ความหมายของดอกไม้ไทย


ดอกบัว : ความศรัทธา ความบริสุทธิ์

ความศรัทธา ความน่ายกย่อง ความบริสุทธิ์ จิตใจที่ผ่องแผ้วสดใสไม่หมองมัว เป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดี และยังถือเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ ชาวพุทธเลยนิยมนำดอกบัวมาไหว้พระ และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากนี้ทางพระพุทธศาสนายังมีความหมายที่ลึกซึ้งใช้ดอกบัวเปรียบกับมนุษย์ด้วยว่า … ดอกบัวก็เหมือนกับคนเรานี้เอง ดอกบัวที่ชูดอกพ้นจากผิวน้ำขึ้นมารับแสงสว่างได้นั้น ก็เหมือนกับผู้ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง กลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม

ดอกมะลิ : สื่อแทนความกตัญญู คนที่บูชา ความปรารถนาดี

ถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ดอกไม้ประจำวันแม่แห่งชาติ จึงเป็นดอกไม้ที่หลาย ๆ คนมักจะนำไปไหว้แม่ ในด้านความหมายสื่อแทนความกตัญญู คนที่บูชา คนที่รัก ผู้สูงส่ง ความปรารถนาดี เป็นที่รัก ที่คิดถึงของคนทั่วไป

ดอกเบญจมาศ : อายุยืน ความงามนิรันดร์

ในคติความเชื่อโบราณของจีน ดอกเบญจมาศเป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยืน ความงามนิรันดร์ ดอกไม้แห่งความรื่นเริงและความบริสุทธิ์ใจ

ดอกแก้ว : ความเบิกบาน ความใสสะอาด

คนโบราณมีความเชื่ออีกว่า บ้านใดปลูกต้นแก้วไว้ประจำบ้านจะทำให้เป็นคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์ มีความเบิกบาน มีคุณค่าสูง เพราะแก้วคือความใสสะอาดความสดใส หมายถึง สิ่งที่ดี มีค่าสูง เป็นที่นับถือบูชาของบุคคลทั่วไปนอกจากนี้ดอกแก้วยังมีสีขาวสะอาดสดใสมีกลิ่นหอมนวลไปไกล และดอกแก้วยังถูกนำไปใช้ในพิธีบูชาพระในพิธีทางศาสนาด้วย

ดอกกล้วยไม้ : ความประเสริฐ และความสง่างาม

สัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ความรัก และความสง่างาม อีกทั้งยังแสดงถึงความประเสริฐ เลิศ และความงามอันละเมียดละไมด้วย

ดอกทานตะวัน : รักเดียวใจเดียว ความภักดี

สัญลักษณ์ของความเชื่อมั่น ความมั่นคง รักเดียวใจเดียว ความภักดี ดุจดั่งทานตะวันที่ไม่เคยหันมองผู้ใดนอกจากดวงอาทิตย์

ดอกบานไม่รู้โรย : เสริมความสตรองให้ความรัก

ตามความเชื่อโบราณ คู่รักบ้านใดปลูกดอกบานไม่รู้โรย จะทำให้ผูกพันรักกันยาวนาน ไม่ค่อยทะเลาะกัน เสริมความแข็งแรงให้ความรัก

ดอกหญ้า : ความรักที่ไม่ผูกมัด อิสระ

ดอกหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามริมทาง ดอกไม้เล็ก ๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม ในด้านความหมายทางใจ สื่อถึง ความรักที่ไม่ผูกมัด ความรักที่มีความอิสระ

ดอกกระถิน : ความมั่นคง ตรงไปตรงมา

เป็นดอกไม้แห่งความมั่นคง บ่งบอกถึงการแสดงหัวใจที่รู้สึกรักที่แท้จริงและมั่งคงได้อย่างตรงไปตรงมา ตามความเชื่อของไทยโบราณ

ดอกลีลาวดี : สวยงามอ่อนช้อย บูชา

ดอกลีลาวดี เดิมทีชื่อ ดอกลั่นทม คนไทยสมัยก่อนเชื่อว่าไปพ้องกับคำว่า ระทม ซึ่งแปลว่า เศร้าโศก ทุกข์ใจ จึงไม่นิยมปลูกในที่อยู่อาศัย และได้มาเปลี่ยนชื่อเรียกดอกไม้ชนิดนี้ในภายหลังเป็นดอกลีลาวดี ต่อมาภายหลังผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า คำว่า ลั่นทม เป็นคำผสมจากคำว่า ลั่น หมายถึง แตกหัก ละทิ้ง และ ทม หมายถึง ความทุกข์โศก ดังนั้น ลั่นทม ที่เรียกกันมาแต่โบราณนั้นจึงหมายถึง การละแล้วซึ่งความโศกเศร้าแล้วมีความสุข

ทั้งนี้ความหมายของ ดอกลีลาวดี ถ้าแปลตรงตัวตามตัวอักษร แปลว่า ต้นดอกไม้ที่มีท่วงท่าสวยงามอ่อนช้อย แต่อีกความหมายตามอ้างอิงว่า ลั่นทมเป็นต้นไม้สกุล Plumeria มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ และถูกนำเข้ามาในดินแดนแถบนี้เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนโดยนักเดินเรือชาวสเปนหรือปอร์ตุเกส จึงไม่มีชื่อในภาษาไทย และไม่ปรากฏชื่อในวรรณกรรมโบราณ แหล่งที่มาของคำว่า ลั่นทม เข้าใจว่ามาจากภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า บูชา ทั้งนี้ในสมัยโบราณต้นไม้ชนิดนี้นิยมปลูกในวัด จึงไม่นิยมปลูกในบ้าน

ดอกหน้าวัว : การต้อนรับขับสู้ด้วยความยินดี ความรักที่มั่นคงและอดทน

ในทางความหมายที่คุณเป็นผู้ถูกเชิญไปเป็นแขก การมอบดอกหน้าวัวให้เจ้างานหรือเจ้าของบ้าน หมายถึง การต้อนรับขับสู้ด้วยความยินดี จึงเป็นดอกไม้ที่นิยมอีกชนิดหนึ่งที่ผู้คนในฐานะเป็นแขกจะซื้อไปฝากเจ้าของงาน แต่ความหมายด้านความรัก ดอกหน้าวัว หมายถึงความรักที่มั่นคงและอดทน

ดอกซ่อนกลิ่น : การแอบรัก ดอกไม้ที่บ่งบอกถึงความเศร้า

ตามความเชื่อคนไทยแล้ว ไม่ควรนำไปมอบให้ใครในงานมงคล โดยคนไทยสมัยโบราณนิยมใช้ดอกซ่อนกลิ่นไปจัดหน้าศพ เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมรุนแรง จะได้ช่วยอำพรางกลิ่นได้ เพราะในสมัยก่อนยังไม่มีการฉีดศพเหมือนปัจจุบัน อนึ่งถึงแม้จะเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมแต่เนื่องจากความเชื่อหลายคนจึงไม่นิยมที่จะนำไปมอบให้คนรัก แต่ก็มีนำไปถวายพระ แสดงความเคารพแด่ผู้จากไป เสมือนเป็นดอกไม้ที่บ่งบอกถึงความเศร้า อนึ่งถ้าจะเป็นความหมายในด้านความรัก ก็จะเปรียเหมือนการแอบรัก เพราะชื่อคือซ่อนกลิ่น ที่เหมือนเก็บซ่อนความรู้สึกไว้นั่นเอง

ดอกพิกุล : ความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง พรั่งพร้อม

ตามความเชื่อของคนไทย ดอกพิกุล เป็นดอกไม้มงคล มีความหมายแสดงถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง พรั่งพร้อม หากมีไว้กับตัวจะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลในชีวิต

หมายเลขบันทึก: 681280เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2020 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2020 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท