แกงหมูเทโพ อุดมคุณค่าจากผักบุ้ง


ผักบุ้งเป็นผักที่มีคุณประโยชน์มากมายซึ่งนิยมนำมารับประทานเป็นอาหาร ผักบุ้งซื้อหาได้ง่ายทุกฤดูกาล และมีราคาถูก ผักบุ้งที่นำมารับประทานกันมี 3 ชนิด คือ ผักบุ้งไทย ผักบุ้งจีน และผักบุ้งนา

ผักบุ้งไทย มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าผักบุ้งแก้ว หรือผักบุ้งน้ำ มักจะขึ้นตามผิวน้ำ สามารถนำมารับประทานสด หรือนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงส้ม แกงเทโพ ผัดพริกแกง ลวกจิ้มน้ำพริก ยำผักบุ้งกรอบหรือนำไปใส่ในก๋วยเตี๋ยวเรือเย็นตาโฟ

ผักบุ้งจีน ผักบุ้งชนิดนี้จะขึ้นอยู่บนบก มีลำต้นเป็นสีเขียวอ่อน ยางน้อยกว่าผักบุ้งไทย สามารถนำมาทำอาหารได้หลายชนิด เช่น สุกี้ ผัดผักบุ้งไฟแดง พระรามลงสรง

ผักบุ้งนา หรือผักบุ้งไทยพันธุ์ก้านแดง เป็นผักบุ้งที่ขึ้นอยู่บนบก เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นเลื้อยได้ยาวมากกว่าผักบุ้งทุกสายพันธุ์ อาจเลื้อยไปได้ยาวถึง 10 เมตร โดยเฉพาะเวลาที่น้ำท่วม ลำต้นมีสีเขียวเข้ม เขียวอมแดง หรือแดงม่วง ลำต้นค่อนข้างเหนียว แต่ยอดอ่อนให้ความกรอบได้ดี นิยมนำมารับประทานกับลาบ และส้มตำ

ผักบุ้งอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร โดยผักบุ้ง 100 กรัม ประกอบด้วยคุณค่าสารอาหารดังนี้ พลังงาน 19 กิโลแคลอรี่ น้ำ 62.47 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.14 กรัม ไฟเบอร์ 2.1 กรัม แคลเซียม 77 มิลลิกรัม เหล็ก 1.67 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 71 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 39 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 312 มิลลิกรัม โซเดียม 113 มิลลิกรัม สังกะสี 0.18 มิลลิกรัม วิตามินซี 55 มิลลิกรัม วิตามินบี6 0.096 มิลลิกรัม วิตามินบี1 0.03 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.9 มิลลิกรัม ไรโบฟลาวิน 0.1 มิลลิกรัม โฟเลต 57 ไมโครกรัม และวิตามินเอ 6300 ยูนิต

คุณประโยชน์ของผักบุ้งที่เราทราบกันดีคือผักบุ้งช่วยบำรุงสายตา รับประทานแล้วช่วยให้สายตาดี ทั้งนี้เพราะผักบุ้งอุดมไปด้วยโรทีนอยด์ วิตามินเอ และลูทีน ซึ่งล้วนแต่เป็นแร่ธาตุและวิตามินที่ส่งผลดีต่อสุขภาพดวงตา อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างระดับกลูต้าไธโอน (Glutathione) ป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกได้อีกด้วย

วิตามินเอและวิตามินซีตลอดจนสารเบต้า-แคโรทีนในผักบุ้งล้วนแต่เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้คอเรสเตอรอลรวมตัวกับออกซิเจนไปกาะตามหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด จนเกิดอาการหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดในที่สุด นอกจากนี้โฟเลตในผักบุ้งก็ยังช่วยทำให้โฮโมซีสเตอีน (Homocysteine) กรดอะมิโนที่เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจลดลงได้ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่แมกนีเซียมในผักบุ้งก็ช่วยลดความดันโลหิตได้ ถือเป็นการป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้อีกทางหนึ่ง

ผักบุ้งเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระมากถึง 13 ชนิด จึงทำให้เป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งช่องท้อง รวมทั้งมะเร็งผิวหนังและมะเร็งเต้านม เพราะสารต้านอนุมูลอิสระจะเข้าไปป้องกันไม่ให้เซลล์ในร่างกายถูกทำลายลงนั่นเอง

การรับประทานผักบุ้งช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับได้ เพราะผักบุ้งอุดมด้วยสารเซเลเนียมและสังกะสีที่มีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายประสาท ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นและนอนหลับได้ในที่สุด ผักบุ้งไม่เพียงแค่ช่วยลดน้ำหนักเท่านั้น แต่ผักบุ้งยังมีส่วนสำคัญในการลดคอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ในร่างกายได้ ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเลือดและหัวใจ

ผักบุ้งเป็นอาหารที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะผักบุ้งสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดและลดการดูดซึมของกลูโคสของร่างกายได้ ในสตรีตั้งครรภ์ผักบุ้งยังเข้าไปเสริมสร้างความต้านทานกลูโคสในร่างกายและช่วยรักษาโรคเบาหวานได้อีกด้วย

ผักบุ้งมีธาตุเหล็กซึ่งเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อระบบโลหิต เพราะฮีโมโกลบิ้นที่อยู่ในเลือดต้องได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นก็อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และการรับประทานผักบุ้งก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ ดังนั้นถ้าอยากห่างไกลจากโรคโลหิตจางก็ควรจะรับประทานผักบุ้งเป็นประจำ ผักบุ้งยังช่วยบำรุงตับเพราะมีสารอาหารมากมายที่ช่วยในการล้างพิษและสารต้านอนุมูลอิสระที่ป้องกันเซลล์ไม่ให้ถูกทำลาย

ในผักบุ้งมีปริมาณไฟเบอร์สูงจึงสามารถป้องกันอาการท้องผูกได้ เพราะไฟเบอร์จะเข้าไปช่วยทำให้ระบบการขับถ่ายทำงานได้ดียิ่งขึ้น ผักบุ้งยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆอีกด้วย ผักบุ้งเป็นอาหารลดน้ำหนักที่ได้ผลดีเยี่ยมเช่นเดียวกับผักใบเขียวชนิดอื่นๆ ปริมาณไฟเบอร์ที่สูงและแคลอรี่ที่ต่ำ ทำให้เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปแล้วอิ่มง่ายและอิ่มนานขึ้น

อาหารครัวครูแป๊ววันนี้เป็นแกงหมูเทโพ ซึ่งมีผักบุ้งไทยเป็นส่วนประกอบหลัก แกงกับหมูสามชั้นส่วนเนื้อท้องซึ่งมีหนังบางและนิ่ม ใช้ส่วนสันคอหมูด้วยเพราะมีเอ็นให้ความรู้สึกกรุบกรอบเวลาเคี้ยว ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียกและน้ำตาลมะพร้าวให้มีรสชาติกลมกล่อม แต่งกลิ่นให้หอมละมุนด้วยใบมะกรูดและผลมะกรูด เป็นเมนูอาหารไทยพื้นๆที่อร่อยถูกปากและอุดมด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการ

หมายเลขบันทึก: 674166เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2020 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2020 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท