ชีวิตที่พอเพียง 3734. ความฉลาดรวมหมู่ : ๑๑. ระบบเศรษฐกิจและบริษัท



บันทึกชุด ความฉลาดรวมหมู่ตีความ (และสรุปความ) จากหนังสือ Big Mind : How Collective Intelligence Can Change Our World  (2018) เขียนโดย Geoff Mulgan ศาสตราจารย์ด้าน collective intelligence, public policy & social innovation แห่ง UCL  และเป็น CEO ของ NESTA    โดยในตอนที่ ๑๑ นี้ ตีความจากบทที่ 13   Visible and Invisible Hands : Economies and Firms as Collective Intelligence    ซึ่งเป็นบทที่ ๓ ของตอนที่ III  Collective Intelligence in Everyday Life    

สาระสำคัญคือมนุษย์เราได้สร้างชาลา (platform) เพื่อใช้ความฉลาดรวมหมู่ในด้านเศรษฐกิจและธุรกิจมาแล้วมากมาย    ก่อคุณประโยชน์ไพศาล และก่อโทษก็ไม่น้อย    โดยที่ความฉลาดดังกล่าวมีข้อจำกัด    เราจึงเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจเป็นระยะๆ คำถามคือ ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถเพิ่มความฉลาดรวมหมู่เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือเพื่อมวลมนุษยชาติ  

เขายกตัวอย่างเศรษฐกิจด้านอาหาร  ว่ายังสามารถสร้างความฉลาดรวมหมู่เพิ่มขึ้นได้มาก  โดยเสนอข้อมูลแก่ผู้บริโภคด้าน carbon footprint, ด้านความพึงพอใจของลูกค้าคนก่อนๆ,    มีข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นรายคนแก่ภัตตาคาร เช่นคนที่มีพฤติกรรมนั่งแช่นานเกินไป,   มีข้อมูลและ AI นำไปสู่การออกแบบอาหารเมนูใหม่ๆ    หรือนำไปสู่การติดตามการสูญเปล่าของวัตถุดิบ    หรือเพื่อใช้ฝึกพนักงาน  

มือที่มองเห็นและมือที่มองไม่เห็น

เมื่อพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ คนจะพูดถึง invisible hands หรือกลไกตลาด    ส่วนมือที่มองเห็นคือบริษัทธุรกิจ  สมาคมการค้า   หน่วยงานกำกับดูแล  ศูนย์วิจัย  และ online platform ในการทำธุรกิจ    บริษัทต้องการดำเนินการเพื่อกำไร    แนวความคิดแบบเชื่อในกลไกตลาดเช่นนี้    มีสมมติฐานว่า ทุกฝ่ายมีข้อมูลหรือความรู้เรื่องสถานการณ์ตลาดเท่ากัน    ซึ่งไม่จริง    ทุกฝ่ายต่างก็มีสารพัดเล่ห์เพทุบายเพื่อให้ตนได้เปรียบคู่แข่ง    ทำให้ตลาดไม่มีความยุติธรรม  

องค์ประกอบของความฉลาดในระบบเศรษฐกิจ

ความฉลาดของทั้งมือที่มองเห็นและมือที่มองไม่เห็น ต่างก็ขึ้นกับองค์ประกอบ ๑๐ ประการ ของความฉลาดรวมหมู่ที่กล่าวแล้วในบันทึกที่ ๑   โดยที่แต่ละองค์ประกอบมีการพัฒนาขึ้นตลอดเวลา    ขึ้นกับความสามารถของแต่ละองค์กร ในการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตน   

ตัวอย่างของความฉลาดใหม่ๆ เช่น ความสามารถตรวจจับกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้โดยตรง    เช่นตรวจหาจำนวนรถขนสินค้าภายในและระหว่างเมือง    การตรวจหาความเข้มของแสงไฟฟ้า ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์   นอกจากนั้นยังมีข้อมูลดิจิตัลซึ่งบอกข้อมูล ณ เวลานั้น (real time)    ต่างจากสถิติซึ่งเป็นข้อมูลในอดีต   

ความก้าวหน้าอีกอย่างหนึ่งคือ สามารถมีข้อมูลของสิ่งที่วัดไม่ได้ (intangibles) เช่นการลงทุนต่อการวิจัย    ต่อการสร้าง แบรนด์   การออกแบบ    รวมทั้งการมีเครื่องมือวัดทางจิตวิทยา วัด brand loyalty, personnel engagement เป็นต้น   

รวมทั้งความก้าวหน้าในการใช้ machine ช่วยการประมวลข้อมูล   รวมทั้งมีการพัฒนา algorithm ขึ้นมาช่วยในการหาความหมาย จากข้อมูลธรรมดาๆ   

กล่าวได้ว่า เราสามารถเพิ่มความฉลาดเข้าไปในองค์ประกอบทั้ง ๑๐ ประการ    ตัวอย่างเช่น เครื่องมือวิเคราะห์และหาความหมายข้อมูลได้ก้าวหน้าขึ้นมากมาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง big data analytics    ในเรื่องความสร้างสรรค์มีเครื่องมือ Open innovation methods ขึ้นมาระดมข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์จากหลากหลายแหล่ง    

อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า ทั้งระบบเศรษฐกิจ และบริษัทธุรกิจต่างก็ไม่ฉลาดจริง    ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก    จึงเกิดศาสตร์ใหม่ cognitive economics   เพื่อทำความเข้าใจโลกที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น   

   สรุปได้ว่า ความก้าวหน้าของการยกระดับความฉลาดในระบบเศรษฐกิจ อยู่ที่การตั้งคำถามที่แปลกใหม่

เศรษฐกิจในฐานะระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว        

หนังสือใช้คำว่า coupled systems  คือเศรษฐกิจเป็นผลรวมของ (๑) ตลาดทางธุรกิจ กับ (๒) กลไกของรัฐที่นำหน้าที่ชี้ทิศ และกำกับ ตกแต่ง  และ (๓) ผู้ซื้อ  (๔) ผู้ให้บริการ  

ความฉลาดรวมหมู่ของ ๔ ฝ่ายนี้ เป็นปัจจัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ  

เศรษฐกิจในฐานะดุลยภาพระหว่างสิ่งที่คุ้นเคยกับนวัตกรรม

เป็นธรรมชาติขององค์กร (และสรรพสิ่ง) ที่จะต้องดำรงอยู่ภายใต้ดุลยภาพระหว่างความมั่นคง ความเป็นระเบียบ และงานประจำ ฝ่ายหนึ่ง    กับอีกฝ่ายหนึ่ง คือการปรับตัว และนวภาพ   

หากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  องค์กรย่อมต้องลงทุนต่อการเรียนรู้วงจรที่ ๒  และวงจรที่ ๓ มากขึ้น    เพื่อใช้การเรียนรู้วงจรที่ ๒ สร้างสินค้าตัวใหม่หรือทำธุรกิจแบบใหม่ จากการตีความความรู้ที่มีอยู่เสียใหม่ หรือนำความรู้จากภายนอกมาประยุกต์ใช้     

เมื่อสังคมสั่งสมความรู้ใหม่มากในระดับหนึ่ง ก็จะเป็น “เชื้อเพลิง” ให้เกิดวงจรการเรียนรู้ระดับที่ ๓   นำไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ของเศรษฐกิจ  

 

ปัญญาส่วนกลางกับเศรษฐกิจ

ผมใช้คำว่า “ปัญญาส่วนกลาง” แทนที่คำว่า commons ในภาษาอังกฤษ    โดยมีความเชื่อว่า นี่คือเครื่องมือเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ    หรือเป็นเครื่องมือของความฉลาดรวมหมู่ทางเศรษฐกิจนั่นเอง     โดยต้องมีระบบจัดการที่ดี ป้องกันความหลอกลวง โกง หรือปกปิด

ปัญญาส่วนกลางประกอบด้วย  (๑) ความรู้และข้อปฏิบัติเชิงวัฒนธรรม ที่ยึดถือร่วมกัน  (๒) ความรู้ในสารสนเทศที่แชร์กัน  (๓) ความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน (ที่ใน KM เรียกว่า tacit knowledge) และในระบบการศึกษา  (๔) ความรู้ที่ฝังอยู่ในเครื่องมือที่ใช้  (๕) ความรู้ที่ฝังอยู่ในวิธี หรือกระบวนการทำงาน ที่อาจเรียกว่า embedded knowledge  (๖) ความรู้ในมาตรฐานต่างๆ ทั้งที่เป็นมาครฐานสินค้า มาตรฐานวิธีผลิต, ISO, URL, bar code เป็นต้น      

นี่คือความฉลาดส่วนกลางที่ไม่มีใครมีสิทธิครอบครอง  แต่ทุกคน (องค์กร) มีสิทธิใช้    และรับผิดชอบร่วมกันในการเพิ่มพูน   

ผมขอเพิ่มเติมว่า การที่องค์กรนำเอาความฉลาดเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็เท่ากับได้ร่วมสร้างความฉลาดส่วนกลางให้เพิ่มพูนขึ้น    เพราะการนำความรู้ไปใช้เท่ากับเป็นการขับเคลื่อนวงจรเรียนรู้ไปในตัว   

ธุรกิจต้องการข้อมูลหลักฐาน

ข้อมูลหลักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานด้านผลกระทบของกิจการหรือการประกอบการต่างๆ    มีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจที่มีความฉลาดรวมหมู่   

เพื่อให้เกิดข้อมูลหลักฐานของผลกระทบของมาตรการต่างๆ จึงมีการพัฒนาชาลาข้อมูลผลกระทบ (impact platform) ที่เป็นของส่วนกลางขึ้นมา เพื่อเปิดให้เข้าไปใช้ประโยชน์ได้ทั่วไป   ตัวย่างเช่น What Works ที่ให้หลักฐานการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่ได้ผลและไม่ได้ผล   

ในเรื่องระบบข้อมูลหลักฐานเพื่อเป็นเครื่องมือรับประกันคุณภาพสินค้านี้    ระบบที่ดีคือระบบยาและเวชภัณฑ์ ที่จะออกจำหน่ายได้ต้องผ่านการรับรองโดยองค์กรที่รับผิดชอบ ซึ่งในประเทศไทยคือ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)    สินค้าอื่นๆ ไม่มีระบบที่ดีเท่า    ทำให้มีการโฆษณาสินค้ากึ่งจริงกึ่งหลอกลวงอยู่ดาษดื่น

ความฉลาดที่ช่วยให้ดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องยั่งยืน คือการทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ต่อทุกฝ่าย    รักษาผลประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง    ก่อความเชื่อถือ    ตรงตามสุภาษิตว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน”      

วิจารณ์ พานิช    

๑๔ เม.ย. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 678300เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2020 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2020 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท