มุมมองเชิงรุกต่อการขับเคลื่อนวิชาการ นโยบาย และกลยุทธ์การพัฒนาเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในภาคเหนือตอนบน :


สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญมากๆในตอนนี้ หากเรามองตามแนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ที่จะต้องประกอบไปด้วยสามภาคส่วน ส่วนที่ตื่นแล้วคือภาคพลเมือง/ประชาสังคม ส่วนที่ตื่นรองลงมาคือภาครัฐ/นโยบาย แต่ที่รั้งท้ายเลยคือภาควิชาการซึ่งรวมสื่อเอาไว้ด้วย

วันนี้ฟ้าครึ้มๆ เป็นอีกวันที่มีความสุขกับการได้อยู่กับตัวเอง คุย ใคร่ครวญกับตัวเอง ถึงการงานชีวิตกิจกรรมต่างๆ

การเห็นคุณค่าสมดุลชีวิต และมีวินัยในการ Slow Down เป็นส่วนหนึ่งของการก้าวไปสู่การยกระดับความคิดสู่การจัดการปัญหาที่นับวันซับซ้อนและลื่นไหล การจัดการที่ต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ

Slow Down วันนี้ หลังจากนั่งสมาธิ ออกกำลังกายเบาๆ ทานอาหารเช้ากับครอบครัวช้าๆ เอ่ยชื่นชมภรรยากับลูกๆ เดินดูฟ้าดูดินสักพัก แล้วก็มาอยู่หน้าคอม ดูโน้ตที่บันทึกไว้ว่าวันนี้มีภารกิจอะไรบ้างที่เหมาะจะทำ

เรื่องสดๆร้อนๆที่น่าจะเขียนก็คือ บทเรียนจากเวทีโครงการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาระบบและกลไกรองรับสังคมสูงวัย เพื่อผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี (Active Aging) ที่เพิ่งไปมาเมื่อวานซืน (17 ก.ย.63)

เป็นหนึ่งในไม่กี่โครงการที่เราให้ความสำคัญนะ เพราะตั้งใจว่าจะไม่ทำอะไรโหลยโท่ย ไม่หยิบนี่นั่นโน่นอะไรก็สนใจไปหมด ชีวิตเรามีเวลาจำกัด ทำอะไรต้องมีโฟกัส และขจัดขัดเกลาเหลาเอาการงาน กิจกรรมที่ไม่เข้าท่า หรือวนๆอยู่ในอ่างออกจากชีวิต

ปีนี้ก็ลด ละ เลิก การประชุมที่ไม่ได้เรื่องได้ราวไปหลายงานแล้ว ตามเป้าคือลดเวลาการออกไปวุ่นวายกับสังคมเรื่อยๆ และเดินทางเข้าสู่งานภายในที่เป็นฐานชุมชน และสร้างพลังแบบปัจเจก ทำสองอย่างนี้ให้จับต้องได้ ทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยสมดุลกับการที่ชีวิตตัวเองและครอบครัวอยู่ดีมีสุข ก่อนที่ร่างนี้จะคืนกลับสู่ธรรมชาติไป

กลับมาที่การประชุมโครงการ Active Aging (ขอเรียกย่อๆนะครับเพราะชื่อมันยาวมาก)

ที่เข้าร่วมนี่ไม่ใช่ด้วยเพราะเนื้อหางานดีอย่างเดียว เพราะเวทีวิชาการมีเต็มบ้านเต็มเมือง จนเลี่ยนและรู้สึกว่ามันเบื่อกับความซ้ำๆจำเจ แต่สำหรับเวทีนี้ สิ่งที่ต่างคือจิตวิญญาณ ที่มาจากองค์ประกอบของผู้เข้าร่วม หรือพูดง่ายๆคือ ระบบนิเวศสังคม เป็นคนที่เข้าใจกัน เป็นตัวจริงเสียงจริง อีกทั้งคณะพยาบาลศาสตร์ มช. ซึ่งเป็นองค์กรหลักก็เป็นองค์กรที่มีพื้นฐานการทำงานกับภาคประชาชนและประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน คือ จูนความคิดกันได้ และเปิดใจกว้างเรียนรู้ร่วมกับนักเคลื่อนไหวในพื้นที่

อันนี้คือ มีจิตวิญญาณขององค์กรรวมทั้งนิเวศสังคมที่มาจากผู้เข้าร่วมแบบ (Service Mind) สภาวะการทำงานที่เกื้อกูลกัน มีจิตเมตตานี่ มีพลังดึงดูดอย่างมากทีเดียว

อันนี้คือดีและงาม รวมเป็นเวทีที่ “ดีงาม”

สภาวะเกื้อกูล และบริบทที่หนุนเสริมการแลกเปลี่ยนโดยอิสระเช่นนี้ ทำให้รู้สึกเหมือนเวลาผ่านไปรวดเร็ว เราเห็นความ Flow ของเรื่องราว ข้อมูลและความรู้สึกที่ไหลเวียนถ่ายเทกันและกันภายในห้องประชุม แถมยังเปิดพื้นที่ให้เติมเต็มกันได้อีกทางช่องทางออนไลน์ อันนี้ทันสมัย โดนใจ ในยุค New Normal ที่หลายสิ่งหลายอย่างจะไม่เหมือนเดิม

มาสู่ประเด็นที่ผมเพิ่มเติมในเวทีนะครับ อันนี้โน้ตไว้ตรงนี้ กันลืม และผมเอามาเรียบเรียงใหม่ให้อ่านง่ายขึ้น เผื่อเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆที่สนใจด้วย

1.สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญมากๆในตอนนี้ หากเรามองตามแนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ที่จะต้องประกอบไปด้วยสามภาคส่วน ส่วนที่ตื่นแล้วคือภาคพลเมือง/ประชาสังคม ส่วนที่ตื่นรองลงมาคือภาครัฐ/นโยบาย แต่ที่รั้งท้ายเลยคือภาควิชาการซึ่งรวมสื่อเอาไว้ด้วย เท่าที่ดูแม้คณะพยาบาล มช.จะออกมาเคลื่อนในเรื่องนี้แต่ที่อื่นๆยังไม่เห็นขยับอะไรมาก (อันนี้มุมจากคนทำงานพื้นที่อย่างผมนะ) และถ้ามีวิชาการมาขยับ ส่วนใหญ่ก็ขยับบนวิธีคิดแบบราชการ คือ พช. แบบเก่า ตรงนี้ไม่มีความคิดวิชาการแบบใหม่ๆ ยิ่งนักวิชาการที่ลงไปช่วยโค้ชชาวบ้าน เป็นพี่เลี้ยงให้ชาวบ้านเขียนโครงการได้ บริหารจัดการโครงการเป็น คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ตรงนี้หดหายไปอย่างน่ากังวล

ในสภาพการณ์ที่ “นักวิชาการเพื่อท้องถิ่น” หดหาย และนักวิชาการรุ่นใหม่ๆก็ยังเตาะแตะเติบโตไม่ทัน มิพักต้องพูดถึงนักวิชาการที่ “อ่านขาด” ในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจการเมือง และได้เป็นบุคคลที่รับความศรัทธาจากพื้นที่ ว่ามีนับหัวได้ เราอาจจะต้องแท็คทีมเป็นทีมวิชาการร่วมหลวมๆของภาคเหนือตอนบน เพื่อแก้ไขวิกฤตทางวิชาการชุมชนในขณะนี้ไปก่อน อันนี้ผมถือโอกาสเสนอทางออกไปในตัว

2.ต่อเนื่องจากประเด็นแรก เพราะนโยบายที่ดีต้องมีวิชาการที่รอบด้านและลึกซึ้งสนับสนุน ทั้งในขาขึ้น ขาเคลื่อน

จริงๆแปดจังหวัดภาคเหนือตอนบนนี่มีผู้สูงอายุที่นับถือศาสนาอื่นๆ เช่น คริสต์ อิสลาม เจ้าแม่กวนอิม หรือแม้แต่การนับถือผีในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

ศาสนานี่มีผลต่อวิธีคิดวิธีปฏิบัติตัววิถีสุขภาวะของคนเฒ่าคนแก่มาก อาจจะพอๆกับการแพทย์สมัยใหม่เลยก็ว่าได้เพราะมัน embed ลงไปใน Mindset ในจิตวิญญาณและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพชน ในแง่การจัดการสังคมสูงวัยในกลุ่มประชากรที่เป็นศาสนาอื่นๆที่ไม่ใช่ชาวพุทธล่ะ เป็นอย่างไร เราเชื่อมประเด็นศาสนา(อื่นๆที่ไม่ใช่เฉพาะศาสนาพุทธ)กับการจัดการสุขภาวะผู้สูงวัยนี่น้อยไป

จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ คงต้องมีวิจัย ทั้งแนววิจัยพื้นฐาน (Basic Research)และวิจัยเชิงปฏิบัติการ (R&D)เข้ามาเสริม

3. อันนี้แตกออกมาจากประเด็นที่สอง ลงไปในพื้นที่ที่มีความเฉพาะ มีเขตติดชายแดนอย่างแม่ฮ่องสอน เชียงราย อย่างที่เห็นกันนะครับว่าประเด็นเรื่องการพัฒนานโยบายสังคมสูงวัย ตอนนี้ก็ขยับกันคึกคักดี แต่ต้องมีการออกแบบในระดับพื้นที่ให้เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาสถานะบุคคลด้วยนะครับ ไม่งั้นช่องว่างความเหลื่อมล้ำในกลุ่มผู้สูงอายุก็จะยิ่งสูงขึ้น (จริงๆในกลุ่มผู้สูงอายุมีความเหลื่อมล้ำในมิติทางเศรษฐกิจ เพศสภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา สถานะบุคคล ฯลฯ ด้วยนะครับ แต่ไม่ค่อยมีใครให้ภาพและข้อมูลเท่าที่ควร)

4. ประเด็นนี้ ยังคงเป็นเรื่องวิชาการชุมชน แต่เป็นวิชาการที่อ่อนด้อยลงไปอีก แต่มีความสำคัญมาก คือ การติดตามหนุนเสริมโดยเน้นมุมมองจากคนใน

ตัวอย่างที่ผมพบ หลายพื้นที่คนมาดูงานเยอะ เพราะถูกยกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ แต่นานวันไปภายในชุมชนเริ่มได้รับผลกระทบจากการที่คนนอกมาศึกษาดูงาน ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนรอบข้างก็เริ่มเหินห่างเพราะถ้าแขกมาเยอะ มาบ่อย ก็ต้องแบ่งเวลาไปสนใจแขกมากกว่าสนใจเพื่อนบ้าน กลายเป็นทุกขลาภไปก็มี แต่ก็มีหลายชุมชนที่คนเฒ่าคนแก่เขาปรับตัวกับการดูแลคนจำนวนมากๆที่มาเยือนในแต่ละวันได้ อันนี้เฉพาะแค่เรื่องเดียวนะครับ จริงๆมีหลายเรื่องชวนให้เราทำกระบวนการสะท้อนกลับ (Feedback) ออกไปจากเสียงคนในชุมชน เช่น ระบบบริการสุขภาพ บริการขนส่ง คมนาคม ระบบงาน-อาชีพ การศึกษา การนันทนาการ การรู้เท่าทันสุขภาพ เท่าทันสื่อ และการเปลี่ยนแปลงของสังคม ฯลฯ

แถมเรื่องผู้สูงอายุนี่ก็ต้องให้คนทุกกลุ่มวัยร่วมสะท้อนด้วย


ย้ำอีกที จะทำวิชาการชุมชน ที่ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของความรู้ได้ ตรงนี้ต้องอาศัยการออกแบบที่เข้าใจชุมชน กอปรด้วยนักวิชาการที่ชุมชนไว้วางใจ ศรัทธา เชื่อมือ โดยทำงานกับนักวิชาการอาวุโสในมหาวิทยาลัยที่สามารถในการยกระดับเชิงสังเคราะห์

5. ประเด็นนี้จะเชื่อมกับวิชาการและงานพัฒนานะครับ สิ่งที่เป็น “โซ่ข้อกลาง” ระหว่างวิชาการกับปฏิบัติการในงานพัฒนาก็คือ สื่อ ซึ่งถ้าดูชีพจรงานสื่อในหลายพื้นที่ มีคนรุ่นใหม่ มีนักข่าวพลเมืองทยอยส่งคลิปเรื่องราวต่างๆออกมา แต่มักเป็นแบบกระจัดกระจาย ขาดการรวมกลุ่ม ขาดระบบ ขาดแผนการรบ

ทั้งภาควิชาการและภาคงานพัฒนา ควรเข้าไปหนุนให้เกิด “สถานีสื่อชุมชน” ให้เรื่องผู้สูงอายุก็ดี เด็ก เยาวชน สตรี คนชายขอบทั้งหลาย หรือแม้แต่ขายสินค้า OTOP ต่างๆของชาวบ้าน การประเมินคุณภาพต่างๆจากมุมมองของเค้าได้บอกเล่าออกมา เอาแบบง่ายๆเป็นภาษาชาวบ้านๆก่อนก็ได้ ฝึกทักษะ ใส่ความกล้าเข้าไป สื่ออันไหนดีบันทึกไว้ มา RERUN ทำ Subtitle เป็นไทย เป็นอังกฤษก็ว่าไป

ใครไม่ทำนี่ผมจะเริ่มทำที่แม่ฮ่องสอนแล้วนะครับ (แน่นอนตรงนี้ต้องมีการลงทุน แต่เชื่อเหอะว่าคุ้มสุดคุ้ม)

เรื่องสื่อนี่ ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับหมอพรชัย จาก รพ.สต.เมืองปอน แม่ฮ่องสอนนอกห้องก่อนกลับบ้าน ได้ความชัดเจนในเรื่องกระบวนทัศน์สื่อแบบตะวันตก-ตะวันออกมาอีก มีโอกาสวันหลังจะมาเล่า แต่รับรองว่าน่าสนใจครับ

พิมพ์มาตรงนี้ นี่ร่วมสองชั่วโมงละ เหอะๆชักเมื่อย เอาอีกข้อละกัน ทิ้งท้าย

6. เรื่อง นิยามของ “ข้อมูล” ส่วนใหญ่ เราไปติดข้อมูลที่เป็นตัวอักษร เป็นตัวเลข แต่จริงๆข้อมูลมันคือระบบสัญลักษณ์ชนิดหนึ่งที่เป็นเครื่องมือที่จะนำเราไปสู่ “ความจริง” ข้อมูลจึงไม่ใช่ความจริงทั้งหมด มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความจริง และความจริงมันยังมี “ความจริงซ้อนความจริง” เข้าไปอีก

อ่านถึงตรงนี้ ถ้า งง ก็ไม่แปลก แต่จุดใหญ่ใจความคือ ผมอยากให้เรามอง “ข้อมูล” แบบเปิดใจกว้าง

สิ่งที่เรียกว่า “ข้อมูล” มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ตัวหนังสือ ตัวเลข โบราณสถาน โบราณวัตถุ เครื่องใช้ไม้สอย คลิปวิดีโอ ไฟล์เสียง ภาพถ่ายนี่ก็ใช่ โดยเฉพาะข้อมูลในข้อความหลังๆนี่ มีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดแก่ชุมชนได้มากพอๆกับตัวเลข หรืออาจจะมากกว่าตัวเลขหรือตัวหนังสือภาษาวิชาการด้วยซ้ำ

“ข้อมูล” แต่ละลักษณะมีคุณสมบัติ มีจุดอ่อนจุดแข็งต่างกัน แต่งาน KM หรือจัดการความรู้ระดับชุมชนจำนวนมากกลับไปติดกับดักข้อมูลในลักษณะตัวเลขตัวหนังสือมากเกินไป จนขาดพลังทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของพลังของการเปลี่ยนแปลง

เราต้องรู้จักบริหารความหลากหลายของข้อมูลนี้มาสร้าง “ความจริง” ครับ เพื่อไม่ให้น้ำหนักข้อมูลเราไปตกอยู่ที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง อันนี้ ยากหน่อย แต่ต้องอาศัยการถอยออกมามอง หรือไม่ก็ชวนครูบาอาจารย์กัลยาณมิตรมาช่วยสะท้อน

ตอนท้าย ผมได้เสนอ Approach หรือวิธีการเข้าถึงงานพัฒนาแบบมีส่วนร่วมแบบนักมานุษยวิทยาที่ใช้ภาพถ่ายที่รวบรวมจากชาวบ้านมาจัดกระบวนการพัฒนาสังคมสูงวัยไป อันนี้ ที่ประชุมหลายคนซื้อไอเดียนี้นะครับ (ใครอยากคุยลึกถึงการออกแบบค่อยคุยหลังไมค์หรือทักแชตมานะครับ)

ทั้งหมดนี้ก็เป็นประเด็นที่ผมนำเสนอโซโล่รอบเดียวจบ ถ้าไม่ฟังไม่จดดีๆก็อาจจะตามไม่ทัน ผมก็คิดแบบ “ฉับพลัน” ในเวทีวันนั้นออกมา 6 ข้อตามนี้นะครับ จริงๆมีมากกว่านั้น แต่เอาหลักๆเท่านี้ดีกว่า

ถือเป็นอีกวันที่ช่วยลับคมความคิด และพบปะกัลยาณมิตรเสมือนได้สร้างสนามพลังแห่งเมตตาและปัญญา เป็นอีกหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ 10 ที่ชีวิต Slow Down วันนี้มานึกแล้วชุ่มชื่นใจ

ผมอยากให้ถือเสียว่า การเขียนโพสต์นี้เป็นการขอบคุณทีมผู้จัดและ สสส.ที่สนับสนุนโครงการนี้ไปในตัวด้วยละกันนะครับ และหากมีใครสนใจประเด็นไหน อยากแลกเปลี่ยนลงลึกกันต่อ ก็ยินดี inbox กันมานะครับ

หมายเลขบันทึก: 682590เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2020 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2020 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท