พัฒนาเด็กนอกระบบการศึกษา



ยังอยู่ที่การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ นะครับ

ผมติดใจวาระเรื่อง โครงการพัฒนาเด็กนอกระบบการศึกษา    ที่ ศ. ดร. สมพงษ์ จิตระดับ บอกว่ามี ๓.๗ ล้านคน    เอกสารประกอบวาระบอกว่า ตามผลการวิจัยของ ศ. ดร. นพ. ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย   ปี ๒๕๕๘   “พบว่ามีจำนวนเด็ก 3-17 ปี ตามทะเบียนราษฎร์ 9,805,469 คน  นักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 8,661,730 คน นักเรียนในสังกัด อปท. 551,343 คน   เป็นเด็กนอกระบบการศึกษา (3-17 ปี) 592,396 คน ในขณะที่ข้อมูลนักเรียนที่จบ ม.3 ไม่ศึกษาต่อมีจำนวน 97,936 คน คิดเป็นร้อยละ 14.18 (จำนวนดังกล่าวน้อยกว่าความเป็นจริงเนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลครอบคลุมเฉพาะนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่จบชั้น ม.3 ในปี 2558 และไม่เข้าศึกษาต่อในสังกัดใดๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ)”

จำนวน ๓.๗ ล้าน กับ ๐.๕๙ ล้านคน ต่างกันมาก    สะท้อนว่าคงจะมีเกณฑ์นับแตกต่างกัน  และแหล่งของข้อมูลต่างกัน    แต่ตามตัวเลขผลวิจัยของ นพ. ศุภสิทธิ์ ที่บอกว่าร้อยละ ๖.๘ ของเด็กอายุ ๓ - ๑๗ ปี ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา    ก็น่าเป็นห่วง    และเราต้องการตัวเลขที่จำแนกแยกแยะกว่านี้ เพื่อสนับสนุนมาตรการแก้ไขให้ตรงสาเหตุของปัญหา เรื่องแบบนี้เสี่ยงต่อการดำเนินการตามระบบที่มีอยู่ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า ไปไม่ถึงตัวเด็ก  

ผมจึงเสนอให้หาทางสนับสนุนแบบ unconventional คู่ขนานไปด้วย เพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบ ว่าวิธีใดใช้ได้ผลดีกว่า   

เอกสารประกอบการประชุม ให้ข้อมูลว่า ในกลุ่มเด็กอายุ ๗ - ๑๗ ปี ทั้งประเทศ    เฉลี่ยทั้งประเทศเป็นเด็กนอกระบบการศึกษาร้อยละ ๖.๐๖    จังหวัดที่มีสัดส่วนเด็กนอกระบบฯ มากที่สุด ๑๐ จังหวัดคือ กทม. (ร้อยละ ๑๓.๕๑ ของเด็กอายุ ๗ - ๑๗ ปี ในจังหวัด)    ตาก (๑๒.๕๑)   นราธิวาส (๑๐.๗)   ปัตตานี (๘.๙๔)    ยะลา (๘.๓๓)    เชียงใหม่ (๘.๐๔)    ชลบุรี (๗.๘๙)    แม่ฮ่องสอน (๗.๗)    กาญจนบุรี (๖.๗๓)   สงขลา (๖.๖๒)     ตกใจไหมครับ ที่เมืองหลวงมีเด็กนอกระบบในสัดส่วนสูงที่สุด  

อีกตัวเลขหนึ่งที่เอกสารนำเสนอ คือสัดส่วนของเด็กที่จบ ม. ๓ แล้วไม่เรียนต่อ    ทั้งประเทศมีเด็กจบชั้น ม. ๓ จำนวน ๖๙๐,๕๓๖ คน    ไม่เรียนต่อ ๙๗,๙๓๖ คน  คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๒    จังหวัดที่สัดส่วนนี้สูงสุด ๑๐ จังหวัดแรกคือ  นครราชสีมา (๒๐.๓๔)    อุบลราชธานี (๒๐.๒๔)    บุรีรัมย์ (๑๗.๗๖)    สกลนคร (๑๖.๔๒)     สุรินทร์ (๑๖.๒๙)    อุดรธานี (๑๕.๗๒)     ศรีสะเกษ (๑๔.๖๙)     เชียงใหม่ (๑๔.๖๙)     นครศรีธรรมราช (๑๒.๗๓)     กทม. (๑๐.๔๙)   

เอกสารนี้บอกผมว่า  ข้อมูลที่ขาดคือข้อมูลเกี่ยวกับ root cause ของปรากฏการณ์ดังกล่าว     หากดำเนินการแก้ไขโดยไม่พยายามทำความเข้าใจและแก้ที่ root cause    จะได้ผลน้อย 

ข้อพึงระวังคือ การทุ่มเงินเข้าไปหนุนระบบเดิมอาจสูญเงินเปล่า    และการดำเนินการแบบไม่เน้นแก้ root cause    จะทำให้สูญเงินเปล่าเช่นเดียวกัน  

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มี.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 676994เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2020 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2020 18:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท