การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน(6)


ปัญหาทำให้เกิดการพัฒนา

ปัญหาที่พบ

 

            ในการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ในระยะเริ่มต้นพบว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะครูผู้สอนขาดความรู้ ความเข้าใจกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และครูบางคนยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน จึงทำให้การปฏิรูปการเรียนรู้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

             แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โรงเรียนได้จัดประชุม สัมมนา เพิ่มพูนประสบการณ์ความรู้ในด้านการจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การใช้สื่อ แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและ   การวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง  จากการติดตามผลพบว่าครูผู้สอนมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอนกว่าร้อยละ 90 ทั้งนี้ได้ใช้กระบวนการนิเทศภายในเพื่อเป็นการกระตุ้น ส่งเสริม ให้ครูผู้สอนได้มีการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการเรียนการสอน และ    พัฒนาศักยภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
 

ข้อเสนอแนะ

 

การปฏิรูปการเรียนรู้ นับเป็นการกิจหน้าที่ที่มีความสำคัญ ยิ่งใหญ่และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ดังนั้นจึงมี  ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ดังนี้

 1)     ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารสถานศึกษา

ผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะที่เป็นผู้นำทางการศึกษา ต้องมีความรู้ความเข้าใจและยึดหลักการ จุดหมาย ในการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ    อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สิ่งที่บัญญัติไว้บรรลุผลถึงผู้เรียนอย่างแท้จริง  ผู้บริหารสถานศึกษาควรดำเนินการในสิ่งต่างๆเหล่านี้ คือ

 1.1    สร้างความเข้าใจในเนื้อหาสาระและแนวปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 ร่วมกันกับบุคลากรและชุมชน

1.2    พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถจัดการเรียนการสอน      ตามแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้

1.3     ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะ นิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนอย่างต่อเนื่อง

1.4     พัฒนาสถานศึกษาให้มีบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ มีสื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมและใช้ทรัพยากรตลอดจนแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

1.5     พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการ ความถนัด ความสนใจของผู้เรียนและชุมชน ในลักษณะบูรณาการทั้งสาระการเรียนรู้และคุณธรรมจริยธรรมที่ได้สัดส่วน สมดุลกัน 

1.6     ส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนวิจัยในชั้นเรียนและนำผลการวิจัยมาพัฒนาผู้เรียน

1.7     สร้างเครือข่ายและพัฒนาความร่วมมือในการจัดการเรียนรู้ การใช้แหล่งเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับชุมชน
 
1.8     พัฒนาและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศทั้งที่เป็นข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลแหล่งเรียนรู้ 

1.9     ใช้ระบบการประกันคุณภาพภายในเพื่อพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

 

          2)     ข้อเสนอแนะต่อครูและบุคลากรครูและบุคลากรควรมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ดังนี้

1)      จัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม

2)      ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ให้ผู้เรียนได้คิดและปฏิบัติจริง

3)      จัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยวิธีที่หลากหลาย ใช้สื่อ เทคโนโลยีและแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอน

4)      กระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

5)     เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น

6)      จัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างผู้เรียน

7)      ใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ 

3)     ข้อเสนอแนะต่อพ่อแม่ ผู้ปกครองและชุมชนพ่อแม่ ผู้ปกครองและชุมชนควรมีบทบาทดังนี้

1)     ให้การสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ของบุตรหลานตามความถนัด ความสามารถ ความสนใจ

2)      สนับสนุนสื่อ อุปกรณ์ หรืออำนวยความสะดวกในการใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน/ท้องถิ่น

3)      เป็นวิทยากร /ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามโอกาสอันควร

 4)     ข้อเสนอแนะต่อเขตพื้นที่การศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาในฐานะผู้สนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษาควรมีบทบาท ดังนี้      

1)      ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนในการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษา แห่งชาติ

2)      ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา หรือให้คำแนะนำแก่สถานศึกษาในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องตามแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

3)      ทำหน้าที่กำกับ ติดตาม ประเมินผลการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษา 

5)     ข้อเสนอแนะต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรมีบทบาทดังนี้

1)     ให้การสนับสนุน เสนอแนะแนวทางและคำแนะนำแก่เขตพื้นที่การศึกษาในการส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน

2)     จัดเตรียมคู่มือและความช่วยเหลืออื่นๆเพื่อช่วยกิจกรรมโครงการต่างๆ ในการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน

 6)     ข้อเสนอแนะต่อสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  ในฐานะที่ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนและได้ริเริ่มโครงการผู้บริหารสถานศึกษาต้นแบบ ควรมีบทบาทดังนี้ 

1)       ดำเนินโครงการผู้บริหารสถานศึกษาต้นแบบต่อไป     เพื่อให้ผู้บริหารต้นแบบ   มีปริมาณและคุณภาพเพียงพอต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

2)      สนับสนุนให้โรงเรียนที่เป็นเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาต้นแบบเข้าร่วมประชุม สัมมนาทางวิชาการร่วมกับ สกศ.และกระทรวงศึกษาธิการ    เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ข้อมูล ความสำเร็จความก้าวหน้าด้านการปฏิรูปการเรียนรู้

 7)     ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงศึกษาธิการ ควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุน ส่งเสริม    ให้สถานศึกษาทุกระดับดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.. 2545)  พร้อมทั้งมีกระบวนการกำกับนิเทศ ติดตาม ประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
18 ธ.ค. 2549
     
หมายเลขบันทึก: 68041เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2006 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน ท่านอาจารย์ ดร.ปฐมพงศ์ ที่นับถือ ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ เรื่องปัญหาของการปฏิรูปการศึกษาผมว่ามันเป็นปัญหาระดับวัฒนธรรม ระดับโครงสร้าง และระดับวิธีคิดครับ  ส่วนใหญ่เรามักจะมองกันว่าเป็นเพราะครูไม่มีความรู้ความเข้าใจ การแก้ปัญหาก็จัดประชุมอบรมสัมมนา การมองประเด็นปัญหาว่าครูไม่มีความรู้ความเข้าใจ ก็เป็นประเด็นที่ถูกต้องส่วนหนึ่งครับ แต่ผมว่ามันเป็นเพียงแค่อาการของสาเหตุเท่านั้น ต้นเหตุที่แท้จริงอยู่ที่วัฒนธรรมครับ และจะแก้กันจริงๆต้องแก้กันในระดับวัฒนธรรม และไม่ใช่ว่าเฉพาะวัฒรธรรมในโรงเรียนนะครับ แต่จะต้องเป็นวัฒนธรรมในระดับประเทศ  และวัฒนธรรมที่เป็นปัญหาของการปฏิรูปการศึกษา คือ วัฒนธรรมอำนาจนิยมครับ  ผู้บริหารระดับสูงลิ่วจะต้องปรับวัฒนธรรมประเทศจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม มาเป็นวัฒนธรรมปัญญานิยมครับ จึงจะปฏิรูปการศึกษาได้อย่างแท้จริง มิฉะนั้นแล้วเราก็คงต้องจัดอบรมครูกันอยู่เช่นนี้

ร่วมปฎิวัติการศึกษาเพื่อความเป็นไท

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/320506

นางพิณทิพย์ กมลทิพย์

เรียนท่าน ดร.ปฐมพงศ์ ที่นับถือดิฉันขอแสดงความคิดเห็นในการปฎิรูปการเรียนรู้ว่า การจัดการศึกษาที่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนนั้น เป็นสิ่งที่ดีมากถ้าหากครูผู้สอนมีความรู้ในการเปลี่ยนแปลงดิฉันเป็นครูผู้เข้าใจในการเปลี่ยนจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ แต่บางครั้งก็ยังไม่สามารถทำได้เพราะเหตุปัจจัยโดยฉะเพราะการสอนการปฎิบัติทีมีวัสดุไม่เพียงพอ และครูต้องทำงานสองด้านทั้งงานพิเศษธุรการร่วมด้วยจึงทำให้การปฎิรูปการเรียนรู้ยังไม่ก้าวหน้า ดิฉันกำลำทำวิจัยเรื่องความพึงพอใจกับการปฎิรูการเรียนรู้ ยังไม่เสร็จ อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ถ้าหากมีผลอย่างไรจะแจ้งให้ท่านทราบนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท