ฝึกทำหน้าที่ PPC โครงการคนไทย ๔.๐ : 4. การติดตามและประเมินภายใน



นี่คือบันทึกที่ ๔ ของการใคร่ครวญสะท้อนคิด จากการทำหน้าที่กรรมการอำนวยการแผนงาน (PPC – Program Promoting Committee) ครั้งที่ ๓  ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย ด้านสังคม   คนไทย ๔.๐   ซึ่งเดิมกำหนดประชุมวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓    แต่ต้องงดการประชุม และใช้วิธีส่งเอกสารให้กรรมการให้ความเห็นแทน

บันทึกนี้เป็นผลของการสะท้อนคิดจากการอ่านรายงานผู้ติดตามและประเมินภายใน แผนงานคนไทย ๔.๐ ปีที่ ๑   โดย นส. พรทิพย์ กาญจนนิยต และ นส. ณธัญอร รัตนาธรรมวัฒน์

การที่มีการออกแบบให้มีกลไกติดตามและประเมินภายใน  น่าจะถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมของการบริหารจัดการแผนงานวิจัย    และที่แปลกคือ มีผู้ทำหน้าที่นี้ ๒ คน   ทำงานแยกกัน   แยกรายงานกัน    กลไกนี้น่าจะเป็นตัวจักรสำคัญให้เกิด learning loop ในการบริหารจัดการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead Program) ด้านการวิจัย    สั่งสมความรู้และทักษะในการจัดการให้งานวิจัยเพื่อเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ บรรลุผลอย่างแท้จริง  

   อ่านรายงานของผู้ติดตามและประเมินภายในทั้งสองท่านแล้ว ผมเกิดความอิ่มเอมและได้ความรู้มาก    น่าจะเป็นตัวอย่างของการใช้กลไกติดตามและประเมินภายในเพื่อเสริมพลังทีมอำนวยการและทีมจัดการโปรแกรม    ให้เกิดการเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็ว    รวมทั้งผมชื่นชมท่านประธานโปรแกรม ที่หาผู้ติดตามและประเมินภายในที่มีความสามารถสูงมาทำหน้าที่   

คุณพรทิพย์ระบุในรายงานชัดเจนว่าแบ่งงานกับคุณณธัญอรอย่างไร    แต่เมื่ออ่านรายงานของท่านทั้สองแล้วผมตีความว่า คุณพรทิพย์เน้นประเมินภาพใหญ่   ส่วนคุณณธัญอรเน้นประเมินตามขั้นตอนการทำงาน    รวมแล้วช่วยหนุนทีมบริหารได้มาก    และช่วยให้ท่านประธานโปรแกรมได้รับรายงานความก้าวหน้าของโครงการจากมุมมองของคนนอก เสริมกับรายงานของผู้จัดการ ODU ที่เป็นผู้นำทีมบริหารงานโดยตรง

นี่คือตัวอย่างของ Empowerment Evaluation ในภาคปฏิบัติ    ที่น่าชื่นชมมาก  

ท่านทั้งสอง เริ่มงานเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒     และรายงานที่ผมอ่านเป็นรายงานครั้งที่ ๒    ประเมินถึงเดือนมกราคม ๒๕๖๓ เท่านั้น    ยังต้องมีรายงานครั้งที่ ๓ จึงจะครบ ๑๒ เดือน   

นอกจากติดตามการจัดการของ ODU   และการปฏิบัติงานของทีมวิจัยแล้ว    ยังมีเรื่องการเผยแพร่กิจกรรมและผลงานสู่สาธารณชน ที่ทำได้ดี    และการทำงานร่วมกับหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ของการวิจัย    ซึ่งเริ่มมีบ้างแล้ว     แต่เนื่องจากยังอยู่ในช่วงแรกของโครงการ    ข้อมูลการที่หน่วยงานเอาผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์จึงยังไม่ชัดเจน          

วิจารณ์ พานิช

๓๐ มี.ค. ๖๓

     

หมายเลขบันทึก: 677146เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2020 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2020 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท