ระเบียบวาระแห่งชาติเรื่องสังคมสูงอายุ


"สังคมสูงอายุ" (Ageing society) หมายถึง สังคมที่ประชากรกําลังมีอายุสูงขึ้น สังเกตได้จากอัตราส่วนร้อยของประชากรสูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คนวงในจะใช้คำ "สังคมสูงอายุ" ขณะที่คนวงนอกไม่คุ้นปากก็มักจะเรียก "สังคมผู้สูงอายุ" - ถึงตรงนี้ เรามาร่วมเป็นคนวงในกันนะครับ ใช้คำว่า "สังคมสูงอายุ" กัน 

โดยทั่วไปท่านแบ่งสังคมสูงอายุไว้ 3 ระดับ ได้แก่; 

สังคมสูงอายุ (Aged society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของ ประชากรทั้งหมด (หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 7)

สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete-aged society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด (หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 14)

สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) หมายถึง สังคมที่มีประชากร อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด (หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20)


ทำไมต้องประกาศเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ
ในรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง "สังคมผู้สูงอายุ : ระเบียบวาระแห่งชาติ" ของคณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระบุว่า;

"....."การจัดทำผู้สูงอายุให้เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ" จะส่งผลให้ประเทศไทยมีการกำหนดมาตรการในการสร้างระบบการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครอง พัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจผู้สูงอายุที่มีมาตรฐานระดับสากลและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งที่เป็นองค์การและปัจเจกบุคคล และนำนวัตกรรมมาใช้เพื่ออำนวยความสำเร็จในการที่จะให้ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจ ใช้นวัตกรรมในการสร้างมาตรฐานด้านการดูแลผู้สูงอายุ การจ้างงานผู้สูงอายุ การถ่ายทอดภูมิปัญญาจากผู้สูงอายุ พร้อมกับปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้สูงอายุให้เป็นเชิงบวก ภายใต้นโยบายประชารัฐ และ Thailand 4.0 ที่นำมาใช้ในการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล 

ทั้งนี้ หากไม่ได้มีการดำเนินงานให้เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ ประเทศไทยต้องรับภาระงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุที่มากขึ้น และไม่มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพ ขาดการบูรณาการทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้ขับเคลื่อนการทำงานด้านผู้สูงอายุไปด้วยกัน ส่งผลให้รัฐไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง ซึ่งกระทบต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ....."


วาระแห่งชาติกับระเบียบวาระแห่งชาติ
ราชบัณฑิตยสถานกล่าวว่า "วาระ" กับ "ระเบียบวาระ" มีความหมายต่างกัน และ "ระเบียบวาระการประชุม" ก็มิอาจใช้คำว่า "วาระการประชุม" แทนได้ 

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าคำว่า "ระเบียบวาระ" ใช้คำว่า "วาระ" แทนได้ จึงทำให้มีการใช้คำว่า "วาระแห่งชาติ" เพื่อสื่อความหมายถึงคำว่า "ระเบียบวาระแห่งชาติ" ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะ "ระเบียบวาระแห่งชาติ" ไม่อาจใช้คำว่า "วาระแห่งชาติ" แทนได้ เพราะจะทำให้การสื่อความหมายผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป

ราชบัณฑิตยสถาน โดย คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ได้พิจารณาเรื่องคำดังกล่าวไว้แล้วว่าคำว่า "วาระ" และ "ระเบียบวาระ" มีความหมายต่างกัน กล่าวคือ "วาระ" หมายถึง ครั้ง เวลากำหนด ส่วน "ระเบียบวาระ" หมายถึง ลำดับเรื่องที่จะพิจารณาดำเนินการก่อนหลัง และได้พิจารณาให้ความเห็นไว้ว่า คำว่า "National Agenda" ควรใช้ว่า "ระเบียบวาระแห่งชาติ" ซึ่งหมายถึง การจัดลำดับภารกิจแห่งชาติที่จะพิจารณาดำเนินการก่อนหลัง

ดังนี้ แล ฯ

ดาวน์โหลดไฟล์เอกสาร
มาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ 6 SUSTAINABLE 4 CHANGE (ฉบับปรับปรุง)
ได้ที่  http://www.dop.go.th/th/know/5/155

---------------------------------------------------------

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2562
ผ่านสเตตัสใน facebook ที่
https://www.facebook.com/17670...

หมายเลขบันทึก: 676782เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2020 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2020 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท