ชีวิตที่พอเพียง 3771. พิธีทำบุญเลี้ยงพระ และเลี้ยงญาติ ๒๕๖๓



เป็นธรรมเนียมว่า งานรวมญาติเพื่อทำบุญให้บรรพบุรุษ ของเรา   จะมีงานเลี้ยง ๓ ครั้ง

งานเลี้ยงแรกเย็นวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่ร้านครัวพริกสด ถนนปากน้ำ-ชุมพร ตำบลท่ายาง ครูแดงน้องสะใภ้ผู้จัดงานปีนี้จัดอาหารทะเลไว้รับรองพี่น้องและญาติสนิท    เป็นอาหารทะเลที่วัตถุดิบสดและคุณภาพสูง    ฝีมือปรุงอาหารเลิศ    ปลากะพงตัวโต (น่าจะหนักราว ๑.๒ กิโลกรัม) ทอด ราดน้ำปรุง อร่อยมาก    ที่คุณภาพสุดๆ คือปูม้าต้ม    ปูตัวโตเนื้อแน่น    ต้มเมื่อยังมีชีวิตอยู่    รสจึงหวานโดยไม่ต้องพึ่งน้ำจิ้มใดๆ     อาหารอื่นๆ อร่อยทั้งสิ้น    เสียดายที่ผมลืมถ่ายรูปเอามาโชว์  

ปีนี้มีคนมางานน้อยกว่าทุกๆ ปี    เพราะบางครอบครัวก็ติดคนเจ็บป่วย (เพราะความชรา)     บางครอบครัวติดเด็กไปโรงเรียน    เพราะยุคโควิด โรงเรียนใช้วิธีให้นักเรียนไปโรงเรียน ๓ วัน  เรียนจากบ้านอีก ๓ วัน    วันเสาร์ก็ต้องเรียน          

พิธีทำบุญเลี้ยงพระเพล วันที่ ๒๖ ที่วัดหัวถนน บรรยากาศเหมือนปีก่อนๆ    มีพิเศษที่มีคนสมทบทุนถวายวัดเพื่อสร้างอาคารสำหรับประกอบกิจกรรมทางศาสนา และสร้างอาคารอื่นๆ ของวัด    รวมแล้วมี ๔ - ๕ คน น่าจะเป็นเงิน สามสี่หมื่นบาท     และอาหารเลี้ยงแขกทำเป็นอาหารพื้นเมืองแต่มีของแพงเป็นเครื่องประกอบ เช่นน้ำยาขนมจีนเนื้อปู    หลนไข่ปู    ห่อหมกเนื้อปู    แต่ที่แปลกไปจากปีก่อนๆ คือไม่มีข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน     แต่มีเนื้อทุเรียนแกะแล้วใส่จานมาให้กินคนละเม็ด    สาวน้อยกินมากจนง่วงนอน

สิ่งพิเศษในงานทำบุญปีนี้ ได้จากแนวความคิดจากปีที่แล้ว (๑)    ว่า จะทำบุญให้บรรพบุรุษที่สืบสายสาแหรกได้ทั้งหมด    โดยคุณวิเชียรน้องชายที่ชอบเรื่องนี้ไปพิมพ์ชื่อมาลงในกระดาษ (ตามในรูปรายชื่อที่ ๑ - ๓)    ตอนทำพิธีก็เผากระดาษที่มีรายชื่อส่งผลบุญไปให้     

ที่จริงงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษนั้น    ในส่วนตัวผม ผมคิดว่าคนได้บุญคือคนเป็น ไม่ใช่คนตาย    เพราะตอนบังสุกุล พระท่านให้สติว่า อนิจจา วัตฺตสังขารา    บอกให้คนเราเตรียมตัวตาย    ยิ่งคนแก่ยิ่งต้องไม่ประมาท    การมาพบญาติ ที่เป็นครอบครัวขยาย   ได้เห็นเด็กค่อยๆ เติบโตขึ้น    และวิ่งเล่นกันอย่างมีชีวิตชีวา     ทำให้คนแก่ได้ทั้งความสดชื่น    และได้สติว่าชีวิตมนุษย์เป็นวัฏจักร    เกิดมาแล้วตายไป    คนรุ่นใหม่เกิดมาทดแทน    

 เลี้ยงครั้งที่ ๓ เย็นวันที่ ๒๖ ที่ร้านครัวผักสด ในเมือง อยู่ตรงหน้าโรงแรมนานาบุรี และใกล้โรงแรมภราดรที่ผมพักในคืนวันที่ ๒๖   อาหารที่สั่งส่วนใหญ่เป็นอาหารญวน    แต่ก็มีไส้กรอกรวมมิตรที่อร่อยมาก เสิร์ฟมากับเฟร้นช์ฟราย    น้องชายเอาไวน์ออสเตรเลียมาเลี้ยงด้วย    ทำให้ยิ่งออกรส

 ได้คุยเรื่องโรงแรมภราดรกับน้องชาย จึงรู้ว่าเจ้าของคือ นพ. พนัส รุโจปการ อดีตศัลยแพทย์มือหนึ่งของจังหวัดชุมพร    ที่เวลานี้ยังมีชีวิตอยู่และอายุน่าจะกว่า ๙๐ ปี    น่าเสียดายที่ท่านไม่มีหัวธุรกิจเสียแล้ว    โรงแรมจึงขาดการจัดการเพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่จังหวัด และเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจแก่ครอบครัวของท่าน    แต่น้องชายบอกว่าเวลานี้ธุรกิจโรงแรมมีการแข่งขันสูง    มีโรงแรมขนาดเล็กตั้งอยู่นอกเมือง    ให้บริการที่ราคาถูกและตรงความต้องการของคนเดินทาง  

น้องๆ ของผมที่เป็นเกษตรกร ไม่ถูกกระทบในทางรายได้จากการระบาดของโควิดเลย    แต่คนที่เป็นเจ้าของสวนทุเรียนถูกกระทบจากฤดูกาลที่ผันแปร    ฝนแล้งแต่ตกตอนที่ทุเรียนทำท่าจะออกดอก    ทำให้ตาดอกกลายเป็นตาใบ    ในที่สุดปีนี้ทุเรียนออกล่ามาก จะออกตลาดได้ในเดือนกันยายน    ดังนั้นในปีนี้แทนที่เราจะเห็นที่ร้านเกษตรกรของน้องชายจะเต็มไปด้วยทุเรียน กลับไม่มีแม้แต่ผลเดียว    เราได้กินทุเรียนที่น้องแกะใส่ตู้เย็นไว้รอวันงาน    เป็นทุเรียนที่ออกผลนิดๆ หน่อยๆ ในช่วงที่ควรออก     

ก่อนงานเลี้ยงครั้งที่ ๓ จะเลิกรา  น้องๆ และหลานๆ เขาจัดถ่ายรูปหมู่    จึงได้รูปหมู่มาโชว์ดังภาพ  เสียดายที่น้องชายคนเล็กกลับไปสุราษฎร์ธานีเสียก่อนแล้ว    และน้องชายคนที่ ๓ ไม่ได้มาร่วมงานเลี้ยง

วิจารณ์ พานิช    

๒๗ ก.ค. ๖๓


รายชื่อ 1 

รายชื่อ 2

   รายชื่อ 3 

1 รวมพี่น้องและหลาน


2 เฉพาะพี่น้องและสะใภ้ ขาดไป ๓ คน คือคู่น้องสุดท้อง กับน้องชายคนที่ ๓

หมายเลขบันทึก: 681469เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2020 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2020 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท