ชีวิตที่พอเพียง 3709. ความฉลาดรวมหมู่ : ๖. มีอิสระในการใช้ความฉลาด



บันทึกชุด ความฉลาดรวมหมู่ตีความจากหนังสือ Big Mind : How Collective Intelligence Can Change Our World  (2018) เขียนโดย Geoff Mulgan ศาสตราจารย์ด้าน collective intelligence, public policy & social innovation แห่ง UCL  และเป็น CEO ของ NESTA    โดยในตอนที่ ๖ นี้ ตีความจากบทที่ 8  The Autonomy of Intelligence

สาระสำคัญคือความฉลาดที่แท้มาจากการลงมือทำหรือทดลอง    หากจะให้ความฉลาดออกฤทธิ์ต้องให้อิสระ (autonomy) ในการทดลองทำ    แล้วเรียนรู้จากข้อบกพร่องหรือผิดพลาด     โดยต้องมีกลไกตรวจสอบและป้องกันการใช้ความมีอิสระไปในทางชั่วร้ายด้วย    สังคมที่ปิดกั้นความมีอิสระในการทดลองสิ่งใหม่ๆ เท่ากับปิดกั้นความเจริญก้าวหน้าของสังคมนั้น  

โลกต้องการความฉลาดรวมหมู่เพื่อการสร้างสรรค์    และเวลานี้อารยธรรมโลกได้สร้างความฉลาดรวมหมู่ขึ้นมารับใช้มนุษย์มากมาย    สร้างความสะดวกสบายเป็นอันมาก    หากจะให้การรวมหมู่ของมนุษย์เกิดความฉลาดรวมหมู่ยิ่งขึ้น    เพื่อความสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น  สนองคุณค่าที่สูงยิ่งขึ้น ต้องลดการควบคุมลง    สร้างกติกาให้กลุ่มควบคุมตนเอง ตามชื่อบทในหนังสือ – Autonomy of Intelligence     

กลไกรวมหมู่เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม    แต่พลังที่ใช้เพื่อการรวมหมู่อาจเป็นความฉลาดก็ได้  หรือในทางตรงกันข้าม เป็นความเชื่องมงายรวมหมู่ก็ได้   ในลักษณะความเชื่อคล้ายวิกลจริตหมู่    หนังสือบอกว่าวิธีสร้างความเชื่องมงายรวมหมู่วิธีหนึ่งทำโดยสร้างความเชื่อแบบทวนกระแส (cognitive dissonance)    

แต่ที่ดาดดื่นคือ ความเขลาแบบมองการใช้ประโยชน์สิ่งของแบบตายตัว (functional fixedness)     ที่ผู้คนตกหลุมพรางมองสถานการณ์ใดสถานการ๖ณ์หนึ่งด้วยมุมมองมุมเดียว    เนื่องจากเราถนัดที่จะแก้สถานการณ์แบบนั้น    ที่เรายกตัวอย่างกันบ่อยคือเพราะเราถือค้อน    สิ่งที่มองเห็นจึงเป็นตะปูไปหมด    เขายกตัวอย่างเกมเทียนไข    ให้แบ่งกลุ่มผู้เล่นเป็นกลุ่มละสามสี่คน    ให้สิ่งของสามอย่างคือ เทียนไข  ตะปูเป๊ก   และกลักไม้ขีด    โจทย์คือ ให้จุดเทียนไขติดกับผนัง     กลุ่มไหนทำสำเร็จเร็วที่สุดชนะ    เฉลยว่า ต้องมองกลักไม้ขีดว่าใช้รองรับเทียนไขได้ด้วย    เมื่อเอาตะปูเป๊กตอกยึดกลักไม้ขีดเข้ากับผนังไม้    กลักไม้ขีดก็สามารถทำหน้าที่เป็นเชิงเทียนได้  

เป็นที่รู้กันว่า สังคมที่เปิดให้สมาชิกแสดงความฉลาดออกมาได้อย่างมีอิสระ (autonomy) จะเจริญก้าวหน้ากว่าสังคมที่ปิดกั้นหรือจำกัด    และวิธีส่งเสริมให้สมาชิกของสังคมใช้ความฉลาดรวมหมู่ในทางสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำได้โดยส่งเสริมให้ร่วมกันรับใช้อุดมการณ์ที่สูงส่ง (higher purpose)    และมีกลไกป้องกันการใช้ความอิสระไปในทางมิชอบ

ที่จริงโลกสมัยใหม่เต็มไปด้วยสถาบัน หรือกลไก (institution) มากมาย ที่ทำหน้าที่เป็นชาลา (platform)  หรือเป็นระบบ (systems) สำหรับให้มนุษย์ใช้ความอิสระในการใช้ความฉลาดไปในทางดี  ลดทอนความเขลา หรือความชั่ว ที่กล่าวข้างต้น    โดยมีกลไกให้อิสระ  และมีกลไกตรวจสอบ    ตัวอย่างคือ ระบบตลาดเสรี (market economy)   บริษัทธุรกิจ มีผู้สอบบัญชี (auditor) รับอนุญาต ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีและการเงิน   เอาไปนำเสนอในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น    รวมทั้งมีข้อกำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูลกิจการต่อสาธารณะ    และกลไกอื่นๆ อีกมากมาย    รวมทั้งกลไกนักวิเคราะห์ตลาดหุ้น ที่คอยวิเคราะห์ผลประกอบการและการทำธุรกิจของบริษัท บอกแก่สาธารณชน  

สถาบันรัฐบาลชัดเจนมากในเรื่องการใช้ความฉลาดรวมหมู่ของทีมงานของรัฐบาล    โดยมีกลไกตรวจสอบมากมาย  รวมทั้งกลไกความโปร่งใส   และกลไกหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลหลักฐาน ว่านโยบายแบบใด้ใช้ได้ผลดี แบบใดไม่ได้ผลหรือก่อผลร้าย ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนยิ่ง  

ระบบวิทยาศาสตร์ชัดเจนมากในด้านส่งเสริมความอิสระในการสร้างสรรค์รวมหมู่    โดยมีระบบ peer review เป็นกลไกตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำ             

ความผิดพลาด และการสำรวจหาความฉลาดใหม่ๆ

เคล็ดลับสำคัญของความฉลาดรวมหมู่ คือมันเกิดขึ้นจากการกระทำ และการคิดที่สืบเนื่องจากการทำนั้น    ไม่ได้เกิดจากการคิดโดยไม่ทำ ที่เรียกว่าจินตนาการ    ดังนั้นกติกาหรือหลักการสำคัญสำหรับส่งเสริมการเกิดความฉลาดใหม่ๆ คือ  ส่งเสริมให้คนกล้าคิดต่าง    และกล้านำความคิดที่ไตร่ตรองรอบคอบพอสมควรไปลอง     เปิดโอกาสให้ล้มเหลวได้    ไม่มองความล้มเหลวหรือผิดพลาดว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายหรือไม่พึงประสงค์    แต่มองว่าหากต้องการให้เกิดความฉลาดใหม่ๆ    ต้องเปิดกว้างให้มีการลอง (ถือเป็นความมีอิสระอย่างหนึ่ง)     ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่ามีผล ๒ ทาง คือได้ผลที่คาดหวัง กับไม่ได้    ไม่ว่าผลไปทางใด ได้ประโยชน์ในด้านต่อยอดความฉลาดทั้งสิ้น

สังคมที่จะเจริญก้าวหน้าจึงต้องส่งเสริมการสำรวจหาความฉลาดใหม่ๆ    ไม่กลัวหรือปฏิเสธความผิดพลาดหรือล้มเหลวที่ได้รับจากการแสวงหานั้น     และรู้จักเพิ่มพูนความฉลาดจากความผิดพลาดหรือล้มเหลว      

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าในเรื่องใด    ไม่ได้เกิดจากการลงมือทำแล้วสำเร็จเลย    แต่เกิดจากการลงมือทำแล้วรื้อ ปรับแก้ ทำใหม่ จนได้ผลงานที่พอใจ    เขายกตัวอย่างศิลปินด้านทัศนศิลป์ Pablo Picasso    ที่ภาพจินตนาการของเขาไม่ได้เริ่มจากการคิด    แต่มาจากการลงมือวาด    กิจกรรมการวาดภาพทำให้ภาพที่ต้องการวาดผุดขึ้นในสมอง    ไม่ใช่ภาพนั้นผุดขึ้นก่อน    ความฉลาดเกิดจากการกระทำ มากกว่าการคิดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ทำ 

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมอ่านหนังสือชีวิตและผลงานของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ และพบว่าผลงานเขียนของเขาได้รับการแก้แล้วแก้อีก    กว่าจะออกมาเป็นเล่มและได้รับความนิยมกว้างขวาง    เขาบอกว่ากว่าจะได้มาหนึ่งหน้า อาจขยำทิ้งไปเป็นสิบเป็นร้อยแผ่น    สื่อว่า ผลงานระดับอัจฉริยะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายๆ    แต่ผ่านการใช้ความฉลาดครั้งแล้วครั้งเล่า (๑)           

ความฉลาด  ภาษา  และ การสื่อสาร

ภาษาและการสื่อสาร เป็นเครื่องมือ หรือเป็นสื่อกลาง (medium) หรือเป็นตัวแทน (representation)  ให้เกิดความฉลาดรวมหมู่     แต่ทั้งภาษา และการสื่อสารไม่ได้เป็นสื่อกลางที่เป็นกลางหรือไร้ตัวตน    ภาษาและการสื่อสารเป็นมากกว่าตัวแทน คือมีตรรกะอยู่ภายใน   

คนแต่ละกลุ่มมีภาษาที่ใช้ร่วมกัน เพื่อการสื่อสารความหมายจำเพาะที่ลึกและเข้าใจร่วมกันได้ง่าย    เช่นสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์  สูตรทางฟิสิกส์  ศัพท์ทางแพทย์  มาตรฐานอุตสาหกรรม 

เป็นที่รู้กันว่าในการสื่อสารนั้น สาระที่สื่อจะค่อยๆ เสื่อมคุณภาพลงไป   เกิดความผิดพลาด  หรือมีการตีความผิด    สาระที่ผู้สื่อสื่อออกไป กับสาระที่ผู้รับเข้าใจจะไม่มีวันตรงกันทั้งหมด นี่คือความเป็นจริง   

ในการสื่อสารกันนั้น มนุษย์ใช้การอ่านใจซึ่งกันและกัน   สำหรับนำไปสู่ความร่วมมือกัน   ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าคนเราอ่านใจกันได้ไม่หมด หรือบางครั้งอ่านผิด โดยไม่รู้ตัว    ทั้งๆ ที่อ่านใจผ่านทั้งภาษาพูดและภาษากายอย่างละเอียดลออ  

เพื่อให้การสื่อสารมีความแม่นยำ และมีพลัง สำหรับให้เกิดความฉลาดรวมหมู่ที่ใช้การได้ดี    เขาแนะนำหลัก 3R ได้แก่  repetition,    redundancy, และ rules    กล่าวคือ 

การทำซ้ำๆ (repetition) ใช้มากในเกือบทุกกิจการ   ทั้งในดนตรี  การสวดมนตร์ทางศาสนา    การกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำองค์กรที่กล่าวย้ำวิสัยทัศน์และค่านิยมขององค์กรทุกครั้ง  ในทางการทหารมีการกล่าวทวนคำสั่ง   ในห้องผ่าตัดมี checklist ที่ต้องสอบทานกันก่อนและหลังการผ่าตัด   พนักงานสองคนต้องสอบทานขั้นตอนกันก่อนเปิดประตูเครื่องบินทุกครั้ง เป็นต้น

การมีขั้นตอนหรือกระบวนการเพิ่มเผื่อเหลือเผื่อขาด (redundancy) มีอยู่เสมอในกิจกรรมที่ต้องการความแม่นยำหรือความปลอดภัยสูง    ดูเผินๆ เป็นขั้นตอนที่ไม่จำเป็น  แต่ต้องเพิ่มขึ้นมาเพื่อช่วยป้องกันความผิดพลาด    redundancy พบบ่อยที่สุดในการพูด จะมีคำสร้อยคำซ้ำ ประโยคซ้ำ ประโยคเสริม เต็มไปหมด เพื่อช่วยให้การสื่อสารและรับสารตรงกัน   

ความระมัดระวังเรื่องความรู้ (Epistemic Vigilence)

การสื่อสารความฉลาดที่สำคัญที่สุดของมนุษย์คือการโต้แย้ง (argument)    การโต้แย้งในลักษณะของการแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อคิดเห็นที่แตกต่างกัน เป็นบ่อเกิดของปัญญา    และเป็นกลไกความระมัดระวังเรื่องความรู้ (epistemic vigilence)    เพราะมนุษย์มีธรรมชาติสื่อสารขยายความความรู้ออกไปเกินขอบเขตของข้อมูลหลักฐาน (evidence)    จึงต้องมีกลไกตรวจสอบระมัดระวังการสรุปที่เกินเลยจากข้อมูลหลักฐาน    ในทางวิชาการกลไกนี้คือ peer review  

ดังนั้น การมีอิสระในเรื่องการสร้างและใช้ความฉลาด จึงเป็นอิสระแบบมีเงื่อนไข    คือมีกลไกการตรวจสอบ    รวมทั้งผู้รับสารก็ต้องมีวิจารณญาณว่าการสื่อสารความฉลาดในกรณีนั้นๆ น่าเชื่อถือได้พียงใด ในระดับไหน  ภายใต้บริบทหรือข้อจำกัดใด      

วิจารณ์ พานิช  

๑๐ พ.ค. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 677775เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2020 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2020 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท