"Self Talk" หลังจากดูคลิปวิดีโอ เรียนรู้ร่วมคิด e.p.4- - Skills and capabilities , learning loop & AAR


เกริ่นนำ

บันทึกนี้ เป็นบันทึกที่ผมเขียนเป็น Reflection ในแบบ "Self Talk" หลังจากดูคลิปวิดีโอ เรียนรู้ร่วมคิด e.p.4- - Skills and capabilities , learning loop & AAR ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ได้สนทนากับคุณอุ๊ กรรณจริยา สุขรุ่ง ใครสนใจดูคลิปนี้ได้ทาง Youtube นะครับ ที่ 

https://www.youtube.com/watch?v=aJ9L5w8Ni8Y


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


Self - Talk เรียน รู้ ร่วม คิด E.P.4

9 พฤษภา 63 อีกสามนาทีจะสี่โมง

ตะวันบ่ายคล้อย หลับสั้นๆไปงีบ เล่นกีตาร์ร้องเพลงเบาๆสักแป๊บ สมองเริ่มโล่งจากกิจการงาน ก็ได้เวลา Self Talk หลังจากที่ได้ดูคลิป e.p.4 นี้อีกรอบ

รอบแรกฟังผ่านๆตอนขับรถสัปดาห์ก่อน วันนี้ ตื่นมาเปิดคลิปแต่เช้า ดูจบ โน้ตเอาไว้ เพราะต้องประชุมออนไลน์คั่นก่อน ประชุมเสร็จก็พักสมอง หลับสักงีบสั้นๆ ทำงานเบาๆ ดูเฟสบุ๊คตอบโน่นนี่นั่นบ้าง เล่นกีตาร์ร้องเพลงเบาๆ แดดร่มลมตกพอดี วันนี้ไม่ได้พิมพ์ตอนค่ำ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจังหวะที่พอดีละ ใช้ได้ละ

สำหรับตัวผมนี่ การโพสต์การพิมพ์อะไรต่างๆ อย่าง Self Talk นี่ก็เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นะ เป็นเรื่องที่เราคุยกับตัวเอง เป็น Self Management ที่สำคัญ ต้องจัดเวลา ต้องจัดระบบ บรรยากาศ เครื่องดื่ม ดินฟ้าอากาศ ผู้คน ส่งผลกับการเขียน การเขียนอย่างนี้ก็ส่งพลังไปถึงคนอ่าน อย่างที่ทุกคนกำลังอ่านที่ผมเขียนนี้

อันนี้ Talk กับคนอ่านบ้าง สลับกับ Self Talk คงไม่ผิดกติกานะ J

เขียน Self Talk มา 3 e.p. ก็คือสามรอบแล้ว รอบนี้ก็ถือเป็นรอบที่ 4 ก่อนจะไปสู่เนื้อหาในคลิป เราคิดว่ามันมีคำถามสำคัญที่ต้องมาก่อน คือถามตัวเองว่า “เฮ่ย ทำไม เราต้องมาเขียน Reflection มาทำ Self Talk แบบนี้ด้วยหว่า ใช้เวลาเยอะอยู่นา”

“ตั้งแต่ดูคลิปแบบผ่านๆหนึ่งรอบ จากนั้นดูแบบละเอียด ระหว่างดูก็หยุดคลิปเป็นพักๆ เพื่อจดประเด็นที่โดนใจ แล้วไหนจะเรียบเรียงพิมพ์ออกมาอีก เอ้อ นี่รวมๆเวลาแล้วน่าจะสามสี่ชั่วโมงต่อหนึ่ง e.p. ได้ งานสารพัดสารเพก็มะรุมมะตุ้ม คุ้มไหมนี่ ? “

“อืมม ไอ้ Self Talk นี่ มันมีความหมายกับเรายังไง? ต่อครอบครัว ต่อชีวิตส่วนตัว ต่อชีวิตสาธารณะ ต่อชีวิตจิตวิญญาณ ยังไง? อืม ชีวิตสี่ด้านกับ Self Talk มันโยงกันยังไง?”

 โจทย์เหล่านี้ผุดขึ้นมาโดยไม่ได้นัดหมาย เหมือนมันตั้งปลุกไว้ในใจ  อืม ไม่ตอบตัวเองก็ค้างๆใจ  ไม่มีแรงบันดาลใจ เขียนออกไปก็ไม่มีพลัง เขียนแบบแกนๆไม่อยากทำ ไม่อยากดูถูกตัวเอง

อันนี้อาจารย์ชัยวัฒน์ที่เป็นอาจารย์ข้างนอกไม่ได้ถาม อาจารย์ยอดอีกยอดที่อยู่ข้างในเราถามตัวเอง

------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับตัวเรา การคุยกับตัวเองนี่จริงๆทำมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว ถ้าไปดู ตอนเด็กๆ บางทีเราก็เล่นคนเดียว เล่นสมมติเป็นคนโน้นคนนี้ บางทีก็วาดหน้าคนในนิ้วซ้าย มาคุยกับหน้าคนในนิ้วขวา จริงๆเรามีพื้นฐานการคุยกับตัวเอง หรือจะเอาวิชาการหน่อยคือ “การรับฟังเสียงจากข้างใน” มานานนมแล้ว และสิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่สัตว์ทั่วไปไม่มี (ผมก็ไม่รู้ว่าแมว หมามันคุยกับตัวเองเป็นไหมนะ)

ใครที่คุยกับตัวเองบ่อยๆ ผ่านการเล่นก็ดี การเขียนไดอารี่ เขียนบทกวี ทำงานศิลปะต่างๆ จริงๆมันก็คือ Self Talk ในเงาอดีตที่เราทำผ่านสัญลักษณ์ต่างๆที่อาจจะไม่ได้เขียนออกมาอย่างเป็นระบบชัดๆ แต่มันเป็นพื้นฐานที่ส่งผลต่อเนื่องมาถึงการเขียน Self Talk ของเราวันนี้

มันเป็น Time Line ของ Self Talk ที่แต่ละคนอาจจะมีพัฒนาการมาไม่เหมือนกัน

เวลาเราเขียน Self Talk ณ ตอนนี้ เรามองเห็นเส้น Time Line นั้นไหม?

ถ้าเราเห็น เราจะรู้ได้ว่ามันไม่ใช่กิจกรรมธรรมดา

สำหรับตัวเรา การเขียนถึงตัวเอง ไม่สิ ไม่ใช่แค่การเขียน ไม่ใช่ไปติดกับคำว่า Talk แต่มันคือการสื่อสาร เป็น Self Communicated ซึ่งอาจจะไม่พูดก็ได้ แต่เป็นการสังเกตตัวเอง เพียงแต่คำว่า Talk มันจำง่ายและกระชับดี แต่จริงๆแล้วต้องเข้าใจว่า Self Talk มันคือการสื่อสารผ่านอยาตนะทั้งหมด ซึ่งบางทีก็ไม่มีถ้อยคำ

อย่างในคลิปช่วงหนึ่งที่อาจารย์กับอุ๊คุยถึงช่วงที่ง่ายงาม (ชื่อคนนะครับ เธอชื่อ “ง่ายงาม” คือบางคนไม่รู้จักเดี๋ยวว่าอะไรหว่า ง่ายๆงามๆ อันนี้บอกตัวเองด้วย กันลืม 55) Self Talk ในวง reunion ว่า เธอบอกกับตัวเองว่าต่อไปเธอไม่ใช่เป็นแค่นักวิจัยนะ แต่เธอเป็นนักรบ (ถ้าใครอยากรู้ว่ารบอะไรยังไง แนะว่าต้องไปดูคลิป e.p.นี้นะครับ ถ้าจู่ๆมาอ่านที่ผมเขียนนี้รับรองไม่ค่อยรู้เรื่อง ต้องดูมาก่อนนะ)

อุ๊บอกว่า เหตุที่อินกับประโยคนี้ที่ “ง่ายงาม” พูด เพราะง่ายงาม พูดออกมาจากสภาวะที่เป็นนักรบ ไม่ใช่นักวิจัย ซึ่งทุกคนในวงรู้สึกได้

ตรงนี้เลย เราจะเห็นคุณค่าความหมายลึกๆของ Self Talk ได้ ไม่ใช่แค่อ่านตัวอักษร แต่มันเป็นการซึมซับผ่านอยาตนะต่างๆ ตาที่เห็นภาษาท่าทางที่เธอมุ่งมั่น หูที่ฟังถึงน้ำเสียงที่จริงจัง ใจที่สัมผัสถึงอารมณ์ของเธอที่เหมือนได้ปลดปล่อยปลาตัวเล็กที่เป็นตัวตนลึกๆลงสู่มหาสมุทรใหญ่ แล้วมันยังส่งผลสะเทือนต่อคนทั้งวง มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่เครื่องรับของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน เราคิดว่า อันนี้เห็นเลยว่ามันมีความหมาย มันได้คลี่คลายตัวตน มันทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆทั้งตัวเองและสิ่งที่เราพูดถึง/สื่อสารถึงชัดขึ้น มันเป็นกระบวนการ Slow Down ที่เบสิคมากๆ เป็นของขวัญที่พระเจ้าหรือธรรมชาติมอบให้กับมนุษย์ คือความสามารถในการรู้จักตัวเอง

Self Talk จึงเป็นกิจกรรมที่ทำมาตั้งแต่เด็กอมมือ ยันหัวหงอกอย่างวันนี้ ไม่ใช่อะไรใหม่ เพียงแต่เราลืมมันไป และมี Attitude หรือความเชื่อผิดๆ น่าจะเรียกได้ว่ามีโมหะ กับกระบวนการแบบนี้ว่าเป็นกิจกรรมที่สิ้นเปลือง เสียเวลา ไม่คุ้ม ทำไม่ได้ บลาๆๆๆ

ก็ต้องขอบคุณที่อาจารย์ชัยวัฒน์กับอาจารย์อุ๊ มาสะกิดใจ ทำให้มองย้อนไปตั้งคำถามกับ Self Talk และคิดไปถึง Time line ของ Self Talk ของตัวเราเอง

จริงๆแล้ว Self Talk นี่ช่วยโอบอุ้มชีวิตช่วงที่ร้าวราว และยกระดับการเรียนรู้ชีวิตสี่ด้านเรามาตลอด อันนี้ไม่เขียนลงลึกนะ เป็น  ปัจจัตตัง  อยากรู้วันหลังพาไปฟังเพลงเบาๆเลี้ยงข้าวจิบเบียร์เบาๆจะเล่าให้ฟัง J

--------------------------------------------------------------------------------------------------

ใน e.p.4 นี้มีอยู่อีกช่วงที่เราชอบมาก คือ ช่วง “อุเบกขา” อุ๊แปลได้ดีครับ คือไม่ใช่แปลแบบยกตำรามาอ้าง เรามโนว่าเธอน่าจะแปลจากประสบการณ์ตรง อันนี้ชื่นชม  ฟังแล้ว เราอุเบกขา ไปเลย J

เรื่อง อุเบกขา นี่แปลยากมาก และส่วนใหญ่คนแปลออกมาเพี้ยนๆ  และก็เป็นสิ่งที่ภาคประชาสังคมส่วนใหญ่มองข้ามไปเลย ทั้งที่เรามีขุมทรัพย์ทางปัญญาในแผ่นดินในเรื่องนี้อยู่มาก

มองทั้งคนที่คิดเหมือน คิดต่าง คนที่เคยเย้ยหยัน เอาเปรียบคนอื่น ด้วยความเข้าใจ โอเค ถึงจะมีถูกมีผิดแบบทางโลก แต่เรามองเขาเหล่านั้นด้วยสายตาแห่งความเมตตากรุณา ไม่เอนเอียงไปกับความโกรธเกลียดอิจฉาริษยาอคติต่างๆ (ในทางพุทธน่าจะเทียบกับ อคติ 4) ถ้าจะรบก็รบด้วยความเมตตากรุณา

ตรงนี้คิดถึง ปรัชญาซามูไรที่เราได้เห็นเมื่อวันก่อนเลยว่า “ความเมตตากรุณาคืออาวุธที่ทรงพลังที่สุด”

สังเกตโพสต์ต่างๆใน เฟสบุ๊คทุกวันนี้ เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหว นักวิชาการหลายคน บริภาษการทำงานของหน่วยงาน ผู้คน ฯลฯ เราอ่านแล้วนึกในใจว่า ข้างในคนเหล่านี้เขาคงร้อนมากๆ

เข้าใจว่า “อุเบกขา” เป็นอีกเรื่องที่ขาดหายไปจริงๆจากกระบวนการภาคประชาสังคม ภาคพลเมือง รวมถึงภาควิชาการในประเทศไทย

 อืม เสียดายที่เขาอาจจะไม่มีครูอาจารย์ ไม่มีเครือข่ายที่เป็นกัลยาณมิตรอย่างพวกเรา เราจะช่วยแกนนำที่ติดกับดักทางความคิดเหล่านี้อย่างไรดี เพราะระหว่างที่เราทำงานกับชุมชน เราก็ต้องเจอกับคนในกรอบคิดเก่าๆที่ไม่เข้าใจ ไม่ยอมปรับแนวคิด

แรกสุดเราก็คงต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง มาทำ Self Talk ด้วย “ดวงตาใหม่” ที่มองเห็นว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการทางปัญญา ซึ่งมันอาจจะดูเป็นปัญญาแบบปัจเจกอยู่นะ ถ้าไม่มีการแชร์ Self Talk ตรงนี้ออกไปสู่กัลยาณมิตร หรือ “สังฆะ”

การแชร์มันนำไปสู่การเชื่อมและยกระดับ Capacity of Experience ปัญญาจากพระพุทธเจ้านี่เห็นได้ชัดเลยว่าเป็นปัญญาจักรวาล เป็นปัญญารวมหมู่ ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสว่าท่านคิดเองเลยนะ ท่านแสดงธรรมตรงนี้ให้เราเห็นเป็นนัยยะอยู่แล้ว พระพุทธองค์ตรัสรู้เองไม่ได้ ยังต้องมีครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาในชีวิตอย่างหลากหลาย การที่เราจะยกระดับทางปัญญาจึงไม่มีทางเลยที่จะทำด้วยตัวเองคนเดียว

การทำ Self Talk แล้วแชร์กันในวงจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญ เป็นกระบวนการทางปัญญาที่ครอบคลุมทั้งปัญญาในตัวเอง และปัญญารวมหมู่ อันนี้ที่เขียนส่วนนี้เยอะ เพราะอยากเห็นคนใส่ใจเรื่องนี้มากๆ ปัญญาปฏิบัตินั้นก็ดี แต่ถ้าไม่ Talk ไม่ Communicate มันออกมามันก็ไม่มี Community มันก็ตายไปกับตัวเรา เป็น Tacit knowledge ที่หากไม่ Externalization หรือจัดการให้เกิดการเรียนรู้ในวงกว้างก็น่าเสียดาย

เราคงไม่รู้จักศาสนาพุทธ ถ้าพระพุทธเจ้า ไม่ Externalize ให้เรา

เราคงไม่รู้จักศาสตร์ของพระราชา ถ้าในหลวง ร.9 ไม่ Externalize ให้เรา

การ Self Talk ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ดูดีๆนี่ก็คือ “เดินตามรอยพ่อ” เดินตามหลักธรรมของพระพุทธองค์เลยนะ ดีใจที่อย่างน้อย ก็มี Leaders by Heart กลุ่มนี้ที่พอจะเห็นความหมาย  อย่างน้อย เราก็เห็น Externalization กันอยู่ในวง

--------------------------------------------------------------------------------------------------------

ห้าโมงสี่สิบห้า เปลี่ยนท่าทางออกไปสูดอากาศ ชมนกชมไม้ จิ๊บๆ ดูชีวิตชาวบ้านที่มาซื้อของในร้าน คุยกับลูกหลานแป๊บ เดี๋ยวมาต่อกับอีกเรื่องที่คิดได้จากการดู e.p.4………………….

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลับมากับนมเปรี้ยวรสสตอเบอรี่อีกหนึ่งกล่องพร้อมจิตใจที่ปลอดโปร่งและเบิกบาน

ช่วงสุดท้ายนี่ อยากจะต่อกับสิ่งที่เราเขียนใน Self Talk e.p.3 นั่นคือเรื่อง “ความเบิกบาน”

ใน e.p.4 นี้  แม้เราจะได้ยินได้ฟังกูรูทั้งสองท่านคุยเรื่องลึกๆ ที่ดูหนักๆ ถึงจะยกตัวอย่างยังไง แต่มันก็ยัง โค-ตะ-ระ นามธรรม ซึ่งถ้าคนนอกวงการ หรือไม่ใช่คนที่ชอบแนวนี้มาดูมาฟังคงหน้าเบ้

แต่เรารู้สึกว่า สองคนนี้คุยกันอย่างธรรมชาติ อย่างออกรสได้ ด้วยสภาวะแห่ง “ความเบิกบาน” ที่มาจากข้างในของแต่ละคน

เวลาพูดถึงอาจารย์พูดเรื่องขันติ แต่ก็มีนัยยะของความเบิกบาน

เวลาพูดถึงสภาวะการเรียนรู้ การใคร่ครวญ Slow down หรือแม้แต่อุเบกขา ก็สื่อลึกๆถึงความเบิกบาน

อันนี้สำคัญมากเลย อาจารย์ทั้งคู่ไม่ได้บอกตรงๆ แต่มันยังมีความหมายอีกชั้นที่มัน Between the Line มันอยู่ระหว่างบรรทัด

เป็นความเบิกบานที่ยากจะบรรยาย เป็นความรื่นรมย์ที่ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป และมันซึมซาบจากคลิปนี้สู่ตัวเราด้วย ว่าอย่าลืมความเบิกบาน อย่าลืมสุนทรียะ เสน่ห์ ศิลปะ เครื่องปรุงรสต่างๆให้ชีวิตสี่ด้านของเราสมดุล และกลมกล่อม

------------------------------------------------------------------------------------------------

หกโมงเศษๆแล้ว แว่วเสียงหัวเราะของเด็กๆลูกหลานอยู่นอกห้อง

เสียงของเราทุกคนก็ปะปนอยู่ในเสียงเด็กน้อยเหล่านั้น

มันคือนิเวศจักรวาลแห่งการเรียนรู้ คือวงจรการเรียนรู้ คือความเบิกบานตื่นรู้ในชีวิตประจำวัน ที่ไม่ได้แยกพวกเราจากกันเลย

หมายเลขบันทึก: 677493เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2020 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2020 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท