เรื่องเล่า ดร.ผึ้ง ตอนที่ 24 Application นัดหมาย รพ. กับผู้สูงอายุ


วันนี้พาคุณแม่ไปตรวจที่ รพ. แถวถนนพระราม 6 ผู้เขียนพบว่า รพ.นี้มีการพัฒนา application การนัดหมายผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่อง แต่เดิม application รุ่นแรก ยังไม่สามารถเลื่อนนัดผ่าน application ได้ แต่ว่าปีนี้ application มีการปรับปรุงพัฒนาอย่างมาก สามารถเลื่อนนัดผ่าน app และรอผลการพิจารณาผ่านทาง app หากกรอกข้อมูลวันที่ผิด (วันที่เลื่อนนัด) จะมี จนท. โทรติดต่อกลับมาสอบถามทันที  นอกจากนี้เมื่อไปถึง รพ. สามารถ check in ผ่าน app ได้เลย อีกทั้งเมื่อพบแพทย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบมีการแจ้งเลขที่รับยา ขั้นตอนการชำระเงินผ่าน application ด้วย สะดวกมาก แต่ทว่า ผู้สูงอายุบางท่าน ตัวอย่างคือคุณแม่ของผู้เขียน ใช้ application ไม่เป็น  ทุกอย่างผู้เขียนจัดการให้หมด

วันนี้แม่บอกว่า พอมาถึงยื่นบัตรนัดให้ จนท. ซึ่งเป็นวันนัดเดิมเดือนมิถุนายน จนท. ถามหาโทรศัพท์ เพื่อจะเปิดดูประวัติขอเลื่อนนัดใน application ซึ่งแม่ตอบว่า โทรศัพท์อยู่กับลูก ลูกเป็นคนจัดการ (ผู้เขียนหาที่จอดรถอยู่ จึงให้คุณแม่ ขึ้นมาพบแพทย์ก่อน) แล้ว จนท. ก็ค้นข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์

เมื่อพบแพทย์เสร็จเรียบร้อย จนท. แจ้งว่า วันนี้ไม่มีใบนัดกระดาษให้ แต่จะนัดใน application ซึ่งแม่ผู้เขียน ก็ไม่เข้าใจ (แม่ผู้เขียนไม่ทราบศัพท์ภาษาอังกฤษ เพราะเรียนจบ ป.4)  รับกระดาษสำหรับไปยื่นห้องยามา โดยคิดว่าจะมีใบนัดเย็บติดมาด้วย เหมือนเช่นทุกครั้ง ขณะกำลังรอชำระเงิน ผู้เขียนเห็นแม่ยืนค้นหากระดาษ พลิกกระดาษดู จึงถามว่าแม่หาอะไร แม่บอกว่าหาใบนัดคราวต่อไป ทำไมจนท. ไม่ให้ใบนัดมา ปกติ จนท.จะเย็บใบนัดมาพร้อมใบสั่งยา

ผู้เขียนต้องอธิบายว่า ใบนัดไม่มีแล้ว เดี๋ยวนี้นัดผ่านมือถือ (ผู้เขียนพูดว่านัดผ่านมือถือ เพราะแม่เข้าใจมากกว่าคำว่า นัดผ่าน application)

แม่แสดงความกังวลว่า แล้วมาคราวหน้า ไม่มีใบนัดยื่นให้จนท.  จนท.จะทราบไหม แล้วแม่จะมาพบแพทย์ได้ยังไง แล้วถ้าไม่มีใบนัด แม่กลัวแม่ลืม

ซึ่งผู้เขียนจับความรู้สึกได้ว่า แม่กังวลใจมากกว่าปกติ เพราะไม่เคยชินกับการมาพบแพทย์โดยไม่ถือกระดาษใบนัดมายื่น อีกทั้งแม่กังวลเกรงว่าต้องขึ้นมาคนเดียวแบบวันนี้ ซึ่งแม่ต้องถามทางมาเรื่อยๆ เพราะ แม่ เริ่ม งง กับทิศทาง แม่จำได้ว่าชั้น 4 แต่จำไม่ได้ว่าฝั่งไหนของตึก  อีกทั้งห้องตรวจก็เหมือนๆ กัน ถ้าไม่มีใบนัดแบบกระดาษ ก็ถามทางลำบาก (ถ้ามีใบนัด ก็ยื่นใบนัดให้ รปภ. หรือ จนท. ดูว่า นัดตามใบนัดนี้ ต้องพบแพทย์ห้องไหน)

จากเหตุการณ์วันนี้ ผู้เขียนพิจารณาเห็นว่า เทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ พัฒนาไปมาก สะดวกขึ้นมาก (และผู้เขียนขอบมาก) แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ใช้บริการบางกลุ่ม เช่นผู้สูงอายุ บางส่วนที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เป็น ด้วยความไม่คุ้นเคย และต้องเรียนรู้ใหม่ อีกทั้ง ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกรายมีโทรศัพท์มือถือ  บางรายมีปัญหาทางสายตา ดังนั้นการจะทำรายการผ่าน application จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุเหล่านี้ บางรายอาจจะไม่กล้ากดปุ่ม กลัวทำผิด เป็นต้น ดังนั้นผู้สูงอายุบางกลุ่ม อาจจะเข้าไม่ถึงการสื่อสารผ่าน application นัดหมายของ รพ.

จากมุมมองนี้ ผู้เขียนเห็นว่า การนัดหมายแบบเดิม (แบบกระดาษนัด) ยังคงมีความจำเป็นกับผู้สูงอายุบางกลุ่มอยู่

ภัทรพร คงบุญ

14 กรกฎาคม 2563

หมายเลขบันทึก: 678816เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2020 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2020 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สังคมผู้สูงวัย (บางกลุ่ม)ณ.ที่นี้..อาจจะมีจำนวนมากมาย..ที่เข้าไม่ถึง..ในทุกๆสถานะการณ์สถานะภาพในอนาคต..อันใกล้นี้…..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท