ตีความทฤษฎีจากข้อมูลจากประสบการณ์ตรงของตน   

คนเหล่านี้มีแต่ “ความรู้มือสอง”  ไม่มี “ความรู้มือหนึ่ง”   เพราะสร้างความรู้เองไม่เป็น

การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ มุ่งฝึกคนให้มีทักษะและจริตในการสร้างความรู้เอง จากการปฏิบัติ (action)  ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)    นี่คือ lifelong learning skills (ทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต)    คนที่มีทักษะนี้จะไม่ติดบัญญัติ   

ครูจึงต้องเป็นคนที่ไม่ติดบัญญัติ   เป็นคนที่กล้าท้าทายบัญญัติหรือทฤษฎี    ท้าทายอย่างสุภาพและเคารพบัญญัติเดิมนะครับ    คือกล้าเอาทฤษฎีมา “ครุ่นคิดพินิจนึก” ผ่านข้อมูลจากประสบการณ์ตรงของตน    ผลคือ จะเข้าใจทฤษฎีลึกยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงได้    นี่คือเส้นทางการเรียนรู้สู่ระดับ รู้เชื่อมโยง   

ครูต้องชวนศิษย์ทำแบบเดียวกัน    ซึ่งหากทำเป็น การเรียนรู้จะสนุกมาก    นักเรียนจะสนใจเรียน    และครูก็จะได้เรียนรู้เพิ่มเติมด้วย    นี่คือ active learning   ที่ผู้เรียนเรียนจากการปฏิบัติ ตามด้วยการคิด    ครูเปลี่ยนจาก ผู้สอน มาทำบทบาท โค้ช หรือ “กระบวนกร” (facilitator)    เน้นแสดงบทนักตั้งคำถาม    มีความรู้และทักษะในการตั้งคำถามให้ศิษย์ฉุกคิด สงสัย และค้นคว้าหาคำตอบเอง    ได้คำตอบจาก การนำเอาข้อมูลเชิงทฤษฎี และข้อมูลจากการปฏิบัติของตน มา “ครุ่นคิดพินิจนึก”   

ครูต้องออกแบบกิจกรรม หรือตั้งโจทย์ ให้นักเรียนเรียนแบบ activity-based learning  หรือ project-based learning    ให้นักเรียนทำกิจกรรมเป็นทีม    เก็บข้อมูลเอามาใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกัน    นักเรียนจะได้เรียนรู้ว่าคนเราคิดไม่เหมือนกัน    และได้เรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้นจากการรับฟังความคิดของเพื่อน    ทักษะการรับฟังเป็นทักษะแห่งชีวิต (life skills)    การเรียนแบบนี้จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างซับซ้อน     

การศึกษาแบบนี้ จะกล่อมเกลาฝึกฝนให้คนไทยรุ่นใหม่ไม่เชื่อง่าย ไม่ติดบัญญัติ    เป็นคนมีวิจารณญาณ (critical thinking)  

ที่แปลกคือ การศึกษาแบบนี้จะสร้างสมรรถนะที่เป็นขั้วตรงข้ามกับการมีวิจารณญาณ    คือสมรรถนะความสร้างสรรค์ (creativity) ด้วย    เพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนลองคิดใหม่ทำใหม่ได้   

OECD มีความเชื่อว่าสมรรถนะแห่งอนาคตที่สำคัญที่สุดคือ creativity  และ critical thinking นี่เอง    และมีการดำเนินการเพื่อทำความเข้าใจและสร้างวิธีจัดการเรียนรู้และประเมินสมรรถนะทั้งสองนี้    ผมได้สรุปไว้ในหนังสือ บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking              

ไม่ติดบัญญัติ กับมีความสร้างสรรค์และมีความคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นสิ่งเดียวกัน    และเป็นหัวใจของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ส.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 682701เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2020 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2020 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท