ชีวิตที่พอเพียง 3764. ความฉลาดรวมหมู่ : ๑๗. ความฉลาดรวมหมู่ในฐานะศาสตร์ใหม่



บันทึกชุด ความฉลาดรวมหมู่ตีความ (และสรุปความ) จากหนังสือ Big Mind : How Collective Intelligence Can Change Our World  (2018) เขียนโดย Geoff Mulgan ศาสตราจารย์ด้าน collective intelligence, public policy & social innovation แห่ง UCL  และเป็น CEO ของ NESTA    โดยในตอนที่ ๑๗ นี้ ตีความจาก Afterword :   The Past and Future of Collective Intelligence as a Discipline   

สาระสำคัญคือ ความฉลาดรวมหมู่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่มีอยู่ในอารยธรรมของมนุษย์     เอกสารทางวิชาการที่แตะเรื่องนี้ ค้นย้อนหลังกลับไปได้ราวๆ สองร้อยปี    และมีพัฒนาการต่อเนื่องเรื่อยมา อยู่ในศาสตร์ต่างๆ หลากหลายศาสตร์    บัดนี้ น่าจะถึงเวลาแล้วที่ จะพัฒนาศาสตร์ว่าด้วยความฉลาดรวมหมู่ขึ้นมาโดยตรง       

ที่จริงมีความพยายามที่จะสร้างศาสตร์ว่าด้วยความฉลาดรวมหมู่    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาไม่นานมานี้    แต่ความพยายามเหล่านั้นมีข้อจำกัด     คือเป็นพัฒนาการอยู่ภายในศาสตร์ของตนเท่านั้น     ไม่เป็นศาสตร์ว่าด้วยความฉลาดรวมหมู่ที่เป็นสากล

ทบทวนวรรณกรรมว่าด้วยความฉลาดรวมหมู่

ศ. เจฟฟ์ มัลแกน ยกย่องศาสตราจารย์ Vladimir Vernadsky (1) ที่เสนอเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้วว่า โลกจะมีพัฒนาการเป็น ๓ ช่วง    คือช่วงแรกเป็นโลกของหินและแร่ธาตุ (geosphere)    ช่วงที่สองเป็นโลกของสิ่งมีชีวิต (biosphere)    และช่วงที่สามเป็นโลกของความคิดร่วม และการก่อเกิดความตระหนักรู้ใหม่    ซึ่งต่อมามีผู้ให้ชื่อยุคที่สามนี้ว่า noosphere และ world brain   

คำว่า ความฉลาดรวมหมู่ ใช้โดยแพทย์ชื่อ Robert Graves (2) เมื่อสองร้อยปีมาแล้ว     และใช้โดยนักปรัชญาการเมือง John Pumroy ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน    โดยต่างคนต่างใช้คำนี้ในต่างบริบท    ข้อความรู้นี้บอกเราว่า คำว่า ความฉลาดรวมหมู่ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนักวิชาการ  

คำที่สะท้อนแนวคิดความฉลาดรวมหมู่ ที่ปรากฏในเอกสารวิชาการมีมากมายหลากหลาย ได้แก่ collective brain, collective mind, the extensions of man, the global brain, metaman, collective IQ, the wisdom of crowds, group mind, collective efficacy, เป็นต้น   

สาขาวิชาที่สนใจเรื่องความฉลาดรวมหมู่ได้แก่ computer science, web science, การจัดการความรู้ (Ikujiro Nonaka – knowledge-creating company), ชีววิทยา, การเมือง, เศรษฐศาสตร์,  ประวัติศาสตร์, สังคมวิทยา, มานุษยวิทยา, จิตวิทยา, เป็นต้น

แต่ละศาสตร์สนใจความฉลาดรวมหมู่จากมุมวิชาการของตน    ในฐานะผู้สนใจเรื่องการจัดการความรู้    ผมพอจะทราบว่าศาสตร์ด้านการจัดการความรู้สนใจวิธีทำให้เกิดความฉลาดรวมหมู่ผ่านการสร้างและใช้ความรู้ในสถานประกอบการ   

นักชีววิทยา สนใจพฤติกรรมของจุลชีพ ที่แสดงพฤติกรรมของความฉลาดรวมหมู่   เช่นเชื้อแบกทีเรีย E. coli อยู่ร่วมกันเป็น colony   เป็นสังคมจุลชีพที่ซับซ้อน

นักวิชาการการเมือง มีโจทย์เรื่องความฉลาดรวมหมู่ของประชาชน    โยงสู่ความเข้มแข็งและอ่อนแอของประชาธิปไตย    ขณะเขียนบันทึกนี้ อยู่ในช่วงเกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคแกนนำรัฐบาลไทย คือพรรคประชารัฐ    ที่ผมตีความว่า สะท้อน “ความเขลารวมหมู่” (collective ignorance) ของสังคมไทย คือยอมรับพฤติกรรม “ยักยอก” ทรัพย์สินส่วนรวมของสังคม เอาไปใช้เอื้อประโยชน์ด้านผลประโยชน์ทางการเมือง และผลประโยชน์ของบุคคล ผ่านการ “ดูแล” ผู้แทนราษฎรโดยพรรคการเมือง    และ “ดูแล” ประชาชนโดยสมาชิกสภาผู้แทนฯ    ผมเคยได้ยินคำบอกเล่าว่า คนเยอรมันจะไม่ยอมรับชุดความคิดนี้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาทางการเมือง    ซึ่งโจทย์ทำนองนี้อาจเป็นโจทย์ของศาสตร์ด้านมานุษยวิทยา ... สังคมมีความคิด หรือพัฒนาแนวความคิดร่วม ได้อย่างไร

นักสังคมวิทยา ได้แสดงให้เห็นว่า การพัฒนา “ความเป็นเรา” (we-ness) ขึ้นในชุมชน  ช่วยลดอุบัติการณ์ของอาชญากรรมได้อย่างไร   

นักปรัชญา และจิตวิทยา สนใจ “ไซเบอร์บุคคล” (cyberbeing)    ในทำนองเดียวกันกับอารยธรรมมนุษย์ได้สร้าง          “นิติบุคคล”  ขึ้น    และสนใจความเสี่ยงต่อการสร้าง “มนุษยชาตินักเอาชนะ” (subjugate humanity) ขึ้นในอนาคต   

 ในภาพรวม นักวิชาการสนใจว่า ปัจจัยด้าน ความเชื่อถือหรือเชื่อมั่นระหว่างกัน (trust), อัตลักษณ์ (identity), ความผูกพันในกลุ่ม (group bonding), การแบ่งพวก (polarization), ฯลฯ  ส่งผลต่อความฉลาดรวมกลุ่ม และพฤติกรรมกลุ่ม อย่างไร

ในทางปฏิบัติ ภาคธุรกิจว่องไวและปฏิบัติจริงในการประยุกต์ใช้พลังของความฉลาดรวมหมู่หลากหลายรูปแบบ เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน    รูปธรรมสำคัญที่สุดน่าจะได้แก่ information systems สารพัดด้าน   เช่น management information system    การพัฒนา “ชาลา” การสื่อสาร (communication platform) ระหว่างบุคคล หรือระหว่างบุคคลจำนวนมาก    และใช้ข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ    โดยเฉพาะการขายโฆษณา     เช่น Google, Facebook, YouTube   

จุดอ่อนคือ พัฒนาของวิชาการด้านความฉลาดรวมหมู่ จำกัดอยู่ภายในขอบเขตวิชาการเฉพาะด้านเท่านั้น    ไม่ก้าวข้ามศาสตร์    แต่ ศ. เจฟฟ์ มัลแกน เสนอว่า มีลู่ทางพัฒนาให้ข้ามศาสตร์ได้  โดยสังเกตหา pattern ของความฉลาดรวมหมู่ในชีวิตจริง ที่ก้าวข้ามศาสตร์     โปรดสังเกตนะครับ ว่าวิชาการตามหลังภาคปฏิบัติ    มนุษย์เราปฏิบัติตามความฉลาดภาคปฏิบัติโดยไม่ได้สนใจทฤษฎี    นักวิชาการหรือนักทฤษฎีทำหน้าที่ตามเก็บข้อมูล เอามาวิเคราะห์สังเคราะห์หา pattern  และเสนอเป็นทฤษฎี หรือความรู้เชิงนามธรรม

สำหรับคนทั่วไป รูปธรรมมาก่อนนามธรรม     

ศาสตร์ที่กำลังผุดบังเกิด

 เส้นทางหนึ่งของการเร่งให้เกิดศาสตร์ด้านความฉลาดรวมหมู่ ที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งของศาสตร์ที่มีอยู่แล้ว    ทำได้โดยขยายความก้าวหน้าด้าน “ความฉลาดของเครื่องกล” (machine intelligence)  หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” (AI - artificial intelligence)    ก้าวข้ามเทคโนโลยีออกไปสู่มิติของความเป็นมนุษย์    นั่นคือข้อเสนอของ ศ. เจฟฟ์ มัลแกน

แต่ผมมีความเห็นว่า หลักการสำคัญคือ    เน้นรวบรวมข้อมูลด้านพฤติกรรมของมนุษย์ ในการใช้ความฉลาดรวมหมู่ในชีวิตความเป็นอยู่ และในการประกอบกิจการงานด้านต่างๆ    นำมาหา pattern ภายใต้กรอบความคิดใหม่ ที่ก้าวข้ามศาสตร์ต่างๆ ที่มีอยู่    เพื่อตีความความฉลาดรวมหมู่ภายใต้กรอบความคิดใหม่     ศาสตร์ใหม่ด้านความฉลาดรวมหมู่ก็จะค่อยๆ พัฒนาขึ้น เป็นศาสตร์บูรณาการ    โดยจะต้องต่อสู้กับคำวิพากษ์วิจารณ์ ขัดแย้ง ที่มาจากศาสตร์เดิมแต่ละศาสตร์     ชี้ให้เห็นว่า pattern ใหม่ของความฉลาดรวมหมู่ที่ค้นพบ    ไม่สามารถอธิบายได้ครบถ้วนเชื่มโยงได้โดยทฤษฎีในศาสตร์เดิม  

น่าจะมีการเก็บข้อมูลการดำเนินการของรัฐบาลหรือพรรคการเมืองในบางประเทศ ที่มีการดำเนินการแล้ว     และเห็นชัดว่า มีส่วนสร้างความฉลาดรวมหมู่ เช่น กระบวนการสร้างเมือง (urbanization process) ของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ผมเคยไปเรียนรู้ (๑)    และเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้ข่าวว่า สิงคโปร์ไปร่วมสร้างเมืองใหม่ในจีน (๒)  (๓)      น่าจะเน้นการนำข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมาหา pattern ของการส่งเสริมความฉลาดรวมหมู่ ดังกล่าวแล้ว

เมื่อค้นพบทฤษฎีใหม่ด้านความฉลาดรวมหมู่    ก็จะนำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อม ทั้งทางกายภาพและทางสังคม ที่เอื้อต่อการใช้พลังของความฉลาดรวมหมู่ (และป้องกันไม่ให้ความเขลารวมหมู่ขยายตัว)      

ผมไม่รับรองว่า ข้อเสนอของผมจะถูกต้อง    เพราะในเรื่องที่กำลังเขียนอยู่นี้ผมมีความเขลา มากกว่าความฉลาด

  

การทดลองและการวิจัย

ศ. เจฟฟ์ มัลแกน เสนอว่า วิธีสร้างศาสตร์ใหม่ด้านความฉลาดรวมหมู่ ทำได้โดย เก็บข้อมูลความฉลาดรวมหมู่ จาก “ป่าแห่งชีวิตจริง” (the wild)    ว่า เครื่องกล  องค์กร  และกลุ่ม คิดย่างไร    ทำไมบางกรณีมีการคิดรวมหมู่ได้ดีกว่ากรณีอื่นๆ    เท่ากับ “การทดลอง” เกิดขึ้นเองในธรรมชาติของอารยธรรมมนุษย์ในปัจจุบัน   

แต่ก็ต้องมี “การทดลอง” จริงๆ (experiment)    ซึ่งในทำกันมากใน computer science   เพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรม แรงจูงใจ และวิธีการส่งเสริม open-source software   ซึ่งจากความรู้เหล่านี้ นำไปสู่โจทย์วิจัยได้อีกมากมาย

เป้าหมายของการทดลองและการวิจัยคือ การค้นพบ “ความจริง” (axioms) และ ความรู้ ที่ซ่อนตัวอยู่    ในป่าของปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนยุ่งเหยิง     ที่สามารถมองเห็น pattern ด้วยแว่นความคิดชุดใหม่    ที่เป็น pattern ของ ปฏิกิริยา หรือของพฤติกรรม    มากกว่า pattern ของ ลักษณะทางกายภาพ  

วิจารณ์ พานิช    

๓ มิ.ย. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 680834เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2020 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2020 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท