ชีวิตที่พอเพียง 3690. ชีวิตช่วงชุลมุนโควิด ๑๙ (๒)



หลังจากออกจากบ้านไปประชุมข้างนอกครั้งสุดท้ายในเดือน มีนาคม ๒๕๖๓ ในวันที่ ๒๔   ผมออกจากบ้านอีกครั้งในวันที่ ๒๑ เมษายน เพื่อไปเป็นประธานการประชุมที่ สวอช.  อาคารจามจุรีสแควร์

 ถึงกลางเดือนเมษายน ก็พอจะมองออกว่า ในด้านการยับยั้งการระบาดของโรคน่าจะพอเอาอยู่ ความท้าทายที่รุนแรงกว่ากลายเป็นเรื่องปัญหาปากท้องของคนยากคนจน     เพราะมาตรการยับยั้งการระบาดโดยการ shut down นั้นมันทำลายวงจรเศรษฐกิจ    คนที่เดือดร้อนที่สุดคือคนหาเช้ากินค่ำ    และไม่มีเงินหรือทรัพย์สมบัติที่ออมไว้   

ทำให้เห็นจุดอ่อนของระบบเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตของตัวเลข จีดีพี     ที่ในช่วงครึ่งหลังของชีวิตผม (คือประมาณ ๔๐ ปีที่ผ่านมา) เป็นกระแสทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย    ที่มีการปลุกเร้าให้คนจับจ่ายใช้สอย     เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ     สุภาษิตที่ผมเคยได้รับการสั่งสอนตั้งแต่เป็นเด็ก  และยึดถือมาจนแก่ว่า

     ทรัพย์นี้มีสี่ส่วนไซร้    ปูนปัน

ส่วนหนึ่งพึงเกียดกัน        เก็บไว้

 สองส่วนเบ็ดเสร็จสรร     พการกิจ ใช้นา

ยังอีกส่วนควรให้               จ่ายเลี้ยงตัวตน   

กลายเป็นสิ่งโบราณล้าสมัย    มีสารพัดกระแสให้คน “มีเครดิต” ซึ่งแปลว่ามีหนี้    คือแทนที่จะมีเงินออมเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน กลับมีหนี้เอาไว้แบก    หรือเป็นการใช้ทรัพย์ที่จะหาได้ในอนาคต     เมื่อถึงคราวฉุกเฉินอย่างปัจจุบัน คนที่ไม่มีเงินออมก็ลำบากทันที

แต่มองอีกที สังคมเราก็ก้าวหน้าไปอีกแบบ    คือภาครัฐเข้ามาทำหน้าที่จุนเจือยามฉุกเฉิน แก่คนที่ยากลำบาก ด้วยหลากหลายมาตรการ    อย่างที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ทำอยู่ในขณะนี้     ข่าวเรื่องการดำเนินมาตรการของรัฐ และการตอบรับสารพัดแบบของประชาชน     ทำให้ผมหวนคิดไปถึงชีวิตสมัยเด็ก อยู่ที่บ้านนอก     ผู้คนไม่หวังพึ่งรัฐบาลอย่างในปัจจุบัน     แต่หวังพึ่งตนเอง และเกื้อกูลกันเองภายในหมู่บ้านหรือชุมชน    มองอย่างนี้ รู้สึกว่าสังคมไทยเรา centralized ขึ้นมากมายนะครับ     แต่มองอีกมุมหนึ่ง เท่ากับระบบสวัสดิการสังคมดีขึ้น   

วิกฤติโควิด ๑๙ คราวนี้ สอนผมว่าความก้าวหน้า ว่าเป็นความถอยหลังด้วย ไปพร้อมๆ กัน     ความก้าวหน้าที่เกี่ยวข้องคือการคมนาคมเคลื่อนไหวประชากรของโลก     ที่มีการเดินทางติดต่อกันสะดวกรวดเร็ว    เป็นตัวการให้เชื้อโควิด ๑๙ ระบาดเร็ว และแพร่ไปทั่วโลก   

ความก้าวหน้าอีกอย่างหนึ่งที่นึกออก คือด้านที่อยู่อาศัย     โดยเฉพาะในเมืองใหญ่     การอยู่คอนโดกลายเป็นแฟชั่น และเป็นความสะดวก    เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วผมไม่รู้จักคอนโดมิเนี่ยม    แต่เมื่อ ๒๕ ปีที่แล้วก็ซื้อคอนโดแถวพญาไท เพื่อย้ายครอบครัวมาอยู่กรุงเทพ    อยู่ได้สองปี ก็พบว่าไม่ต้องรสนิยมของอดีตเด็กบ้านนอก ที่ชอบอยู่ติดดิน และเห็นท้องฟ้า    และที่สำคัญมีที่วิ่งออกกำลัง     จึงชวนสาวน้อยออกหาซื้อบ้านอยู่หลายเดือน    มาตกลงใจซื้อบ้านหลังปัจจุบันเมื่อ ๒๓ ปีที่แล้ว     และต่อมายกคอนโดให้ลูกสาวคนโตที่ทำงานที่จุฬา     ถึงตอนนี้จึงรู้ว่าคิดถูกที่ตอนนั้นเทกระเป๋าซื้อบ้านหลังนี้ (ที่จริงเทหมดเกลี้ยงก็ยังไม่พอ ต้องยืมพี่ภรรยา)     เพราะกลายเป็นที่ปลอดภัยในยามโควิด ๑๙ ระบาด     ลูกสาวลี้ภัยจากคอนโดมาอยู่บ้านเป็นเดือนแล้ว          

สำหรับผม การระบาดของโควิด ๑๙ ให้สติเรื่องความไม่รู้แก่ผมมาก     เห็นได้ชัดเจนว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมา    หลายส่วนจำเป็นต้องตัดสินใจภายใต้ความไม่รู้     หรือรู้ไม่ครบ    เมื่อเวลาผ่านไป ประสบการณ์มากขึ้น  บางเรื่องที่เดิมไม่รู้ ก็รู้มากขึ้น    และต้องปรับมาตรการ     ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะโรคนี้มันใหม่จริงๆ ไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน      

คราวนี้ผู้บริหารประเทศที่เลือกความปลอดภัยในชีวิตเหนือเศรษฐกิจ     ดำเนินมาตรการป้องกันเข้มข้น    แทงหวยถูก    ในขณะที่ผู้บริหารหมายเลข ๑ ของประเทศมหาอำนาจหมายเลข ๑ ตกอยู่ในความประมาท    ไม่ตระหนักในความไม่รู้ของตน  ไม่ฟังคนที่รู้ดีกว่า     ประเทศนี้จึงได้ตำแหน่งเพิ่มเป็นหมายเลข ๑ ของจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิต  

เพราะ ศ. ไพศาล เลาห์เรณู โทรศัพท์มาปรารภเรื่องการใช้ radiation-attenuated virus ในการผลิตวัคซีน     ผมจึงแนะนำให้ท่านคุยกับ พญ. อรรถยา ลิ้มวัฒนายิ่งยง รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ     ผมจึงได้รับเอกสารร่าง Blueprint เพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกัน COVID 19 ของประชาชนไทย () ที่ผมเอามาให้ดู เพื่อให้เห็นว่าหน่วยงานในระบบสุขภาพทำงานอย่างมืออาชีพ และประสานงานกันเป็นระบบอย่างดียิ่ง     

เพราะร้านตัดผมโดนสั่งปิด ผมจึงเดือดร้อนจากผมยาว     ทำให้เมื่อสวมแว่นแล้วมันไม่กระชับ    ผมจึงไปซื้อปัตตาเลี่ยนที่ร้าน DIY ข้างหมู่บ้าน    โอ้โฮ มีสารพัดยี่ห้อ   ราคาถูกทั้งนั้น    มีตั้งแต่ร้อยกว่าบาทจนถึงเกือบๆ สี่ร้อยบาท    ผมเลือกซื้อยี่ห้อ DSP  โมเดล 90028 ไร้สาย ราคา ๓๕๐ บาท    คนขายบอกว่าคืนได้ภายใน ๗ วัน    เอามาชาร์จไฟคืนหนึ่งรุ่งขึ้นก็ได้โอกาสลอง    อาศัยประสบการณ์สมัยไปเรียนต่อที่แอนน์ อาร์เบอร์ มิชิแกน    ผมตัดผมเองโดยใช้กระจก ๒ อัน    และปัตตาเลี่ยนไฟฟ้า     สมัยนั้นเป็นชนิดมีสาย  แต่เดี๋ยวนี้มีชนิดไร้สาย   คราวนี้ห่างจากคราวที่แล้ว ๕๒ ปี    ผมจัดการเอาที่รอง ๘ มม. ตัดผมข้างหูสองข้าง  พอเริ่มคุ้นมือก็เปลี่ยนที่รองเป็น ๓ มม.    ตัดได้สบาย และสวมแว่นได้สบายขึ้นมาก    โควิด ๑๙ ช่วยให้ได้กลับมาตัดผมตัวเองอีกครั้งหนึ่ง       

เช้าวันที่ ๒๑ เมษายน ผมออกไปประชุมที่ สอวช. อาคารจามจุรีสแควร์ ที่สามย่าน    ออกจากบ้าน ๗.๓๐ น. เดาว่าบนถนนคงจะมีระบางตา    ซึ่งผิดสำหรับถนนแจ้งวัฒนะ แต่ถูกสำหรับทางด่วน                     

ประชุมทางไกลผ่าน App มาเดือนเศษ ชักติดใจ    เพราะสะดวกดี ไม่ต้องออกจากบ้านแต่เช้าไปผจญรถติด และประหยัดค่าน้ำมันลงได้โข    นอกจากนั้นยังจัดเวลากินอาหารเสียใหม่ได้    ให้มีช่วงอดอาหารวันละ ๑๕ ชั่วโมง    ที่เรียกว่าวิธีลดน้ำหนักแบบ intermittent fasting    แต่ที่ผมใช้เป็นแบบไม่เคร่งครัดมาก    กินอาหารเช้าราวๆ ๘ น.   อาหารเย็นราวๆ ๑๗ น.    แต่น้ำหนักไม่ลดเพราะปีนี้มะม่วงถูก    จึงซื้อมากินวันละสองลูก     ถือว่าได้อุดหนุนแม่ค้าและเกษตรกร     

วิจารณ์ พานิช  

๒๙ เม.ย. ๖๓


   


Blueprint from Pattie KB
หมายเลขบันทึก: 677343เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2020 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2020 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท