ภารกิจการส่งเสริมอาชีพในภาวะวิกฤตของอปท.


ภารกิจการส่งเสริมอาชีพในภาวะวิกฤตของอปท.

25 เมษายน 2563

: ทีมหญ้าแห้งปากคอกท้องถิ่น [1]

  “วิกฤตไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19” ภายใต้ข้อกำหนด พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ตามประกาศและคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด คือการ ”Lock Down” [2] ปิดเมืองหยุดกิจการ ซึ่งในบางภารกิจ อปท.แทบน้ำตาเล็ด สับสน ถูกกดดันเร่งรัดด้วยเงื่อนเวลา อาทิ การกระตุ้นสั่งการให้ท้องถิ่นจ้างแรงงาน สร้างงาน ส่งเสริมอาชีพช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด เป็นการดำเนินงานที่ย้อนแย้งต่อข้อเท็จจริง “การกักกันตัวกลุ่มเสี่ยงฯ” นโยบาย “Social Distancing [3] มิติสังคมวิทยา พลังไทย อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เป็นสโลแกนที่ทุกคนทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติจนกว่าจะยกเลิก แต่กลับให้ชาวบ้านออกไปทำงาน รวมเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่โครงการด้วย 

การส่งเสริมอาชีพท่ามกลางมาตรการป้องกันโควิด-19

มีกรณีการสั่งการดำเนินการของภาครัฐที่มาแนวแปลก ที่ อปท.ต้องปรับกลยุทธการทำงานกันอย่างมีข้อจำกัด การส่งเสริมอาชีพฯ แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ตามสั่งการของกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 [4] โดยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นจ้างแรงงาน สร้างงานช่วยเหลือประชาชน เพื่อ (1) การส่งเสริมอาชีพ อาทิเช่น โครงการจัดทำหน้ากากอนามัย โครงการขยะอินทรีย์เพื่อทำปุ๋ยหมัก โครงการปลูกผักสวนครัวฯ (กรม พช.) เป็นต้น (2) การจ้างแรงงาน ตามโครงการก่อสร้าง อาทิ โครงการขุดลอกคูคลอง โครงการสำรวจข้อมูลจัดทำแผนพัฒนา โครงการจ้างแรงงานเพื่อจัดทำบริหารสาธารณะต่าง ๆ เป็นต้น (3) การส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาทิเช่น โครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิต (มอบถุงยังชีพ) โครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิต (มอบเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท) เป็นต้น ทั้งนี้ กำหนดให้รายงานครั้งแรกภายในวันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน 2563 และครั้งต่อไปในวันที่ 15 ของทุกเดือน ซึ่งในข้อเท็จจริง ในหลายท้องที่ไม่อาจดำเนินการได้ แม้อธิบดี สถ. จะชี้แจงว่าเป็น  “การดำเนินการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ขนานไปกับการออกมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 คือการเยียวยาและบรรเทาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบฯ” คนทั่วไปหลายคนก็พยายามไม่เข้าใจอยู่ดี

หรือ กรณีของกรมการพัฒนาชุมชน โครงการ “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน” ตามสั่งการของกรมการพัฒนาชุมชนเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 [5] เพื่อช่วยลดรายจ่ายประชาชนในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน

แต่ภายใต้ ประกาศข้อกำหนด พรก.ฉุกเฉินฯ และการควบคุมโรคติดต่อนั้นมีข้อจำกัด ที่ติดขัดหลายประการ ในการสั่งการดังกล่าว อีกทั้งภาระงบประมาณของท้องถิ่นที่มีจำกัด หรือมีน้อย ที่ไม่นับรวมงบส่วนกลางเงินอุดหนุนเฉพาะกิจปี 2563 กว่า 4 หมื่นล้านบาท [6]อีกทั้งติดขัดในระบบระเบียบวิธีการงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุ แม้ว่าระเบียบปฏิบัติของท้องถิ่นได้เปิดช่องให้ท้องถิ่นไว้กว้าง สามารถใช้งบกลาง หรือ งบเงินสะสมใช้จ่ายได้ ทั้งนี้ตามด้วยกลไก ”คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชน” ตามอำนาจหน้าที่ และสถานะการเงินการคลังของแต่ละ อปท. โดยถือปฏิบัติตามระเบียบ มท. ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของ อปท. พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ยังสามารถใช้ระเบียบ กค. ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 โดยอนุโลมด้วย [7]

ความกังวลในความย้อนแย้งของ อปท.

ท้องถิ่นสามารถใช้งบกลาง และ งบเงินสะสมได้ด้วยกลไกคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชน ตามระเบียบ มท.ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของ อปท. พ.ศ. 2560 รวมแก้ไข พ.ศ. 2561 และ ใช้ระเบียบ กค. ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 โดยอนุโลม ปัญหาข้อจำกัด ท้องถิ่นมีเงินคงคลังเหลือน้อย ไม่มีงบซื้องบจ้าง การจ้างงาน การส่งเสริมอาชีพในภาวะเช่นนี้จึงลำบาก การจัดลำดับอันไหนควรทำก่อนทำหลังตามความจำเป็น อีกทั้ง ความเสี่ยงติดเชื้อโรคฯ เป็นความกังวลของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และ ชาวบ้านทั่วไป แม้ท้องจะหิว ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ เกิดความเครียดก็ต้องอดทน โดยเฉพาะชาวบ้านเขตสังคมเมืองที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูง ไม่สามารถกลับบ้านนอกได้ ไปทำงานก็ไม่ได้ จึงเดือดร้อนได้รับผลกระทบ

นโยบายสั่งการส่วนกลางที่ย้อนแย้ง การจ้างงาน การส่งเสริมอาชีพในภาวะเช่นนี้ได้จึงมีข้อจำกัด นโยบายใดเร่งด่วนควรทำก่อนทำหลังไม่ได้เรียงลำดับ ไม่ลงตรวจดูคนในพื้นที่ ฐานข้อมูล Big data ที่เชื่อมโยงกันไม่เรียบร้อยแต่สับสน การใช้ AI ตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเหมาะสมเพียงใด การรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนอยู่บ้าน แต่ให้จ้างแรงงานที่เสี่ยงการติดเชื้ออีก สวนทางนโยบาย “การกักกันตัว” อยู่บ้าน หรือการทำงานอยู่บ้านของราชการ 

หน่วยตรวจสอบเริ่มออกทำงาน

การถูกตรวจสอบจากหน่วยงานตรวจสอบเป็นกรณีปกติ ดังเช่นที่ผ่านมา อปท. ถูกตรวจสอบจาก ปปท. หรือ สตง. กรณีจัดทำโครงการหน้ากากอนามัยผ้าบาง [8]หรือ จัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ราคาแพงกว่าปกติสูงกว่าราคาที่รัฐควบคุม หรือเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีหนังสือรับรองจากผู้ผลิต ฯลฯ เป็นต้น เป็นข้อสังเกตว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ยังจะมีการทุจริตอยู่อีกหรือ [9]

นิยามศัพท์ความหมายสำคัญสี่คำที่น่าจดจำ

(1) อาชีพ หมายถึง การทำงานซึ่งมีผลตอบแทนออกมาในรูปของรายได้เพื่อบุคคลนำไปดำรงชีพทั้งของตนและครอบครัว งานที่ทำนั้นต้องเป็นงานที่สุจริต เป็นเรื่อง “ปากเรื่องท้อง” ของชาวบ้าน ไม่จำเป็นต้องเป็น อาชีพแบบ “วิชาชีพ” เชี่ยวชาญชำนาญช่างฝีมือ

(2) การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ หมายถึง การให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี ไม่อดตาย มีอาชีพแบบยั่งยืน ยึดหลักทางสายกลางและการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 [10]

(3) การจัดทำบริการสาธารณะ (Public Service) อปท. มีสองนัยยะ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 250 วรรคแรก [11] คือ (3.1) การจัดทำบริการ และ (3.2) การจัดกิจกรรม เกี่ยวกับบทบาทภารกิจอำนาจหน้าที่  “ด้านอาชีพ” กฎหมายบัญญัติใช้ถ้อยคำว่า “บำรุงและส่งเสริมอาชีพ” “เป็นอำนาจหน้าที่อาจจัดทำ” [12]

(4) การถ่ายโอนภารกิจ หมายถึง การถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะจากรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยภารกิจที่ถ่ายโอนเป็นภารกิจที่มีการดำเนินการซ้ำซ้อนระหว่างรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภารกิจที่รัฐจัดให้บริการในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และ แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543 ภารกิจถ่ายโอน 6 ด้าน [13] ได้แก่ (4.1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (4.2) ด้านงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต (4.3) ด้านการจัดระเบียบชุมชน/สังคม และ การรักษาความสงบเรียบร้อย (4.4) ด้านการวางแผน การส่งเสริมการลงทุน พาณิชยกรรม และ การท่องเที่ยว (4.5) ด้านการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม (4.6) ด้านศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น

การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพมีหลายหน่วยงาน

แต่ในมติของการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพท้องถิ่นนั้น มีข้อพิจารณาที่สำคัญว่า การถ่ายโอนภารกิจนี้หาได้เป็นผลไม่ เพราะปรากฏว่า มีหน่วยงานราชการส่วนกลาง และ ราชการส่วนภูมิภาคหลายหน่วยงาน ยังคงรับหน้าที่ในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพอยู่เต็ม ๆ ทั้งที่ภารกิจนี้สมควรอย่างยิ่งต้องเป็น “ภารกิจในอำนาจหน้าที่ของ อปท.” เพราะ อปท. อยู่กับประชาชนในพื้นที่มีความใกล้ชิดกว่า รู้ปัญหามากกว่า หน่วยงานต่าง ๆ ที่พอจะระบุชื่อ หน้าที่ภารกิจนี้ต้องเป็นของ “อปท.” แน่นอน แต่ดูแล้วปรากฏว่าหน้าที่นี้ไปซ่อนแฝงไว้ตามส่วนราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคต่าง ๆ หลายหน่วย แจกแจงแทบไม่ถูก ลองไปส่องดู เช่น กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมหม่อนไหม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการศึกษานอกโรงเรียนสอนวิชา “กลุ่มสนใจ” (การอาชีพได้ประเภทหนึ่ง) ฯลฯ ที่ยังไม่รวมหน่วยงานเฉพาะอื่น เช่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ไม่มีหน้าที่หรือบุคคลากรในด้านการส่งเสริมอาชีพเลย หรือ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) หรืองาสำนักงานประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่งคงกองทัพบก (สปร.ทบ.) หรือ หน่วยทหารพัฒนา เป็นต้น โดยเฉพาะภารกิจหน้าที่งานกรมการพัฒนาชุมชน [14]และงานกรมส่งเสริมเกษตรนั้น ถือว่าซ้ำซ้อนใกล้ชิดกับภารกิจของ อปท. มาก [15]

ข้อคิดการส่งเสริมอาชีพในภาวะวิกฤตปัจจุบัน

1. พช.ส่งเสริมอาชีพมานานแล้ว แต่กลุ่มอาชีพที่ประสบความสำเร็จยังมีน้อย ขาดการเพิ่มทักษะแก่ประชาชน การรวมกลุ่มแบบสหกรณ์ประสบความสำเร็จน้อย กลุ่มอาชีพที่ตั้งไว้หลายกลุ่มล้ม แนวทางรอดปัจจุบันในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ พอมีทางรอดเช่น “การส่งเสริมอาชีพตามกลุ่มสนใจ” แก่กลุ่มคนว่างงาน  หรือคนที่ต้องการอาชีพเสริม ทั้งภาครัฐเอกชน องค์กร สถาบันต่างๆ ทำได้ทุกรูปแบบที่เรียกว่า “การพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่” (SME Startup) [16] ไม่ว่างานทักษะฝีมือ-อาชีพ-อาหาร รวมทั้งงานบริการ คอร์สธุรกิจเล็กน้อยทั้งหลาย คอร์สการทำอาหาร การจักสาน การทำปลาร้า ปลาเจ่า การปลูกขายต้นไม้-ไม้ประดับ การทำปุ๋ยหมัก การเลี้ยงปู-ปลา-กบ-แมลงฯ การเผาถ่าน การอบรมการบริบาลดูแลผู้สูงอายุฯ การนวดจับเส้น-หมอนวดแผนไทย คอร์สอบรมการขายออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งหลายอาชีพไม่จำเป็นต้องไปฝึกปฏิบัติเข้าชั้นอบรมก็ได้ เพราะมีช่องทางหาความรู้ได้จากอินเตอร์เน็ต หรือดูยูทูป อย่างไรก็ตาม พึงเข้าใจว่า “ไม่มีอาชีพใดประสบความสำเร็จ หากไม่สนใจทำจริง”

2. SME ญี่ปุ่น [17] ประสบความสำเร็จเพราะมี “สมาพันธ์เจรจาทางการค้า” ของกลุ่มที่เข้มแข็ง สมาพันธ์ฯ จะดูแลสิทธิ ข้อตกลง ข้อกฎหมาย ให้แก่สมาชิก พร้อมจัดสวัสดิการ ที่มีเป้าหมายที่ไปแน่นอน การผลิตสินค้า มีแหล่งซื้อล่วงหน้าชัดเจนในกิจการตลาด (Marketing) ที่ครอบคลุม ผลสำเร็จในกิจการสูง แต่กรณีภาครัฐไทยกลับทำให้ภูมิปัญญาที่มีมานานอ่อนแอ ที่ตรงข้ามกับญี่ปุ่น

3. สถาบันหน่วยงานการอาชีพระยะสั้นกระจัดกระจาย ไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย การส่งคนเข้าชั้นเรียน (คอร์ส) การฝึกอบรมอาชีพจำกัด โดยเฉพาะ การฝึกอบรมอาชีพที่ต้องใช้ทักษะฝีมือ หรือที่ต้องเป็นวิชาชีพ (ช่างเฉพาะทาง) เช่น หลักสูตรสารพัดช่าง 108 ชั่วโมง

4. รัฐต้อง “สร้างการรองรับอาชีพ” เมื่อผ่านหลักสูตรการอาชีพฯแล้วทั้งในรูปของ “อาชีพส่วนตัว” ที่เรียก SME Startup หรือเป็น “คนงานลูกจ้างงานเอกชนฯ” เช่น วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (Corporate University) ของซีพี หรือ โรงเรียนฝึกอบรมอาชีพพระดาบสตามโครงการพระราชดำริ เป็นต้น

ช่วงนี้ท้องถิ่นมีวิกฤตจริง ต้องช่วยกันลุ้นให้ผ่าน

[1]Phachern Thammasarangkoon,Ong-art Saibutra,Watcharin Unarine & Woothi Pati, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 67 ฉบับที่ 32 วันเสาร์ที่ 25 เมษายน - วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2563, บทความพิเศษ หน้า 9, สยามรัฐออนไลน์, 25 เมษายน 2563, https://siamrath.co.th/n/149794

[2]“ล็อกดาวน์” ปิดประเทศ หรือ ปิดเมือง คืออะไร มาตรการนี้มีผลดีและผลเสียอะไรบ้าง?, sanook.com, 31 มีนาคม 2563,

https://www.sanook.com/campus/1399731/

ล็อกดาวน์ (Lock Down) หรือ การ ปิดประเทศ หรือ ปิดเมือง นั้นเรียกว่าเป็นการยกระดับมาตรการในการสกัดกั้นการระบาดของโรค ถึงจะเป็นมาตรการสร้างความปลอดภัยให้กับส่วนรวมควบคุมการระบาดได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยผลกระทบของเศรษฐกิจ สิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลก็ถูกจำกัด เช่น มาตรการปิดเมืองของประเทศจีน เป็นการปิดพื้นที่บางจุดนั้นจะมีมาตรการ โดย (1) ห้ามใช้รถยนต์-ระบบขนส่งสาธารณะ (2) ห้ามออกจากที่พักอาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต (3) รวมไปถึงปิดสถานที่ทุกแห่ง

[3]Social Distancing มิติสังคมวิทยา, TerraBKK,2 เมษายน 2563, https://www.terrabkk.com/news/197683/social-distancing-มิติสังคมวิทยา-

ในทางระบาดวิทยาเป็นที่ยอมรับกันว่าการต่อสู้กับโรค COVID-19 มี 2 แนวทาง คือ (1) การบรรเทาความเสียหาย โดยให้กลุ่มเสี่ยง เช่น แยกตัวผู้สูงอายุออก หรือการกักโรค (Quarantine) ผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง (2) การยับยั้งโรคโดยใช้ Social Distancing เพื่อชะลอการแพร่ระบาดไม่ให้จำนวนผู้ป่วยสูงจนเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข หรือเป็นอาวุธสำคัญในการ “ลดระดับความชันของเส้นโค้ง” ของจำนวนผู้ป่วยได้

Social Distancingหรือ ‘การเว้นระยะห่างทางสังคม’ ซึ่งการเว้นระยะห่างทางสังคมนี้สามารถเข้าใจง่าย ๆ คือการสร้างระยะห่างระหว่างตัวเราเองกับคนอื่น ๆ ในสังคม รวมถึงการลดการออกไปนอกบ้านโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ การไม่เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น และการทำงานอยู่ที่บ้าน ทั้งนี้การทำ Social Distancing จะช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสจากคนสู่คน การใช้มาตรการ Social Distancing นั้นไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่ถูกนำมาใช้ในเหตุการณ์การระบาดทั่วโลกหลายในหลาย ๆ ครั้งแล้ว ตั้งแต่การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu)ในระหว่างปี 1918 ถึง 1920 โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50-100 ล้านคนทั่วโลก และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ระบาดจากประเทศเม็กซิโกไปยังทั่วโลก

[4]หนังสือกระทรวงมหาดไทยด่วนที่สุดที่ มท 0810.6/ว2073 ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 เรื่องการให้ความช่วยเหลือจ้างงานและส่งเสริมอาชีพจากผลกระทบมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(COVID-19)  

[5]หนังสือกรมการพัฒนาชุมชน ด่วนที่สุด ที่ มท 0404.2/ว 0748 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563 เรื่อง แนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร”,  29 มีนาคม 2563, https://drive.google.com/file/d/1QRP7UdEcYQOspxyP4q-y5y4yKobbn1rv/view 

& หนังสือกรมการพัฒนาชุมชน ด่วนที่สุด มท 0404.2/ว0778 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2563 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร”, https://www.cdd.go.th/wp-content/uploads/sites/110/2020/04/630402_คำสั่งปลูกผัก.rar   

[6]มท.ดัน4หมื่นล้าน ซับน้ำตาแรงงานคืนถิ่นหนีโควิด19, คมชัดลึก, 7 เมษายน 2563, https://today.line.me/th/pc/article/มท+ดัน4หมื่นล้าน+ซับน้ำตาแรงงานคืนถิ่นหนีโควิด19-MYMwwz

[7]ตาม ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 หมวด 6 หลักเกณฑ์การช่วยเหลือ

ข้อ 16 การช่วยเหลือประชาชน ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ดังต่อไปนี้

(1) การช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย หรือภัยพิบัติฉุกเฉิน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือประชาชนตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง โดยอนุโลม

(2) การช่วยเหลือด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือประชาชน ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยอนุโลม

(3) การช่วยเหลือประชาชนด้านการป้องกันและระงับโรคติดต่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือประชาชนตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยอนุโลม

ดู ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 242 ง วันที่ 29 กันยายน 2560, หน้า 3-9, https://www.nmt.or.th/files/com_knowledge_news/2017-10/20171002_jlialibj.pdf 

& ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 17 ง วันที่ 17 มกราคม 2562, หน้า 1-4, http://www.dla.go.th/upload/regulation/type2/2019/2/1713_1.pdf

[8]กรณี ปปท.ตรวจสอบ อปท.ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ดู กาฬสินธุ์พบหน้ากากกันโควิดบาง ตั้งกรรมการสอบ 2 อปท.แจกไม่ได้มาตรฐาน, สยามรัฐออนไลน์, 31 มีนาคม 2563, https://siamrath.co.th/n/143388

[9]ดูตัวอย่างข่าวช่วงนี้

& กาฬสินธุ์พบอีกหน้ากากกันโควิดบางจิ๋ว ตั้งกรรมการสอบ 2อปท.แจกไม่ ได้มาตรฐาน, 31 มีนาคม 2563, https://mgronline.com/local/detail/9630000033155

& ข้อมูลใหม่เครื่องพ่นกันโควิด! 'ภูเก็ต' สั่งซื้อยกจว.-แนบเอกสารชื่อบ.โบรชัวร์สินค้าครบ, สำนักข่าวอิศรา, 15 เมษายน 2563, https://www.isranews.org/article/isranews-news/87456-news06-4.html

& ชาวบ้านหอบข้าวสารคืน อบต.ไม้ขาว ระบุข้าวแข็ง ขณะโซเชียลตีกลับ, 17 เมษายน 2563, https://mgronline.com/south/detail/9630000040123

& ผู้ว่าฯ เต้นสั่งสอบใช้งบ 17 ล้าน แจกถุงยังชีพ “อบจ.ลำพูน”, ไทยรัฐ, 20 เมษายน 2563,  https://www.thairath.co.th/news/crime/1825826

& หวั่นมีเงินทอน-ป.ป.ช.มุกดาหารเอาด้วย! แจ้งท้องถิ่นเฝ้าระวังทุจริตงบซื้อถุงยังชีพ, สำนักข่าวอิศรา, 24 เมษายน 2563, https://www.isranews.org/article/isranews-news/88033-isranews-82.html

[10]มีความเข้าใจผิดในแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 พอเพียงคืออะไร ไม่ได้มองแค่ทำการเกษตร ที่จริงพอเพียง ก็คือ การดำรงอยู่อย่างมั่นคง พึ่งพิงได้ แต่ต้องมีความเสี่ยงน้อย สรุป “ไม่ประมาท รู้เท่าทัน รู้จักประมาณ (พอดี หรือสมดุล) ดำรงตนอยู่ใน ลักษณะ มั่นคง”

ดู มูลนิธิชัยพัฒนา, https://www.chaipat.or.th/site_content/item/1309-2010-06-03-09-50-07.html

“เศรษฐกิจพอเพียง”เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

[11]รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น

มาตรา 250 วรรคหนึ่ง “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”  

[12]พิจารณาจาก “อำนาจและหน้าที่” ตามกฎหมาย ของ อปท. ตัวแม่บทคือ พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 หมวด 2 การกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ มาตรา 16 ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้ … (6) การส่งเสริม การฝึก และประกอบอาชีพ …  

ดู ข้อสังเกตในถ้อยคำว่าด้วย “การส่งเสริมอาชีพ” ในบทบาทภารกิจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปัจจุบัน, Phachern Thammasarangkoon & Woothi Pati : ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น), 23 เมษายน 2563, http://www.gotoknow.org/posts/677153

[13]การกระจายภารกิจหน้าที่ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยุคใหม่, ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย, http://www.local.moi.go.th/webst/botfam1.htm

คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาและให้ความเห็นชอบการถ่ายโอนภารกิจทั้ง 6 ด้าน รวมมีการถ่ายโอนทั้งสิ้น 244 เรื่อง มีส่วนราชการที่ถ่ายโอนภารกิจ 50 กรม ใน 11 กระทรวง  

[14]ดู กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2552, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 23 ก วันที่ 8 เมษายน 2552 หน้า 14-21, http://www.moi.go.th/pls/portal/docs/PAGE/MOI_2555/MOI/ABOUT%20THE%20MINISTRY/ATHORITY/STRU_CDD.PDF

กรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย จัดทำยุทธศาสตร์ชุมชน ตลอดจนการฝึกอบรมและพัฒนาบุคคลากรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาชุมชน เพื่อให้เป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ ...(7 ประการ)…

(1) กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแนวทางในการพัฒนาชุมชนระดับชาติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการพัฒนาชุมชน ได้ใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความสามารถและความเข้มแข็งของชุมชน

(2) จัดทำและพัฒนาระบบมาตรฐานการพัฒนาชุมชน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับประเมินความก้าวหน้าและมาตรฐานการพัฒนาของชุมชน

(3) พัฒนาระบบและกลไกในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้ การอาชีพ การออม และการบริหารจัดการเงินทุนของชุมชน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชนชุมชน ผู้นำชุมชน องค์การชุมชน และเครือข่ายองค์การชุมชน

(4) สนับสนุนและพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศชุมชน ส่งเสริมการใช้ประโยชน์และการให้บริการข้อมูลสารสนเทศชุมชน เพื่อใช้ในการวางแผนบริหารการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(5) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนา และสร้างองค์ความรู้เพื่อใช้ในงานพัฒนาชุมชน และการจัดทำยุทธศาสตร์ชุมชน

(6) ฝึกอบรมและพัฒนาข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน องค์การชุมชน และเครือข่ายองค์การชุมชนให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และสมรรถนะในการทำงาน รวมทั้งให้ความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาชุมชนแก่หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(7) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรม หรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

[15]ดูกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2551

ข้อ 2ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการพัฒนาและให้คำปรึกษาแนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การบริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง และการบริหารจัดการ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ ...(11 ประการ)...

สรุปอำนาจและหน้าที่ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นไปตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2551 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้

(1) ดำเนินการพัฒนาระบบ รูปแบบ และโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(2) ส่งเสริมและสนับสนุนในการจัดทำ ประสาน และบูรณาการแผนพัฒนาท้องถิ่นและวางระบบในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาท้องถิ่น

(3) ดำเนินการจัดทำ แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(4) กำหนดแนวทางและจัดทำมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการบริการงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

(5) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการดำเนินงานด้านการเงิน การคลัง การงบประมาณ การพัสดุ การจัดเก็บรายได้ และการประกอบกิจการพาณิชย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งวางระบบตรวจสอบระบบการเงิน การบัญชี และการพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(6) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการจัดการบริการสาธารณะและการศึกษาในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(7) กำหนดแนวทาง วางระบบ และสร้างตัวชี้วัดเพื่อเป็นมาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน

(8) ส่งเสริมภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการบริหารงานและตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(9) พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(10) พัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและของกรม

(11) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

การแบ่งส่วนราชการภายใน เพิ่มเติม ดังนี้

(1) กองสาธารณสุขท้องถิ่น

(2) กองสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น

(3) กองการเลือกตั้งท้องถิ่น

(4) กลุ่มประสานการตรวจราชการกรม

(5) ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อยู่ภายใต้สังกัดกองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น)

[16]โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start up ) ปี 2560, สสว. www.sme.go.th, 28 พฤศจิกายน 2560, https://www.sme.go.th/th/cms-detail.php?modulekey=119&id=1022

& โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Early - Stage) ปี 2562, 1 มีนาคม 2562, https://www.sme.go.th/th/cms-detail.php?modulekey=118&id=1245

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ(1) ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนธุรกิจใดๆ หรือจดทะเบียนธุรกิจแล้วไม่เกิน 3 ปี (2) วิสาหกิจชุมชน / เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (3) นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไปที่สนใจอยากจะเริ่มธุรกิจ

มีนักวิชาการเสนอว่า (หลังโควิด) "ควรใช้เวลานี้ยกระดับ ทรัพยากรของชาติ ให้มีคุณค่ามากขึ้น ส่งเสริมระบบ SME ไทยให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ปัญญาประดิษฐ์ ส่งเสริมให้ธุรกิจเล็กๆรากหญ้าเข้าสู่ระบบการจัดการเพื่อประกันความเสี่ยง เมื่อเกิดสภาวะวิกฤติสามารถมีระบบจ่ายเงินชดเชยได้ทุกคน" (ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง รายการเนชั่นทีวี)

[17]ดู การส่งเสริมSMEs ในญี่ปุ่น, ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ, ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค สำนักนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), August-September 2014, Vol.41 No.236, http://www.tpa.or.th/publisher/pdfFileDownloadS/tn236b_p29-31.pdf

หมายเลขบันทึก: 677180เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2020 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2020 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท