ชีวิตที่พอเพียง 3751. ฐานวิถีชีวิตใหม่ของผม



ราชบัณฑิตยสภากำหนดคำภาษาไทยของ new normal ให้เลือกได้ ๓ คำ คือ นิวนอร์มัล  ความปรกติใหม่  ฐานวิถีชีวิตใหม่ ผมจึงนำมาตั้งชื่อบันทึกเสียเลย

  เพราะผมค่อยๆ เห็นว่า การระบาดของ โควิด ๑๙ ได้ช่วยให้ชีวิตบางด้านของผมดีขึ้น    มีความสงบสุขยิ่งขึ้น     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาวน้อยพอใจมาก ที่สามีอยู่บ้าน  

ผมได้เห็นความงามของธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น    จากการที่ได้อยู่บ้าน    และได้ออกไปเดินออกกำลังตอนเช้าในช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ ตอนฟ้าสาง  ราวๆ ๕.๓๐ น.   อากาศเย็นสบาย    ท้องฟ้าสวยงาม   และต้นไม้หน้าบ้านเพื่อนบ้านในหมู่บ้านส่งกลิ่นหอมสดชื่น  

ตอนเย็นก็ได้พาสาวน้อยออกไปเดินออกกำลัง    โดยเดินไปยังสระน้ำของหมู่บ้าน    นั่งเล่นที่ริมสระน้ำราวๆ สิบนาที แล้วเดินกลับ    ผมเดินให้คุณยายเดินเกาะแขนทุกวัน    คนที่เดินหรือขี่จักรยานผ่านมาเห็นก็จะทักทายหรือแสดงท่าทางชื่นชม    จนบางวันตอนผมออกไปเดินตอนเช้าคนเดียว ก็มีคนถามว่า “คุณยายไม่มาด้วยหรือ”   

กลายเป็นว่า การระบาดของโควิด ๑๙ ช่วยให้ชีวิตของผมผ่อนคลายมากขึ้น   เร่งรีบน้อยลง    คือไม่ต้องเร่งรีบนั่งรถออกจากบ้านตั้งแต่หกโมงเช้าหรือก่อนหน้านั้น เพื่อเลี่ยงรถติด   

หมู่บ้านสิวลีติวานนท์ที่ผมอยู่ เป็นหมู่บ้านขนาดกลาง     มีบ้านอยู่ราวๆ สองร้อยหลัง    บริเวณร่มรื่น เพื่อนบ้านดี    มีความปลอดภัยสูง    การเดินออกกำลังเช้าเย็นจึงปลอดภัย ทั้งทางกายภาพ และทางโรคติดต่อ    เมื่อชีวิตผ่อนคลายอยู่กับบ้านมากขึ้น    สัมผัสความงามของธรรมชาติรอบตัวก็ยิ่งละเอียดอ่อน   

การประชุมทางไกล กลายเป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบ    และตั้งใจว่า ต่อไปเมื่อหมดปัญหาโควิด ๑๙   ก็หวังว่า จะมีการประชุมที่เปิดโอกาสให้ประชุมทางไกลได้มากขึ้น     ซึ่งนอกจากช่วยให้ไม่ต้องออกจากบ้านแล้ว     ยังช่วยลดปัญหาโลกร้อน    และช่วยประหยัดค่าน้ำมันรถยนต์อีกด้วย   

ผมพบว่า  ชีวิตที่ต้องอยู่กับบ้าน  เป็นชีวิตที่สงบสุข    เพราะผมเป็นคนชอบอยู่เงียบๆ คนเดียว    ชอบมีเวลาว่างอ่านหนังสือ    และมีเวลาว่างใคร่ครวญไตร่ตรองเรื่องต่างๆ    เป็น “ภาวะปกติ” ที่ผมโหยหา     ผมคิดเรื่ยมาว่า ชีวิตคนกรุงที่ต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อออกจากบ้านไปทำงานหรือเรียนหนังสือ    และตกเย็นก็ต้องนั่งรถกลับบ้านในสภาพรถติด    ใช้เวลาวันละ ๓ - ๔ ชั่วโมงบนท้องถนน   ไม่น่าจะถือว่าเป็นสภาพปกติที่ทุกคนต้องยอมรับสภาพ     ผมถือว่าเป็นสภาพจำยอม จากความผิดพลาดเชิงนโยบายในการบริหารประเทศในอดีต    ซึ่งมีความผิดพลาดเชิงระบบมากมายหลายระบบ   

ระบบที่ผิดพลาดรุนแรงและชัดเจนที่สุดคือระบบการศึกษา  ระบบคมนาคม   และระบบการพัฒนาเมือง ที่กระจุกความเจริญ    เรื่องที่น่าจะเป็นหมายเลขหนึ่งของความผิดพลาด    คือระบบการเมือง    เราไม่น่าจะยอมรับสภาพที่นักการเมืองมาบอกผู้คนว่า เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาล จึง “อดหยากปากแห้ง”    ใครเป็นคนพูดคงจะจำกันได้นะครับ

ที่จริงการต้องใช้ชีวิตเผชิญรถติดในกรุงเทพวันละ ๓ - ๔ ชั่วโมง นั้น     เป็นความผิดพลาดในการตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตโดยตัวผมเอง     ที่เผลอลองสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการ สกว.    โดยไม่คิดว่าเขาจะเลือก    เมื่อโดนเลือกก็ต้องทำ     นำไปสู่การย้ายครอบครัวกลับกรุงเทพ    มาเผชิญสภาพรถติด            

วิจารณ์ พานิช

๒๘ มิ.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 679860เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2020 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2020 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท