ปลูกต้นไม้ตามสไตล์ลุงธเนศ



    ผมมักได้ยินคนเขาพูดถึงผมบ่อยๆว่า "อาจารย์แกมือเย็น ปลูกอะไรก็งามไปหมด" ผมก็ได้แต่ฟังและยิ้ม แต่ก็อดภูมิใจลึกๆไม่ได้
    บางคนก็ถามว่า "ทำไมอาจารย์ปลูกต้นไม้งอกงามดีจัง คงเรียนมาทางนี้จึงเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ" ผมก็ตอบไปว่า ไม่ได้เรียนทางนี้เลย แต่ด้วยใจรักจึงพยายามศึกษาแล้วเอาใจเข้าไปปลูก ลองผิดลองถูกไป  ต้นไม้เป็นสิ่งที่มีชีวิต เขาก็ต้องการความรักความเอาใจใส่เหมือนกับคน ถ้าปลูกแล้วปล่อยทิ้งๆขว้างๆเขาก็จะเหี่ยวเฉาไม่งอกงาม แต่ถ้าประคบประหงมเลี้ยงดูเขามากไป เขาก็จะเคยตัว ขาดภูมิต้านทานเหมือนเด็กที่เลี้ยงไม่โต เราต้องยึดหลักทางสายกลางดีที่สุด
การปลูกต้นไม้ตามสไตล์ของผมนั้น  ก่อนอื่นคงต้องดูพื้นที่จะปลูกและต้นไม้ที่เราอยากปลูกเป็นเบื้องต้น ถ้าบ้านเป็นทาวเฮ้าส์ หรือคอนโดฯมีเนื้อที่น้อยก็ต้องปลูกลงกระถาง ชนิดของพืชก็น่าจะเป็นไม้ดอก ไม้ประดับ ที่ต้นไม่โตนัก แล้วเลือกหลายๆชนิด ตามที่เราชอบ ที่ดูดี มีรสนิยม จัดพื้นที่ ขนาดของกระถางให้ได้สัดส่วน เราสามารถปลูกได้ทั้งกลางแจ้งและในที่ร่ม
ไม้ดอก ไม้ประดับที่ชอบแดด ปลูกกลางแจ้งได้ดี เช่น ทองอุไร พยับหมอก  มะลิ กุหลาบ ชบา  ฟ้าประทานพร ยี่โถ โมก ชวนชม เบิร์ดออฟพาราไดร์  รักแรกพบ เข็ม ม่วงส่าหรี  มธุรดา  เพชรน้ำหนึ่ง ฯลฯ ไม้ประดับที่ปลูกได้ในร่ม เช่น สาวน้อยประแป้ง วาสนา ลิ้นมังกร เดหลี อโกลนีมา กล้วยไม้(แดดรำไร) เป็นต้น ขนาดกระถางก็ต้องดูตามขนาดต้นไม้ ถ้าต้นโตไปเราก็ตัดแต่งกิ่งได้ จะได้มีกิจกรรมทำไม่เหงา
ไม้ดอกอีกชนิดหนึ่งที่อยากให้ปลูกทำเป็นซุ้ม คล้ายกระดังงา   คือ พวงคราม มีทั้งพันธุ์ไทย ดอกเล็กหน่อย และพันธุ์ออสเตรเลีย ดอกใหญ่  ทั้งสองพันธุ์ จะออกดอกสีม่วงเป็นพวงระย้าเกือบทั้งปี สวยมากๆ ใครเห็นก็อดถ่ายรูปไม่ได้
      ที่ผมอยากให้ทุกบ้านแม้จะมีพื้นที่มากหรือพื้นที่น้อยควรปลูกไว้เพื่อรับประทานเองก็คือพืชผักสวนครัว เช่น พริก กระเพรา โหระพา ยี่หร่า แมงลัก ข่า ตระไคร้ สะระแหน่  ผักกาด ผักคะน้า ผักชี คื่นช่าย จิงจูฉ่าย วอเตอร์เกรส มะเขือ มะเขือเทศ ชะพลู  กระเจี้ยบ เป็นต้น  ถ้าพอมีพื้นที่ริมรั้วพอจะปลูกพืชรั้วกินได้ก็ควรปลูกไว้ทาน เช่น ตำลึง บวบ ฟักแฟง แตงกวา ถั่วพลู ถั่วฝักยาว ฟักทอง แก้วมังกร เป็นต้น
     ถ้ามีพื้นที่พอจะแบ่งปลูกไม้ผล ไว้รับประทานอย่างละต้นสองต้น ก็จะเป็นทั้งไม้ประดับ ให้ร่มเงาและรับประทานผลัดเปลี่ยนกันไปได้ทั้งปี  เช่น มะม่วง ขนุน มะยงชิด มะละกอ ชมพู่ ฝรั่ง กระท้อน มะกอก มะเฟือง มะขาม มะยม ส้มต่างๆ ลิ้นจี่ ลำไย มังคุด กล้วย มัลเบอรี่ เป็นต้น   ต้นไม้ที่เด็ดยอดทาน เช่น มันปู มะตูมแขก เหลียง ชะมวง แค ชะอม คะน้าเม็กซิโก มะกรูด เป็นต้น
     ต้นไม้แต่ละชนิดที่ผมแนะนำมาล้วนปลูกและดูแลง่าย ใช้เวลาไม่นานก็ได้ผลผลิตมารับประทานแล้ว  หลักคิดอย่างหนึ่งของผมคือ จะไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อการขาย แต่จะปลูกหลายๆชนิด อย่างละต้นสองต้น เพื่อจะได้มีให้ทานและแบ่งปันอย่างหลากหลายกันทั้งปี
       วิธีปลูก ก็แล้วแต่ละชนิดของพืช ถ้าเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่ไปซื้อมาจากร้านซึ่งเขาเพาะชำ ใส่ถุงใส่กระถางไว้แล้ว ก็นำมาแยกปลูกลงในสถานที่หรือในภาชนะที่เราเตรียมไว้แล้ว เช่น อาจปลูกลงดิน หรือปลูกลงกระถางก็ได้  แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเตรียมดินปลูก หลายคนไปซื้อดินถุงที่เขาขายตามร้านขายวัสดุการเกษตร แล้วเขาโฆษณาสรรพคุณต่างๆ เช่น ดินปุ๋ยหมัก ดินก้ามปู ดินมูลไส้เดือน มีธาตุอาหารพืชครบถ้วน แต่จริงๆแล้วมีคุณค่าน้อยมาก นำมาใส่กระถางปลูกไม่นานดินก็แน่น และแข็งตัว พืชจะไม่ค่อยงอกงาม แถมมีโรคพืช เชื้อรา มด แมลงต่างๆรบกวนง่าย ยิ่งใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เข้าไปก็ไม่ได้ช่วยให้งอกงามได้เท่าใดนัก ยิ่งทำให้ดินแน่นและเสื่อมคุณภาพเร็วเข้าอีก
  ดังนั้นผมจึงทำดินสูตรของผมเอง คิดเอง ทำเอง ใช้เอง ทดลองใช้มานาน ในลักษณะดินฮอร์โมนชีวภาพ ทำง่ายมาก  สนใจติดตามวิธีทำจากบันทึกเรื่อง “ดินลุงธเนศ” ได้ครับ
      ผมปลูกพืชทั้งลงกระถางและลงดินจะใช้ดินสูตรลุงธเนศนี้เสมอมา ต้นไม้ที่ผมปลูกจึงงอกงามออกดอก ออกผลอย่างผิดตา ไม่ต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เลย สัปดาห์หนึ่งก็จะรด “ปุ๋ยฮอร์โมนชีวภาพสูตรลุงธเนศ”เสริมลงไป  ติดตามบันทึกวิธีทำปุ๋ยสูตรนี้ได้เช่นกันครับ  
     ผมทำแบบนี้มานาน รับรองว่า "การปลูกต้นไม้ตามสไตล์ลุงธเนศ"นี้ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเรา รวมทั้งช่วยปรับสภาพดินและสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น  แถมยังป้องกันไม่ให้เชื้อราและแมลงมารบกวนให้ยุ่งยากใจด้วย โปรดติดตามบันทึกเรื่อง "ดินลุงธเนศ" และ"ปุ๋ยฮอร์โมนชีวภาพสูตรลุงธเนศ" ในบันทึกเรื่องต่อๆไปครับ

    ใครอยากลองทำดูบ้างก็เชิญเลยนะครับ มีความสุขจริงๆนะ จะบอกให้.









                     
    

หมายเลขบันทึก: 676264เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2020 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2020 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทดลองทำไป สุขใจ หลังวัยเกษียณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท