คติการวางเหรียญเงินบนตาผู้ตาย (Charon's obol)


#บทความ

เรื่อง คติการวางเหรียญเงินบนตาผู้ตาย

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (16 พฤษภาคม 2563)

ในภาพยนตร์ From Hell (2001) ชำแหละพิสดารจากนรก สารวัตร เฟรดเดอริก แอบเบอลิน ได้วางเหรียญเงินบนตาทั้งสองข้างของผู้ตาย โดยบอกกับผู้ช่วยของเขาว่า ผู้หญิงโสเภณีคนนี้ยากจน จะไม่มีเงินค่าจ้างคนพายเรือเพื่อนำพาดวงวิญญาณไปสู่โลกหลังความตาย

"For the ferryman. The ferryman who takes their body across the river and into the land of the dead. If she don't have the money to pay him, she'd be left to wander forever lost between the two worlds."

คติความเชื่อเรื่องการวางเหรียญไว้บนตาของผู้ตายนั้นแพร่กระจายไปทั่วยุโรป ปฏิบัติสืบทอดกันมานานนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ชาวยุโรปเชื่อว่าหากมีการขโมยเงินปิดตาของผู้ตายถือว่าเป็นการกระทำที่ชั่วช้าเลวทรามมาก เลวร้ายยิ่งกว่าการปล้นสมบัติจากหลุมศพซะอีก เพราะการเอานำเงินจากตาของผู้ตายไปนั้นจะทำให้ผู้ตายไม่สามารถเดินทางไปสู่ปรโลกได้

ในภาพยนตร์เรื่อง Troy (2004) ภาพยนตร์ที่สร้างจากมหากาพย์อีเลียดของโฮเมอร์ ว่าด้วยการทำสงครามแย่งชิงนางเฮเลน ระหว่างสมาพันธกรีกที่นำโดยรัฐสปาร์ตากับกรุงทรอย สงครามยืดเยื้อกินเวลานับ 10 ปี ท้ายที่สุดสมาพันธรัฐกรีกก็สามารถเอาชนะกรุงทรอยได้โดยการใช้อุบายสร้างรถม้า จนขนานนามเรียกสงครามครั้งนี้ว่าสงครามม้าไม้ ในสงครามครั้งนี้ มีนักรบฝั่งสมาพันธรัฐกรีกคนหนึ่งที่มีความเก่งกาจคืออคิลริส อคิลลีสเป็นโอรสของพีลยูส แห่งอาณาจักรเมอร์มาดอนได้ร่วมทำสงครามครั้งนี้ด้วย อคิลลีสได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งนักรบเป็นผู้ที่มีฝีมือการต่อสู้ฉกาจฉกรรจ์มากที่สุดคนหนึ่งในกองทัพกรีก เขาเป็นคนสำคัญที่สุดที่มีส่วนให้สมาพันรัฐกรีกสามารถเอาชนะทรอยได้ เหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งคือในการรบที่ไม่รู้จักการรู้แพ้รู้ชนะนานนับหลายปีนั้น พะทรอคลัส ผู้เป็นเพื่อนรักของอคิลลีส แต่ในภาพยนตร์อธิบายว่าเขาคือน้องชายของอคิลลัส พะทรอคลัส ออกรบกับเฮกเตอร์แม่ทัพคนสำคัญของกรุงทรอย เฮกเตอร์ได้ฆ่าพะทรอคลัส เสียชีวิต เมื่ออคิลลีสทราบข่าวก็โกรธแค้นมาก ออกไปท้ารบแบบตัวต่อตัวกับเฮกเตอร์ การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดแต่สุดท้ายแล้วอคิลลีสก็เป็นฝ่ายชนะฆ่าเฮกเตอร์ได้ เพื่อให้สาสมแก่ใจ อคิลลีสได้ผูกศพเฮกเตอร์ไว้กับรถม้าแล้วลากศพนั้นไปทั่วเมืองทรอย จากนั้นก็เก็บศพเฮกเตอร์ไว้ในค่ายของพวกกรีก ในค่ำคืนหนึ่งกษัตริย์กรุงทรอยได้ปลอมตัวเข้ามายันในค่ายของกรีกมาพบกับอคิลลีสเป็นการส่วนตัว เพื่อจะขอร้องนำศพลูกชาย ของพระองค์ไปทำพิธีกรรม ด้วยการนำเหรียญเงินวางไว้บนดวงตาแล้วจึงทำการเผาศพเพื่อให้ดวงวิญญาณของแฮกเตอร์ไปสู่สุคติ

ส่วนในมหากาพย์โอดีสซีย์ของโฮเมอร์ ที่เป็นภาคต่อของอีเลียด เรื่องหลังสงครามกรุงทรอย หลังจากที่ฝ่ายกรีกชนะแล้ว โอดิสิอุซ กษัตริย์แห่งอิธาคา ผู้ซึ่งต้องจากภรรยาและลูกมารบถึง 10 ปี เกิดความแค้นใจท้าทายเทพโพไซดอน โดยการประกาศว่าในชัยชนะของพวกกรีก เป็นผลมาจากที่เขาเป็นต้นคิด โดยการใช้อุบายม้าไม้ ไม่ได้เกิดจากการดลบันดาลของเทพโพไซดอนแต่อย่างใดทำให้เทพโพไซดอนโกรธแค้นและสาปแช่งโอดิสิอุซไม่ให้สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ซึ่งโอดิสิอุซ ต้องระหกระเหินเรร่อนอยู่กลางทะเลนับ 10 ปี เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งคือ โอดิสิอุซ กับทหารของเขา เดินทางไปถึงเกาะของนางเชอร์ซี (Circe) เมื่อเรือไปจอดที่ฝั่งโอดิสิอุซ ได้ปีนขึ้นไปบนเขามองเห็นปราสาทหลังใหญ่จึงให้ลูกเรือไปสำรวจ ไม่ว่าใครไปสำรวจก็ไม่ได้กลับออกมา ทำให้โอดิสิอุซต้องเขาไปด้วยตนเอง แต่ระหว่างทางเทพเฮอร์มีส แปลงกายเป็นหนุ่มน้อยมาคอยเตือนให้ระวังตัวพร้อมทั้งมอบสมุนไพรต้านยาพิษให้ จากนั้นเมื่อโอดิสิอุซกับเซอร์ซี แม่นางจะได้มอบเหล้าผสมยาพิษให้ดื่ม แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรโอดิสิอุซได้ เพราะได้กินยาต้านพิษไว้แล้ว ดังนั้นนางเซอร์ซีจึงยอมเป็นชายาของโอดิสิอุซ และนาง ก็ได้มอบยาถอนพิษให้กับ ลูกเรือของเขาทั้งหมด โอดิสิอุซอยู่บนเกาะแห่งนี้นานนับหลายปี เมื่อรู้สึกตัวอีกทีก็ต้องการที่จะกลับเมืองของเขาทันที เซอร์ซีจึงแนะนำให้โอดิสิอุซ ไปขอคำปรึกษาจากทูตพยากรณ์ ไทเรสิอัสแห่งธีบส์ที่ยมโลก โดยล่องเรือไปตามแม่น้ำโอเซอร์นัส ที่ไหลวนรอบโลกและเป็นรอยต่อเชื่อมระหว่างโลกกับยมโลก ในซีรีส์เรื่อง The Odyssey (1997) ทำให้เห็นว่าเวลาที่ โอดิสิอุซเดินทางด้วยเรือนั้นจะต้องใช้เหรียญเงินเป็นค่าจ้างภูติเพื่อพายเรือไปส่งยังยมโลก จากนั้นเขาก็สังหารแกะตัวผู้และแกะตัวเมียเป็นการสังเวยภูตไทเรสิอัส และก็ได้คำแนะนำกลับมา

ซึ่งต้นทางความเชื่อของเรื่องการให้เงินกัยผู้ตายนั้นยังมีต้นทางสำคัญมาจากเรื่องตำนานของแม่น้ำสติกซ์ ในเทพปกรณัมกรีกอธิบายว่า แม่น้ำสติกซ์ เป็นแนวที่ใช้แบ่งเขตแดนระหว่างโลกมนุษย์กับยมโลก ไม่ว่าใครก็ตามที่ตายไปแล้วจะต้องเดินทางผ่านแม่น้ำนี้ โดยอาศัย แครอน คนแจวเรือของเทพเฮเดส เทพแห่งยมโลกเป็นผู้พาดวงวิญญาณเพิ่งตายข้ามแม่น้ำนี้เข้าโลกบาดาลหรือโลกหลังความตาย แต่แครอนจะไม่พายเรือให้ใครฟรี ๆ ดวงวิญญาณจะต้องนำเหรียญเงินามามอบให้กับเขาเป็นค่าจ้าง เรียกเงินนี้ว่า "เหรียญของแครอน" (Charon's obol) หากดวงวิญญาณตนไหนไม่มีเงินค่าจ้างแครอนพายเรือ ดวงวิญญาณนั้นจะต้องวนเวียนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนานนับร้อยปี ดังนั้นญาติของผู้เสียชีวิตจึงต้องนำเหรียญเงิน ใส่ไว้ที่ปากของผู้ตายหรือไม่ก็วางไว้ที่ดวงตาของผู้ตายเพื่อเป็นเงินค่าจ้างให้กับแครอนให้นำพาดวงวิญญาณไปสู่สุคติ

นอกจากความเชื่อเรื่องการใช้เงินจ้างผู้พายเรือไปยังยมโลกแล้ว ยังเชื่อว่าหากไม่มีการปิดดวงตาของผู้ตาย ผู้ตายจะเห็นความตายของตัวเอง อีกทั้งการวางเหรียญไว้บนดวงตาของผู้ตายนั้นเป็นการบังไม่ให้ผู้อื่นเห็นดวงตาผู้ตายที่ปิดไม่สนิท หรือสำหรับบางศพนั่นเมื่อตายหลายชั่วโมง ดวงตาอาจถูกแมลงแทะกิน หรือดวงตายุบลงไปจนโบ๋ จึงวางเงินไว้เพื่อเป็นการปกปิดไม่ให้ผู้อื่นเห็น ประมาณว่าให้ผู้ตายนั้นได้ตายอย่างสงบ

สำหรับประเทศไทยก็มีคติความเชื่อเรื่องการใส่เงินไว้ในปากของผู้ตายด้วยเช่นกัน โดยมีความเชื่อว่า ดวงวิญญาณจะนำเงินนั้นไปใช้สอยในโลกหลังความตาย เงินที่ใส่ไว้ในปากของผู้ตายนั้นถือว่า เป็นค่าจ้างให้กับสัปเหร่อด้วยเมื่อมีการปลงศพเรียบร้อยแล้วสัปเหร่อก็สามารถนำเงินไปใช้ได้ และอีกคติความเชื่อหนึ่งก็คือเป็นการ แสดงมรณานุสติให้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อผู้ที่ตายไปแล้วไม่ว่าจะมีทรัพย์สมบัติมากเพียงใด ก็ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ แม้แต่เงินที่ใส่ไว้ในปาก ก็ยังถูกควักออกมาได้ แต่สิ่งที่จะสามารถนำติดตัวไปได้ก็คือ บุญบาปที่เคยกระทำเอาไว้นั่นเอง ขอแนะนำภาพยนตร์ไทยที่แสดงถึงพิธีกรรมการจัดการศพไว้อย่างดีที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย แทบจะตามตำราประเพณีเนื่องในการตาย ของ เสฐียรโกเศศ และมีการนำเงินใส่ถุงผ้าใส่ไว้ในปากของผู้ตายด้วยภาพยนตร์เรื่องนี้คือ นางตะเคียน (2557)

ภาพยนตร์ Form Hell ไม่ได้มีดีเพียงแค่ใช้บริการนักแสดงระดับแม่เหล็กของฮอลลีวูด คือ จอห์นนี เดปป์ หรือการสร้างบรรยากาศการย้อนยุคไปสู่ช่วงศตวรรษที่ 19 เท่านั้นแต่ยังมีดีที่การนําหยิบยกเรื่องราวในอดีตคือคดี แจ๊คเดอะริปเปอร์ การนำองค์กรฟรีเมสัน การนำคติความเชื่อเรื่องความตาย และการนำคติเรื่อง ลางสังหรณ์และญาณวิเศษมาผูกเชื่อมโยงกันไว้อย่างน่าสนใจ สร้างเสน่ห์ให้กับภาพยนตร์ไม่น้อยเลย

เอกสารประกอบการเขียน

Mowery, Dub. The Gilmer Mirror (2014). "He'd steal the pennies off of a dead man's eyes" สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2563. จาก http://www.gilmermirror.com/view/full_story/24257667/article--He-d-steal-the-pennies-off-of-a-dead-man-s-eyes-?

Tetrault, Sam. (2020). "Charon’s Obol: Why People Put Coins on the Eyes of the Dead" สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2563, จาก https://www.joincake.com/blog/...

รมณีย์ กอวัฒนา. (2561). เทพนิยายที่เป็นพื้นฐานของวรรณคดี. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

หมายเลขบันทึก: 677685เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2020 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2020 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท