คุณภาพการศึกษาของประเทศเอสโทเนียโดดเด่นเพราะอะไร



คำตอบอยู่ในบทความ Pisa Rankings : Why Estonian pupils shine in global tests   สรุปได้ว่า เพราะหลายปัจจัย    แต่ที่เด่นที่สุดคือ เอาใจใส่คุณภาพการเรียนรู้ของเด็กเล็ก    เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนในช่วงการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

บทความดังกล่าวเป็นของสำนักข่าว บีบีซี เน้นเปรียบเทียบกับการศึกษาของอังกฤษ    บอกว่าคุณภาพการศึกษาของเอสโทเนียดีกว่าของอังกฤษ    เมื่อดูจากผล PISA test    ทั้งๆ ที่อังกฤษลงทุนด้านการศึกษาสูงกว่าเอสโทเนีย

ประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาสูง    แต่ผลลัพธ์คุณภาพการศึกษาต่ำ    สะท้อนว่าระบบการศึกษาของเรามีปัญหา    ย้ำว่าการศึกษาไทยมีปัญหาเชิงระบบ    รู้กันมานับสิบปี แต่ไม่ได้รับการแก้ไข    ผมตีความว่า ระบบ bureaucracy ทางการศึกษามีอำนาจเหนือการเมืองมากว่า ๒๐ ปี    ท่านที่ไม่เชื่อ หรือไม่เข้าใจโปรดอ่านบันทึกชุด สู่การศึกษาคุณภาพสูง   

ที่เอสโทเนีย ชั้นอนุบาลเริ่มจากอายุ ๓ ขวบถึง ๖ ขวบ    เพื่อเตรียมความพร้อมโดยการเล่นเป็นหลัก    ครูอนุบาลทำหน้าที่ชวนเด็กเล่นอย่างมีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนเมื่อเข้าเรียนชั้นประถมตอนอายุ ๗ ขวบ    ความพร้อมที่สำคัญคือเด็กกล้ายกมือถามครู  และมีความพร้อมด้านสังคม นั่นคือความเห็นของแม่เด็กชั้นอนุบาลปีสุดท้ายสองคน ที่ผู้สื่อข่าวถามที่หน้าโรงเรียนของเอสโทเนีย   

ในชั้นอนุบาลปีหลังๆ ค่อยๆ เพิ่มการเรียนอ่าน เขียน เลข และวิทยาศาสตร์ ตามความพร้อมด้านอารมณ์และกายภาพของเด็กแต่ละคน    ย้ำว่าเขาดูแลเด็กเป็นรายคน    ไม่ใช่ให้ทำตามสูตร one size fits all

ที่สำคัญ รายงานผลการเรียนอนุบาลไม่ให้เป็นเกรด    แต่ให้เป็น school readiness card    บอกทักษะ การพัฒนาที่ผ่านมา  และสิ่งที่ต้องฝึกต่อ   ของเด็กแต่ละคน    เป็นรายงานเพื่อส่งต่อเด็ก ให้ครูชั้นประถมดูแลเด็กเป็นรายคนเช่นเดียวกัน  

ผมตีความว่า บทความบอกว่าการศึกษาอังกฤษเน้นการสอบวัดผล (summative evaluation)     แต่การศึกษาเอสโทเนียเน้นประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment)     ซึ่งเป็นข้อเรียนรู้สำคัญยิ่งต่อการศึกษาไทย    ผมขอเชิญชวนให้อ่านข้อเขียนของผมเรื่อง ประเมินเพื่อมอบอำนาจ    ที่จะเป็นกลไกยกระดับคุณภาพการศึกษา    

การศึกษาพื้นฐานของเอสโทเนีย จัดสำหรับเด็กอายุ ๗ – ๑๖    แต่บางคนก็อยู่ต่อเพื่อเตรียมความพร้อมของตนเอง สู่การเรียนระดับสูงขึ้น   

เขาไม่จัดชั้นเรียนเป็นชั้นเด็กเรียนเก่ง กับชั้นเด็กเรียนอ่อน    เพราะจะเป็นการแบ่งแยกเด็ก    เขาจัดเป็นชั้นคละ มีเป้าหมายยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กขึ้นทั้งแผง    โดยครูมีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้ ในลักษณะ take risk ได้    ซึ่งผมตีความว่า    ครูต้องกล้าออกแบบการเรียนรู้ที่ไม่ใช่ทำตามสูตรเดิมๆ   

โรงเรียนของเอสโทเนีย อยู่ในสภาพที่ครูเอาใจใส่และกล้าออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง    และเด็กกระตือรือร้นต่อการเรียน    หัวใจคือคุณภาพครู และสภาพแวดล้อมในการทำงานของครู   

เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของการศึกษาเอสโทเนียคือ ความเท่าเทียมกันในสังคม (equity)   

นวัตกรรม หรือการริเริ่มใหม่ของการศึกษาเอสโทเนีย คือ e-schooling   เสริมการเรียนรู้ด้วยกิจกรรม ออนไลน์   เวลานี้การบ้านส่วนใหญ่ของนักเรียนทำและให้คะแนน ออนไลน์     

ระบบการศึกษาของเอสโทเนีย ตรงกันข้ามกับการศึกษาไทย    ระบบของเขาเป็นระบบกระจายอำนาจ    ครูและโรงเรียนมีอิสระสูงมาก    ทางรัฐบาลมีความต้องการให้มีการประเมินผลนักเรียนตอนอายุ ๑๐, ๑๒ และ ๑๖ ปี เพื่อติดตามผลลัพธ์การเรียนรู้    เขาต้องใช้วิธีชักจูงครูและโรงเรียน    ไม่ใช่ออกคำสั่ง        

วิจารณ์ พานิช

๔ ธ.ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 674254เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2020 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2020 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท