การนำเสนอผลของการประเมินกิจกรรมหรือโครงการพัฒนา



การนำเสนอผลของการประเมินกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาทำได้ ๒ แบบ  คือนำเสนอแบบรวบยอด ตีความจากประมาณการค่าเฉลี่ย   กับ นำเสนอแบบแยกแยะ จัดกลุ่มผลงานดี  ปานกลาง  และต้องปรับปรุง

การเสนอแบบแรก นิยมในการประเมินเพื่อบอกว่าโครงการนั้นดำเนินการได้ผลดีหรือไม่ดี    เน้นที่ summative evaluation    ซึ่งสังคมไทยคุ้นกับการประเมินแบบนี้    ประเมินแล้วก็จบ

แต่ผมชอบการนำเสนอแบบหลังมากกว่า    คือการนำเสนอแบบแยกแยะ    โดยอาจแยกแยะได้หลายแบบ    รวมทั้งมีการนำเสนอตัวอย่างที่ดำเนินการได้ดีเยี่ยม  กับตัวอย่างที่ต้องแก้ไขสุดๆ ด้วย  ในลักษณะนำเสนอแบบตอบคำถาม why ... ทำไมจึงได้ผลดีเลิศ    ทำไมจึงต้องแก้ไขอย่างยิ่ง     การนำเสนอแบบนี้นำไปสู่การคิดอ่านดำเนินการปรับปรุง และนี่คือการนำเสนอในลักษณะของ DE – Developmental Evaluation   ซึ่งเป็นการประเมินเพื่อช่วยให้การดำเนินโครงการบรรลุผลสำเร็จ   

การนำเสนอแบบแยกแยะอาจแยกแยะได้หลายแบบ    อย่างโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองของ กสศ. (๑)ดำเนินการพัฒนาโดย ๕ สำนัก   สำนักละ ๒๐ - ๗๕ โรงเรียน รวม ๒๙๐ โรงเรียน    ทีมประเมินสามารถเก็บข้อมูลความก้าวหน้า วิเคราะห์ และนำเสนอแบบแยกแยะได้หลายชั้น    ที่ทำอยู่แล้วคือแยกแยะเป็นรายสำนักพี่เลี้ยงหรือโค้ช    แต่ผมคิดว่าในกลุ่มโรงเรียนของแต่ละสำนักพี่เลี้ยงก็น่าจะแยกแยะ เป็นโรงเรียนที่ดำเนินการก้าวหน้าดี  ปานกลาง  และ ต้องปรับปรุง  

 และน่าจะแยกแยะเป็นราย Core Learning Outcome ที่คาดหวัง ซึ่งได้แก่  (๑) ทักษะ (skills) มี ๕ ตัวคือ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking),  คิดสร้างสรรค์ (creativity),  การสื่อสาร,  อาชีพ,  และ ทักษะชีวิต  (๒) คุณลักษณะ (character) มี ๓ ตัวคือ มีวินัย  ซื่อสัตย์  จิตสาธารณะ    โดยอาจรายงานว่ามีกี่โรงเรียน ที่พัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ได้ดี  ปานกลาง และต้องปรับปรุง    ใส่ชื่อโรงเรียนไว้ด้วย  

เมื่อรายงานผลแยกแยะทีละ CLO    ก็จะทำให้มีการสานเสวนาและเรียนรู้ข้ามโรงเรียน ข้ามสำนักโค้ช ในวิธีการพัฒนา CLO แต่ละตัว   

หัวใจคือ การนำเสนอผลการประเมิน ต้องเป็นเครื่องมือให้เกิดการเรียนรู้และปรับปรุง

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 677794เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2020 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2020 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท