การเผาถ่านแบบถังครึ่ง_๐๓ การติดตั้งเตาแบบอิวาซากิ


บันทึกนี้พยายามจะจับประเด็นให้เห็นกระบวนการติดตั้งเตาเผาอิวาซากิ (high-speed kiln Iwasaki-type) ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ (คลิกที่นี่) โดยเรียนรู้จากเอกสารและคำอธิบายต่าง ๆ ของ อ.กิตติ เลิศล้ำ และภาพที่ท่านส่งให้สมาชิกในกลุ่มไลน์ผู้ใช้เตาแบบถังครึ่งได้ดู ดังภาพ  (นอกจากภาพด้านบนสุด ภาพทั้งหมดในบันทึกนี้คัดลอกมาจาก http://iwasaki-sumiyaki.com/esub4.htm)

ภาพจากกลุ่มไลน์ผู้ใช้เตาแบบถังครึ่ง
ภาพจากกลุ่มไลน์ผู้ใช้เตาแบบถังครึ่ง


รองพื้นเตา

หลังจากเลือกสถานที่วางเตาด้วยความรอบคอบถึงจุดวางเตา การวางท่อเก็บน้ำสัมควันไม้ และบริเวณสำหรับวางฟืนและถ่านแล้ว ให้ยกพื้นขึ้นเหนือพื้นดินป้องกันน้ำขัง แล้วเทคอนกรีตทนความร้อน หรือใช้แผ่นคอนกรีตทนความร้อน (ในเอกสารบอกว่าเป็นปูนชนิด ALC, Autoclaved Lightweight Concrete) ให้หนามากกว่า ๓๗ มิลลิเมตร กว้าง ๒.๕ x ๑.๕ ตารางเมตร ในกรณีที่ไม่มีแผ่นปูนทนความร้อน ALC สามารถใช้อิฐหรือหินได้โดยให้ขุดดินลงไปให้เป็นหลุมพอท่วมอิฐ(หิน) แล้วปูด้วยดินทับอีกครั้งให้หนา ๒๐ เซนติเมตร 

http://iwasaki-sumiyaki.com/esub4.htm
http://iwasaki-sumiyaki.com/esub4.htm

วางเตาและโอบฉนวนกันความร้อน

หลังจากวางเตาและพิจารณาตำแหน่งต่าง ๆ อย่างรอบคอบแล้ว ให้วางแผ่นคอนกรีตทนความร้อนหนา ๑๐ เซนติเมตร ล้อมรอบเตา เป็นเหมือนบ่อสี่เหลี่ยมโดยมีที่กั้นรับน้ำหนักด้านข้างห่างทุก ๆ ๓๐ เซนติเมตร 

http://iwasaki-sumiyaki.com/esub4.htm

กรณีไม่มีแผ่นปูนทนความร้อน ให้ใช้อิฐหรือหินก่อเป็นผนังกั้นสูง ๖๐ เซนติเมตร โดยห่างจากผนังถัง(เตา) ๑๕ - ๒๐ เซนติเมตร และมีแท่งวัตถุรับน้ำหนักของอิฐ(หิน) ด้านข้างทุก ๆ ๓๐ เซนติเมตร แล้วใช้ดินแห้งผสมขี้เถ้า (ขี้เถ้าแกลบหรืขี้เถ้าไม้) ในอัตราส่วน ๑:๑ เทถมเตา หนาประมาณ ๑๐ เซนติเมตร สูงขึ้นมาเกือบจะถึงช่องเปิดเติมฟืน 

ด้านหน้าและด้านหลังก็ต้องใส่ฉนวนความร้อนในลักษณะเดียวกัน และให้คำนึงถึงความสะดวกของการเปิดปิดเตา 

ติดตั้งต่อท่อปล่องควัน

ติดตั้งข้อต่อสามทาง (T-shaped)  โดยใช้หินก้อนเล็ก ๆ รองด้านล่าง เพื่อเป็นทางออกของปล่องควันและช่องระบายความชื้นจากเนื้อไม้ในช่วงแรกของการเผา แต่หากไม่กังวลเรื่องช่วงเวลาในการไล่ความชื้น สามารถใช้ข้องอ (L-shaped) ดังรูปด้านบนก็ได้เช่นกัน 

http://iwasaki-sumiyaki.com/esub4.htm

สวมท่อปล่องควัน (ท่อสแตนเลส) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐ เซนติเมตร โดยวางอิฐบล็อควางประกบทั้งสองข้าง นำกระถังโลหะทรงสี่เหลี่ยม ขนาด ๑๘ ลิตร (หรือ ๕ แกลลอน) ตัดเปิดฝาบนและล่าง แล้ววางสวมท่อปล่องควันลงไปวางบนอิฐบล็อคที่วางขนาบข้างท่อนั้น  จากนั้นใส่ดินผสมคอนกรีตทนความร้อนลงในถังนั้นจนเต็มเพื่อเป็นฉนวนความร้อน

เมื่อทำดังนั้นแล้ว ท่อปล่องควันจะเหลือเปลือยอยู่ประมาณ ๑๕ เซนติเมตรเหนือดินขึ้นมา แนะนำให้ใช้กระป๋องนมโลหะซึ่งสูง ๑๘ เซนติเมตร ตัดเปิดบน-ล่าง สวมต่อจากถัง ๑๘ ลิตรนั้น วิธีนี้จะสามารถป้องกันความร้อนและรอยรั่วจากปากปล่องได้หลังจากที่ต่อท่อขึ้นไปเป็นปล่องควันหรือต่อกับชุดเก็บน้ำส้มควันไม้ 

ในกรณีที่ไม่เก็บน้ำส้มควันไม้ ขณะอุณหภูมิต่ำ ๆ ให้ต่อปล่องเพิ่ม ๒ ท่อน (ความยาวท่อนละ ๙๐ เซนติเมตร) เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ให้ต่อปล่องขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง ๔ ท่อน 

ชุดเก็บน้ำส้มควันไม้และการเก็บน้ำส้มควันไม้

ท่อเก็บน้ำสัมควันไม้ควรทำจากสแตนเลส แต่หากไม่มี สามารถทำจากดินปั้นได้ ความร้อนจากท่อจะทำให้ดินแข็งเป็นเหมือนเครื่องปั้นดินเผา แม้จะมีปัญหาเรื่องการแตกร้าวหากส่วนผสมของดินไม่ดี 

http://iwasaki-sumiyaki.com/esub4.htm

ท่อเก็บน้ำส้มฯ ควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐.๖ เซนติเมตร เพื่อความสะดวกในการสวมกับปากปล่องควัน เพื่อให้การเก็บน้ำสัมฯ ได้ปริมาณมากความยาวของท่อควรเป็น ๑๐ เมตรขึ้นไป (ที่ประเทศญี่ปุ่นท่อสแตนเลสมาตรฐานที่หาซื้อได้ง่ายจะมีความยาว ๙๐ เซนติเมตร จึงต้องใช้ถึง ๑๒ ท่อ ขึ้นไป) 

เมื่ออุณหภูมิห้องอบ ถึง ๗๐ องศาเซลเซียส ให้เปลียนไม้เชื้อเพลงในห้องเผาเป็นไม้ไผ่ให้หมด และเมื่ออุณหภูมิของควันปากปล่องสูงถึง ๘๕ องศาเซลเซียส ให้ถอดท่อปล่องควัน ๒ ท่อนที่สวมไว้ในแนวดิ่งออก แล้วใส่ชุดเก็บน้ำส้มควันไม้แทน  ทำการเก็บน้ำส้มควันไม้ไปจนอุณหภูมิปากปล่องสูงถึง ๑๒๐ องศาเซลเซียส จึงหยุด แล้วเปลี่ยนมาเป็นท่อแนวดิ่ง ๒ ท่อนเช่นเดิม 

ขอจบไว้เท่านี้ก่อนนะครับ

(หากท่านอ่านไม่ค่อยเข้าใจก็ขออภัยด้วยครับ เป็นการแปลจับประเด็นจากเอกสาร ยังไม่ได้ลงมือทำตาม จึงยังไม่มีภาพประกอบ) 

บันทึกหน้าค่อยมาว่าเรื่อง "วิธีการเผานะครับ" 

หมายเลขบันทึก: 682309เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2020 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2020 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท