ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม (Essentialism)


วิลเลี่ยม ซี แบคลี (William C. Bagley)


ความเป็นมาปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม

เป็นปรัชญาการศึกษาที่เกิดในอเมริกา เมื่อประมาณ ปี ค.ศ.1930 โดยการนำของ วิลเลี่ยม ซี แบคลี (William C. Bagley) และคณะได้รวมกลุ่มกันเพื่อเผยแพร่แนวคิดทางการศึกษาอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ“คณะกรรมการสารัตถนิยมเพื่อความก้าวหน้าของการศึกษาอเมริกัน”ในประเทศสหรัฐอเมริกา สารัตถนิยมมีพื้นฐานความคิดเป็นแบบอนุรักษ์นิยม(Conservativism) ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ J.R. White กล่าวคือเป็นความพยายามศึกษา ทำความเข้าใจและรักษาระเบียบกฎเกณฑ์ของสรรพสิ่งในธรรมชาติมากกว่าที่จะคิดเปลี่ยนแปลง สารัตถนิยมคัดค้านความเชื่อของปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยมซึ่งเสนอแนะให้กำจัดการเรียนการสอนแบบเก่าที่เน้นการท่องจำและอำนาจของครูซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยและเรียกร้องให้นักการศึกษาและประชาชนมาสนใจวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ความหมายสารัตถนิยม (Essentialism)

 มาจากภาษาละตินว่า Essentia หมายถึง สาระ หรือ เนื้อหาที่เป็นหลัก เป็นแก่น เป็นสิ่งสำคัญปรัชญาสารัตถนิยม ในทางการศึกษา คือ ปรัชญาที่ยึดเนื้อหา (Subject Matter) เป็นหลักสำคัญของการศึกษา และเนื้อหาที่สำคัญนั้นก็ต้องเน้นเนื้อหาที่ได้มาจากมรดกทางวัฒนธรรม ที่ควรได้รับการถ่ายทอดต่อไป สารัตถนิยม เป็นการหล่อหลอมความคิด ของจิตนิยม (Idealism) และสัจนิยม (Realism) มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น สาระนิยม สารวาส ลัทธิจิตนิยม หรือ คตินิยม (Idealism)เชื่อว่า ความเป็นจริง (Reality) เป็นความนึกคิด (Mind) และเป็นจิตรภาพ (Idea) หรือ แบบ (From) ที่มีอยู่ในจินตนาการของเราดังนั้นปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม จึงแยกพิจารณาออกเป็น 2 กลุ่มตามรากฐานของปรัชญาดั้งเดิม ตามประเด็นต่าง ๆดังนี้

1 .ปรัชญาสารัตถนิยมตามแนวของลัทธิจิตนิยม

1)แนวคิดทางสังคมเป้าหมายการศึกษา 

ปรัชญาสารัตถนิยมตามแนวของลัทธิจิตนิยม มีแนวคิดที่ว่า บุคคล เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นเครื่องมือของสังคม ดังนั้นบุคคลจะต้องอุทิศตนเพื่อสังคมที่ตนเองอาศัย นอกจากนั้นยังมีความเห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่สังคมพึงกระท าคือ การสะสม/อนุรักษ์มรดกของสังคมไว้ให้คนรุ่น ต่อไป และช่วยสืบทอดวัฒนธรรมในสังคมให้คงอยู่ต่อไป ดังนั้นเป้าหมายทางการศึกษาตามความเชื่อดังกล่าว ตาม ทัศนะของนักปรัชญากลุ่มนี้ จึงมีความเห็นว่า โรงเรียนจะต้องพัฒนาคุณธรรม รักษาและถ่ายทอดซึ่งคุณธรรมของ สังคมในอดีตให้คงอยู่ตลอดไปยังบุคคลรุ่นต่อ ๆไป ซึ่งสิ่งใดก็ตามที่สังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เป็นความจริง หรือเป็น สิ่งที่ดีงามแล้ว โรงเรียนหรือสถานศึกษาจะต้องถ่ายทอดสิ่งนั้นไปสู่อนุชนรุ่นหลังต่อไป 

2)ลักษณะผู้เรียน

 ในทัศนะของนักปรัชญาการศึกษากลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นว่า ผู้เรียนเป็นบุคคลที่มีความรู้สึกนึกคิดที่จะเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ ดังนั้นถ้าหากผู้เรียนได้รับการอบรมสั่งสอนที่เหมาะสมก็จะเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ตามที่ต้องการได้ ดังนั้นหน้าที่ของนักเรียนก็คือจะต้องเลียนแบบจากครูโดยครูเป็นต้นแบบและศึกษาเล่าเรียนในรายวิชาต่างๆตามที่ครูกำหนดหรือครูเห็นว่าดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายวิชาที่เกี่ยวกับมานุษยวิทยา นอกจากนั้นนักปรัชญากลุ่มนี้ยังมีความเชื่อว่าโดยธรรมชาติของผู้เรียนที่แท้จริงแล้ว ผู้เรียนจะเป็นผู้ที่ต้องทำดีที่สุด เพื่อจะทำให้ตนเองเป็นคนที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด

 3)ลักษณะครูผู้สอน

เป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในกระบวนการทางการศึกษา เพราะครูเป็นผู้ที่เป็น แบบอย่างหรือต้นแบบของนักเรียน และเป็นสัญลักษณ์ที่นักเรียนจะต้องทำตัวให้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นครูจะต้องทำตัวให้ดีที่สุด และจะต้องพยายามฝึกนักเรียนให้เป็นคนที่มีอุดมการณ์ตามที่ต้องการ ครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของ ผู้เรียน และของสังคมนั้น

4)ลักษณะหลักสูตรหรือเนื้อหา

นักปรัชญากลุ่มนี้มีความเห็นว่าหลักสูตรจะต้องเน้นการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์สิ่งดีงามของชุมชนตนเองและประวัติบุคคลสำคัญโดยถือว่าประวัติศาสตร์จะช่วยให้ผู้เรียนได้เข้าใจ สังคมและชีวิตภายในสังคม ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับมานุษยวิทยา จะช่วยให้เข้าใจมนุษย์ได้ดีขึ้น

5)หลักการจัดการเรียนการสอน 

ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการบรรยาย อภิปรายและทำตามตัวอย่างที่มีอยู่ สอน เนื้อหาและวิธีการเดิม ๆ ที่มีการสืบทอดต่อ ๆกันมาตั้งแต่อดีต 

2.ปรัชญาสารัตถนิยมตามแนวของลัทธิสัจนิยม

    1)แนวคิดทางสังคมและเป้าหมายการศึกษา

    ปรัชญาสารัตถนิยมตามแนวลัทธิสัจนิยมได้กำหนดนโยบายทางสังคมในลักษณะใกล้เคียงกับลัทธิจิตนิยมซึ่งเน้นการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันเป็นมรดกของสังคมเช่นเดียวกัน แต่มรดกทางสังคมในทัศนะของนักปรัชญากลุ่มนี้จะหมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติดังนั้นเป้าหมายทางการศึกษาตามแนวคิดสารัตถนิยมกลุ่มสัจนิยมเพื่อค้นหาความจริงต่างๆที่มีอยู่และเพื่อขยายความจริงและผสมผสานความจริงที่ได้รู้แล้วไปยังคนรุ่นต่อไปโดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับชีวิตทั่วไป และเกี่ยวกับหน้าที่ในอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ความจริงที่มีทฤษฎีสนับสนุน หรือความรู้ที่แจ้งชัดอยู่แล้วใน คนรุ่นหนุ่มสาวและคนชราไปยังคนรุ่นต่อ ๆไป

     2)ลักษณะผู้เรียน

    นักเรียนจะไม่มีอิสระในการเลือกเรียน แต่จะต้องถูกดำเนินการไปตามกฎเกณฑ์ที่ กำหนดและจะต้องอยู่ในระเบียบวินัยจนกระทั่งถึงวัยสมควรและสามารถกระทำสิ่งต่าง ๆได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

    3)ลักษณะครูผู้สอน

     ผู้สอนจะต้องรับผิดชอบในการแนะนำสิ่งต่าง ๆที่มีอยู่จริงให้นักเรียนได้รู้จัก ได้เรียนรู้ โดยวิธีการบรรยาย สาธิต และประสบการณ์ตรง ผู้สอนจะต้องให้ผู้เรียนได้รู้ถึงกฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆตาม ธรรมชาติ และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความลำเอียงอันจะเกิดขึ้นจากครู นักปรัชญากลุ่มนี้จะใช้เครื่องช่วยสอนและสื่อ ต่าง ๆด้วย

    4)ลักษณะหลักสูตรหรือเนื้อหา

    นักปรัชญากลุ่มสัจนิยมจะมองหลักสูตรว่าเป็นสิ่งที่สามารถแบ่งแยกให้เป็น ความรู้ย่อยที่สามารถวัดได้ประเมินได้ นักปรัชญากลุ่มสัจนิยมหลายคนได้สนับสนุนแนวความคิดของ Thorndike (นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมและบิดาแห่งการวัดผลการศึกษา) ที่กล่าวว่า ถ้าสิ่งต่างๆมีอยู่จริงแล้ว สิ่งนั้นจะต้อง มีปริมาณและจะสามารถวัดได้ ดังนั้นลักษณะหลักสูตรของปรัชญาสารัตถนิยมตามแนวของสัจนิยมนั้น นักเรียนจะต้องเรียนรู้การใช้เครื่องมือในการแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านภาษาในสังคมของตนเอง นักเรียน จะต้องคุ้นเคยกับวิธีการทางฟิสิกส์เคมี และชีววิทยา นักเรียนจะต้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ วรรณคดีและ ศิลปะที่สำคัญต่าง ๆของสังคม และในขั้นสุดท้ายควรจะสอนให้รู้เกี่ยวกับปรัชญาและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการนำเอาความรู้ไปสู่การปฏิบัติอีกด้วย

     5)หลักการจัดการเรียนการสอน

    การเรียนการสอนจะเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆเพื่อจะสามารถเข้าใจในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ วิธีการสอนจะเน้นการอุปมาน (inductive) ซึ่งเป็นการสรุปกฎเกณฑ์จาก ข้อเท็จจริงต่างๆที่ปรากฏอยู่วิธีสอนที่นิยมใช้กันมากก็คือ การทัศนศึกษา การใช้ภาพยนต์ ฟิล์ม เครื่องบันทึกเสียง โทรทัศน์ และวิทยุหรือสื่อประกอบการเรียนการสอน

    สรุป

    การจัดการศึกษาการศึกษาสารัตถนิยมเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทยให้แก่คนรุ่นหลังในด้านการจัดการหลักสูตรประกอบด้วยเนื้อหาสาระ การฝึกฝนทักษะ ค่านิยม ความเชื่อ และความรู้พื้นฐานของสังคมส่วนผู้สอนเป็นผู้กำหนดตัดสิน คัดเลือกสิ่งที่เห็นว่าผู้เรียนควรจะเรียน ผู้เรียนจะเป็นผู้รับ ผู้ฟัง ฝึกฝนตนเองให้เกิดความเข้าใจ และเชี่ยวชาญในสิ่งที่เรียนและการจัดการเรียนการสอนใช้วิธีการเรียนรู้จากครูและตำรา เน้นการบรรยาย ซักถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจเนื้อหามากกว่าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน

    อ้างอิง
    https://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:6zIHaRyIlAcJ:https://ams.kku.ac.th/aalearn/resource/edoc/tech/56web/1phylos56.pdf+&cd=3&hl=th&ct=clnk&gl=th
    https://www.baanjomyut.com/library_2/educational_philosoph/01.html


      หมายเลขบันทึก: 676790เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2020 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2020 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


      ความเห็น (0)

      ไม่มีความเห็น

      อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
      พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
      ClassStart
      ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
      ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
      ClassStart Books
      โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท