สมาชิกสหกรณ์กับการใช้บริการฌาปนกิจสงเคราะห์


ในการนี้ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้ความรู้อันเจริญงาม สร้างสรรค์ ทางด้านกฏหมายแก่ขบวนการสหกรณ์

ในขณะเดียวกันก็เห็นใจ และเข้าใจ สมาชิกสหกรณ์ผู้ต้องค้ำประกันเพื่อนสมาชิกที่ใช้บริการกู้เงิน จากสหกรณ์ที่ตนเองเป็นเจ้าของ ในลักษณะบุคคลค้ำประกัน และสมาชิกสหกรณ์ที่ใช้บริการเงินกู้จากสหกรณ์ที่ตนเองเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน 

ที่ต้องพยายามพูดจาหว่านล้อมแกมบังคับ ให้เพื่อนสมาชิกที่กู้เงินไปซื้อประกันชีวิต เพื่อแบ่งเบาภาระค้ำประกันหากสมาชิกสหกรณ์ผู้กู้เสียชีวิต โดยเงินไหลออกจากสหกรณ์ไปเห็น ๆ อันนี้เนื่องเพราะในประเทศไทยสหกรณ์ไม่สามารถให้บริการประกันชีวิต แก่สมาชิกสหกรณ์(เจ้าของสหกรณ์ได้)

ในนานาอารยประเทศ สหกรณ์จะมีบริการประกันภัย และบริการประกันชีวิตเพราะตามหลักวิชาการสหกรณ์ สหกรณ์เป็นการรวมกันของบุคคลเพื่อบริหารความเสี่ยงอยู่แล้ว ที่เรียกว่า  หรือสหกรณ์ประกันชีวิต สหกรณ์ประกันภัย

แต่อนิจจาในประเทศไทย พระราชบัญญัติประกันภัย และพระราชบัญญัติประกันชีวิต ให้บริษัทจํากัด และบริษัทจำกัด (มหาชน) เท่านั้นที่จะทำธุรกิจประกันเหล่านี้ได้  สหกรณ์ จํากัด ทำไม่ได้จะผิดกฎหมาย 

ขบวนการสหกรณ์ไทยจึงต้องหาทางออก ด้วยการใช้บริการฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือซื้ัอประกันชีวิตจากบริษัท จำกัด หรือบริษัทจำกัดมหาชน

หลายท่านจะอ้างถึงบริษัทสหประกันชีวิต  ขอเรียนให้ทราบว่าบริษัทสหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท เพียงแต่มี ขบวนการสหกรณ์เป็นผู้ถือหุ้น ไม่ใช่สหกรณ์ การเลือกตั้งออกเสียงตามหุ้นใครมีหุ้นเยอะมีเสียงเยอะ เป็นบริษัทมุ่งหากำไรสูงสุด (Maximize profit) ผู้ถือหุ้นควบคุมตามหลักธนาธิปไตย มิได้มุ่งเพื่อสวัสดิการแก่สังคม เฉกเช่น ฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือสหกรณ์ประกันชีวิต

ต่างจาก สหกรณ์ประกันชีวิต สหกรณ์ประกันภัย ที่มีตั้งขึ้นอยู่ในนานาอารยประเทศ ล้วนใช้ระบบสหกรณ์ ออกเสียงตามคน ใช้ one member one vote ซึ่งจะเป็นไปตามปรัชญาของการสหกรณ์ ที่จะให้สมาชิกสหกรณ์เองได้พอสมควรแล้ว มาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยการรวมคน เป็นหลัก member center และบริหารจัดการโดยสมาชิกเป็นผู้ควบคุมตามหลักประชาธิปไตย (หลักการสหกรณ์สากลที่ 2)

การใช้บริการของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ น้ันจะคล้ายกับ เมื่อในอดีต ระหว่างปี 2459 ถึง 2470 ในขณะนั้นยังไม่มีพระราชบัญญัติสหกรณ์ ในประเทศไทย ประเทศไทยใช้พระราชบัญญัติสมาคมแทนไปก่อน 

จนมาถึงปี 2471 จึงมีพระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับแรกของประเทศไทย คือพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ขึ้นถือใช้ซึ่งท่านอาจารย์ ดร. คิด เฉลิมวรรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กล่าวว่าเป็นพระราชบัญญัติสหกรณ์ที่ดีที่สุดที่เคยมีมา

สรุปการที่กำหนดให้สมาชิกสหกรณ์(เจ้าของสหกรณ์) ที่ต้องการใช้บริการเงินกู้จากสหกรณ์ที่เป็นเจ้าของต้องเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ด้วยนั้น ย่อมส่งผลดีต่อสมาชิกผู้ค้ำประกันเงินกู้ในเรื่องการลดภาระความเสี่ยงจากการค้ำประกัน ลดภาระความเสี่ยงของสหกรณ์ และช่วยแบ่งเบาภาระญาติของสมาชิกหากสมาชิกสิ้นใจไปในระหว่างที่ยังใช้เงินกู้ไม่หมด ทำให้สมาชิกสหกรณ์ตระหนักถึง มรณานุสติ ให้ทราบว่าคนเราไม่สิ้นใจพร้อมกัน แต่สุดท้ายตายทุกคน เพื่อกลับมาสู่การครองตน ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวินัยทางการเงิน ใช้จ่ายเงินอย่างพอประมาณ ใช้จ่ายเงินอย่างมีเหตุมีผล ใช้จ่ายเงินอย่างมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้หลักวิชาการ และหลักธรรม ก่อนที่จะสิ้นใจ 

และสิ่งสำคัญคือ สามารถทดแทน สหกรณ์ประกันชีวิต ที่ในประเทศไทยไม่สามารถจัดตั้งขึ้นได้พอสมควร 
สหกรณ์เป็นองค์การอิสระ การตัดสินใจพิจารณาตัดสินใจในเรื่องใด ที่ไม่ขัดต่อกฏหมายใด เป็นอำนาจตัดสินใจของมวลสมาชิกสหกรณ์ (มวลเจ้าของสหกรณ์) เป็นไปตามหลักการสหกรณ์สากลที่  4 สหกรณ์เป็นอิสระและพึ่งพาตนเอง

พีระพงศ์ วาระเสน
นักวิชาการสหกรณ์ด้วยหัวใจ ❤️
29 มิถุนายน 2563

หมายเลขบันทึก: 678138เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2020 06:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2020 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท