พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) ๓๒. มหาโคสิงคสูตร เรื่องความงามของป่า


๓๒. มหาโคสิงคสูตร  เรื่องความงามของป่า

ป่างามด้วยภิกษุมีคุณสมบัติเช่นไร

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน พร้อมด้วยพระเถระผู้เป็นพระสาวกที่มีชื่อเสียงหลายรูป คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และพระเถระผู้เป็นพระสาวกที่มีชื่อเสียงรูปอื่น ๆ

ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะออกจากฌาน ในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกับท่านพระมหากัสสปะว่า “เราไปกันเถิด ท่านกัสสปะ เราจักเข้าไปหาท่านสารีบุตรถึงที่อยู่เพื่อฟังธรรม”

ท่านพระมหากัสสปะรับคำแล้ว ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ และท่านพระอนุรุทธะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ และท่านพระอนุรุทธะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม จึงเข้าไปหาท่านพระเรวตะถึงที่อยู่ แล้วกล่าวกับท่านพระเรวตะว่า “ท่านเรวตะ ท่านสัตบุรุษเหล่าโน้นกำลังเข้าไปหาท่านสารีบุตรเพื่อฟังธรรม เราไปกันเถิด ท่านเรวตะ เราจักเข้าไปหาท่านสารีบุตรเพื่อฟังธรรม”

ท่านพระเรวตะรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะและท่านพระอานนท์เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม

ท่านพระสารีบุตรได้เห็นท่านพระเรวตะและท่านพระอานนท์กำลังเดินมาแต่ไกล แล้วได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า “ท่านอานนท์ จงมาเถิด ท่านอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค ได้มาดีแล้วป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”

ทรรศนะของพระอานนท์

ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูตทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ และแทงตลอดดีด้วยทิฏฐิภิกษุนั้นแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและพยัญชนะที่เรียบง่ายและต่อเนื่องไม่ขาดสายเพื่อถอนอนุสัย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระเรวตะ

เมื่อพระสารีบุตรถามท่านพระเรวตะ ท่านก็ตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่างท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระอนุรุทธะ

เมื่อพระสารีบุตรถามท่านพระอนุรุทธะ ท่านก็ตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ บุรุษผู้มีตาดีขึ้นปราสาทอันโอ่อ่าชั้นบน จะพึงมองดูวงกลมแห่งกงล้อจำนวน ๑,๐๐๐ ได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระมหากัสสปะ

เมื่อพระสารีบุตรถามท่านพระมหากัสสปะ ท่านก็ตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร ตนเองเป็นผู้มักน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อยตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สันโดษ ตนเองเป็นผู้สงัดและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สงัด ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ไม่คลุกคลี ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ปรารภความเพียร ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระมหาโมคคัลลานะ

เมื่อพระสารีบุตรถามท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุ ๒ รูปในพระธรรมวินัยนี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ รูปนั้น ถามปัญหากันและกันแล้วย่อมแก้กันเองไม่หยุดพัก และธรรมกถาของเธอทั้ง ๒ นั้นก็ดำเนินต่อไปท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระสารีบุตร

ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า“ท่านสารีบุตร พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้ ผมขอถามท่านสารีบุตรในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่างไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตน และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น หีบผ้าของพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมแล้วเป็นสีต่างๆ พระราชาหรือราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเช้า ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเช้า หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเที่ยง หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเย็น ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเย็น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตน และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้าก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยงก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็นก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรงรับรองทรรศนะของพระเถระทั้งหมด

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นว่า “ท่านทั้งหลายพวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน พวกเราไปกันเถิด พวกเราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจักกราบทูลเนื้อความนี้แด่พระองค์ พระผู้มีพระภาคจักทรงตอบแก่เราทั้งหลายอย่างใด พวกเราก็จักทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างนั้น”

ท่านเหล่านั้น รับคำแล้ว จากนั้น ท่านเหล่านั้นก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลเรื่องราวนั้นต่อพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร อานนท์เมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่าอานนท์เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุดพร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อานนท์นั้นแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและพยัญชนะที่เรียบง่ายและต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพื่อถอนอนุสัย”

สารีบุตร เรวตะเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า เรวตะเป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌานประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง”

อนุรุทธะเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า อนุรุทธะย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์”

กัสสปะเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า กัสสปะนั้น ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร ตนเองเป็นผู้มักน้อยและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สันโดษ ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สงัด ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ไม่คลุกคลี ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ปรารภความเพียร ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ”

โมคคัลลานะเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า โมคคัลลานะเป็นธรรมกถึก”

สารีบุตรเมื่อตอบอย่างถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า สารีบุตรทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตน และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น”

ป่างามด้วยความเพียร

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “คำของใครหนอเป็นสุภาษิต พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร คำของเธอทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยเหตุนั้นๆ แต่เธอทั้งหลายจงฟังคำของเรา หากมีคำถามว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เราจักตอบว่า ‘สารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้กลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ว่า‘จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น และไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น’ สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสูตร เล่มที่ ๔  มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๔. มหายมกวรรค  หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดใหญ่

๒. มหาโคสิงคสูตร ข้อที่ ๓๓๒ - ๓๔๕  

หมายเลขบันทึก: 677653เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2020 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท