จะเข้าใจผู้คนในชุมชนได้ ต้องระวังความคิดแบบตายตัว


"จะเข้าใจน้ำ ก็ต้องรู้จักเมฆ รู้จักหมอก รู้จักลูกเห็บ รู้จักสภาวะ และสถานะที่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและภูมิประเทศของมัน

จะเข้าใจคนก็เช่นกัน"

------------------------------------------------------------

เห็นข่าวเด็กๆทำสารคดี อิ้วเมี่ยนในจังหวัดระนอง ตามลิงค์

https://www.voicetv.co.th/read/YuYjsxOuo

แว่บแรกที่ได้อ่านก็เตะตา อะไรว้า ชาวอิ้วเมี่ยน (เย้า) ในระนอง ไปทำอะไรที่นั่น อยู่คนละภาคกัน และมันเป็นประเด็นที่น่าสนใจได้ยังไง

แว่บที่สอง คิดถึงสิ่งที่ตัวเองเคยสอนนักศึกษาสมัยที่เป็นอาจารย์และไปเลคเชอร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆอยู่เสมอว่า
อย่าด่วนสรุปว่า เราเข้าใจชาวบ้านง่ายๆ

อย่างที่ได้อ่านสกู๊ปนี้ ไม่ได้มีแง่มุมแค่พื้นที่สร้างสรรค์ที่เด็กๆใช้เวลามาทำสารคดี

หากมันสะท้อนชัดว่าชาวเขาไม่ได้มีแต่มิติที่อยู่บนภูเขา
แต่มีมิติ มีสภาพชีวิตที่หลากหลายไปตามพื้นที่ที่เคลื่อนย้าย

และชีวิตต่างพื้นที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มันจะมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการปรับตัวที่จะช่วยเติมเต็มให้เราเข้าใจคนชาติพันธุ์นั้นๆชัดเจนขึ้น จากที่เคยสวมแว่นตาเชิงเดี่ยวมองตายตัวว่า คนชาติพันธุ์นั้น คนบ้านนั้น ชุมชนนั้นต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้


นอกจากในมหาวิทยาลัยแล้ว ผมเคยบอกไว้ในงานวิชาการ รวมถึงเวทีประชุมหลายแห่งครับว่า เราอาจจะรู้จักชุมชน ทำงานชุมชน แต่เราแน่ใจแล้วหรือว่าเราเข้าใจคนในชุมชน

เราจะเข้าใจเขาได้ เราต้องเห็นชีวิตเขาในหลายๆ space & time ภาษาไทยว่า หลายกาลเทศะ หน้าร้อนเขาอยู่ที่ไหน หน้าฝน หน้าหนาว หน้าภัยพิบัติ เขาปรับตัวอย่างไร ประวัติศาสตร์ ภูมิสังคมของเขามีพัฒนาการมาอย่างไร อันนี้ก็ต้องดูประกบประกอบด้วย

แต่ต้องระวัง อย่าเอาอดีตมากำหนดปัจจุบัน และอย่าเอาปัจจุบันมาวิเคราะห์โดยแยกส่วนจากอดีต

จะเข้าใจน้ำ ก็ต้องรู้จักเมฆ รู้จักหมอก รู้จักลูกเห็บ รู้จักสภาวะ และสถานะที่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและภูมิประเทศของมัน


จะเข้าใจผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ฯลฯ ต่างๆก็เช่นกัน เราจะดูเขาแค่ในหมู่บ้านไม่ได้ ต้องดูพื้นที่ต่างๆที่พวกเขาเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ในช่วงเวลาต่างๆด้วย



และความเข้าใจเหล่านั้น จะช่วยให้เราไม่ติดกับดักทางความคิด ไม่ติดกับดักกับภาพตายตัวเดิมๆ ว่าใครเป็นอะไรอย่างหยุดนิ่ง

ความเข้าใจที่ถูกต้อง นำมาซึ่งการออกแบบงานที่ถูกต้อง
สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับชีวิตการงานของเราในทุกด้าน

ที่สำคัญ สอนด้วยตำราอย่างเดียวไม่ได้

หมายเลขบันทึก: 677590เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2020 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2020 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท