เด็ก ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า "กลุ่มเสี่ยง" และ วัฒนธรรมของชาวบ้านมิใช่จำเลยเสมอไป


เด็ก ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า "กลุ่มเสี่ยง" และ วัฒนธรรมของชาวบ้านมิใช่จำเลยเสมอไป

---------------------------------------------------------

วานนี้ เข้าประชุมในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านสวัสดิการเด็ก ของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแจ้งให้ทราบในที่ประชุม

การแลกเปลี่ยนทางความคิดมีน้อยไปนิดสำหรับรอบนี้

โดยเฉพาะฝั่งผู้แทนจากภาคประชาสังคม และเด็กเยาวชน ที่มีส่วนร่วมในงานด้านเด็กโดยตรงและในเชิงลึก มีส่วนได้เเสดงความคิดเห็นน้อยไปหน่อย


ภาครัฐอย่าง พมจ. รอบนี้ นำเสนอได้ดีครับ ช่วย defend หลักการคุ้มครองเด็ก ตาม พ.ร.บ. หลายเรื่อง ที่หน่วยงานอื่นไม่ค่อยเข้าใจ และยังมีกำแพง "หัวใจ" กับเด็กชาติพันธุ์และเด็กที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน เด็กพลัดถิ่น ซึ่งเป็น case ที่ซับซ้อน พัวพันข้ามเขตจังหวัด

เข้าใจว่า แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองพิเศษทางธรรมชาติและวัฒนธรรมไม่พอ ต้องเข้าใจว่าที่นี่ เป็นเขตประชากรกลุ่มพิเศษด้วย คือเรามีมีกลุ่มวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีสถานะบุคคลที่หลากหลายมากด้วย

ตรงนี้ จะใช้กรอบคิดและกระบวนการที่ประสบความสำเร็จในที่อื่นมาใช้กับแม่ฮ่องสอน คงยากและไม่มีทางยั่งยืน

---------------------------------------------------------

ท่าน รองผู้ว่าฯ ท่านศันสนีย์ เป็นประธานในที่ประชุม ชอบที่ท่านเสนอให้หน่วยงานต่างๆพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "กลุ่มเสี่ยง" กับเด็ก เพราะคำนี้มีผลต่อการที่เด็ก เยาวชน จะปฏิเสธ และไม่อยากให้ความร่วมมือ

ผมอยากจะบอกว่า คำๆนี้ ในสายตาของหน่วยงาน เราใช้กันจนชาชิน ลืมไปว่า มันเป็นคำที่ "ตีตรา" และเราไม่ค่อยตระหนักถึงเสียงสะท้อนหรือการประเมินจากประชาชน

ท่านเสนอให้ใช้คำกลางๆแทน ที่ให้ลองไปคิดกัน จริงๆผมเชื่อว่าหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่ทำงานในลักษณะเสริมพลังจะใช้คำที่ Soft และโดนใจเด็กอยู่บ้างแล้ว ตรงข้ามกับองค์กรที่ทำงานในเชิงอำนาจ ควบคุม กำกับ ดูแล ที่เป็น Hard Power ที่เขาอาจจะไม่เข้าใจ

อันนี้ วัฒนธรรมองค์กรและหัวโขนของงานมันครอบหัวใจของคน

ยังดีที่ รอง ผวจ.มองเห็น แต่เสียดายที่ท่านไม่ได้มีเวลาพอจะเน้น mind set เหล่านี้

เวทีประชุมมีทั้งฝ่าย Hard ฝ่าย Soft ตอบคำถามและอภิปรายกันไปมา

งานนี้ที่ พมจ.จะเหนื่อยก็ตรงการจูนความคิดนี่แหละครับ แต่เราก็ได้เห็นสปริตกัน ว่างานที่ยาก จะมีนักรบที่ขันอาสาสละกายใจออกมารับไปทำให้เสมอ

"คนที่ขันอาสาออกมารับงาน ต่างกับคนที่วิจารณ์แล้วไม่รับทำ"

-------------------------------------------------------------

เหลือเวลา 10 นาทีก่อนจะสี่โมง ผมเห็นหลายคนโดยเฉพาะฝั่งภาคประชาสังคม และองค์กรด้านเด็กไม่มีโอกาสพูดเลย อาจเพราะ บางท่านในที่ประชุมพูดตัดบทออกไมค์ไปว่า จะสี่โมงแล้ว น่าจะได้เวลาละ (คืออยากจบละ)

ผมรู้เลยว่า ถ้าเปิดไมค์พูดเสนอความคิดตอนนี้ เป็นช่วงที่โดนแน่ๆ คือ โดนเคือง เพราะใกล้จะเลิกแล้ว จะเสนอ (หาพระแสงของ้าว) อะไรทำไม แต่มาทั้งที่ไม่พูดอะไรเลย แถมมองหน้ามองตา ภาคประชาสังคม และองค์กรด้านเด็ก ถ้าผมได้พูดอะไรออกมาแทนพวกเขาเหล่านี้บ้าง น่าจะมีประโยชน์

ว่าแล้วก็ขออนุญาตท่านประธานฯนะครับ

1) ผมเล่าถึงความทุกข์ยาก ความน่าเห็นใจของคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในแม่ฮ่องสอน ที่พวกเขาพยายามปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดชีวิต โดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เขามีอยู่

การที่มีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน เราจะมองว่ามาจากครอบครัว ชุมชน วิถีวัฒนธรรมอย่างเดียวไม่ได้ จริงๆเราต้องให้เห็นความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยต่างๆที่ลงมากระทำต่อพี่้น้องกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงบรรดาคนไร้สัญชาติเหล่านี้

ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการศึกษา ตั้งครรภ์ไม่พร้อม เด็กทะเลาะวิวาท เด็กใช้สารเสพติด ก่อคดีต่างๆ วมไปถึงการที่เด็กๆในแม่ฮ่องสอนถูกกระทำ ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

เอาเข้าจริง รัฐและการทำงานของหน่วยงานเองก็มีส่วนในการสร้างปัญหาด้วย

ถ้ามองด้วยความยุติธรรม เราต้องมองถึงเหตุปัจจัยที่มาจากหลายฝ่าย และแต่ละฝ่ายแก้ในฝ่ายตัวเองกันอย่างไร

อันนี้คือ System Thinking ไม่ใช่ไปติดที่ event แก้อะไรได้ทีละเรื่อง วิ่งไปทีละจุดๆก็หมดแรงแล้ว ไม่มีทางยั่งยืน ผมไม่ทันได้สาธยายมาก เพราะดูหลายคนในที่ประชุม งงๆ บางคนกระสับกระส่าย สติไม่ได้ ใจไม่พร้อม อยากกลับกันละ

ไม่เป็นไรครับ ผมเลยมาโพสต์ตรงนี้ ว่าเรื่องเด็ก เยาวชน เราต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนและครอบครัวเป็นหัวใจ

โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอนซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีระยะทางที่ไกล งบประมาณก็น้อย คนรู้หนังสือก็น้อย พื้นที่ติดชายแดน เข้าถึงไม่ง่าย

ต้องอาศัยฐานทางวัฒนธรรมเข้าไปทำงานร่วมด้วย

ลำพังอาศัยอำนาจรัฐ หลักนิติศาสตร์ หรือรวมรัฐศาสตร์เข้าไปไม่พอ เอาสาธารณสุขศาสตร์เข้ามานี่ก็ดีขึ้นครับ หลากหลายขึ้น แต่ยังขาดประวัติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ที่มิติทางสังคมวัฒนธรรม


2) ผมฝากเรื่องมุมมองและการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID

สถิติชี้ชัดว่า ตั้งแต่ต้นปีความรุนแรงต่อเด็ก ทั้งที่เด็กกระทำ และเป็นผู้ถูกกระทำในแม่ฮ่องสอนนั้นสูงขึ้น และแนวโน้มในช่วง COVID นี้ก็น่าห่วง

เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน ข่าวหลายสำนักก็ออกมาระบุว่าเด็กๆเครียดขึ้นเรื่อยๆ และการอยู่บ้าน โอกาสมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ปลอดภัยก็เพิ่ม การไม่มีพื้นที่เล่น ไม่มีกีฬา เด็กๆจะไปรวมกลุ่มทำอะไร เด็กๆเข้าสู่โลกออนไลน์ในท่าทีแบบไหน

คำถามก็คือ ในช่วง COVID นี้เราได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กเยาวชนเขาได้สลายความเครียด ระบายพลังให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร

อย่างน้อยที่สุดในกระบวนการจัดทำฐานข้อมูลด้านเด็กเยาวชน ที่คณะกรรมการคุ้มครองเด็กของจังหวัดกำลังจะทำขึ้นโดยมีสหวิชาชีพร่วม ก็ควรจะมีผู้แทนเด็ก เยาวชน เข้าไปอยู่ในนั้น

นักวิชาการ ผู้บริหารหน่วยงานเองก็ไม่ได้รู้เรื่องเด็กไปซะทุกเรื่อง และที่รู้ที่มีข้อมูลมา บางทีก็ไม่ถูกต้อง

--------------------------------------------------------

ต้องขอบคุณ ท่าน รองผู้ว่าฯ ที่ท่านรับลูก ผายมือไปที่ผู้แทนสภาเด็กเยาวชนแม่ฮ่องสอน ได้พูดความคิดและความในใจออกมาสอดรับกัน

พมจ.เข้าใจและยินดีรับลูกไป ถือว่าเราใช้ 10 นาทีสุดท้าย เป็นนาทีทองที่จะแก้ต่างแทนชุมชน และสร้างสมดุลให้เด็ก เยาวชน ได้ใช้สิทธิและเสียงในกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัดมากขึ้น

ที่พิมพ์มายาวนี่ ไม่ใช่แค่อยากแชร์ให้คนทั่วไปได้อ่าน

แต่อยากให้เห็นหน้าที่และบทบาทภาคประชาสังคมในเวทีคุ้มครองเด็กระดับจังหวัด

และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายกลางด้านเด็ก เยาวชน ชาติพันธุ์ ที่ท่านได้กรุณาติดตามผมเป็นประจำที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้

ทำให้ท่านได้เห็นกระบวนการ จุดเด่น จุดด้อย และช่องว่างที่ส่วนกลางอาจใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาเด็ก เยาวชน ชาติพันธุ์ รวมถึงเด็กที่มีปัญหาสถานะบุคคลในแม่ฮ่องสอน และพื้นที่ชายแดนอื่นๆด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 677591เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2020 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2020 18:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท