ชีวิตที่พอเพียง 3629a. เล่าไว้ในวัยสนธยา 19. สร้างบรรยากาศการทำงานของตนเอง


ชีวิตที่พอเพียง 3629a. เล่าไว้ในวัยสนธยา   19. สร้างบรรยากาศการทำงานของตนเอง

ชื่อบันทึกนี้แวบเข้ามาระหว่างนั่งร่วมประชุมThe 10th Prince Mahidol Award Youth Program Networking &Reunion Meeting เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ที่จะลงบันทึกในวันที่ ๒๗ มีนาคม   

คนที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ในชีวิต ต้องสร้างบรรยากาศหรือโอกาสการทำงานของตนเอง นี่คืออุดมการณ์หรือยุทธศาสตร์ชีวิตของผม    ความเชื่อนี้ผลักดันให้ผมย้ายไปทำงานที่โรงเรียนแพทย์ตั้งใหม่    คือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ที่หาดใหญ่   หลังจากฝึกวิทยายุทธที่หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กับ อ. หมอประเวศ วะสี และ อ. หมอสุภา ณ นคร ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๑๑ ๒๕๑๖    ฝึกทำวิจัยเป็น (บ้างนิดหน่อย)    สอนเป็น (บ้างนิดหน่อย)    และบริหารเป็น (บ้างนิดหน่อย)    ก็ร้อนวิชา อยากไปสร้างตัวของตัวเอง

ตอนหนุ่มๆอายุสามสิบต้นๆ อยากเป็นเจ้าสำนัก ว่างั้นเถอะ  

ตอนนี้อายุใกล้แปดสิบ   จึงสรุปว่าความฝันในตอนนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่า    เพราะชีวิตผกผัน จากความต้องการของหน่วยงานตั้งใหม่    ความเป็นคน resilience สูง ชักนำชีวิตหักเห จากงานเชิงลึก สู่งานด้านกว้าง     

ข้อดีของการทำงานในหน่วยงานตั้งใหม่คือการเรียนรู้สูงมาก    เพราะโอกาสเปิดอย่าง(แทบจะ) ไม่มีข้อจำกัด     ชีวิตผมได้ทำงานในหน่วยงานตั้งใหม่ถึง๓ ครั้ง    สองครั้งหลังได้เป็นผู้ริเริ่มเอง     ชักนำให้ผมรู้จักตัวเองว่าหลงใหลในเรื่องการเรียนรู้     และงานหลังสุดทำให้ผมเข้าใจการเรียนรู้จากการปฏิบัติ    ทั้งในระดับปฏิบัติและระดับทฤษฎี   และได้เข้าใจว่ามนุษย์เรามีธรรมชาติสร้างทฤษฎีจากการปฏิบัติหรือประสบการณ์     แต่การศึกษาไทยพาคนไทยหลงผิด    เราไปเรียนแบบลอกตำราลอกทฤษฎีมาจากต่างประเทศเอามายึดมั่นถือมั่น ตั้งตัวเป็นผู้รู้   ทำให้ระบบการศึกษาของเราสร้างแต่นักลอกเลียน    ไม่หนุนให้เกิดนักสร้างทฤษฎีจากการปฏิบัติ       

พอดีได้อ่านหนังสือHow Successful People Think : Change Your Thinking, Change Your Life (2009)    ที่แนะนำให้ฝึกเป็นคนคิดภาพใหญ่   ซึ่งจะชักนำให้หลุดจากการคิดวนอยู่แค่ผลประโยชน์ของตนเอง     ไปสู่การคิดเพื่อเป้าหมายยิ่งใหญ่เลยไปจากเป้าหมายที่คับแคบเพียงเพื่อตนเอง   

จากคิดต้องเข้าสู่ทำ”    ต้องมีทักษะในการคิดยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายหลายๆ ทาง     ที่เรียกว่า creative thinking    และมีข้อมูลสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน    สำหรับนำมาใช้เลือกแนวทางปฏิบัติที่เพมาะสมที่สุดในสถานการณ์จริง    สิ่งที่ทำก็จะเป็น นวัตกรรม ไม่เคยมีมาก่อน

โชคชะตาชักนำให้ผมได้สร้างนวัตกรรมในการจัดการงานวิจัยร่วมกับทีมงาน สกว. เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน    และได้ค้นพบตรงกับที่บอกไว้ในหนังสือเล่มนี้   ว่า “Getters generally don’t gethappiness, givers get it”    แต่ประสบการณ์ของผมต่างนิดหน่อย เป็น “Getters generally getsuccess, givers get it”    สกว.เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนประสบความสำเร็จเพราะเรามุ่งทำงานรับใช้นักวิจัยและประเทศชาติ   ไม่มุ่งทำงานเพื่อเกียรติยศชื่อเสียงของผู้บริการ สกว.    

บรรยากาศการทำงานที่มีพลังจากภายนอกเข้ามาร่วมสร้างความสำเร็จ    สร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้(ภายใต้ความสามารถของเรา) ให้เป็นไปได้     Make the impossible possible.

การเรียนรู้มีหลายมิติ   คนเรามักสนใจเฉพาะมิติด้านเทคนิคเป็นเป้าหมายใหญ่     แต่จริงๆ แล้วมนุษย์มีพลังมากกว่าพลังด้านเทคนิคมากมายนัก     และมิติที่มีพลังสูงยิ่งคือมิติด้านจิตวิญญาณ    และด้านการเรียนรู้ต่อเนื่อง    

พลังด้านจิตวิญญาณคือการมีเป้าหมายในชีวิตเพื่อผู้อื่น     พลังด้านการเรียนรู้คือการมี growth mindset   และมีทักษะและฉันทะเรียนรู้จากการปฏิบัติตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด   โดยเน้นทำทั้งระดับตนเอง และระดับกลุ่ม เพื่อใช้พลังของ collective creativity/ collective  wisdom  

ทั้งหมดนั้นต้องการความมั่นใจในตนเอง กล้าที่จะคิดและทำแตกต่างจากเดิมๆ    และในขณะเดียวกันก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตนตระหนักในข้อจำกัดของตนเอง และเคารพข้อคิดเห็นและวิธีการของผู้อื่น          

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.พ. ๖๓ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 675612เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2020 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2020 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีคนสงสัยว่าเราทำงานอีกทำไม หลังเกษียณ นอนเล่น ดูหนัง ไปเที่ยวดีกว่าไหมตอนนี้คิดเพียงว่า สมองที่เรายังดีอยู่สามารถช่วยคนอื่นได้ เราก็ควรทำต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท