จะพัฒนาการสื่อสารถึงรากเหง้า ต้องกลับมาย้อนตามดูรู้เท่าทันตัวเราเอง


ไหนๆก็เขียนเรื่องการมองหลายมุมเพื่อปรับคุณภาพชีวิตและการงานไปแล้ว วันนี้ก็ขอต่อเรื่องการสื่อสารเป็น Self-Note บ้าง

ในทุกการสื่อสาร คนแรกที่เราสื่อสารด้วยโดยแท้ก็คือตัวเราเอง

คนที่อ่านข้อความที่เราโพสต์คนเเรกนี่ ใช่ใคร ก็ตัวเราเอง

เราพูดชมใคร ด่าใคร แม้เก็บไว้ในใจ แต่คนแรกที่รู้ก็คือตัวเราเอง

ในทุกการสื่อสาร แท้จริงแล้วเริ่มจากเรา คุณภาพในการสื่อสารจึงเริ่มจากเครื่องปรุงหลักคือตัวเรา

ถ้าเป็นส้มตำ เรานี่ก็เหมือนเส้นมะละกอล่ะนะ

การสร้างสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมก็ดี การยกระดับการสื่อสารสาธารณะก็ดี เป้าหมายจึงไม่ใช่อยู่ภายนอกอย่างแยกส่วน S-M-C-R ไปซะทีเดียว แต่ weight หรือน้ำหนักมันน่าจะอยู่ที่ส่วนผสมหลัก นั่นคือ คุณภาพของตัวเรา

ถ้าเส้นมะละกอมันไม่สดใหม่ ตำส้มตำยังไงก็ไม่อร่อย

...........................................................................

เมื่อการสื่อสาร คือการเริ่มจากตัวเรา จะพัฒนาการสื่อสารถึงรากเหง้าได้ก็ต้อง การกลับมาย้อนตามดูรู้เท่าทันตัวเราเอง

ตรงนี้เป็นเรื่อง Outside-In เพื่อยกระดับสู่ Inside-Out

ในทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรม นอกจากเราจะให้ความสำคัญกับ native's point of view หรือมุมมองวิธีคิดของคนในท้องถิ่นแล้ว เรายังต้องฝึกมองจากมุมของคนภายนอกที่ไม่ใช่ตัวเราอีกด้วย พูดง่ายๆ เหมือนถอยตัวเองออกจากจุดที่เราอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ แล้วมองกลับเข้ามา โดยมองให้เห็นบทบาทของตัวเราที่กำลังแสดงอยูในสถานการณ์นั้นๆด้วย

ไม่ใช่ Outside in แบบ Bird's eye view แต่อันนี้เป็น Outside-In แบบนักมานุษยวิทยา เป็นการมองเชิงคุณภาพ คือ มองจากมุมภายนอก โดยมองให้เห็นและวิพากษ์หรือสะท้อนบทบาทตัวเองออกมา

เป็น Self-Reflection ที่เห็นทั้งนอกและใน

เป็นการมองให้เห็นทั้งเหตุผลและอารมณ์ของผู้คน รวมถึงตัวเราเองที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น

มองโดยไม่ใช้เพียง "ตานอก" แต่ต้องใช้ "ตาใน" มองร่วมกันไป

............................................................................

การฝึกมองอย่างลึกซึ้งมาที่ตัวเราเอง เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่จะยกระดับเราทั้งในชีวิต การสื่อสารและหน้าที่การงาน

หากจะดูในส่วนของการพัฒนาชุมชนแล้ว เราอาจจะจำแนกการมองได้สี่รูปแบบ (อันนี้ ทฤษฎีภาคสนามจากผมเอง)

1) ตัวเราเป็นผู้มอง : เรามองเห็นตัวเองเป็นอย่างไร

2) มองในมุมของชาวบ้าน : ชาวบ้าน (ที่หลากหลาย) แต่ละกลุ่มเขามอง เขาคิดกับเราอย่างไร

3) มองจากมุมของคนที่เป็นหน่วยงาน ภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ : หน่วยงาน ภาคี แต่ละที่เขามอง เขาคิดกับเราอย่างไร

4) มองจากมุมคนหรือองค์กร เครือข่ายที่อยู่วงนอก ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่มีผลต่อเราทางอ้อม เขาเหล่านั้น รู้สึกนึกคิดกับเราอย่างไร

บางคนอาจจะบอก แหม ทำไมต้องคิดอะไรมาก ก็แค่ทำดีๆไป ใครรักไม่รักก็ช่าง เอ่อ สมัยก่อนผมก็ว่าดีนะ แต่พออายุมากๆก็คิดใหม่ว่า อื่ม บางทีเรายังใช้สติปัญญาไม่พอ หรือใช้ไม่เป็น

ถ้าทำดีแล้วมีคนถอยห่างไปเรื่อยๆ มีคนไม่พอใจ เพื่อนภาคีเครือข่ายชักถอยห่าง ซึ่งแน่นอน เราไม่สามารถทำให้ใครพอใจได้ทั้งหมด เราอาจจะบอกว่า เฮ้ย นี่เราก็ทำดีแล้วไง นานๆไปเดี๋ยวเขาก็รู้เองแหละ อย่างนี้ก็ชวนคิดต่อว่า อ้าว แล้วถ้าเขาไม่รู้ล่ะ แล้วสะสมความขุ่นเคืองต่อเราขึ้นเรื่อยๆ ก็เท่ากับเราไม่ได้ช่วยอะไรให้เขาเข้าใจเลย

แต่ก็อย่างที่บอกครับ เราเปลี่ยนท่าทีของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่คิดลบกับเรา กับแนวทางของเราตรงๆไม่ได้ ต่อให้ใช้สื่อขั้นเทพ ลงทุนเป็นล้านก็ใช่จะง้างใจคนให้โน้มลงมาเหมือนเสกมนต์

หากถ้าเราปรับเปลี่ยนการสื่อสาร โดยเริ่มจากการสะท้อน (Self-Reflection) ตัวเองจากมุมมองที่หลากหลาย ย้ำอีกที จากมุมมองวิธีคิดของผู้คนที่หลากหลาย (ดูจาก 4 ข้อข้างต้น) อุปสรรคเหล่านี้ จะลดน้อยลงไปได้มาก

คิดจะเปลี่ยนใคร จะสื่อสารกับใครในเรื่องสำคัญๆ จะให้ได้ผลดีจึงต้องเริ่มที่ความเข้าใจตัวเราให้ถ่องแท้

........................................................................

Self-Reflection & Self-Analysis in Diversity of View การสะท้อน วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง เป็นวินัยสำคัญของคนทำสื่อ ซึ่งเป็นหลักที่ใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพนะครับ

อย่างเวลาผมจะลงพื้นที่ที่ไหน ผมมักจะถามตัวเองเสมอๆว่า ชาวบ้านแต่ละกลุ่มในหมู่บ้านนั้น เขารู้สึกนึกคิด เขามองผมอย่างไร มองในที่นี้ ไม่ใช่มองแต่หน้าที่การงานนะครับ แต่การมองของชาวบ้าน เขามักจะมองแบบองค์รวม คือ ดูพื้นที่ชีวิต ครอบครัว กำพืด นิสัยใจคอ บุคลิก ไลฟ์สไตล์ เหตุการณ์ประสบการณ์ต่างๆที่เจอผม รวมถึงภาพลักษณ์ข้อมูลในสื่อต่างๆที่มีผมอยู่ ประกอบกันไปแล้วประเมินตัวผมเงียบๆ กลายเป็นชุดความเชื่อที่เขามีต่อตัวเรา

ชุดความเชื่อที่ชาวบ้านมีต่อตัวเรานี่สำคัญมากครับ ถ้ามันเอนไปทางบวก ก็เป็นศรัทธา แต่ถ้าเอนไปทางลบ ก็กลายเป็น อคติ ภาษาธุรกิจอาจจะเรียกได้ว่าเป็น Brand ถ้าทางสังคมวิทยาก็เรียกได้ว่าเป็น Social Identity หรืออัตลักษณ์ทางสังคม เจ้าสิ่งนี้ มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจร่วม หรือไม่ร่วมในงานพัฒนาชุมชน หรือถ้าร่วมจะร่วมในระดับไหน ร่วมมาก ร่วมน้อย ร่วมหลอกๆ หรือร่วมจริงจัง

รวมถึง การเปิดใจรับสื่อที่เราส่งไปให้เค้าด้วย

เบสิคในเรื่องสื่อคือ S-M-C-R แต่ถ้าจะเอาให้ถึงภาคสนาม น่าจะต้องปรับ Mindset ไปให้ถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย

กำแพงที่กั้นเราไว้ ผมคิดว่าน่าจะเป็น ความกลัวที่จะออกจาก Comfort Zone หรือ Safe Zone หรือ Safety Net

การสื่อสารจะเป็นมากกว่าการผลิตสื่อตามตัวชี้วัดได้หรือไม่ คำตอบไม่ได้อยู่ภายนอก แต่อยู่ที่การปรับ Mindset สู่การยกระดับสมรรถนะภายใน อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเรื่องของการมองตัวเองในเชิงวิพากษ์จากต่างมุม

เพราะบุคคลแรกที่เราสื่อสารด้วยคือตัวเรา

หมายเลขบันทึก: 678122เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2020 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2020 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท