คันเร่งกับห้ามล้อ ของการพัฒนามนุษย์


OECD บอกว่า ในเรื่องการเรียนรู้เพื่อชีวิตที่ดีในศตวรรษที่ ๒๑ นั้น    Creativity กับ Critical Thinking เป็นสมรรถนะสำคัญที่สุด    เขาถึงกับลงทุนพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้หรือการศึกษา เพื่อให้เด็กมี Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) กับ Critical Thinking (การคิดอย่างมีวิจารณญาณ) ทำมาสิบกว่าปีแล้ว และเมื่อเกือบสองปีมาแล้วได้จัดการประชุมสรุปผลการพัฒนาวิธีสร้างความคิดสร้างสรรค์และความคิดอย่างมีวิจารณญาณในนักเรียน ที่ลอนดอน    ผมโชคดีได้ไปร่วมประชุมด้วย    และได้เขียนบล็อกในชื่อ บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน    แล้วรวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ Creativiy & Critical Thinking บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking   ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่ (๑) 

โปรดสังเกตว่า ความคิดสร้างสรรค์ กับการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นขั้วตรงกันข้าม    เพื่อมีชีวิตที่ดีในโลกที่ซับซ้อน คนเราต้องเรียนรู้สมรรถนะตรงกันข้ามเช่นนี้มากมาย หลากหลายหลายคู่           

ความคิดสร้างสรรค์ เป็นขั้วจินตนาการ ไม่สนใจถูกผิด ไม่สนใจบริบทหรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น     ในขณะที่การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นขั้วตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมต่อบริบทที่จำเพาะ    คนที่จะมีชีวิตที่ดีต้องรู้จักคิดในขั้วตรงกันข้ามนี้   

ความคิดสร้างสรรค์เปรียบได้กับคันเร่งรถยนต์    เป็นพลังขับดัน    ในขณะที่การคิดอย่างมีวิจารณญาณเปรียบดังห้ามล้อ ที่มุ่งความรอบคอบ ความปลอดภัย   

อีกคู่หนึ่งคือความกล้าเสี่ยง (risk taking)    กับการจัดการความเสี่ยง    ในภาษาธุรกิจมีการกำหนด risk appetite   ว่าบริษัทจะกำหนดระดับความเสี่ยงด้านต่างๆ อย่างไร    โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงด้านธุรกิจ    แล้วจึงมีกลไกคอยติดตามตรวจสอบว่าฝ่ายบริหารกล้าเสี่ยงเกินไปหรือไม่   

ผมมีข้อสังเกตว่า ชีวิตคนส่วนใหญ่จะดำเนินอยู่ในขอบเขตของสาขาการศึกษาที่เล่าเรียนมา    มีการประกอบอาชีพอยู่ในแวดวงนั้น    บางคนทำงานอยู่ในสถาบันเดียวกันตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ และรุ่นลูก เนื่องจากเป็นผู้มีความสามารถทั้งสามรุ่น     ในขณะที่บางคน (รวมทั้งผม) เรียนมาอย่างหนึ่ง เมื่อทำงานตามที่ตนเรียนมาไประยะหนึ่ง ชีวิตก็เบี่ยงเบนกว้างออกไปเรื่อยๆ    เป็นลักษณะของ convergence ที่คู่กับ divergence   

ปรากฏการณ์อารยธรรมของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน คันเร่งคือการพัฒนาสภาพชีวิตที่สะดวกสบายอยู่ดีกินดีขึ้นเรื่อยๆ    จนพบว่าต้องการห้ามล้อมาสร้างสมดุล คือขบวนการลดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ    เพราะเมื่อมนุษย์บริโภคมากเกินก็ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปทำให้ภูมิอากาศปรวนแปร   

ศานาพุทธจึงสอนทางสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป    มีปัญญาช่วยกำหนด

ทั้งหมดนี้ เป็นเพราะชีวิตและสรรพสิ่ง มีธรรมชาติที่ซับซ้อน (complexity)    ไม่ใช่เรื่องตื้นๆ ชั้นเดียว หรือเป็นเส้นตรง  

เพิ่มเติม ๓๑ สิงหาคม

     หลังลงบันทึกนี้แล้ว    นึกขึ้นได้ว่า ธรรม กับ ศีล ของศาสนาพุทธ ก็เป็นขั้วตรงกันข้าม    เป็นคันเร่งกับเบรก    ธรรมเป็นข้อพึงปฏิบัติ เป็นคันเร่ง ช่วยให้ชีวิตดี    ศีลเป็นข้อเตือนใจให้ไม่ปฏิบัติ เป็นห้ามล้อ    

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ส.ค. ๖๓

หมายเลขบันทึก: 681424เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2020 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2020 06:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท