Self-Talk วิธีคิดเรื่องสื่อ 4 ระดับ


Self-Talk วิธีคิดเรื่องสื่อ 4 ระดับในทรรศนะของเรา :

สัปดาห์ที่แล้ว มีเคสที่เราต้องไปเป็นผู้ไกล่เกลี่ยประนีประนอมในคดีครอบครัวก่อนฟ้อง เป็นเรื่องของการผิดเงื่อนไขการหย่า ที่สามีจะต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่กลับไม่ได้จ่ายตามที่สัญญาเอาไว้ มีการเลื่อนนัดการพบปะมาแล้วสองครั้ง และครั้งนี้เป็นการนัดรอบที่สาม คู่ความมาพร้อม

ในการไกล่เกลี่ยคดี สำหรับผู้ทำหน้าที่เป็นคนกลางอย่างเราก็เหมือนกับการ “นัดบอด” คือเราจะทราบข้อมูลจากเอกสารสำนวนต่างๆที่นิติกรหรือเจ้าหน้าที่ศาลส่งให้เพียงไม่กี่หน้าเท่านั้น อย่างอื่นต้องเรียนรู้ ซักถาม และ “Sensing” เพิ่มในระหว่างการจัดวงคุยแบบสดๆ

และการไกล่เกลี่ยคดีครอบครัว เป็นงานที่ยากกว่าคดีอื่นๆ เพราะข้อพิพาทในความสัมพันธ์ทางสังคมไม่ชัดเจนเหมือนข้อพิพาททางเงินทองทรัพย์สินที่คิดคำนวณได้เป๊ะๆ เพราะเรื่องความสัมพันธ์มันละเอียดอ่อน ซับซ้อน ไม่ง่าย บางทีก็ไม่ใช่จะเอาถูกเอาผิด แต่สิ่งสำคัญสุดคือประโยชน์ของผู้เยาว์ ลูกหลาน และการตกลงกันด้วยสันติวิธี และถ้าโชคดีก็อาจจะฟื้นความรักต่อกันได้ แต่ถ้าสุดทางไปแล้ว ก็ขอให้ไปอย่างยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่มีอาฆาตพยาบาทจองเวรอะไรกันต่อ

นั่งเงียบๆ หลับตา ทำสมาธิ สูดลมหายใจลึกๆสักครู่ทุกครั้งก่อนทำหน้าที่ นึกถึงการปฏิบัติหน้าที่ในนามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราเคารพบูชา ให้พลังงานของท่านไหลผ่านเรา ครั้งนี้ก็เช่นกัน

สุดท้าย ข้อพิพาทจบลงด้วยความพอใจของทั้งสองฝ่าย เงินที่ฝ่ายหญิงได้อาจจะต่ำกว่าที่ตั้งไว้เล็กน้อย แต่ก็อยู่ในจุดที่เธอรับได้ เราก็ได้ให้ข้อคิดในการปรองดองกันและร่วมดูแลชีวิตลูกสาวที่ยังเป็นผู้เยาว์ต่อไป

เป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ใช้เวลาไม่นานนักเมื่อเทียบกับเคสอื่นๆ ทีแรกเจ้าหน้าที่ศาลเสนอว่า อยากให้เราจัดแยกคุยเป็นรายบุคคลไหม เพราะดูแล้วคู่ความเริ่มมีปะทะคารมกันเหมือนของจะขึ้น เราประเมินดูแล้วว่า ไม่ต้องๆ ยังเอาอยู่ ท้ายสุด เรื่องก็ยุติลงด้วยการทำสัญญาประนีประนอมลงด้วยดี

ปกติเราไม่เคยเขียนเรื่องบทบาทในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยคดีครอบครัวประจำศาลเยาวชน วันนี้มีโอกาสใคร่ครวญเรื่องการสื่อสารก่อนจะไปนำเสนอในวงเสวนาระดับภาคของ สสส. เลยนึกขึ้นได้ว่าเรามีประสบการณ์สดๆที่น่าประทับใจ และน่าจะใคร่ครวญทบทวน เลยนำมาเล่า เพื่อสะท้อนให้เห็นระดับการสื่อสารที่ส่งผลต่อการจัดการทางสังคม อย่างน้อยที่สุดก็อย่างกรณีที่เล่าไปนี้

กลับมาที่เรื่องการสื่อสาร

ในฐานะคนที่คลุกคลีกับงานสื่อมาพอประมาณ ย้อนไปไกลสุดเท่าที่มีผลงานก็ตอนมัธยมปลายที่ออกจุลสารแบบโรเนียวเองที่โรงเรียน พอเรียนมหาวิทยาลัยก็เข้าชมรมฝึกพูด ไปเป็นวิทยากรโน่นนี่นั่นบ้าง เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์บ้าง วารสารบ้าง  จบ ป.ตรี ก็ใช้วาทศิลป์เปิดและปิดการขายให้บริษัทหลายแห่ง ได้ยอดขายบ้าง ไม่ได้บ้าง พอกลับไปเรียน ป.โท ก็เขียนบทความวิพากษ์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการใช้ภาษา จนเข้ามาสู่งานสื่อภาคประชาชนชัดเจนขึ้นเมื่อจบ ป.โท แล้วลงสู่สนามงานวิจัยและพัฒนาชุมชนที่แม่ฮ่องสอน รวมถึงจังหวัดต่างๆในภาคเหนือตอนบนเรื่อยมา จนเดี๋ยวนี้ก็มีผลงานสื่อ และหลายสื่อหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับวิธีคิดในเรื่องสื่อที่ตนเองมีไว้

ตั้งใจหมายมั่นมาหลายวัน ว่าคงต้องเขียนสกัดบทเรียนของตัวเองออกมาเรื่อยๆ ที่ได้อย่างแรกสุดคือ ได้กับตัวเอง ได้มองเห็นภาพตัวเองชัดเจนขึ้น และสามารถ “เลือก” โฟกัสไปในจุดที่ใช่ ที่เหมาะกับตัวเองและบริบทสังคม  ได้อย่างที่สอง คือ เป็นประสบการณ์ที่ตนเองถ่ายทอดเผื่อว่าคนที่สนใจจะนำไปปรับใช้ ก็จะเกิดผลดีต่อสังคมวงกว้างได้ อันนี้ก็เป็นบุญกุศลที่จะเกื้อหนุนต่อส่วนรวมต่อไป

................................................................................................................

ในทรรศนะของเรานี่ การสื่อสารที่เรามอง และเชื่อว่าคนทั่วไปมอง มีอยู่ด้วยกันสี่ระดับ แบ่งแบบหยาบๆละกัน

ระดับแรก มองสื่อ เป็นชิ้นงาน อันนี้ มองแบบรูปธรรมล้วนๆเลย เพราะเห็น สัมผัส จับต้องง่าย ซึ่งไม่แปลก เพราะเป็นธรรมดาของคนที่จะเห็นสิ่งที่ชัดแจ้งมาก่อน เหมือนคนเดินมา เราก็เห็นกายเนื้อ และจิตมันก็แปลความหมายปุ๊บ คนที่มีทัศนะกับสื่อแบบนี้เวลาคุยเรื่องสื่อก็จะพูดถึงแต่ชิ้นงาน ผลผลิต ผลลัพธ์ในแง่ที่สื่อชิ้นนั้นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อผู้บริโภค สำหรับทรรศนะของผม การมองในระดับนี้อยู่ต่ำสุดนะ (ต่ำไม่ได้แปลว่าแย่ แต่หมายว่าผิวๆ ตื้นๆครับ) คนที่มักมีแนวคิดแบบนี้ จะเป็นกลุ่มคนทั่วไป รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคสื่อ

ระดับที่สอง มองสื่อเป็นโครงสร้าง หรือจะดีหน่อยก็เป็นโครงสร้างที่มีโครงข่ายหรือเครือข่าย มองสื่อขึ้นมาเป็นนามธรรมมากขึ้น คือเห็นชุดอุดมการณ์เพื่อสังคมบ้าง เพื่อธุรกิจบ้าง แต่ถึงแม้จะมองระดับนามธรรมแต่ก็ยึดโยงกับโครงสร้างมากๆ(Structuralism)  กลุ่มคนที่เชื่อมั่นในวิธีคิดระดับนี้ก็มักจะเน้นการสร้างโครงข่าย กลไกสื่อ  นี่ก็เป็นอีกกลุ่มที่ค่อนข้างมีแบบแผนวิธีคิดตายตัว (Fixed Mindset)  คนที่มักมีแนวคิดแบบนี้ จะเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนงานนโยบาย อาจจะเคยทำสื่อมาบ้าง แต่ไม่ได้อินหรือเข้าใจนิเวศสื่อบูรณาการหลอมรวม (Media Convergence) อย่างในยุคปัจจุบัน

มาถึงระดับที่สาม อันนี้นามธรรมมากขึ้น และลดระดับ fixed mindset ลง คือมองสื่อเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนอันนำไปสู่วิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ปรับไปตามกลุ่มเป้าหมายและบริบท กลุ่มนี้จะไม่ค่อยอินกับกลไกโครงสร้าง แต่ยึดเอากระบวนการเป็นหัวใจ อาจจะมีโครงสร้างหรือไม่มีก็ได้ ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ อาจเรียกง่ายๆ เป็นกลุ่มที่มองสื่อแบบเน้นกลยุทธ์พื้นที่ พวกนี้มักจะเป็นคนที่มีประสบการณ์สื่อร่วมสมัยและทำงานสื่อร่วมกับงานพัฒนาชุมชนอย่างเกาะติด

ส่วนระดับที่สี่ กลุ่มระดับที่สี่นี้จะมองสื่อภายนอกเชื่อมโยงกับการพัฒนาสภาวะด้านในของตน มีมุมมองเชิงปรัชญาที่มาจากปัญญาปฏิบัติ จึงมองเห็นพลังที่ถ่ายโอนแทรกซึมสู่กันและกัน โดยให้ความสำคัญกับสภาวะด้านในของคนทำสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติ การภาวนา เมตตา ปัญญา รวมถึงการดำรงตนให้สามารถเปิดรับพลังจาก “จักรวาล” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่มีพลังทางจิตวิญญาณต่างๆ แล้วส่งออกไป กลุ่มคนที่มีความคิดมาถึงระดับที่สี่นี้มีไม่มาก เพราะต้องอาศัยปัจจัยชีวิต ประสบการณ์และการเรียนรู้หลายด้านประกอบกัน ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่ผ่านวิธีคิดระดับที่หนึ่ง-สอง-สาม มาแล้วตามลำดับ กลุ่มนี้จะอยู่ในโครงสร้างก็ได้ ไม่อยู่ในโครงสร้างก็ได้ เรียกได้ว่าอยู่เหนือโครงสร้างและกระบวนการ แต่เป็นกลุ่มที่เป็นพลังหนุนสำคัญ บรรดาศิลปินระดับครู หรือปราชญ์ทางศิลปะทั้งหลายจะเข้าถึงวิธีคิดแบบนี้ แต่ด้วยความที่จะคิดให้ถึงระดับนี้ได้ ต้องอาศัย “ปัญญาปฏิบัติ” และเป็น “ปัจจัตตัง” คือรู้ได้เฉพาะตนเอง จึงยากยิ่งที่จะถ่ายทอดให้ใครเข้าใจ แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ระดับเดียวกันนี้ ก็จะรู้กันเองว่าใครอยู่ระดับใด

ส่วนตัวเรานี่ คิดว่ากำลังเข้าสู่ระดับที่สี่ตามครรลองนะ บางทีก็พูดให้ใครเข้าใจยาก เพราะเขาอยู่ระดับหนึ่ง ระดับสองกันซะมาก แต่ก็ไม่เป็นไร ก็ต้องมองไกล มองยาว ว่าหนึ่งในร้อยที่มีคนไต่ระดับความคิดเรื่องสื่อขึ้นมาได้บ้างนี่ ก็ถือว่ามีประโยชน์มากแล้ว

........................................................................................

กลับไปที่ฉากเก่าที่เรานั่งอยู่ในห้องไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คำพูดวาทศิลป์ก็อาจจะปกติธรรมดา แต่ว่าวันนั้นรู้สึกว่าตัวเองพูดด้วยหัวใจจริงๆ สีหน้าแววตาน้ำเสียง ที่เราพยายามชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์สุขที่จะตกแก่ลูก และคุณความดีที่จะตกแก่พ่อและแม่  น่าจะเป็นสิ่งที่คู่ความทั้งสองสัมผัสได้

สื่อบุคคลแบบนี้ต้องใช้การมองในระดับที่สี่มากๆจึงจะทะลุความบาดหมางและโอบอุ้มเยียวยาบาดแผลของคู่พิพาทลง

เราออกจากห้องไกล่เกลี่ยมาด้วยความปีติใจ

.............................................................................................

เราอยากให้คนทำสื่อก็ดี คนที่สนใจสื่อก็ดีได้สัมผัสความรู้สึกจากการทำสื่อ การเป็นสื่อแบบนี้

ยิ่งทำยิ่งสุข ยิ่งทำยิ่งลึกซึ้ง ยิ่งทำยิ่งค้นพบความหมาย

ไม่รู้จะเริ่มยังไง ก็เลยอรรถาธิบายเป็นการแบ่งระดับวิธีคิดคร่าวๆแบบนี้มาให้เห็นภาพรวมกัน

และถือโอกาสบันทึกเรื่องราวตัวเองไว้ทบทวน ถ้าอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วคิดยังไง ใส่ข้อความหรือสติกเกอร์กันมาได้นะครับ

หมายเลขบันทึก: 680280เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2020 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2020 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท