ชีวิตที่พอเพียง 3752. เด็กไร้บ้านค้นพบเคล็ดลับชีวิต



หนังสือแปล จะไม่รอให้ฟ้าสว่าง (๒๕๖๐) แปลจากหนังสือขายดี  Breaking Night : A Memoir of Forgiveness, Survival, and My Journey from Homeless to Harvard (2009)  เขียนโดย Liz Murray  จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ OMG Books

เมื่อผมอ่านหนังสือเล่มนี้ ก็พบตรงตามโฆษณา (๑) ว่า อ่านแล้วรู้สึกบีบคั้นหัวใจ รู้สึกเศร้าใจ ที่มีเด็กเล็กๆ ต้องมีชีวิตกับพ่อแม่ติดยา อยู่ในมหานครนิวยอร์ก    ท่ามกลางความเสื่อมโทรมของอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมทางสังคม    โดยสภาพที่เสื่อมที่สุดคือความเป็นพ่อแม่ และความเป็นมนุษย์ ของพ่อแม่ของ Liz Murray    ยามหิวยา เขาคล้ายไม่ใช่มนุษย์  

ไม่น่าเชื่อว่า เด็กที่หิวโหย อดมื้อกินมื้อ เรื่อยมาตั้งแต่เด็กจนเป็นสาว สมองจะพัฒนาเป็นคนที่มีความสามารถสูง    สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด    และกลายเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ   

ยิ่งไม่น่าเชื่อ ว่าเด็กที่เติบโตมาแบบไร้ความมั่นใจตนเอง    ถูกคนอื่นและสังคมตีตราว่าเป็นคนไร้ค่า จะพลิกกลับสถานการณ์ สร้างความมั่นใจตนเองขึ้นมาได้    ว่า “ข้าขอลิขิตชีวิตข้าเอง” ได้    โดยจะเห็นว่า โชคดีที่เธอพบ “ครูที่เปี่ยมวิญญาณครู” คือ เพอร์รี่ ไวเนอร์ (Perry Weiner) ครูผู้ปิดทองหลังพระ (น. ๓๕๒ - ๓๕๓) แห่งโรงเรียนเตรียมมนุษยศาสตร์ (Humanities Preparatory Academy)      

ครูเพื่อศิษย์ พลิกชีวิตศิษย์ได้    โดยให้ “ความคาดหวังสูง  สนับสนุนเต็มที่” (high expectation, high support)    สร้างความเชื่อมั่นแก่ศิษย์ ว่าตนประสบความสำเร็จได้ หากพยายาม    โดยครูจะคอยช่วยเหลือ

ที่โรงเรียนติดคำขวัญ “ชีวิตให้รางวัลกับการลงมือทำ” (น. ๓๕๖)    สะท้อนความเชื่อในคุณค่าของการเป็น “ผู้ก่อการ” (agent)     ไม่ใช่ “ผู้รอรับ”      

เมื่อมีเป้าหมายชีวิต   มีความมั่นใจตนเอง    ก็แสวงหาความช่วยเหลือในฐานะ “ผู้มีเป้าหมายชีวิต”  และมีเรื่องราวในชีวิตที่สื่อสนใจ    จึงได้ “หุ้นส่วน” ธุรกิจ ในนามของผู้รับทุนสนับสนุนเรียนมหาวิทยาลัยจากสำนักพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ส    โดย นสพ. นำเรื่องราว “ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย” ของ ลิซ เมอร์เรย์ ไปลง     ทำให้เธอดังทันที    ความช่วยเหลือจึงไหลมาเทมา     ตามด้วยการรับเข้าศึกษาที่ฮาร์วาร์ดโดยให้ทุนเต็ม

ฟังดูเหมือนง่าย    แต่เมื่ออ่านหนังสือ จะพบว่า มันเป็นการปีนข้าม “กำแพง” ที่คนที่เกิดมาแบบ ลิซ เมอร์เรย์ สร้างขึ้นในใจตน (น. ๓๔๘)    

ลิซ “ปีนกำแพง” ได้ ผ่านการปฏิบัติแล้วคิด     ที่ผมเรียกว่า action  ตามด้วย reflection    จากการไปทำงานหาเงินก้นถุงเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย    โดยทำงานเป็นอาสาสมัครกับ NYPIRK   ช่วยให้ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนจากครอบครัวชั้นกลาง  และกำลังเรียนมหาวิทยาลัย    และได้เรียนรู้เรื่องราวชีวิตการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย    และได้ไปรู้จักชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นกลาง     จึงนำมาเรียนรู้ด้วย จินตมยปัญญา (critical reflection)    สร้างพลังความมุ่งมั่นในตน    สร้างเป้าหมายชีวิต สู่การ “ปรับชีวิตประจำวันให้เข้ากับเป้าหมายที่ใหญ่กว่า” (น. ๓๗๗)     

นั่นคือการพัฒนา สมรรถนะในการกำกับตนเอง (self-regulation)    ที่เกิดขึ้นหลังอายุ ๑๕ ปี  และออกจากบ้านมาเป็นเด็กไร้บ้าน   

ผมตีความว่า ลิซ เมอร์เรย์ พัฒนา Seven Vectors of Identity Development ขึ้นได้ ผ่าน “โยนิโสมนสิการ” (critical reflection) ของตนเอง 

ผมสังเกตว่า ทั้งพ่อ และลิซ มีหนังสือติดตัวเอาไว้อ่านอยู่เสมอ     แม้ยามไร้บ้าน    และเดาว่า หนังสือช่วยพัฒนาพลัง “โยนิโสมนสิการ” ให้แก่ลิซ 

อ่านแล้วจะเห็นจุดอ่อนของสังคมวัตถุนิยมอเมริกัน    ที่คนจำนวนหนึ่งถูกพิษร้ายแบบครอบครัวพ่อแม่ของลิซ    แต่เขาก็พยายามสร้างระบบช่วยเหลือ    ดังจะเห็นว่า ลิซ รอดมาได้จากหลายกลไกช่วยเหลือทางสังคม  

“ฉันมักมองตัวเองผ่านสายตาของพวกผู้ใหญ่” (น. ๓๙๘)    นี่คือข้อสะท้อนคิดเรื่องการตีตราเด็กโดยผู้ใหญ่    ที่ผู้ใหญ่คือครูและพ่อแม่พึงตระหนัก   

พลังหรือคุณค่าของโรงเรียนและครู อยู่ที่ ๔ บรรทัดแรกของหน้า ๓๙๘ “ความรู้สึกของฉันเกี่ยวกับครู ก็คือความรู้สึกของฉันเกี่ยวกับโรงเรียนนั่นเอง    ถ้าพวกครูยอดเยี่ยม โรงเรียนก็ยอดเยี่ยม    มันเป็นเช่นนั้นเสมอสำหรับฉัน    และถ้าพวกครูเชื่อมั่นในตัวฉัน   อย่างน้อยนั่นก็เป็นก้าวแรกในการเดินทางยาวไกลสู่การเชื่อมั่นในตัวเอง”  

สิ่งประเสริฐสุด ที่ครูและโรงเรียนให้แก่ศิษย์ คือความเชื่อมั่นในตัวศิษย์    เพราะมันช่วยให้ศิษย์มีความเชื่อมั่นในตนเอง    กล้าตั้งเป้าหมายสูงในชีวิต   และฟันฝ่าเพื่อเป้าหมายนั้น  

ขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้    ที่จริงผมได้รับเมื่อสามปีมาแล้ว    เพิ่งได้อ่านช่วงโควิดระบาด    อ่านแล้ววางไม่ลง  

วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 679887เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2020 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2020 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท