ผู้ก่อการ ... เป้าหมายของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑



ผมหาคำไทยที่สื่อคำว่า agent มานาน ในพจนานุกรมแปลว่า ผู้กระทำ    แต่ผมก็ยังไม่รู้สึกว่ามันสื่อความหมายลึกๆ    จนวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓ พบกับ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะนวัตกรรมการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ทางออนไลน์    เมื่อทักทายกันว่าท่านดูแลคณะที่ทำหน้าที่ผลิตครู    ท่านบอกว่าไม่ได้ผลิตครู แต่ผลิต “ผู้ก่อการครู”        ผมจึงปิ๊งคำว่า “ผู้ก่อการ” ทันที 

คำนี้ “แสลง” ใจคนจำนวนมาก    เพราะใช้โดย คณะผู้ก่อการ ๒๔๗๕   แต่นั่นมันเกือบเก้าสิบปีมาแล้ว    ตอนนี้ผมขอใช้เพื่อสื่อสารหลักการสำคัญของ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑   

โลก และ ประเทศ ในยุคใหม่ หรือในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องการพลโลก หรือพลเมือง ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง    มีความริเริ่มสร้างสรรค์    และเป็น “ผู้ลงมือกระทำการ” (actor) เพื่อหารแนวทางใหม่ๆ    ไม่ใช่ผู้เฉื่อยชา รอให้ผู้อื่นมาบอก หรือทำตามแนวทางเดิมๆ ที่มีการกำหนดไว้แล้ว   

คือต้องเปลี่ยนจากมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๐   มาเป็นมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑  

ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นยุคอุตสาหกรรม    ต้องการพลเมืองที่ฝึกไว้ทำงานในโรงงาน    คือทำตามแบบแผน     แต่ศตวรรษที่ ๒๑ เป็นยุคหลังอุตสาหกรรม หรือยุคดิจิทัล    ต้องการพลเมืองที่มีความคิดริเริ่ม กล้าทดลองสร้างสรรค์ใหม่ๆ    ส่วนงานที่ทำตามแบบแผนยกให้เครื่องจักรทำ  เครื่องจักรสมัยใหม่มีความฉลาดในระดับที่ทำตามแบบแผนได้ดี  

หากจะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศรายได้สูง  สังคมดี  ความเหลื่อมล้ำน้อย  ทำลายธรรมชาติน้อย    เราต้องพัฒนาคุณภาพของพลเมือง ให้เป็นคนที่มี “ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑”    ซึ่งรวมทั้งการเป็นคนที่มีความกระตือรือร้น  ไม่นิ่งดูดาย  ไม่รอความช่วยเหลือ   แต่เป็นผู้ลงมือ หรือร่วมลงมือกระทำการ เพื่อแก้ปัญหาสังคม    หรือเพื่อริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ   

เรียกว่า เป็นผู้ก่อการ หรือ active citizen  

ดังนั้น เพื่อปลูกฝังคุณลักษณะนี้ตั้งแต่เด็ก    วงการศึกษาจึงต้องจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำของตน    ทำแล้วเก็บข้อมูลเอามาคิด ที่เรียกว่า ใคร่ครวญไตร่ตรอง (reflection) ว่าได้เรียนรู้อะไร    หากจะให้การลงมือทำเรื่องนั้นให้ผลดียิ่งขึ้น ควรปรับปรุงวิธีการอย่างไร    และจากการเรียนรู้ที่ผ่านมา ตนต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น   

จะยิ่งดี หากได้ทำ และได้ทบทวนและใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกับเพื่อนๆ    เพื่อฝึกให้ฟังคนอื่นเป็น    ได้เรียนรู้ว่าคนเราคิดต่างกัน    รู้จักเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างจากความคิดของตนเอง    รู้จักประนีประนอม  และรู้วิธีสร้างความเห็นพ้อง   

ความเห็นพ้องที่ควรได้ฝึกในห้องเรียนคือ  จะเรียนเรื่องอะไรต่อไป  และเรียนโดยทำกิจกรรมอะไร    โดยมีครูทำหน้าที่ท้าทาย  และทำหน้าที่ reflective coaching   ช่วยให้นักเรียนได้เรียนจากการปฏิบัติ    จนกลายเป็นนิสัย ... นิสัยของผู้ก่อการ   

วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๓   ผมได้ฟังเรื่องเล่าของครูเกศรัตน์ มาศรี  ครูชั้น ป. ๖ โรงเรียนรุ่งอรุณ ดังเอกสาร ()    และได้ชมวิดีทัศน์ (๒)    ในการประชุมซ้อม online PLC   ทำให้ผมได้ตัวอย่างของวิธีฝึกนักเรียน ให้เติบโตไปเป็นพลเมืองผู้ก่อการ

วิจารณ์ พานิช

๒๘ มิ.ย. ๖๓


Kru kedrat from Pattie KB
หมายเลขบันทึก: 678241เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2020 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2020 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท